หาความดีจากสิ่งไม่ดี


พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต) ได้เคยบรรยายธรรมว่า หากพบเหตุการณ์ใดในชีวิต แม้ว่าจะเป็นเหตุการณ์ไม่ดี ก็ให้พยายามหาสิ่งที่ดีจากสิ่งไม่ดีนั้นๆให้ได้

Tiny_img_5759

ผู้เขียนชอบความเห็นของท่านมาก เพราะพบว่า เมื่อนำมาปฏิบัติในชีวิตประจำวันทำให้ได้ประโยชน์มากมายจากเรื่องไม่ดีต่างๆ เช่น เมื่อหลงทาง ก็เป็นผลดีคือ ทำให้ทราบหนทางใหม่ หรือ เมื่อทำงานผิดพลาด ก็มีผลดีคือเปิดโอกาสให้รู้ว่าอะไรเป็นปัจจัย

หรือ เมื่อทำงานอย่างเต็มความสามารถแล้ว แต่ยังได้รับคำตำหนิ หากนำความรู้สึกที่เกิดเมื่อได้รับทราบคำตำหนิ และ ใจความของคำตำหนิมาพิจารณาแล้ว จะพบประโยชน์มากมายจากคำตำหนินั้น

เช่น

ในแง่ความรู้สึกเมื่อถูกตำหนิและการพิจารณา

หากรู้สึกเฉยๆเพราะคำตำหนิ ควรตรวจสอบใจตน ว่าที่เฉยนั้น เป็นความเฉยที่เรียกว่า อัญญานุเบกขา (หรือ อุเบกขาเวทนา ซึ่งพระคุณเจ้าบางรูปเรียก เฉยโง่ เฉยไม่เอาเรื่องเอาราว ) หรือ เฉยด้วยอุเบกขา (ปัญญาที่มองเห็นตามความเป็นจริงแล้วจึงวางเฉย)

อุเบกขาเวทนานั้น เกิดจากสิ่งที่มากระทบ ไม่มากพอที่จะทำให้จิตหวั่นไหวได้ เพราะ (๑) ความทนทานของจิต หรือ เพราะ (๒) เรารู้ความเป็นไป จึงเฉยอยู่ได้ ซึ่งอุเบกขาเวทนานี้ เป็นเวทนาที่พบมากที่สุดในชีวิตประจำวัน เป็นการสั่งสมอนุสัยคือ โมหะ หรือ ความหลง ไปเรื่อยๆ ต่างจากการมองเห็นสิ่งต่างๆตามที่เป็นจริงแล้วจึงอุเบกขา ซึ่งมักเกิดจากความชอบ ชัง มาก่อน แล้วจึงพิจารณาหาเหตุผลจนวางใจเป็นกลางได้

ดังนั้นจึงควรหมั่นนำเวทนาต่างๆขึ้นมาตรวจสอบแม้จะรู้สึก เฉยๆ ก็ตาม ว่าเป็นการวางเฉยด้วยเวทนา หรือด้วยปัญญา

หรือ

หากเราเป็นทุกข์เพราะถูกตำหนิ เมื่อเห็นความทุกข์ว่าได้เกิดขึ้นแล้ว พิจารณาหาเหตุผล อาจได้ความไปต่างๆ เช่น เพราะเรายึดมั่นในผลงาน ว่าเป็นผลงานที่ดีของเรา เมื่อเป็นผลงานที่ดี ก็หวังว่าจะได้รับคำชื่นชม ตั้งแต่คำชมเล็กๆน้อยจากบุคคลใกล้ชิด จนถึงคำชมอย่างกว้างขวางจากบุคคลทั่วไป

ก็จะเห็นว่า เราไม่ได้นำธรรมต่างๆ เช่น สันโดษ มาใช้ในการทำงาน

หลักสันโดษนั้น ท่านให้ ไม่สันโดษในเหตุ แต่ให้ สันโดษในผล หมายถึง การพยายามทำเหตุคือทำงานอย่างเต็มที่ และหวังผลเพียงเท่าที่เหตุหรือความพยายามจะทำให้เกิดได้ หรือ หากไม่ได้ผลตามที่หวัง ก็ให้เห็นว่าเราทำเต็มที่แล้ว

Tiny_img_5764-1

สันโดษนั้น มีตั้งแต่ขั้นต่ำ คือ พอใจในสิ่งที่ตนพึงมี พึงได้ ส่วนในขั้นที่สูงคือ ขั้นเต็มความหวัง

การหวังผลให้เกิดแก่ตน หรือ หวังผลในอนาคตนั้น จัดเป็นตัณหา เนื่องจากธรรมชาติของตัณหาคือ เมื่อไม่ได้ ก็ไขว่คว้า เมื่อได้มา ก็ต้องการให้ได้มากขึ้น เลิศขึ้น ดังนั้น ความหวัง หรือความประสงค์จึงไม่มีโอกาสได้เต็ม ดังนั้น ถ้าจะให้เต็มความประสงค์ ก็ต้องละความหวัง หรือความประสงค์นั้นเสีย

เพราะฉะนั้น สันโดษในพุทธศาสนาจึงเป็นสันโดษที่ถูกต้อง และก็มีระดับของสันโดษตั้งแต่ระดับต่ำจนถึงระดับสูง ก็คือเต็มความประสงค์ แต่ว่าความประสงค์ที่จะได้ความเต็มความประสงค์นั้น ในเมื่อยังมีความประสงค์อยู่ก็ยังไม่เต็ม เพราะฉะนั้น จึงต้องละความประสงค์ เมื่อปราศจากความประสงค์เสียได้นั่นแหละจึงจะเต็ม ก็คือ ปฏิบัติดับตัณหาความดิ้นรนทะยานอยาก และเมื่อยังมีตัณหาความดิ้นรนทะยานอยากอยู่ นอกจากไม่เต็มความประสงค์แล้ว ยังมีความหวั่นไหวไปต่างๆ อันปรากฏเป็นความทะเยอทะยานดิ้นรนไปต่างๆบ้าง ปรากฏเป็นความกระสับกระส่าย หวั่นไหวไป หวาดระแวงไปต่างๆบ้าง
สมเด็จพระญาณสังวร (เจริญ สุวฑฺฒโน) โสฬสปัญหา หน้า ๖๑

การละความหวังว่าผลที่ได้จะเป็นไปตามความพยายาม เมื่อไม่สมหวัง ก็เกิดการพร่อง แต่หากไม่หวังว่าจะได้ผลตามความพยายาม ก็จะไม่มีความพร่องให้ต้องทุกข์ เพราะไม่ว่าผลจะเป็นอย่างไร ก็จะเต็มแล้วในทันที

การถือเอาประโยชน์จากคำตำหนิ ก็ให้ผลดีหลายประการ เช่น ถ้าได้รับคำตำหนิ ก็ทำให้ได้หันมาทบทวนการทำงาน พิจารณาจิตตนเองก็จะเห็น ความแฟบ ของจิต เห็นความยึดมั่นใน ของตน อันนำไปสู่การมี ตัวตน ผู้เป็นเจ้าของ จึงทำให้ค่อยๆหาวิธีที่จะละไปในที่สุดได้ หรือถ้าได้คำชม ก็จะเห็น ความฟู ของจิต ได้ฝึกการละคลายการยึดมั่นใน ของตน อันนำไปสู่การละคลายความเป็น ตัวตน ต่อไป

หรือมองในแง่ปรมัตถ์ จะเห็นว่าตัวเรานี้ก็เป็นเพียงองค์รวมของขันธ์ทั้ง ๕ ไม่เป็นตนที่พึงยึดมั่นแต่อย่างใด เมื่อไม่เป็นตน ไม่มี ตัวตน หรือ อัตตา เสียแล้ว คำตำหนิกิริยาของการทำงานอย่างเต็มที่จะไปกระทบถูกที่ไหน

อัตตา เป็นคำบาลี รูปสันสกฤตเป็น อาตมัน แปลว่า ตน ตัว หรือ ตัวตน พุทธธรรมสอนว่า ตัวตนหรืออัตตานี้ ไม่มีอยู่จริง แต่เป็นสิ่งที่สมมติขึ้นเพื่อสะดวกในการสื่อสาร เพื่อความหมายรู้ร่วมกันของมนุษย์ในความเป็นอยู่ประจำวัน กำหนดชื่อที่บัญญัติขึ้น หรือตั้งขึ้น สำหรับเรียกหน่วยรวมหรือภาพรวมหนึ่งๆ
อัตตานี้จะเกิดปัญหาขึ้น ก็ต่อเมื่อคนหลงผิดเกิดยึดถือขึ้นมา ว่ามีตัวตนจริงๆหรือเป็นตัวตนจริงๆ เรียกว่าไม่รู้เท่าทันความเป็นจริง หรือหลงสมมติ
ในการแก้ปัญหาเกี่ยวกับอัตตานี้ พึงทราบว่า อัตตาไม่ใช่กิเลส มิใช่สิ่งที่จะต้องละ เพราะอัตตาไม่มีอยู่จริง จึงไม่มีอัตตาที่ใครจะละได้ อัตตามีอยู่แต่เพียงในความยึดถือ สิ่งที่จะต้องทำก็มีเพียงการรู้เท่าทันตามเป็นจริงว่า ไม่มีอัตตา หรือไม่เป็นอัตตา อย่างที่เรียกว่า รู้ทันสมมติเท่านั้น
พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต) พุทธธรรมฉบับปรับขยาย พิมพ์ครั้งที่ ๓๒ หน้า ๑๑๐

Tiny_img_4634-wai-flower-wl

เมื่อตรวจสอบเวทนาอยู่เรื่อยๆ ก็จะพบการเกิดดับของนามรูป อันเป็นปัจจัยให้เกิดผัสสะ อันเป็นปัจจัยให้เกิดเวทนา ซึ่งผลของเวทนาหากเราปรุงเป็นความชอบชัง กิเลสที่จะเพิ่มขึ้นเพราะการปรุงไปต่างๆ

เมื่อไม่ปรุง และพิจารณาด้วยความเป็นไตรลักษณ์อยู่บ่อยๆ ความทุกข์ก็น้อยลงเรื่อยๆ

ในแง่การพัฒนาผลงาน

คำตำหนิต่อตัวผลงาน เปิดโอกาสให้ได้ทบทวนวิธีการทำงาน เพื่อหาข้อบกพร่อง เพื่อเป็นข้อมูลในการพัฒนาวิธีการทำงานให้ดียิ่งๆขึ้นไป

โดยปกติ หากจะทำงานให้สำเร็จ ควรนำองค์ธรรมในหลักอิทธิบาท ๔ (ฉันทะ วิริยะ จิตตะ วิมังสา) มาใช้อยู่แล้ว การได้รับคำตำหนิ ยิ่งเป็นโอกาสให้เห็นว่า เราอาจบกพร่องในแง่ใดแง่หนึ่ง นำองค์ธรรมใดองค์ธรรมหนึ่งมาใช้ไม่พอไป เช่น อาจใช้ความพากเพียรในการหาข้อมูลไม่พอ หรือให้เวลากับการทำงานน้อยไป อาจตรวจสอบผลงานเพื่อหาข้อผิดพลาด หรือเพื่อปรับปรุงให้ดีขึ้นน้อยไป เป็นต้น

เหล่านี้คือผลดีที่เกิดจากการพยายามหาข้อดีในสิ่งที่ไม่ดี ไม่ว่าจะในเรื่องใดๆ เพื่อให้เกิดประโยชน์แก่ชีวิตให้ได้มากที่สุด



หมายเลขบันทึก: 496411เขียนเมื่อ 29 กรกฎาคม 2012 20:29 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 ธันวาคม 2017 09:16 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

ขอบคุณค่ะ สำหรับแง่งามของธรรมะค่ะ

มองเชิงบวก....เห็นความงดงาม นะคะ

ขอบคุณบทความดีดีนี้นะคะ

ขอบคุณคุณ Bright Lily ค่ะ ที่มาเจิมให้กัน

ณัฐรดา สุขสุธรรมวงศ์

ขอบคุณ Dr.Ple ด้วยค่ะ ที่แวะมา 

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท