A Min
คุณ จำรัส จันทนาวิวัฒน์

ปัญหาการใช้เทคโนโลยี..ทางการศึกษา


ต้องไม่ลืมว่า “คน” นั่นแหละ คือเทคโนโลยีอันล้ำเลิศ

ปัญหาการใช้เทคโนโลยี...ทางการศึกษา

          ทุกวันนี้ โลกหมุนเร็วจนสุดจะคาดคิด วิทยากรล้ำยุคเกิดขึ้นใหม่ ๆ ทุกวัน และเกิดขึ้นจากทั่วทุกมุมโลก  ประดิษฐ์โดยคนต่างเพศผิวพรรณต่างชั้นวรรณะ  และไม่จำกัดเฉพาะวิทยาการด้านใดด้านหนึ่งเท่านั้น  หากแต่เกิดขึ้นอย่างหลากหลาย ความเจริญก้าวหน้าในวิทยาการด้านต่าง ๆ เราก็เรียกว่า ความรู้ หรือปัญญา ส่วนที่สามารถเอามาปรับใช้ เป็นวิธีการทำงานแบบต่าง ๆ ให้ดีขึ้น มีประสิทธิภาพมากขึ้น เราก็เรียกกันโดยทั่วไปว่า เทคนิค ถ้าสามารถคิดปรับใช้เทคนิคที่ว่านี้ เป็นลำดับขึ้นตอน เห็นเนื้อเห็นแนวเป็นตัวตน ของมันเองอย่างชัดเจน จนได้เป็นกรรมวิธีเฉพาะ หรือเป็นเครื่องใช้ไม้สอยต่าง ๆ เราก็เรียกกันให้เข้าใจง่ายว่า เทคโนโลยี ซึ่งความเจริญก้าวหน้าในเรื่องทั้งหลายเหล่านี้เกิดขึ้นเพื่อคนทุกคน สุดแต่ใครจะรู้และติดตามทัน ซึ่งหากจะติดตามความเจริญทั้งหลายเหล่านี้ให้ครบถ้วนและถ่องแท้แล้ว คงเป็นความยากลำบากไม่ใช่น้อย

                การเอาเทคนิค หรือเทคโนโลยีมาใช้จึงเป็นเรื่องใหม่ และสำหรับบางคนก็กลายเป็นเรื่องยุ่งยาก เช่นจะให้ คนอายุ ๕๐ ขึ้นไป ใช้ internet, หรือใช้ Smart phone,   บางเรื่องก็กลายเป็นปัญหาใหญ่ เช่น เรื่องการปรับใช้ระบบคอมพิวเตอร์แทนพิมพ์ดีดของสำนักงานหลายแห่ง กลายเป็นปัญหาของพนักงานจำนวนหนึ่งที่กังวลว่าตนเองจะต้องถูกแทนที่ด้วยเครื่องคอมพิวเตอร์เหล่านั้น หรือการนำเครื่องจักรการผลิตแบบทำเองเสร็จสรรพ (Automatic) ในหลาย ๆโรงงาน ก็กลายเป็นเรื่องขัดแย้งระหว่างนายจ้างและลูกจ้าง เพราะลูกจ้างเกรงว่าจะถูกเลิกจ้างเพราะนายจ้างหันไปใช้เครื่องจักรแทน หรือแม้กระทั่งการใช้เทคโนโลยี่ใหม่ ๆ แทนเทคโนโลยีเก่า ก็ยังเป็นปัญหาก็มีให้เห็นอยู่เสมอ เช่นการเปลี่ยนเครื่องจักรจากระบบสายโซ่ เป็นระบบไฮโดรลิก  การเปลี่ยนเครื่องกลจักรเป็นระบบเครื่องอิเล็กทรอนิคส์ เป็นต้น  

          เรื่องความเจริญก้าวหน้าเทคโนโลยี่ของโลก จึงเป็นเรื่องที่ต้อง “ไตร่ตรอง” ให้ถี่ถ้วนและรอบด้านก่อนจะนำมาใช้ 

๑.     ต้อง “รู้จัก” ให้ชัดเจน     เทคโนโลยีเป็นความเจริญก้าวหน้าที่มีหลายสิ่งหลายอย่างแตกต่างไปจากเดิม ความใหม่และเก่านี้เองที่กลายเป็นปัญหาในหลาย ๆ จุดของการนำมาใช้งาน เช่น เป็นปัญหาแก่ผู้ใช้  วิธีการทำงาน  ก่อนใช้เทคโนโลยี เราจึงควรทำความรู้จักกับมัน ว่ามันคืออะไร ทำงานอย่างไร มีลักษณะเด่นและด้อยอย่างไร และให้ผลอย่างไร  อย่างชัดเจน  การรู้จักอย่างชัดเจน จึงจะทำให้เรา “เห็น” และ “รู้” ว่า มันเหมาะสมที่เราจะเอามาใช้งานหรือไม่

๒.     ต้อง “ไม่กลัว”   พูดให้ชัด คือกล้าใช้  มีคนจำนวนมากถึงจะรู้จักเทคโนโลยีแล้วก็ตาม แต่ก็ยังไม่กล้าใช้ หรือใช้แบบกล้า ๆ กลัว ๆ หรือใช้แบบไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วย  เช่น หลายคนอาจคิดไม่ถึงว่า เราสามารถสร้างโรงภาพยนตร์จากเครื่องฉายภาพ (Projector)นี้ได้ เพราะเกรงว่าหลอดภาพของมันจะหมดอายุ จะชำรุดเสียหาย (ทั้งที่อุปกรณ์เหล่านี้มันมีอายุจำกัด บางครั้งเก็บจนเก่า ก็หมดอายุเช่นกัน) หรือไม่ก็ตัวอย่างของการใช้โทรศัพท์มือถือ Smart Phone ที่ราคาหลายพันบาท แต่เราก็ใช้คุณสมบัติของมันเพียงโทรออกและรับสาย (แต่เราก็อยากได้กล้องที่คุณภาพดี ใช้ฟังเพลง-ดนตรีได้ ทั้งที่ใช้อยู่น้อยครั้ง)

๓.      เทคโนโลยีแยกส่วนระหว่าง อุปกรณ์ และ กรรมวิธีใช้งาน   โลกทุกวันนี้ก้าวหน้าขึ้นกว่าแต่ก่อน การคิดค้นและประดิษฐ์เทคโนโลยีสามารถแยกส่วนระหว่าง อุปกรณ์ และ กรรมวิธีใข้งานให้ออกจากกันได้ หรือไม่ก็สามารถผสมผสานการใช้งานของอุปกรณ์มากกว่าหนึ่งชนิดเข้าด้วยกัน หรือไม่ก็สามารถใช้อุปกรณ์ชนิดเดียวทำงานได้มากกว่าหนึ่งอย่าง ทำให้การใช้งานไม่เพียงต้องเข้าใจหลักการทำงานของอุปกรณ์แต่ละชิ้นเท่านั้น แต่ยังต้องเข้าใจลึกลงไปถึงหลักของกรรมวิธีใช้งานแบบผสมผสานเช่นนี้ของมันด้วย  ตัวอย่าง เช่น เครื่องคอมพิวเตอร์ชุดหนึ่ง ที่ประกอบด้วย ชุดคำนวณหลัก (CPU) แป้นพิมพ์ (Keyboard) จอภาพ (Monitor)   เครื่องพิมพ์ (Printer)  ชุดลำโพงเสียง   ทั้งหมดเราสามารถใช้งานร่วมกันหรือแยกใช้เฉพาะชิ้นก็ได้  การใช้งานอุปกรณ์เหล่านี้ให้เต็มประสิทธิภาพจึงต้องเข้าใช้อุปกรณ์และเข้าใจกรรมวิธีเชื่อมต่อเข้าด้วยกัน และหากอุปกรณ์ไม่ทำงาน ก็ยิ่งต้องเข้าใจกรรมวิธีเหล่านี้มากขึ้น เพราะหลายครั้งที่อุปกรณ์ไม่เสียหาย แต่ใช้งานไม่ได้ เพราะการเชื่อมต่อผิด เป็นต้น ไม่เพียงเท่านี้ ความเข้าใจเหล่านี้ยังสามารถทำให้ผู้ใช้ “คิดประยุกต์” เอาไปใช้งานอื่น ๆ ที่คล้าย ๆ กัน จนหลายครั้ง ความคิด “ดัดแปลง” เช่นนี้ ก็ทำให้เราเห็นอุปกรณ์แบบใหม่ หน้าตาแปลก ๆ แต่ทำงานได้    

๔.     ต้อง “คุ้นเคย” ก่อนจะ “คล่องแคล่ว”  เพราะเทคโนโลยี ก็เหมือนกับเครื่องมือชิ้นหนึ่ง ที่ถูกสร้างมาเพื่อใช้แบ่งเบาภาระงาน แต่จะใช้ได้สมประโยชน์นี้จริง ก็แต่เมื่อผู้ใช้สามารถใช้ได้คล่องแคล่ว ซึ่งหมายถึงต้องมีโอกาสใช้งานบ่อย ๆ ลองผิด ลองถูก เป็นการทดสอบหรือทดลองด้วยตัวเอง เพื่อให้เกิดทักษะ  เมื่อเกิดทักษะแล้วจึงจะใช้งานได้ดังใจนึก บางครั้งอาจต้องใช้งานจน “เจ๊ง” คามือไปเลยก็มี เทคโนโลยีจึงเป็นเครื่องมือที่ต้องลงมือด้วยตัวเอง ไม่อาจท่องจำ หรือยืนดู แล้วจะเข้าใจได้

๕.     “ใช้ด้วย จินตนาการ “  ข้อนี้เห็นจะเป็นข้อสุดท้าย และยากที่สุด เราเชื่อว่า ปัญหาของการใช้เทคโนโลยีมากกว่าครึ่ง เกิดจากการใช้ที่ไร้จินตนาการ หรือใช้แบบไม่คิดสร้างสรรค์ หรือจะว่าใช้แบบไม่มีความคิดเชิงบวก ก็คงพอได้    ประเด็นสำคัญของเทคโนโลยีก็คือ มันมีเกิดไม่พร้อมกัน เติบโตด้วยบริบทของสังคมคนละยุค และตอบสนองการใช้งานคนละวัตถุประสงค์ ความรู้ชัด ความเข้าใจ และความกล้าใช้งาน แม้จะเป็นความจำเป็นพื้นฐานของการใช้เทคโนโลยีก็จริง แต่การใช้งาน ผู้ใช้ต้องมี ความคิดสร้างสรรค์ (จินตนาการ) ในการใช้ด้วย เช่น การใช้มือถือถ่ายเกร็ดหนัง (Video Clip) การสร้างเพลงรอสาย-เพลงเรียกรับสาย (Ring tone)  การปรับใช้ กระดานแก้ว (Tap let)  แทนหนังสือ การสอนภาษาต่างประเทศในห้องด้วยชุดเครื่องอ่านและฟัง (Sound Lab)   นอกจากนั้น ผู้ใช้ยังต้องมีจินตนาการในการประยุกต์เชื่อมโยงและ ปรับใช้ให้เหมาะสมกับปัจจุบัน และฉลาดที่จะสอดแทรกหรือใช้เทคโนโลยีแต่พอเหมาะพอควร จึงจะไม่ทำให้เนื้อแท้ของงานเสียหาย หรือไม่ลุ่มหลงกับเทคนิคเกินไปเสียเนื้อแท้ และที่สำคัญที่สุด เทคโนโลยีเป็นของตายตัว (Fix)  หากผู้ใช้ลุ่มหลงจนลืมเนื้อแท้ของงานแล้ว ก็ไม่ยากที่กลายเป็นคน ไร้ศีลธรรมและคุณธรรม เพราะด้วยความที่เป็นของตายตัว ชีวิตชีวาหรือความเป็นคนก็จะเลือนหายไป  (หากมีโอกาสก็คงจะได้กล่าวถึงเรื่องการรักษาความเป็นผู้เป็นคนจากการใช้เทคโนโลยี ในโอกาสต่อไป)

                ในบทความนี้ จะขอยกตัวอย่างของภาพยนตร์ต่างประเทศที่เราคิดว่า นี่คือตัวอย่างของการปรับใช้เทคโนโลยีของคนคนหนึ่ง กับโลกรอบตัว ผ่านการเล่าเรื่องในภาพยนตร์อย่างสนุกสนาน   ภาพยนตร์เรื่องนี้ก็คือ Journey 2 “The Mysterious Island” กำกับการภาพยนตร์โดย Brad Peyton  ซึ่งเหมาะสมกับพ่อแม่ ผู้ปกครอง ครู หรือหัวหน้าหน่วยงาน ที่จะอุปโลกน์ ให้ภาพยนตร์เรื่องนี้ กลายเป็น “เทคโนโลยี” ชิ้นหนึ่งสำหรับการเรียนรู้ของลูกหลาน นักเรียนหรือผู้ที่เกี่ยวข้อง

                 “..เนื้อเรื่องเป็นการเดินทางของหลาน เพื่อตามหาปู่ของตน ที่สูญหายไปในการผจญภัยเพื่อค้นหาเกาะพิสดาร แต่เพราะหลานไม่เคยเจอหน้าปู่เลย และไม่เคยเจอหน้าพ่อ จนต้องกลายเป็นลูกกำพร้า จึงกลายเป็นปมด้อย ทำให้การแสวงหาวิธีเดินทางเพื่อตามหาปู่ เต็มไปด้วยความก้าวร้าวและผิดในสายตาผู้ใหญ่ แต่ด้วยความรักและความเข้าใจของพ่อเลี้ยง ทำให้การเดินทางครั้งนี้เป็นผล..”

               การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีที่เห็นในหนังเรื่องนี้ เริ่มตั้งแต่ฉากแรกเลย  นับแต่มอเตอร์ไซด์ที่ผู้ขับขี่ “สวมหมวกกันน็อค”  “การขับขี่ข้ามกำแพง โดยใช้กระดานลื่นเด็กเล่นเป็นพื้นเอียง” “ การถอดระหัสลึกลับ ด้วยมอส”  “การท่องในโลกจิตนาการด้วยหนังสือที่วางขายในปัจจุบัน” ที่สำคัญที่สุด ผู้กำกับภาพยนตร์ ไม่ลืมที่จะฝาก ความรักระหว่างคนและ ความรักของครอบครัว (ศีลธรรม) ไว้ในหนังเรื่องนี้ตลอด

               ใต้ทะเล ๒๐,๐๐๐ โยชน์ เขียนโดย จูลล์ เวิร์ล  กัลลิเวอร์ผจญภัย เป็นหนังสือผจญภัยที่อ่านสนุก ผู้กำกับได้นำเรื่องนี้ มาทำเป็นภาพยนตร์ ใส่เทคโนโลยีเข้าไป (ขอเน้นว่าเป็นการปรับใช้เทคโนโลยี่ที่น่าทึ่ง) ทำให้ การเดินทางเข้าสูใจกลางพายุงวงช้าง การขี่ผึ้ง หรือกิ้งก่าตัวเท่ารถไฟไล่กัดกลายเป็นเรื่องจริง   แอตแลนติส ดินแดนที่สาปสูญกลายเป็นเค้าของความจริงที่ชวนติดตาม

               ผู้ปกครอง ครู หรือหน่วยงานที่ฝึกอบรม สามารถหยิบยกเอาสิ่งที่ปรากฏในหนังเป็นตัวอย่างของการเรียนรู้แบบมีเป้าหมายที่ชัดเจน มีแง่มุมให้คิดและฝึกฝนที่โดดเด่น  เช่น หลายอยากถอดระหัสลับ จนต้องปีนเข้าไปในสถานีดาวเทียม เป็นเป้าหมายที่ท้าทาย (แม้ทำสำเร็จแต่ก็ใช้กรรมวิธีผิด)  หรือหลานที่โดดเดี่ยวตัวเอง แต่พ่อเลี้ยง ก็ใช้ “เทคนิค” ทางจิตวิทยา ทำให้ลูกเลี้ยงเข้ากันกับตนได้  ทำให้การถอดระหัส เป็นเรื่องที่ทำ “ร่วมกัน” ได้ และสนุกสนานด้วย  (ฝ่าอุปสรรค ได้ด้วยความคิดเชิงบวก และความมุ่งมั่นชัดเจน)

                 ในสังคมไทย เรามีนิทานมากมาย เช่น พระอภัยมณี ที่เป็นการผจญภัยที่ยิ่งใหญ่ไม่แพ้กัน แต่ในสังคมไทย ไม่เคยมอง “เทคโนโลยี” ชิ้นนี้เลย และไม่เคยนำมาปรับใช้กับงานเลย  เมื่อชมภาพยนตร์เรื่องนี้ยังนึกถึงพระอภัยมณีขึ้นมา เพราะนิยายเล่มนี้มีหลายเรื่องที่ “ประยุกต์” ใช้กับสังคมไทยได้มากมาย  ถือเป็นบันทึกทางสังคมที่สุดยอดและสนุกสนานชวนรู้เรื่องหนึ่งของคนไทย เช่น เชื่อหรือไม่ว่า สุนทรภู่เป็นคนแรกที่เอ่ยถึงการเรียนแบบหน่วยกิต (ไม่ใข่ระบบฝรั่งที่นักการศึกษาอ้างมา)  ยุคสุนทรภู่มีโรงเรียนแบบ “อาชีวะ-ช่างกล” แล้ว หรือให้หวือหวา เช่น กำปั่นเหาะ (เครื่องบิน หรือยานอวกาศในปัจจุบัน แต่ของสุนทรภุ่นั้นเป็นกำปั่นรักสิ่งแวดล้อม เพราะไม่ใช้น้ำมันหรือแก๊ส)  มีนาโนเทคโนโลยีวัสดุ (ที่พราหมณ์สร้างเรือจากก้อนฟางได้) หรือความรู้อันล้ำยุค เช่น เสียงมนต์บำบัด (Music Therapy)  จากเสียงปี  และยังล้ำเลิศถึงขั้นพัฒนาเป็นอาวุธชั้นสุดยอด สังหารศัตรูด้วยเสียง (Ultra Sonic Weapon) 

                 ทั้งหมดที่กล่าวมานี้ เพื่อจะบันทึกไว้ว่า การใช้เทคโนโลยีนั้นไม่มีปัญหา แต่อาจมีความไม่เหมาะสม หรือไม่สอดคล้อง ซึ่งเป็นปกติธรรดาของสิ่งต่างๆ โนโลกนี้ สำคัญที่คนใช้ หากรู้จัก เข้าใจ และมีความคิดจินตนาการแล้ว การปรับแต่งหรือประยุกต์ จะทำให้ไม่เกิดปัญหาในการใช้เทคโนโลยีใด ๆ เลย ไม่ว่าจะเป็นแง่มุมใดก็ตาม ถึงแม้จะไม่มีเทคโนโลยีใช้ ก็ไม่ใช่ปัญหา เพราะเทคโนโลยีก็เป็นเหมือนสายน้ำสายหนึ่ง ไม่มีของใหม่ล่าสุด ก็ยังมีของเก่าให้เราประยุกต์ขึ้นได้

               ที่สำคัญท้ายสุดและต้องไม่ลืมว่า  “คน” นั่นแหละ มีเทคนิค หรือเทคโนโลยีอันล้ำเลิศที่ปรับตัวและพัฒนาตัวเอง ติดตัวของตน ตลอดเวลา. 

หมายเลขบันทึก: 495343เขียนเมื่อ 19 กรกฎาคม 2012 18:15 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 กรกฎาคม 2012 08:59 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (7)

บทความนี้ยอดเยี่ยมมาก ๆ ครับ ;)...

ขอบคุณบทความดีๆ นะคะ

ขอบคุณ คุณ Wasawat และ คุณ Tuknarak
สำหรับกำลังใจทีให้มา... ครับ..

  • ประเมินสถานศึกษาโดยสมศ.รอบที่แล้ว บอกว่าเด็กๆเรายังคิดวิเคราะห์ไม่เก่ง ไม่เป็น สาเหตุปัจจัยคงมีหลากหลาย หากแก้เรื่องนี้ลุล่วง เทคนิคหรือเทคโนโลยีบ้านเราน่าจะไม่ตามหรืออาจจะนำเขาบ้างก็ได้นะครับ 
  • เวลารู้สึกว่าการใช้เทคโนโลยียุ่งยาก จะบอกตัวเองว่าเป็นแค่เครื่องมืออำนวยความสะดวก มันต้องทำให้เราสะดวกขึ้นสิ! ฉะนั้นอย่าไปกลัวว่าจะยากขึ้น.. 
  • ขอบคุณความรู้ และขอบคุณที่ให้เกียรติแวะเยี่ยมเยือนด้วยครับ

ขอบคุณคุณขจิต ครับ.. (จะพยายามเขียนเพิ่มให้มากขึ้นครับ..)

ขอบคุณ ผอ. ดิศกุล ด้วย (ในโอกาสหน้าคงจะได้แวะไปเยี่ยมเยือนครับ)

และขอบคุณคุณธนิตย์ด้วยครับ..

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท