บทเรียนจากกุดสิมนารายณ์


การทำ primary care ไม่ได้อยู่ที่สถานที่ แต่อยู่ที่ บุคคลผู้ทำ ทำได้ทั้งที่บ้านและที่สถานพยาบาล ที่นี่จึงเริ่มจาก คน โดยการรวบรวมทรัพยากรคนต่างๆมารวมกัน สร้างให้เป็นเนื้อเดียวกัน สร้างความรู้สึกร่วมกันในการเป็นเครือข่าย ไม่ใช่การบังคับในสายงาน สร้างแรงบันดาลใจให้อยากทำ

บทเรียนจากกุดสิมนารายณ์

ผศ.พญ.สายพิณ หัตถีรัตน์

ใครหลายคนอาจไม่เคยได้ยินชื่อว่า กุดสิมนารายณ์ ซึ่งเป็นชื่อดั้งเดิมของ กุฉินารายณ์ อำเภอสุดปลายทางของจังหวัดกาฬสินธุ์ การเดินทางอันแสนยาวไกลจากตัวจังหวัด ไม่มีรถไฟ ไม่มีเครื่องบิน มีแต่เส้นทางถนนที่ขาดเป็นช่วงๆ หากจะไป ต้องตั้งใจไป นอกจากเป็นอำเภอเก่าแก่ที่มีขนาดใหญ่ มีรากเหง้าทางวัฒนธรรมของชาวภู่ไทมาเนิ่นนาน ปัจจุบันเป็นอำเภอที่เป็นพื้นที่เกษตรอุตสาหกรรม มีรถบรรทุกอ้อยขนาดใหญ่วิ่งกันขวักไขว่ทั้งวันทั้งคืน เป็นเมืองที่มีขนาดใหญ่ มีประชากรอาศัยอยู่ถึง 110,000 คน โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชกุฉินารายณ์จึงต้องรับหน้าที่เป็นสถานพยาบาลทั้งปฐมภูมิและทุติยภูมิในเวลาเดียวกัน จากปริมาณแพทย์ประมาณ 10 คน มีแพทย์เฉพาะทาง 5 คน รวมแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว 1 คน ผู้อำนวยการโรงพยาบาล คือ นายแพทย์นพดล เสรีรัตน์ ได้สนับสนุนอย่างเต็มที่ให้นายแพทย์สิริชัย นามทรรศนีย์ แพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว ทำหน้าที่สร้างเครือข่ายการทำงานแบบเวชปฏิบัติปฐมภูมิในพื้นที่ โดยมีหลักการที่น่าสนใจ ดังนี้

“การทำ primary care ไม่ได้อยู่ที่สถานที่ แต่อยู่ที่ บุคคลผู้ทำ ทำได้ทั้งที่บ้านและที่สถานพยาบาล ที่นี่จึงเริ่มจาก คน โดยการรวบรวมทรัพยากรคนต่างๆมารวมกัน สร้างให้เป็นเนื้อเดียวกัน สร้างความรู้สึกร่วมกันในการเป็นเครือข่าย ไม่ใช่การบังคับในสายงาน สร้างแรงบันดาลใจให้อยากทำ แรงบันดาลใจที่สำคัญคือ เนื้องานที่มีคุณค่า มีประโยชน์ ทำให้ทุกคนอยากทำ แม้ระบบใหญ่จะยังไม่สมบูรณ์ แต่คุณค่าจะทำให้เกิดกับคนๆเดียวได้ เนื้องานที่ได้ดูแลบุคคลทั้งชีวิต เป็นเรื่องยากและใหญ่ ให้มองไปที่คนๆเดียวว่าได้รับ primary care ที่สมบูรณ์หรือยัง คุณค่าของงาน primary care จึงต้องทำให้คนมีคุณภาพในการไปแคร์ชีวิตคน  ไม่ใช่แค่ไปคัดกรองโรค การไปทำงาน primary care ที่มีคุณค่าจึงต้องอาศัยองค์ความรู้ทางเวชศาสตร์ครอบครัวและความรู้จากวิชาชีพต่างๆมาใช้ร่วมกัน เพราะขึ้นกับความหลากหลายของปัญหาผู้ป่วยแต่ละราย บุคลากรต้องทำงานไป เรียนรู้ไป ต่อยอดจากปัญหาที่เจอจริงจากการทำงาน เป็นการฝึกปฏิบัติอย่างต่อเนื่อง ไม่มีบทเรียนไว้ให้ล่วงหน้า แต่ให้เรียนรู้จากชีวิตของเขาตลอดเวลา

 

 ทีมที่ทำงานเวชปฏิบัติปฐมภูมิของกุฉินารายณ์จึงมาจากสหวิชาชีพ ได้แก่ แพทย์ พยาบาล เภสัช นักเยี่ยมบ้าน นักจิตวิทยา นักกายภาพ ผู้ช่วยพยาบาล แต่ละคนแบ่งโซนหมู่บ้านในการดูแลรับผิดชอบ คนที่ไม่มีความรู้ในศาสตร์สาขาอื่น ก็จะได้รับความรู้จากการมาประชุมกันก่อนการเยี่ยมบ้าน เล่าสรุปเรื่องปัญหาผู้ป่วยที่ตนรับผิดชอบและจะไปเยี่ยมวันนี้ ปรึกษาหารือและวางแผนว่าวันนี้จะไปทำอะไรที่บ้าน จากนั้นก็จะกระจายกันไปเยี่ยมบ้านตามเขตที่รับผิดชอบจนหมดวัน เมื่อหมดวัน ก็จะมีการประชุมสรุปสิ่งที่พบเพื่อวางแผนการดูแลรักษาต่อไป บรรยากาศความเป็นเพื่อนพ้องน้องพี่ ทำให้การแลกเปลี่ยนเพื่อช่วยเหลือกัน มองประเด็นที่จะไปช่วยเหลือคนไข้ต่อเป็นไปอย่างอบอุ่น

 

การเยี่ยมบ้านที่นี่มีลักษณะเหมือน ผึ้งแตกรังยามเช้า แล้วกลับเข้าสู่รังยามค่ำ แต่ละคนดูกระฉับกระเฉง เดินทางทั้งวันอย่างมีความสุขแม้จะเหน็ดเหนื่อย ต่อคำถามที่ว่า ทำไมไม่หยุดวันเสาร์อาทิตย์หรือวันนักขัตฤกษ์ เภสัชที่ลงเยี่ยมบ้านตอบว่า “หยุดไม่ได้หรอกครับ ชาวบ้านเขารอเราอยู่” นักกายภาพบำบัดบอกว่า “มันไม่ใช่ว่า เป็นหน้าที่เราหรือเปล่า แต่ถ้าเขาเป็นอะไร มันก็เป็นหน้าที่ของเรา เราต้องดูแลเขาเพื่อให้เขาดูแลตนเองได้ การเปลี่ยนแปลงจะเริ่มได้ เราต้องลงมือทำ ทำบ่ดีก็เฮ็ดใหม่” พยาบาลจาก รพ.สต.ตอบว่า “เป็นคนไข้ในพื้นที่ของเรา เราอยากทำ เราเติบโตจากภายใน เปลี่ยนจากคำถามว่า ทำไมต้องเป็นเรา มาเป็น เราจะทำอะไรได้บ้าง” หัวหน้ากลุ่มการพยาบาลบอกว่า “สังเกตว่าคนไข้อยากได้อะไรจากหมอที่พยาบาลทำไม่ได้ แล้วเราก็จะประสานให้ ปรึกษาแพทย์เฉพาะทางให้ มีทางลัดให้ อำนวยความสะดวก ประชุมกันบ่อยๆ ไม่เข้าใจก็ไปถามได้ เมื่อเยี่ยมบ้านก็สานต่อได้เลย

 

สิ่งที่ได้จากกุดฉิมนารายณ์ คือ กำลังใจ พลังใจอันเปี่ยมสุข ของคนทำงานจากสหวิชาชีพ ที่ลงทำงานเวชปฏิบัติปฐมภูมิในชุมชน สานต่อกับการทำงานของโรงพยาบาล ทีมกุฉินารายณ์ได้ทำให้เห็นแล้วว่า “incentive ที่ได้ทางใจ มีอานุภาพที่ทำให้อยู่ทน อิ่มใจ มีความสุข แม้ไม่มีรูปธรรมอย่างวัตถุเงินทอง”  ขอบคุณทุกคนที่กุดสิมนารายณ์ที่ได้เผื่อแผ่พลังแห่งความสุขนั้นให้ทุกคนที่ได้ไปเรียนรู้.

เครือข่ายร่วมพัฒนาศักยภาพผู้นำการสร้างสุขภาวะแนวใหม่ (คศน.)

คำสำคัญ (Tags): #ผู้นำ
หมายเลขบันทึก: 496691เขียนเมื่อ 31 กรกฎาคม 2012 13:13 น. ()แก้ไขเมื่อ 31 กรกฎาคม 2012 13:13 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท