ธรรมหรรษา
รศ.ดร. พระมหา หรรษา นิธิบุณยากร

เราตถาคตย่อมไม่ขัดแย้งกับชาวโลก แต่ชาวโลกย่อมขัดแย้งกับเรา


        ตามที่เจ้าของนามปากกาว่า "ชาวนา คุง" ได้ตั้งประเด็นคำถามต่อประเด็นที่อาจารย์ยุกติ มุกดาวิจิตรได้กล่าวว่า "หากพวกคุณมาเรียนมหาวิทยาลัย แล้วยังคิดอยู่ว่า พุทธศาสนาสอนทุกอย่างไว้หมดแล้ว ก็จงลาออกไปบวชซะ เพราะมหาวิทยาลัยเกิดขึ้นมาพื่อเป็น ปฏิปักษ์กับศาสนา เพื่อปลดปล่อยคนจากศาสนา..." ว่ามองอย่างไร?? เนื่องจากชุดถ้อยคำนี้มี ... ในตอนท้าย แสดงว่าน่าจะมีคำอื่นขยายเพิ่มออกไปอีก แต่คิดว่าจุดเน้นอาจจะอยู่ที่ชุดแรกดังที่นำเสนอ ท่านจึงนำมาถามเพื่อขอความเห็น ทั้งที่ถามมาหลายสัปดาห์ แต่ตัวเองมองไม่เห็น แต่เมื่อเห็นจึงขออนุญาตแบ่งปันดังนี้

        (๑) ศาสนาพุทธสอนเรื่องที่จำเป็นต่อการพ้นทุกข์ดูจากแง่มุมใบไม้ในกำมือกับในป่า จะเห็นว่า ในฐานะที่ได้ชื่อว่าสัพพัญญู พระพุทธเจ้ารู้ทุกเรื่องแต่สอนบางเรื่องที่จำเป็นต่อชีวิต
 
        (๒) ดูจากประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยในตะวันตกเกิดมาเพื่อเป็นปฏิปักษ์กับศาสนาดังจะเห็นได้จากยุโรปในสมัยกลาง หรือที่เรียกยุคมืด การเกิดขึ้นของวิทยาศาสตร์ในมหาวิทยาลัยต่างๆ ก็เพื่อปลดปล่อยพลังทางความคิดสร้างสรรค์บางอย่างที่ถูกครอบงำจากศาสนา

        (๓) ดูจากบริบทของพุทธศาสนา ไม่มีประเด็นใดที่จะเป็นปฏิปักษ์กับการศึกษาในมหาวิทยาลัย เพราะมุ่งเน้นให้แสวงหาวิชชา คือปัญญา ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายของการศึกษาในมหาวิทยาลัย

        (๔) ยิ่งไปกว่านั้น การศึกษาในพุทธศาสนามีเป้าหมายใช้การศึกษาเป็นเครื่องมือในการพัฒนาขันธ์ ๕ คือ ร่างกายและจิตใจ ซึ่งเน้นพัฒนาทั้งกาย พฤติกรรม จิต และปัญญา ให้เกิดดุลยภาพแก่ชีวิต

        (๕) จะเห็นว่า นอกจากหลักการทางพุทธศาสนาจะไม่เป็นปฏิปักษ์กับมหาวิทยาลัยแล้ว ยังถือว่ามีส่วนสำคัญในฐานะเป็นทางเลือกในการพัฒนาการเรียนรู้ของนิสิตนักศึกษาให้สามารถมีทั้งชีวทัศน์ และโลกทัศน์ที่สอดรับกับความเป็นไป รู้เท่าทัน และใช้ชีวิตอย่างประสานสอดคล้องกับโลกในยุคโลกาภิวัตน์ได้อย่างรู้ ตื่น และเบิกบาน

        (๖) พุทธศาสนาจึงเกิดมาเพื่อปลดปล่อย (Liberation) คนออกจากความทุกข์ ไม่ว่าจะเป็นความกลัว ความอยากที่ไร้ขีดจำกัด ความโกรธ ความเกลียด ความชิงชัง และความมีจิตใจที่คับแคบมืดบอด ไปสู่แสวงหาปัญญา ความสุข สงบเย็น และเป็นสันติสุขของมวลมนุษยชาติอย่างแท้จริง

        มาถึงจุดนี้ ทำให้นึกถึงพุทธพจน์ที่ว่า "นาหํ ภิกฺขเว โลเกน วิวทามิ” เป็นต้น แปลความว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราตถาคตย่อมไม่ขัดแย้งกับชาวโลก แต่ชาวโลกย่อมขัดแย้งกับเรา ธรรมวาทีย่อมไม่ขัดแย้งกับใครๆในโลก
หมายเลขบันทึก: 496222เขียนเมื่อ 27 กรกฎาคม 2012 15:10 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 สิงหาคม 2012 18:58 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

อ่านเรื่องนี้แล้ว นึกถึงพระพุทธเจ้าตรัสตอบเทวดา
ที่ทูลถามว่า(ส.ส. ๑๕/๖๑ : สังยุตตนิกาย สถาควรรค เล่มที่ ๑๕ หน้า ๖๑)
คนพวกไหนหนอไม่เป็นข้าศึกในโลกนี้
พระองค์ตรัสตอบว่า
สมณะในศาสนานี้ ไม่เป็นข้าศึกในโลก(สมณีธ  อรณา โลเก)

พุทธภาษิตบทนี้ท่านกวีเอกแห่งเมืองระยอง และศิลปินแห่งชาติ ปี ๒๕๓๖
ได้อรรถาธิบายไว้อย่างไพเราะด้วยภาษากวี ดังนี้(พุทธศาสนสุภาษิตคำกลอน :
พระพิพัฒน์ปริยัตยานุกูล วัดชากมะกรูด อำเภอแกลง จ.ระยอง)

สมณะพระสงฆ์ทรงสิกขา                พระสัมมาพุทธวิสุทธิ์แสน
ไม่เป็นภัยในโลกทุกดินแดน            ทั่วพื้นแผ่นพิภพสงบเย็น
เหมือนเม็ดฝนปรนปรายกระจายสาด  โลกธาตุพบสุขสิ้นยุคเข็ญ
สมณะพระธรรมชื่นฉ่ำเย็น                 มิได้เป็นข้าศึกอนึกพาล

 

 

ภิกษุทั้งหลาย เราตถาคตย่อมไม่ขัดแย้งกับชาวโลก แต่ชาวโลกย่อมขัดแย้งกับเรา ธรรมวาทีย่อมไม่ขัดแย้งกับใครๆในโลก”

แม้ต่างเผ่าพันธ์ ต่างชาติ ต่างศาสนา ก็อยู่กันอย่างมีสุข หากมีธรรมเท่ากัน

ขอนมัสการพระคุณเจ้านะครับ

     ผมคิดว่าการโค้ดประเด็นคำถามที่เป็นเนื้อหาสาระเพียงส่วนหนึ่ง แล้วเรานำมาหยิบยกเพื่ออธิบาย ย่อมไม่สามารถทราบถึงจุดประสงค์ของผู้พูดได้ทั้งหมด ดีไม่ดีอาจเป็นการนำประเด็นมาสื่อหรืออธิบายต่อๆกันในทางที่ผิด อาจทำให้บุคคลอื่นเข้าใจผิดไปกันใหญ่ ถ้าสงสัยในคำกล่าวใดๆ ก็ตามก็ควรถามผู้กล่าวคำนั้นจึงจะทราบถึงจุดมุ่งหมายและจุดประสงค์ของการกล่าวได้

     ส่วนตัวผมเองคิดว่า การที่จะให้วิเคราะห์คำกล่าวนี้  ผมได้ตั้งประเด็นไว้ 2 ส่วน คือ

๑. ประเด็นที่หยิบยกมา  ควรเป็นประเด็นที่มีเนื้อหาครบถ้วนกระบวนความเสียก่อน แล้วจึงนำข้อความมาอธิบายหรือตีความ เพื่อที่จะได้ทราบถึงความมุ่งหมายของผู้กล่าว/เจ้าของประเด็น แล้วการหยิบประเด็นมาเพียงสั้นๆ อาจเป็นการจงใจของผู้ปล่อยประเด็นก็เป็นได้ เพื่อทำให้บุคคลที่กล่าวข้อความนี้(จริง/ไม่จริง) ได้รับความเสียหาย หากแม้ว่าจะเป็นข้อความที่บุคคลนั้นกล่าวจริงก็ควรให้เขาได้อธิบายเสียก่อน

๒. ประเด็นเกี่ยวข้อความนี้ จริงๆ แล้ว ข้อสองนี้เทียบจะไม่จำเป็นเลย ถ้ารับทราบถึงของเเรก เพราะถ้าข้อความนี้ไม่ได้มีคนกล่าวจริง เป็นผู้ไม่หวังดีปล่อยออกมาทำลายคนอื่น ก็จะเป็นการทำลายอีกคนไป ส่วนถ้าเป็นข้อความจริงกระผมคิดว่า (พิจารณาจากข้อความที่ปรากฏเท่านั้น) ผมคิดว่ามหาวิทยาลัยที่กล่าวในข้อความนี้ก็น่าจะเป็นมหาวิทยาลัยของสงฆ์ (มมร./มจร.) หากพวกคุณมาเรียนมหาวิทยาลัย แล้วยังคิดอยู่ว่า พุทธศาสนาสอนทุกอย่างไว้หมดแล้ว ก็จงลาออกไปบวชซะ เพราะมหาวิทยาลัยเกิดขึ้นมาเพื่อเป็น ปฏิปักษ์กับศาสนา เพื่อปลดปล่อยคนจากศาสนา..  ผมคิดว่าเป็นการมองแบบทางโลกนะครับ  เพราะมหาวิทยาลัยแม้จะเป็นสถานที่ให้ความรู้มากขนาดไหนก็เป็นความรู้ภายนอก แบบ Knowledge ไม่ใช่ความรู้แบบ Wisdom อันเกิดจากความรู้ภายใน สิ่งเหล่านี้แหละที่ผมคิดว่าน่าจะใช่ในความหมายของข้อความนี้ และก็อาจจะคิดได้อีกวิธีหนึ่ง  ว่าผู้กล่าวข้อความนี้  อยากให้เรารู้จักพุทธศาสนา แบบชนิดจริงจังและสมบูรณ์  สามารถที่จะนำพุทธศาสนิกชนให้ดำเนินตามรอยพระศาสดาได้  กล่าวคือ บรรลุนิพพานได้นั้นเอง  และแม้ว่าเราจะบอกว่ามหาวิทยาลัยไม่ได้แน่นทางโลกอย่างเดียว ทางธรรมเราก็แน่นไปด้วย  ซึ่งสิ่งเหล่านี้ก็เป็นการอยากที่จะทำให้คนทั่วไปได้เข้าใจได้

   อย่างไรก็ตาม ผมคิดว่าการอธิบายสิ่งที่คนอื่นพูด ก็เหมือนกับเราพายเรือในมหาสมุทรที่คิดว่า ทางนี้น่าจะใช่ทางที่ทำให้เราถึงฝั่ง  ทางนั้นน่าจะใช่ทางที่ทำให้เราถึงฝั่ง สรุปว่า..................!

     ความเป็นผู้มีความรู้ทางโลกและความรู้ทางธรรมย่อมแตกต่างกัน ผู้ที่มีความรู้ทางโลกย่อมได้รับการยกย่องจากประเทศของตนและประเทศอื่นๆ แต่ผู้ที่มีความรู้ทางธรรม  ย่อมได้รับการยกย่องจากโลกนี้และโลกหน้า.


       

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท