รู้อย่างไรจึงเรียก รู้แจ้งเห็นจริง (คำบรรยายจากสมเด็จพระสังฆราช)


เมื่อเป็นดั่งนี้จึงจะชื่อว่าได้รู้อดีต รู้อนาคต รู้ปัจจุบัน และไม่ติดอยู่ในกาลทั้ง ๓ และโดยเฉพาะจะ "รู้แจ้งในปัจจุบันธรรมที่บังเกิดขึ้น" สิ่งที่เป็นอดีตนั้นก็เป็นสิ่งที่เกิดดับไปแล้ว สิ่งที่เป็นอนาคตก็ยังมาไม่ถึง แต่ปัจจุบันก็คือเป็นสิ่งที่มาตั้งอยู่ในบัดนี้ ก็จะต้องดับไปเช่นเดียวกัน เมื่อเป็นดั่งนี้ ก็เป็นการปฏิบัติดับกิเลสดับทุกข์
ประพฤติพรหมจรรย์ ก็คือปฏิบัติพุทธศาสนา สำรวมจิตใจมิให้หลงติดในกามทั้งหลาย คือ มิให้หลงคิดอยู่ในพัสดุกามทั้งหลาย คือ มิให้หลงติดอยู่ในรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะที่น่ารักใคร่ปรารถนาพอใจทั้งหลาย ด้วยอำนาจของกิเลสกามมีราคะเป็นต้น ปฏิบัติเว้นเสียจากกามทั้งไปไปตามขั้นตอน อันใดที่ควรจะเว้นก็ต้องเว้น อันใดที่ยังต้องการก็รับในเมื่อยังไม่สามารจะละได้หมด โดยปฏิบัติตามศีลตามภูมิชั้นของตน เช่น ศีล ๕ เป็นต้น ดังศีลข้อ ๓ เว้นจากประพฤติผิดในกามทั้งหลาย อันหมายความว่าเมื่อประพฤติถูกก็ใช้ได้ไม่ผิดศีลข้อนี้ แต่ว่าถ้าประพฤติผิดจึงจะผิดศีลข้อนี้ สำหรับผู้ที่ยังครองเรือนและสำหรับผู้ที่ปฏิบัติสูงขึ้นไปกว่านี้ก็ปฏิบัติตามขั้นตอนที่สูงขึ้นไป จนถึงปฏิบัติในมรรคมีองค์ ๘ คือ ศีล สมาธิ ปัญญา ตามพุทธศาสนา ก็เป็นการปฏิบัติสำรวมในกามทั้งหลายไปโดยลำดับจนถึงละได้หมด

ทั้งนี้ก็เป็นการปฏิบัติขัดเกลาตัณหา ความดิ้นรนทะยานอยากให้ลดน้อยลงไป จนถึงละได้ทั้งหมดในที่สุด โดยที่ปฏิบัติทำสติอยู่ทุกเมื่อ ก็คือการปฏิบัติทำสติในสติปัฏฐานทั้ง ๔ นั้นเอง เมื่อเป็นดั่งนี้จึงจะได้ปัญญาที่รู้แจ้งเห็นจริง ก็คือรู้แจ้งเห็นจริงตั้งต้นแต่ รู้แจ้งเห็นจริงในสังขารทั้งหลายว่าไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ตลอดจนวิสังขารคือแม้ที่เป็นธรรมปฏิบัติ จนถึงนิพพาน ก็เป็นอนัตตา คือเป็นสิ่งที่ไม่พึงยึดถือว่าเป็นตัวเราของเราเช่นเดียวกัน รวมความก็คือ รู้แจ้งเห็นจริงในอริยสัจทั้ง ๔ ขึ้นโดยลำดับในทุกข์ เหตุเกิดทุกข์ ความดับทุกข์ ทางปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์

เมื่อเป็นดั่งนี้จึงจะชื่อว่าได้รู้อดีต รู้อนาคต รู้ปัจจุบัน และไม่ติดอยู่ในกาลทั้ง ๓ และโดยเฉพาะจะรู้แจ้งในปัจจุบันธรรมที่บังเกิดขึ้น สิ่งที่เป็นอดีตนั้นก็เป็นสิ่งที่เกิดดับไปแล้ว สิ่งที่เป็นอนาคตก็ยังมาไม่ถึง แต่ปัจจุบันก็คือเป็นสิ่งที่มาตั้งอยู่ในบัดนี้ ก็จะต้องดับไปเช่นเดียวกัน เมื่อเป็นดั่งนี้ ก็เป็นการปฏิบัติดับกิเลสดับทุกข์

สมเด็จพระญาณสังวร (เจริญ สุวฑฺฒโน) โสฬสปัญหา หน้า ๖๒ ๖๓

Ico64_img_6132

เพราะเหตุของโลกธรรม ธรรมสำหรับโลกซึ่งทุกคนต้องประสบ อันได้แก่ความได้ลาภ ความเสื่อมลาภ ความได้ยศ ความเสื่อมยศ ต้องถูกนินทา ได้รับสรรเสริญ ต้องประสบความสุข ต้องประสบความทุกข์ต่างๆ อันเป็นส่วนที่น่าปรารถนาก็มี ไม่น่าปรารถนาก็มี เมื่อมีความทะยานอยากอันเป็นตัณหา ก็คือ ทะยานอยากไปในลาภยศสรรเสริญสุข ต้องการที่จะได้ ต้องการที่จะกำจัดบุคคลก็ตาม เหตุการณ์ต่างๆก็ตาม ที่ขัดขวางต่อลาภยศสรรเสริญสุขต่างๆของตน

จึงหวั่นไหวไปด้วยความหวาดระแวงบ้าง ด้วยความทะเยอทะยานบ้าง ดิ้นรนขวนขวายไม่มีเวลาจะสงบใจ เมื่อเป็นดั่งนี้ จึงเท่ากับเป็นผู้ไม่มีปัญญารู้เบื้องปลายทั้ง ๒ ก็คือ ไม่รู้อนาคต ไม่รู้อดีต และไม่รู้ท่ามกลางก็คือปัจจุบัน เมื่อเป็นดั่งนี้ จึงได้หน่วงคิดถึงอดีต หวังอนาคต และ หลงติดอยู่ในปัจจุบัน ลักษณะดั่งนี้เป็นลักษณะที่ขาดปัญญารู้แจ้งเห็นจริงทั้งอดีตทั้งอนาคตทั้งปัจจุบัน จึงหลงใหลไขว่คว้าอดีตบ้าง อนาคตบ้าง ปัจจุบันบ้าง วุ่นวายสับสน ลักษณะดั่งนี้ไม่ชื่อว่าเป็นมหาบุรุษ แต่ว่าได้ชื่อว่าเป็นผู้ที่ทีเครื่องผูกเย็บร้อยจิตใจ เหมือนอย่างเข็มที่เย็บร้อยผ้าด้วยด้ายให้ติดกับกิเลสอันเป็นเครื่องร้อยรัด ได้แก่ตัณหา ความดิ้นรนทะยานอยากหรือโลภ โกรธ หลง ต่างๆ อุปาทาน ความยึดถือต่างๆ จิตใจจึงวุ่นวายสับสน ถูกดึงไปในอารมณ์ต่างๆ

สมเด็จพระญาณสังวร (เจริญ สุวฑฺฒโน) โสฬสปัญหา หน้า ๖๑ ๖๒

หมายเลขบันทึก: 496624เขียนเมื่อ 31 กรกฎาคม 2012 09:18 น. ()แก้ไขเมื่อ 2 ตุลาคม 2013 20:38 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)
  • ขอบคุณสำหรับเรื่องดีๆครับ

อ่านแล้วรู้สึกดีค่ะ  ขอบคุณนะคะ

ขอบคุณ อ.ขจิตค่ะที่มาเจิมให้กัน

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท