หาคุณค่าจากการสรรหาผู้บริหารของมหาวิทยาลัย


เรื่องการสรรหาผู้บริหารในมหาวิทยาลัยนั้น ผมเห็นด้วยอย่างยิ่งว่า คุณค่าของมันไม่ได้มีเพียงได้ตัวผู้บริหารที่เหมาะสม แต่ยังเป็นช่องทางหรือโอกาสให้ได้ข้อมูลที่หลากหลาย และเป็นข้อมูลเชิงลึก สำหรับนำมาปรับใช้ในการพัฒนาส่วนงานนั้นๆ

 

          ในการประชุมสภามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์เมื่อวันที่ ๙ มิ.ย. ๕๕ มีการแต่งตั้งผู้บริหารหน่วยงานระดับคณะหรือเทียบเท่า ถึง ๗ หน่วยงาน   มีการอภิปรายทั้งในภาพไมโคร และแมคโคร   เพราะการแต่งตั้งผู้บริหารเป็นหน้าที่หรือความรับผิดชอบหลักของสภามหาวิทยาลัย  


          กรรมการท่านหนึ่งยกประเด็นภาพรวมขึ้นมา หลังสภาลงมติไปแล้วทั้ง ๗ หน่วยงาน ว่าน่าจะทบทวนหลักการและวิธีการสรรหาผู้บริหาร   เพราะที่ผ่านมาหลักการและวิธีการที่ใช้มักจะได้ตัวบุคคลที่เหมาะต่อการสร้างความราบรื่นในหน่วยงาน   แต่ไม่ได้ตัวบุคคลที่จะสร้างความเจริญก้าวหน้าแบบก้าวกระโดดแก่หน่วยงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในทางวิชาการ    ท่านให้ความเห็นว่า ไม่น่าจะให้อธิการบดีเป็นประธานคณะกรรมการสรรหา    ควรให้เป็นเพียงคนหนึ่งที่มาให้ข้อมูลแก่คณะกรรมการสรรหา    เพราะตามประสบการณ์ คณะกรรมการสรรหาเป็นโอกาสที่บุคลากรภายในหน่วยงานมีโอกาสให้ข้อมูลลึกๆ เกี่ยวกับหน่วยงานนั้นๆ 


          ผมมีความคิดมาตลอดว่า การสรรหาผู้บริหารของมหาวิทยาลัยเน้นหาคนมาสร้างความราบรื่นมากกว่าเน้นหาคนมาสร้างความแตกต่าง   ผมเดาว่านี่เป็นจารีตของสังคมไทย   และเดาว่าหากสภาฯ ตัดสินให้คนที่ลุยแหลกเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงมาเป็นผู้บริหาร หน่วยงานนั้นก็คงจะรับไม่ไหว    เพราะคนส่วนใหญ่ในหน่วยงานก็คงจะไม่อดทนต่อการเปลี่ยนแปลงแบบก้าวกระโดด   โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีผลกระทบต่อตนเอง


          เรื่องการสรรหาผู้บริหารในมหาวิทยาลัยนั้น ผมเห็นด้วยอย่างยิ่งว่า   คุณค่าของมันไม่ได้มีเพียงได้ตัวผู้บริหารที่เหมาะสม   แต่ยังเป็นช่องทางหรือโอกาสให้ได้ข้อมูลที่หลากหลาย และเป็นข้อมูลเชิงลึก   สำหรับนำมาปรับใช้ในการพัฒนาส่วนงานนั้นๆ  

 

 

วิจารณ์ พานิช

๓ ก.ค. ๕๕

หมายเลขบันทึก: 494961เขียนเมื่อ 16 กรกฎาคม 2012 11:01 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 กรกฎาคม 2012 13:06 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ผมเห็นว่าสภาหาวิทยาลัยทั้งหลายเน้นการเลือกคณบดี ผู้อำนวยการ มากกว่าหัวหน้าภาควิชา ทั้งที่ภาควิชาส่วนใหญ่เป็น หน่วยวิชาการที่สำคัญที่สุด ความก้าวหน้าส่วนใหญ่จะมาจากภาควิชา หัวหน้าภาควิชามีหน้าที่มากมาย เป็นผู้นำทางวิชาการ เป็นผู้นำทางทางจิตวิญาน ผมไม่พบหนังสือที่แนะนำเกี่ยวกับการทำงานของคณบดี มีแต่ของหัวหน้าภาควิชา(Department Chairman) เราผิดพลาดตั้งแต่ถือว่ามหาวิทยาลัยเทียบเท่ากรมในระบบราชการ ในประเทศที่พัฒนาแล้วหัวหน้าภาควิชามักจะเป็นศาสตราจารย์ แต่ประเทศไทยหัวหน้าภาควิชา อาจจะเป็นอาจารย์ไม่กี่ปีก็เป็นได้ ไม่จำเป็นต้องเป็นนักวิจัยก็ได้

ดิฉันเข้าใจว่าชาวมหาวิทยาลัยส่วนหนึ่งยังไม่ค่อยได้คิดเรื่องการเปลี่ยนแปลงอย่างก้าวกระโดด คงต้อง balance กันกับเรื่องของความราบรื่นในการทำงานด้วย

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท