AAR การดูงาน hospice เพื่อเสนอต่อมหาวิทยาลัยมหิดลและสถาบันอาศรมศิลป์


 

          ผมร่วมคณะดูงานhospice ของมหาวิทยาลัยมหิดลและสถาบันอาศรมศิลป์ ระหว่างวันที่ ๒๑ - ๒๘ พ.ค. ๕๕ ตามในบันทึกก่อนๆ    ได้ความรู้ความเข้าใจกลับมามากมาย โดยผมบอกตัวเองว่า ความเข้าใจดังกล่าวน่าจะยังจำกัดอยู่ ด้วยปัจจัยพื้นฐานที่จำกัดของผม    แม้ระหว่างดูงาน ผมได้เข้าใจเพิ่มขึ้นจากการเปิดใจของคนอื่น ว่าเขาเรียนรู้อะไรจากกิจกรรม AAR ที่เราทำกันทุกวัน หลังดูงานแต่ละวัน

          กลับมาบ้าน ผม AAR กับตัวเอง เพื่อตอบแทนมหาวิทยาลัยมหิดลและสถาบันอาศรมศิลป์ที่ลงทุนไปไม่น้อย

          เริ่มจากเป้าหมายของการตั้ง hospice and elderly care (มหิดลพฤฒาสถาน - ผมตั้งเล่นๆ)ที่หัวหินของ ม. มหิดล   ที่ผมมองว่า ต้องมีเป้าหมายเพื่อเปลี่ยนโลกทัศน์ของคนไทยว่าด้วยชีวิตและความตาย   ให้มองความตายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต ที่ทั้งคนใกล้ตาย และญาติมิตร ต้องเผชิญร่วมกัน   ให้เป็น “ความตายที่มีคุณค่า” (healthy death หรือ quality death) โดยตัวสถานที่ อาคาร และบริการที่หัวหินเป็นเพียงส่วนหนึ่งของกิจกรรมที่กว้างขวางเชื่อมโยง

          กิจกรรมการพัฒนาเหล่านี้ได้แก่

    • ระบบการเรียนรู้ที่หลากหลายของผู้สูงอายุ เพื่อชีวิตที่ดี และเตรียมตัวตายอย่างมีสติ

- การปฏิบัติฝึกสมาธิแบบต่างๆ  รวมทั้งการเดินจงกรม

- การฝึกศิลปะ

- การออกกำลังกาย

- การเรียนรู้ด้านศาสนา ปรัชญา

- การทำงานอาสาสมัคร

- เป็นต้น

 

    • การพัฒนาเชิงวิชาชีพ
    • ระบบอาสามัคร
    • ระบบเชื่อมโยงกับชุมชน   เน้นการส่งเสริมให้ชุมชนมีความสามารถในการดูแลผู้สูงอายุ ทั้งในช่วง independent living, assisted living, และช่วง end-of-life care เชื่อมโยงกับ รพสต. และ รพช. ในพื้นที่   เพื่อสร้างระบบการดูแลผู้สูงอายุที่ครอบคลุมทั่วประเทศ และครอบคลุมทุกภาคส่วนของสังคม   รวมทั้งเพื่อให้ค่าใช้จ่ายการดูแลสุขภาพระยะสุดท้ายของชีวิตในสังคมไทยไม่พุ่งสูงจนเกินกำลังของสังคม   เป็นการเตรียมรับมือสังคมผู้สูงอายุ
    • ระบบการบริจาค การระดมทุน
    • ระบบการหารายได้
    • ระบบการฝึกอบรม   ทั้งที่เป็นการฝึกอบรมบุคลากรด้านวิชาชีพ ได้แก่พยาบาล (ในเรื่อง  hospice พยาบาลมีบทบาทมากกว่าแพทย์)  แพทย์  นักสังคมสงเคราะห์  นักจิตวิทยา  นักการศาสนา  นักโภชนวิทยา  นักกายภาพบำบัด  นักกิจกรรมบำบัด (recreational therapist)   เป็นต้น

         

          การฝึกอบรมอาสาสมัคร เป็นส่วนหนึ่งของระบบการฝึกอบรม   รวมไปถึงการฝึกอบรมญาติ และผู้ดูแลคนแก่ที่บ้าน  

          ในแคนาดามี “personal assistant” ที่คนแก่จ้างมาช่วยเหลือดูแลชีวิตความเป็นอยู่ของตนในช่วงที่เป็น assisted living หากสังคมไทยจะมีอาชีพนี้ คนที่ทำหน้าที่ personal assistant ก็ควรมีการอบรมก่อนทำหน้าที่ และมีการเรียนรู้แบบ ลปรร. (แลกเปลี่ยนเรียนรู้) ในระหว่างทำหน้าที่นี้ด้วย   เช่นมีการ share ความประทับใจหรือข้อเรียนรู้ในกลุ่ม PA ๑๐ คน ครั้งละ ๒ ชั่วโมง ทุกเดือน โดยมี “คุณอำนวย” ช่วยทำหน้าที่กระบวนกร และช่วยเติมความรู้เชิงทฤษฎีที่เกี่ยวข้อง

 

    • ระบบวิจัยและพัฒนา    โดยมีฐานคติว่า เรื่องของชีวิตและความตายยังต้องมีการพัฒนาเชิงระบบและเชิงสังคมอีกมากมาย   รวมทั้งการจัดการเชิงวิชาชีพ หรือวิชาการก็ยังต้องมีการพัฒนาอีกมาก   และจริงๆ แล้ว ต้องมีการพัฒนาต่อเนื่องในทุกๆ เรื่อง   การวิจัยจึงเป็นส่วนหนึ่งของงานหรือกิจกรรมทุกประเภท
    • ระบบ tour ทั้งที่เป็นการทัวร์ (เพื่อเรียนรู้) ในมหิดลพฤฒาสถาน   และการพาคนแก่เที่ยวเพื่อสุขภาวะ
    • ระบบสื่อสารสังคม   เพื่อสร้างระบบคิดใหม่ว่าด้วยความตาย ที่สอดคล้องกับการถือว่าความตายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต   เป็นส่วนหนึ่งของความสำเร็จในชีวิต   ความตายไม่ใช่ความพ่ายแพ้   แต่เป็นการสร้างสรรค์ต่อตนเอง ครอบครัว มิตร และสังคม

 

          การสื่อสารสังคมนี้ มีเป้าหมายเพื่อสร้างสรรค์ระบบการจัดการระยะสุดท้ายของชีวิต ไว้ตั้งแต่อายุยังน้อย   มองการสั่งสมทุนชีวิต (life assets) ทั้งส่วนวัตถุและส่วนจิตวิญญาณไว้ใช้ประโยชน์ยามที่ร่างกายอ่อนแอลงยามชรา    ช่วยให้มีชีวิตยามชราและตายอย่างคุณภาพได้

 

 

วิจารณ์ พานิช

๑๗ มิ.ย. ๕๕

หมายเลขบันทึก: 494394เขียนเมื่อ 11 กรกฎาคม 2012 10:32 น. ()แก้ไขเมื่อ 26 มีนาคม 2018 09:20 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท