เวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้การทำงานในชุมชนอย่างได้ผลปีที่ 2


การทำงานในชุมชน

เวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้การทำงานในชุมชนอย่างได้ผลปีที่ 2

เมื่อเดือนกรกฎาคม 2555 ได้มีโอกาสเข้าร่วมประชุมในเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้การทำงานในชุมชนอย่างได้ผลปีที่ 2 ซึ่งจัดขึ้นโดยสถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล(องค์การมหาชน) ที่ให้โควต้าไปฟรีแบบไม่ต้องเสียค่าลงทะเบียนแก่โรงพยาบาลที่ทำงานอยู่ 2 ที่นั่ง การประชุมนี้จัดขึ้น 2 วัน มีทั้งรูปแบบรับฟังการบรรยายจากวิทยากรชื่อดังอย่างเช่นดร.นพโกมาตร จึงเสถียรทรัพย์ การเสวนาแลกเปลี่ยนประสบการณ์การทำงานกับชุมชนของโรงพยาบาลต่างๆ  การนำเสนอด้วยโปสเตอร์ การพูดคุยกันในวงอาหารและอื่นๆ  

 การประชุมครั้งนี้มีแนวคิดสำคัญเรื่องการเชื่อมโยงระบบบริการแบบไร้รอยต่อ(SHA CUP) ที่มุ่งเน้นให้มีการออกแบบระบบบริการด้านสุขภาพ เชื่อมโยงกับผู้ป่วยและประชาชนทั่วไปที่อยู่ในชุมชนอย่างมีประสิทธิภาพ รอยต่อสำคัญที่ว่านี้คือชุมชนกับระบบบริการสุขภาพ ปัญหาที่พบในปัจจุบันพบว่าเรามักจะออกแบบระบบให้บริการเฉพาะเมื่อผู้ป่วยอยู่ในสถานพยาบาลเท่านั้นแต่ไม่ค่อยได้ออกแบบให้กับผู้ป่วยที่ต้องกลับไปดำรงชีวิตอยู่ที่บ้าน พูดง่ายๆว่าเมื่อจำหน่ายผู้ป่วยออกจากสถานพยาบาลแล้วก็จะ.. “ปล่อยให้ผู้ป่วยไปเผชิญชะตากรรมเพียงลำพัง” การพัฒนาคุณภาพบริการจึงต้องการเน้นความสำคัญของการดูแลต่อเนื่องจากสถานพยาบาลถึงที่บ้านและชุมชน ทั้งนี้ต้องมีการเตรียมทั้งในส่วนที่เป็นทีมสุขภาพที่จะลงไปปฏิบัติงานและการเตรียมชุมชนหรือผู้ดูแล(Caregiver) ไว้ให้พร้อม

ตัวอย่างการลงไปดูแลประชาชนในชุมชนมีหลากหลายรูปแบบ สถานบริการหลายแห่งมอบหมายให้งานในชุมชนเป็นหน้าที่ของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเช่นเป็นของงานเวชกรรมชุมชนเท่านั้น บางแห่งมีมากกว่าหนึ่งหน่วยงานเช่นระบบการดูแลผู้ป่วย stork ของโรงพยาบาลหาดใหญ่ หอผู้ป่วยมีระบบลงไปทำงานในชุมชนผ่านลูกข่ายที่เป็นโรงพยาบาลชุมชน โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล  บางแห่ง(โรงพยาบาลกะพ้อ ปัตตานี) หาอาสาสมัครจากคนในสถานบริการได้สิบกว่าคน พากันลงไปเยี่ยมบ้านในพื้นที่เสี่ยงจากสถานการณ์ความไม่สงบในภาคใต้  ได้พบความทุกข์ยากลำบากมากมายนำเอาข้อมูลมาคุยกัน ปรึกษากัน คนอื่นๆในโรงพยาบาลทนเห็นพี่น้องทำงานลำพังไม่ได้ต้องกระโดดออกมาเป็นแนวร่วมกลายเป็นห้าสิบหกสิบคนในปัจจุบัน บางแห่งหาทุนส่งให้เด็กในชุมชนได้เข้าไปศึกษาวิชาชีพพยาบาลสำเร็จกลับมาเพื่อทำงานในชุมชน(โรงพยาบาลอุบลรัตน์ ขอนแก่น) เป็นหมอประจำหมู่บ้านแล้วไปหาเครือข่ายจิตอาสาลงไปเยี่ยมบ้าน   ยิ่งไปกว่านั้นบางแห่งถึงกับมอบหมายให้ทุกคนจากทุกหน่วยงานมีหน้าที่รับผิดชอบลงไปดูแลประชาชนในชุมชน (โรงพยาบาลตากใบ นราธิวาส) โดยกำหนดให้ทุกคนไม่เว้นผู้อำนวยการโรงพยาบาลต้องลงเยี่ยมบ้านอย่างน้อยเดือนละ 1 ครั้ง จุดขายของโรงพยาบาลแห่งนี้จะให้เจ้าหน้าที่ทุกคนมีสมุดความดีสะสมแต้ม  ใครทำความดีครบแต้มที่กำหนดสามารถแลกเป็นของรางวัลได้  

ระบบบริการหลักที่ทำในชุมชนจะเป็นเรื่องของสุขภาพ เช่นการส่งเสริมสุขภาพทั้งด้านร่างกาย จิตใจ สังคม วิญญาณ สิ่งแวดล้อม ร่วมกับการดูแลด้านอื่นๆเช่นการสงเคราะห์ช่วยเหลือผู้ยากไร้ การส่งเสริมด้านอาชีพ การอนุรักษ์วัฒนธรรมประเพณี เป็นต้น ตัวอย่างบริการที่ประทับใจ ที่แหวกแนวไปจากที่อื่นๆเห็นทีจะต้องยกให้เป็นของโรงพยาบาลตากใบ โรงพยาบาลแห่งนี้ทำงานร่วมกับองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นให้คัดเลือกผู้ยากไร้ให้จำนวน 100 ครอบครัว แล้วทางโรงพยาบาลจะลงไปเยี่ยมบ้านและคัดเลือกให้เหลือ 50 ครอบครัว เพื่อมอบเงินให้ครอบครัวละ 5,000 บาทสำหรับทำทุน แล้วติดตามเยี่ยมบ้านเป็นประจำเพื่อดูดอกผลที่ต่อยอดจากเงินที่มอบให้รวมทั้งดูแลภาวะสุขภาพร่วมไปด้วย กิจกรรมต่อมาคือให้ อบต.คัดเลือกเด็กยากจนแล้วโรงพยาบาลส่งเรียนจนจบระดับปริญญาตรี โดยมอบทุนการศึกษาให้เดือนละ 2,000 บาท ในด้านคนพิการนอกจากจะได้สงเคราะห์ช่วยเหลือกายอุปกรณ์แล้วยังจัดตั้งศูนย์ฟื้นฟูเด็กพิการเพื่อรับเลี้ยงในช่วงเวลากลางวันและขอรับการสนับสนุนค่าอาหารจากทางเทศบาล รวมทั้งการฝึกเดินให้กับคนตาบอด เป็นต้น    

เป้าหมายสำคัญกับการทำงานในชุมชน ต้องการให้บุคลากรในระบบสุขภาพได้เห็น เข้าใจและศรัทธาในพลังและศักยภาพที่ยิ่งใหญ่ของชุมชน แล้วเข้าไปในทำงานในชุมชนด้วยลักษณะที่เป็นการเข้าไปเรียนรู้ร่วมกับชุมชน เรียนรู้ความต้องการของชุมชน ทำในสิ่งที่เป็นโจทย์ของชุมชนไม่ใช่ทำในสิ่งที่.. “หมออยากทำ” (เหมือนกับบทบาทที่เคยชินในสถานพยาบาล) แต่เป็นสิ่งที่(ผู้ป่วย)ในชุมชนอยากได้ ดังนั้นการทำงานกับชุมชนจึงต้องเป็นอะไรที่หลากหลาย ไม่ใช่แค่เรื่องสุขภาพเท่านั้น แต่ต้องมีความเชื่อมโยงกับทุกมิติที่อยู่ในชุมชน โดยเฉพาะในเรื่องครอบครัว เศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม การศึกษา และอื่นๆ เมื่อค้นพบพลังและศักยภาพที่มีอยู่แล้วก็นำมาออกแบบร่วมกับชุมชนเพื่อสร้างให้เป็นชุมชนลดโรค ชุมชนที่มีการดูแลสุขภาพของตนเอง(Self care) รวมทั้งการพัฒนาระบบสถานพยาบาลในชุมชนและผู้ดูแล(Home ward & Caregiver)  

ตลอดระยะเวลาของการประชุมเป็นการพูดคุยเสริมพลังให้กำลังใจคนทำงานชุมชน ได้รู้สึกว่าตัวเองมีค่า มีศักดิ์ศรี มีพลังสามารถที่จะทำงานได้อย่างมีความสุข  เพราะการทำงานในชุมชนเป็นงานที่ต่อเนื่อง เป็นงานเชิงรุก เชิงป้องกันสิ่งที่ยังไม่เกิดขึ้น ต้องพบปะและทำงานร่วมกับคนมากมายหลากหลายแตกต่างกันไปทั้งเชื้อชาติ ภาษา ความคิด มุมมองฯ  ความสำเร็จของงานจึงขึ้นอยู่กับปัจจัยต่างๆมากมายที่ ซับซ้อน เวทีพบปะแลกเปลี่ยนกันครั้งนี้คงจะเป็นอีกหนึ่งแรงที่ส่งเสริมให้ระบบบริการสาธารณสุขหันมาสนใจการทำงานในชุมชนมากขึ้นและช่วยกันชุบชีวิตชุมชน สร้างคนให้มีสุขภาวะ

“คนทำงานชุมชนไม่ต้องเป็นแม่พระก็ได้ ขอเป็นแค่คนที่มีหัวใจก็พอแล้ว” นพ.สุธี สุดดี   

หมายเลขบันทึก: 496158เขียนเมื่อ 27 กรกฎาคม 2012 07:30 น. ()แก้ไขเมื่อ 27 กรกฎาคม 2012 07:30 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท