คำสอนขงเบ้ง


คำสอนขงเบ้ง

คำสอนขงเบ้ง

เลือกเฟ้นทหาร

เลือกเฟ้นทหาร

          ในกระบวนทหารย่อมมีผู้รักชอบรณรงค์ กล้าเอาชนะข้าศึกที่เข้มแข็งกว่า จงจัดคนเหล่านี้เข้าด้วยกัน ให้ชื่อว่า เหล่าชาติพลี โดย ผู้มีกำยำล่ำสันเป็นพิเศษ ทั้งคล่องแคล่วว่องไว จัดให้อยู่ เหล่าทะลวงแนว(กองจู่โจม) ส่วนผู้มีขาดี วิ่งไวดุจม้าห้อ จัดอยู่ เหล่าถอนธง(ถอนธงข้าศึก) ผู้สันทัดในการควบม้า วางเกาทัณฑ์ ยิงร้อยดอกถูกร้อยครั้ง จัดอยู่ เหล่ากองหน้า (กองหน้าในการรุกรบ) ผู้มีฝีมือเยี่ยมยอดเชิงเกาทัณฑ์ ยิงร้อยดอกเข้าเป้าร้อยดอก แลต้องพลีชีพในการยุทธ จัดอยู่เหล่าทหารเหาะ (หน่วยเคลื่อนที่เร็ว) ผู้ชำนาญการใช้หน้าไม้ยิงได้ไกลและแม่นยำ จัดอยู่เหล่าทลายกองหน้า(สกัดก่องหน้าของข้าศึก) คนทั้งหมดล้วนมีความสามารถพิเศษพึงใช้ให้ถูกที่ตามความสันทัดของแต่ละคน

คำอธิบาย

         ขงเบ้งให้ความสำคัญต่อการจัดระเบียบกองทัพ ยุทธวิถีและการใช้อาวุธอย่างเหมาะสม สมัยที่อาวุธเป็นพวกโลหะการจัดหมวดหมู่โดยประสานเข้ากับอาวุธที่ใช้ ต้องนับว่าเป็นความคิดที่ถูกต้องตามหลักวิทยาศาสตร์ซึ่งเหมาะทั้งรุกและรับ ถ้าเลือกเฟ้นทหารเข้าหมวดหมู่ไม่ถูกต้อง ย่อมเข้าใกล้ความพ่ายแพ้ตั้งแต่ยังไม่เริ่มรบแล้ว ผู้เป็นจอมทัพหรือหัวหน้าองค์กรจึงควรให้ความสำคัญต่อการเลือกคนให้เหมาะกับสภาพการทำงานและสามารถสนองนโยบายได้เต็มความสามารถของบุคคลนั้น

                                  ************************

หยั่งรู้อุปนิสัย

วิธีหยั่งรู้มี 7 ประการ คือ
หนึ่ง  ลองใจด้วยความผิดแลความถูก  เพื่อหยั่งรู้คติธรรม
สอง  วิภาษให้จนมุม เพื่อหยั่งรู้ปฏิภาณ
สาม  ซักไซ้ด้วยเรื่องกลอุบาย  เพื่อหยั่งรู้สติปัญญา
สี่  แจ้งภัยพิบัติให้รู้ตัว  เพื่อหยั่งรู้ความกล้า
ห้า  มอมด้วยสุราเพื่อหยั่งรู้นิสัยแท้
หก  ให้ลาภยศปรากฏเบื้องหน้า  เพื่อหยั่งรู้ความสุจริต
เจ็ด  ให้เสร็จงานตามกำหนด  เพื่อหยั่งรู้ความมีสัจจะ

คำอธิบาย

การรู้ใจคนเป็นเบื้องต้นของการใช้คนหรือบังคับบัญชากองทัพหรือองค์กร หากเลือกคนไม่เหมาะสมไปทำงาน ย่อมทำลายกองทัพหรือองค์กรหรือประเทศชาติ ก่อนอื่นผู้นำต้องรู้ใจคน จึงสามารถใช้ส่วนเด่นเลี่ยงส่วนด้อยของคนนั้น ดังคำที่ว่า  เลือกคนให้เหมาะสมกับงานหรือตำแหน่ง  วิธีสอดส่องลองใจผู้ใต้บังคับบัญชาทั้งเจ็ดที่ขงเบ้งสรุปไว้เป็นสิ่งที่ผู้นำควรปรับใช้ให้เหมาะสมกับยุคสมัย จึงเกิดผลสูงสุด

                                 **************************

คุณธรรม 5 ข้อของผู้นำ

ขุนพลพึงปลูกฝังคุณธรรม 5 ประการ คือ

1  จิตใจที่สูงส่ง  ช่วยให้เกิดประเพณีนิยมดีงาม

2  กตัญญูกตเวทีต่อบิดามารดาและผู้เป็นพี่  จะทำให้ชื่อเสียงเลื่องลือ

3  ตั้งมั่นในสัจจะและความเป็นธรรม  ทำให้คบหาเพื่อนได้อย่างกว้างขวาง

4  รู้จักใคร่ครวญปัญหาอย่างสุขุมคัมภีรภาพ  ทำให้ใจคอกว้างขวาง

5  ความขยันหมั่นเพียร  ทำให้ภารกิจประสบผลสำเร็จ

 

 

ความหมาย

 

        ขงเบ้งสอนเน้นให้ขุนพลของเขาต้องมีคุณธรรมในกาย วาจา และจิตใจ ก่อน ย่อมประกันได้ว่าพวกเขาควบคุมกำลังพลในกองทัพด้วยคุณธรรมและสามารถเอาชนะศัตรูได้ แม้แต่การปฏิบัติต่อผู้แพ้ศึกก็จะกระทำด้วยจิตคุณธรรม การยึดมั่นในประเพณีที่ดีงาม ความกตัญญูต่อผู้มีพระคุณ ความเป็นคนมีสัจจะ ความสุขุมเมื่อเผชิญปัญหา และความขยันทำงานในหน้าที่ ล้วนเป็นเคล็ดลับของขุนพลหรือผู้นำที่พากองทัพหรือองค์กรไปสู่ความสำเร็จและความมีชื่อเสียงน่านับถือของผู้นำในสังคมอย่างสง่างาม

 

******************************

ความศรัทธา

 

 

อาวุธเป็นสิ่งร้ายกาจ การคุมทหารจึงเป็นหน้าที่ซึ่งเต็มไปด้วยอันตราย อาวุธถ้าแข็งเกินพอจักบิ่น หน้าที่ที่แบกรับยิ่งหนัก ก็ยิ่งหมิ่นเหม่ต่ออันตราย ขุนพลที่ดีเด่นจึงไม่ทำเขื่องอวดอำนาจ ยามเมื่อเป็นที่โปรดปรานจะไม่กระยิ่มยิ้มย่อง ยามเมื่อถูกบีบคั้นกลั่นแกล้ง จะไม่หวาดหวั่นพรั่นพรึง ยามเมื่อเห็นผลประโยชน์ จะไม่ละโมบ ยามเมื่อเห็นหญิงงาม จะไม่คิดอกุศล มีแต่ใจหนึ่งใจเดียวเท่านั้น คือ พลีชีพเพื่อชาติ

 

 

ความหมาย

 

การทำสงครามเต็มไปด้วยอันตรายและเกี่ยวพันกับความอยู่รอดของประเทศ จึงจำเป็นที่ผู้คุมกองทัพต้องมี ยุทธธรรม ประจำใจ เพื่อสร้างศรัทธาแก่ทหารใต้บังคับบัญชาของตน ดังนั้น ขุนพลหรือผู้นำองค์กรต้องกระทำตนเป็นตัวอย่างที่ดีแก่ผู้อยู่ใต้บังคับบัญชาเพื่อสร้างศรัทธาให้แข็งแกร่งและเชื่อฟังคำสั่ง โดยเฉพาะการตระหนักในหน้าที่ของทหารอย่างแน่วแน่ในการพลีชีพเพื่อชาติ มิใช่การแสวงหาประโยชน์จากตำแหน่งทหาร หากทหารมีศรัทธาต่อขุนพล เมื่ออยู่ในสนามรบก็ย่อมมีจิตใจเดียวกับขุนพลในการทำสงครามพลีชีพเพื่อปกป้องประเทศเท่านั้นเช่นเดียวกับการที่ผู้อยู่ใต้บังคับบัญชามีศรัทธาต่อผู้นำองค์กรย่อมทำงานเต็มที่เพื่อประโยชน์ขององค์กรเป็นหลัก

 

************************

ขุนพลสันดานชั่ว

สันดานชั่ว

 

ขุนพลต้องขจัดสันดานชั่ว 8 อย่าง ไปจากตัวเอง อันได้แก่

1 ละโมบในลาภยศและชื่อเสียง

2 อิจฉาในคุณธรรมและความสามารถของผู้อื่น

3 ชอบฟังแต่คำสรรเสริญเยินยอ ปล่อยให้คนอื่นเป่าหูได้

4 รู้เขาแต่ไม่รู้เรา

5 โลเลไม่กล้าตัดสินใจเมื่อเผชิญกับเหตุการณ์

6 มักมากในสุราและนารี

7 ฉ้อฉลกลโกงและกลัวตาย

8 พูดจาอ่อนหวานและฟังดูดี แต่ตัวเองกลับไม่ตั้งอยู่ในระเบียบแบบแผน

 

 

ความหมาย

 

กองทัพคือ กลุ่มคนติดอาวุธที่เป็นเสาค้ำของอำนาจรัฐ ถ้าขุนพลหรือผู้นำทัพติดสันดานชั่วและขาดผู้เหนี่ยวรั้งได้ ย่อมนำโทษมหันต์มาสู่ประเทศชาติ หากผู้นำกองทัพหรือผู้นำองค์กรสามารถขจัดสันดานชั่วที่เป็นอันตรายนี้ได้ ย่อมก่อประโยชน์แก่กองทัพหรือองค์กรอย่างแน่นอน แต่ทั้งนี้ต้องไม่ลืมว่า ผู้นำที่ไม่มีสันดานชั่วทั้งแปดหากเป็นคนโง่เขลา ย่อมมิใช่ผู้นำที่ดี แต่เขาผู้นั้นจักต้องมีสติปัญญาและความสามารถด้วย

 

******************************

ความหยิ่งและความตระหนี่

ความหยิ่งและความตระหนี่

 

ผู้เป็นขุนพลไม่ควรเย่อหยิ่ง เพราะจักให้สูญเสียจริยธรรม เมื่อหาจริยธรรมไม่ได้ ผู้คนย่อมเอาใจออกห่าง ซึ่งนำพาให้เกิดความระส่ำระสายในกองทัพ ผู้คนพากันแปรพักตร์จากไป อีกทั้งขุนพลมิควรตระหนี่ถี่เหนียว เพราะยังผลให้ตนไม่สามารถบำเหน็จความชอบแก่ผู้อยู่ใต้บังคับบัญชาโดยเที่ยงธรรม อันทำให้ทหารไม่ยอมพลีชีพเพื่อการศึก กองทัพย่อมไม่อาจได้ชัยชนะ แผ่นดินย่อมอ่อนกำลังลง และข้าศึกกลับเข้มแข็งขึ้น ดังที่ขงจื้อเคยกล่าวไว้ว่า แม้ผู้ใดมีพร้อมด้วยสติปัญญาและจริยธรรมอันดีงาม หากเย่อหยิ่งและตระหนี่ถี่เหนียว หาควรศึกษาเป็นเยี่ยงอย่างไม่

 

ความหมาย

 

ขงเบ้งต้องการสอนให้ศิษย์ของเขาทราบว่า ขุนพลที่เย่อหยิ่งนั้นมิเพียงสร้างความบาดหมางและตรอมใจขึ้นในขบวนทัพของตน เขามักถือความจัดเจนของตนเป็นสิ่งตายตัว มองข้ามกฎแห่งสงครามและสภาพการณ์ที่แปรเปลี่ยนเสมอ ในที่สุดจักหลีกเลี่ยงไม่พ้นที่จะต้องประสบความพ่ายแพ้ กองทัพที่เย่อหยิ่งย่อมพ่ายแพ้เสมอ นอกจากนั้น ขุนพลหรือผู้นำองค์กรที่มักอิดเอื้อนจะบำเหน็จความชอบแก่ผู้ใต้บังคับบัญชาที่สร้างคุณประโยชน์แก่กองทัพหรือองค์กรด้วยความเสียดายเงินทอง เป็นการทำลายกำลังใจแก่ทหารหรือลูกน้องอีกทั้งยังก่อให้เกิดความไม่เที่ยงธรรมต่อพวกเขาอีกด้วย เช่น แจกบำเหน็จความชอบต่ำเกินไปเมื่อเทียบกับประโยชน์ที่องค์กรได้รับจากการทำงานของพวกเขา มันคือความไม่เที่ยงธรรมของผู้นำ เป็นต้น

 

********************************

ความสามารถของคน

ความสามารถ

 

การคัดเลือกคนมาทำหน้าที่ขุนพลเป็นเรื่องสำคัญมากที่ขงเบ้งให้ความเอาใจใส่เป็นพิเศษ เขาจึงเขียนตำราในหัวข้อเรื่อง ความสามารถของขุนพลโดยจัดแบ่งไว้ดังนี้

1 หัวหน้าที่คุมพลได้สิบคน คือ คนประเภทที่มองเห็นความผิดชอบชั่วดีภายในกองทัพ มองเห็นภัยอันตรายที่จะเกิดขึ้น เป็นที่เคารพเชื่อถือของคนอื่น

2 หัวหน้าที่คุมพลได้ร้อยคน คือ คนที่ชอบตื่นเช้านอนดึก ขยันหมั่นเพียร พูดจาระมัดระวัง รอบคอบและแจ้งชัด

3 ขุนพลที่คุมทัพได้พันคน คือ คนมีนิสัยซื่อตรงเปิดเผย ยามเผชิญเหตุการณ์สามารถใช้หัวคิดอย่างรอบด้านและเป็นผู้กล้าหาญ

4 ขุนพลที่คุมทัพได้หมื่นคน คือ คนที่มีรูปร่างสงว่าผ่าเผย จิตใจกระตือรือร้น เข้าใจทุกข์สุขของไพร่พล

5 ขุนพลที่คุมทัพได้แสนคน คือ คนที่รู้จักแนะนำหรือเลือกใช้คนที่พร้อมด้วยจริยธรรม โอบอ้อมอารีต่อคนอื่น สันทัดในการสะสางเหตุการณ์อันสับสน

6 ขุนพลของแผ่นดิน คือ คนที่ใช้เมตตาธรรมต่อผู้อยู่ใต้บังคับบัญชา เป็นที่เคารพนับถือของประเทศใกล้เคียง รอบรู้ดาราศาสตร์ ภูมิศาสตร์ รู้จักเข้าสมาคม ถือทุกแห่งในพิภพนี้เป็นเสมือนบ้านตน

 

ความหมาย

 

การงานใดจะสำเร็จผลหรือล้มเหลวล้วนขึ้นอยู่กับคน การเลือกใช้คนตามคุณวุฒิจึงเป็นบรรทัดฐานสำคัญของการเลือกใช้คนที่ขงเบ้งให้ความสนใจอย่างยิ่ง แล้วยังเป็นเหตุผลสำคัญที่สร้างชื่อเสียงแก่ขงเบ้งในการนำกองทัพรบชนะในสนามรบจนเป็นที่เกรงขามของศัตรู เขาจำแนกแยกแยะคุณสมบัติของผู้ที่จะเป็นผู้นำคนจำนวนมากน้อยตามความสามารถส่วนตัว ถ้าเรียนรู้เรื่องคนและใช้คนให้เหมาะสม ย่อมสร้างกองทัพให้แข็งแกร่งหรือความสำเร็จแก่องค์กรอย่างง่ายดาย งานค้นคว้าเกี่ยวกับคนของขงเบ้งจึงเป็นศาสตร์ล้ำลึกที่ผู้ใดนำปรับใช้ในองค์กรได้อย่างมีประสิทธิภาพ ย่อมช่วยเสริมให้องค์กรประสบความสำเร็จได้

 

******************************

ความสันทัดหรือรู้แจ้งรู้ลึก

ความสันทัด

 

ขุนพลต้องเพียบพร้อมด้วย ห้าสันทัด สี่จำต้อง โดยแบ่งดังนี้คือ

ห้าสันทัด ได้แก่  การรู้แจ้งในสภาพการณ์ของข้าศึกศัตรู รู้แจ้งทางรุกและทางถอย รู้กำลังของแผ่นดิน รู้แจ้งในดินฟ้าอากาศและจิตใจของประชาราษฎร์ รู้แจ้งในความสำคัญทางยุทธศาสตร์แห่งภูเขาลำเนาไพร

สี่จำต้อง คือ ยามออกศึกจำต้องกระทำการให้ฝ่ายปรปักษ์คาดคิดไม่ถึง ยามวางแผนจำต้องปิดลับเป็นที่สุด ยามเมื่อเกิดความสับสนอลหม่านจำต้องรักษาความสุขุมเยือกเย็น ยามบัญชาการศึก จำต้องเด็ดเดี่ยวไม่โลเล

 

 

ความหมาย

 

ยามศึกสงครามสถานการณ์ย่อมเปลี่ยนอยู่เสมอ ซึ่งมีทั้งความจริงและสิ่งลวงตาปะปนกัน การชี้นำสงครามจึงจำต้องรู้แจ้งในห้าสันทัด และจัดกำลังบัญชาการรบโดยอาศัยหลัก สี่จำต้อง จึงเป็นพื้นฐานของการทำศึกสงครามเพื่อเอาชนะข้าศึก ข้อคิดในห้าสันทัดและสี่จำต้อง ที่ขงเบ้งใช้เป็นหลักในการวางแผนทำศึกสร้างแผ่นดินใหม่และสร้างความหวั่นเกรงแก่ข้าศึกจนลมหายใจสุดท้ายล้วนพิสูจน์ด้วยกาลเวลาว่า มันคือปัจจัยสำคัญของการปฏิบัติงานและการสู้รบกับข้าศึก หากผู้ใดสามารถนำหลักทั้งหมดไปปรับใช้กับการทำงานได้อย่างคล่องแคล่วและรู้ลึกซึ้ง ย่อมประสบความสำเร็จในการทำงานอย่างแน่นอน

 

**************************

ความแข็ง กับ ความอ่อน

ความแข็ง และ ความอ่อน

 

ขุนพลที่สันทัดในการนำทัพ ย่อมมีพร้อมทั้งความแข็งที่มิอาจหักล้างลงได้และความอ่อนที่ไม่ยอมสยบหัว ดังนั้น จึงสามารถชนะความแข็งด้วยความอ่อน ชนะข้าศึกที่เข้มแข็งด้วยกำลังที่อ่อนกว่า ถ้าแม้นมีความอ่อนอย่างเดียว พลังรบแห่งกองทัพย่อมถูกบั่นทอนได้โดยง่าย ถ้ามีความแข็งอย่างเดียว พลังรบแห่งกองทัพจะถูกตีสูญสิ้นไปในที่สุด พึงพร้อมด้วยความแข็งและความอ่อน แข็งอ่อนประสานกัน จึงต้องด้วยหลักแห่งขุนพล

 

ความหมาย

 

หลักคิดเรื่องความอ่อน ความแข็ง นี้ขงเบ้งต้องการให้รู้จักคิดวิเคราะห์สถานการณ์อย่างมีสติและยึดธาตุแท้ของเหตุการณ์ให้ได้ แม้จะกำลังอยู่ในสถานการณ์คับขันเพียงใดก็ตาม อันเป็นหัวใจสำคัญของ การประสานความแข็งกับความอ่อนเข้าด้วยกันโดยอาศัยความสุขุมเยือกเย็นและสมองอันแจ่มใสหนักแน่นของผู้นำ ดังนั้น ผู้นำจึงต้องฝึกฝนบังคับตนให้มีความเยือกเย็นและรอบรู้เมื่อต้องอยู่ในสภาวะคับขันและอันตรายอย่างยิ่ง เพื่อนำพากองทัพหรือองค์กรไปสู่ความปลอดภัยหรือชัยชนะ

***************************

ขุนพลที่ดี

ขุนพลที่ดี

 

 

ขงเบ้งใช้เวลาและประสบการณ์ชีวิตกับการทำงานเพื่อสร้างแผ่นดินแก่พระเจ้าเล่าปี่แยกแยะขุนพลที่ดีและมีประโยชน์ต่อกองทัพอย่างใหญ่หลวง หากกองทัพใดมีขุนพลประเภทนี้มากเท่าใด ย่อมสร้างกองทัพให้เข้มแข็งและประสบชัยชนะในสงครามทุกครั้ง โดยแบ่งขุนพลที่ดีไว้ 9 ชนิด ดังต่อไปนี้

1 ขุนพลแห่งการุณยธรรม  คือ ผู้รู้จักโน้มน้าวใจทหารด้วยคุณธรรม ปรับปรุงกองทัพด้วยระเบียบแบบแผน รู้แจ้งเมื่อทหารอดอยากและหนาวเหน็บ เห็นใจเมื่อทหารเหนื่อยยาก

2 ขุนพลแห่งธรรมะ  คือ ผู้ตั้งใจปฏิบัติงาน ไม่ละเลยต่อหน้าที่ ไม่เห็นแก่ลาภยศสักการะ ยอมเสียสละเพื่อเกียรติศักดิ์ ไม่ยอมอยู่รอดด้วยการถูกเหยียดหยาม

3 ขุนพลแห่งจริยธรรม  คือ ผู้มียศศักดิ์สูงแต่ไม่หยิ่งยโส แม้ชนะศึกต่อเนื่องก็ไม่โอ้อวดในความดีความชอบ  แม้ตนเปี่ยมด้วยคุณธรรมหรือคุณวุฒิก็ยังยกย่องผู้มีความสามารถ  จิตใจแข็งแกร่งทนต่อความ
อยุติธรรมที่ได้รับ

4 ขุนพลแห่งสติปัญญา  คือ ผู้สันทัดในการใช้กลยุทธ์อันลึกซึ้งและยืดหยุ่นพลิกแพลงได้ตามกาลเทศะที่เปลี่ยนไป แปรเปลี่ยนภัยอันตรายให้เป็นความปลอดภัย เปลี่ยนความพ่ายแพ้ให้เป็นชัยชนะ

5 ขุนพลแห่งความสัตย์  คือ  ผู้รู้จักบำเหน็จรางวัลแก่ทหารที่กล้ารุกไล่ข้าศึกอย่างทันกาล ใช้อาญาหนักต่อทหารที่ถอยหนีโดยไม่แบ่งตระกูลสูงต่ำ

6 ขุนพลแห่งทหารราบ  คือ  ผู้ปฏิบัติการรวดเร็วราวม้าศึก ห้าวหาญเป็นเยี่ยม สันทัดในการต่อสู้ด้วยอาวุธนานาชนิด เป็นกำลังรักษาเขตแดนที่แข็งแกร่ง

7 ขุนพลแห่งทหารม้า  คือ  ผู้ไม่กลัวภยันตราย วางศรบนม้าศึกดุจบิน ยามรุกอยู่หน้า ยามถอยอยู่หลังคอยคุ้มกันกองทัพ

8 ขุนพลแห่งความห้าวหาญ  คือ  ผู้มีความเหิมหาญชื่อก้องในสามทัพ กล้าดูหมิ่นข้าศึกที่เข้มแข็ง ยามทำศึกใหญ่ก็กล้าหาญ ยามทำศึกย่อยก็มิประมาท

9 ยอดขุนพล  คือ  ผู้รู้จักนอบน้อมถ่อมตนและรับฟังความเห็นด้วยความยินดีเมื่ออยู่กับผู้รู้ ใจคอกว้างขวาง จิตใจเด็ดเดี่ยว กล้าหาญและแพรวพราวไปด้วยกลเม็ดเด็ดพรายของกลยุทธ์ที่เข้าใจอย่างลึกซึ้ง

 

 

ความหมาย

 

ขงเบ้งต้องการบอกให้ผู้ศึกษากับเขาทราบว่า ต้องการขุนพลชนิดใดในกองทัพของเขา แต่ละชนิดล้วนสร้างความเข้มแข็งแก่กองทัพและให้ประสบชัยชนะในสนามรบ คุณสมบัติที่สำคัญของขุนพลที่ดีหรือสามารถปรับใช้กับหัวหน้าหน่วยงานหรือหัวหน้าแผนกในบริษัทห้างร้าน คือ มีปัญญา มีความสัตย์ซื่อ มีเมตตาธรรม มีความกล้าหาญ ความเข้มงวดต่อกฎระเบียบ รู้จักกลยุทธ์ในงานของตนอย่างลึกซึ้ง อ่อนน้อมถ่อมตนต่อผู้มีความสามารถที่อยู่ใต้บังคับบัญชาของตน หากสังเกตคำสอนของขงเบ้งจักพบว่า เขากำหนดให้ยอดขุนพลซึ่งถือว่าเป็นสุดยอดของขุนพล ต้องรู้จักอ่อนน้อมถ่อมตน รับฟังความเห็นของผู้มีความสามารถ มิให้ยึดอัตตา แต่ต้องมีจิตใจกว้างขวาง เด็ดเดี่ยว กล้าหาญ กลยุทธ์หรือความรู้ในงานของตนต้องมีอย่างลึกซึ้งและเพียบพร้อมจนสามารถนำไปใช้ให้ประสบความสำเร็จด้วยการพลิกแพลงหรือยืดหยุ่นตามสถานการณ์หรือปัญหาเบื้องหน้า หากกองทัพหรือองค์กรใดมียอดขุนพลเพียงคนเดียวก็ทำให้กองทัพเข้มแข็งและห้าวหาญในการนำชัยชนะมาสู่ประเทศหรือองค์กรได้เพราะเขาคือ ผู้นำที่ยอดเยี่ยมทั้งสติปัญญาและภาวะผู้นำสูง

 

******************************

คำสำคัญ (Tags): #คำสอนขงเบ้ง
หมายเลขบันทึก: 496698เขียนเมื่อ 31 กรกฎาคม 2012 13:35 น. ()แก้ไขเมื่อ 31 กรกฎาคม 2012 13:35 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท