การศึกษาไทยปี 2020 ที่ใจอยากเห็น (อีกครั้ง)


วันอาทิตย์ที่ผ่านมา มีโอกาสได้ไปมูลนิธิมหามกุฏราชวิทยาลัย บางลำพู ได้หนังสือของสมเด็จพระสังฆราชมาหลายเล่ม

เล่มหนึ่งชื่อว่า “การบริหารทางจิตสำหรับเด็กเล็ก” เป็นหนังสือที่ท่านได้นำพุทธประวัติ ธรรมที่พระพุทธองค์สั่งสอน และเหตุการณ์ตามที่ได้มีการบันทึกไว้มาเล่า ประกอบกับบทเพลงที่มีเนื้อร้องสอดคล้องกับเรื่องราว และสามารถนำไปขับร้องได้โดยใช้ทำนองของดนตรีไทย (หนังสือเล่มนี้เกิดจากพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีที่ทรงให้สถานีวิทยุ อ.ส. พระราชวังดุสิต จัดรายการทางจิตเป็นประจำทกเช้าวันอาทิตย์ จึงโปรดให้อาราธนาสมเด็จพระญาณสังวร (เจริญ สวฑฺฒโน) แต่ครั้งยังเป็นพระสาสนโสภณ จัดรายการเมื่อปีพ.ศ. ๒๕๑๑ ต่อมามีการเรียบเรียงบางส่วนพิมพ์เพื่อพระราชทานในโอกาสวันสำคัญต่างๆ และรวบรวมทั้งหมดรวมพิมพ์เป็นเล่มเดียวครั้งแรกในพ.ศ. ๒๕๒๓)

 

(URL ภาพวาด http://ahph9thi.gotoknow.org/assets/media/files/000/608/583/original_IMG_4577-wl.JPG )

 

จึงทำให้มีความเห็นว่า น่าจะนำมาบันทึกต่อจากบันทึกเรื่อง “การศึกษาไทยที่ใจอยากเห็น”  ไว้เป็นตอนต่อด้วย เนื่องจากทำให้ช่วงเวลาการเรียนวิชาดนตรีไทยของเด็กๆ นอกจากจะเพื่อศึกษารากเหง้าวัฒนธรรมของชาติตน แล้ว ยังสามารถแทรกการศึกษาหลักธรรมในศาสนา อันสามารถนำมาใช้ในชีวิตประจำวันได้อีกด้วย

ดังเช่นบางส่วนที่ขอยกมาแสดงนี้

 

ตอนที่ ๙๙ พุทธมงคลประการที่๒๑

พุทธมงคลประการที่ ๒๑ ความไม่ประมาทในธรรม

ประมาท คือ อย่างไร?

ประมาท แปลว่า มัวเมา เลินเล่อ เผลอ ลืมสติ ดูหมิ่น เช่นคำว่าประมาทหน้า ก็หมายถึงดูถูกว่าทำไม่ได้ หยามหน้า สบประมาท เป็นต้น คนที่ประมาทในการเรียนก็คือ คนที่ไม่สนใจในบทเรียน เลินเล่อ ไม่ตั้งใจทำ คนที่ประมาทในการทำงานก็คือ ทำงานทำๆหยุดๆ ทอดธุระ ปล่อยไปเรื่อยๆตามใจชอบ นึกสนุกก็ทำ ไม่นึกสนุกก็ไม่ทำ เห็นเรื่องจริงเป็นเรื่องเล่น ไม่ขะมักเขม้นที่จะทำให้ดีที่สุด ให้เสร็จเร็วที่สุด และเรียบร้อยที่สุด ดังนี้เป็นต้น

ทำอย่างไรจึงจะเป็นคนไม่ประมาท?

พระท่านสอนว่า คนที่ไม่ประมาทนั้นจะต้องเป็นผู้มีสติ สตินั้นก็คือความระลึกรู้ตัวอยู่เสมอว่าตนกำลังทำอะไรอยู่ ฉะนั้นก่อนที่จะพูด จะทำ จะคิด จะต้องมีสติคอยกำกับควบคุม มีความยั้งคิดรอบคอบในกิจการงาน ความจำได้หมายรู้ จำได้ถึงการที่ตนได้ทำ และคำที่ตนได้กล่าว แม้จะนานก็ไม่ลืม ฉะนั้นคนที่ไม่ประมาท จึงเป็นคนที่มีสตอิยุ่เสมอ คนที่ขาดสติ มักทำผิด พูดผิด คิดผิด มักผลุนผลัน ไม่รอบคอบ บางคนขาดสติ ทำให้ได้รับภัยอันตรายก็มี เช่น คนที่ข้ามถนน ไม่มีสติคอยควบคุม ไม่ดูหน้าหลัง ข้ามพรวดพราด ก็อาจถูกรถชนได้

สำหรับความไม่ประมาทในธรรมนั้นก็คือ การระมัดระวังที่จะไม่ประพฤติผิดทั้งทางกาย วาจา และใจ ไม่ประมาทในความชั่ว คือมองเห็นเป็นสิ่งเล็กๆน้อยๆ ไม่สำคัญ แล้วกระทำลงไป เพราะสิ่งเล็กๆน้อยๆนี้แหละอาจเป็นชนวนไปถึงเรื่องใหญ่ได้ ยกตัวอย่างเช่น คนที่คะนองปากคอ พูดจาลวนลาม ก่อให้เกิดความทะเลาะวิวาท และเมื่อเห็นอีกฝ่ายไม่พอใจ ก็ยิ่งยั่วยุมากขึ้นแทนที่จะสงบปากคำ หรือขอโทษเขา กลับเห็นเป็นเรื่องสนุก แต่อีกฝ่ายไม่สนุกด้วย ฉะนั้น เรื่องเล็กจึงกลายเป็นเรื่องใหญ่ คืออาจจะเป็นเรื่องถึงโรงถึงศาลก็เป็นได้ ฉะนั้น ความสำรวมระวังในกาย วาจา ใจ และประพฤติให้ถูกประพฤติควร อันเป็นความไม่ประมาทในธรรมนั้น จึงนับได้ว่าเป็นเหตุนำมาซึ่งความสุขความเจริญของชีวิตอีกประการหนึ่งดังนี้

                เพลงประกอบ คำร้องของ อ.ร.ส.

                    ทำนอง คลื่นกระทบฝั่ง

ไม่ประมาท            ในธรรม                  จงจำมั่น

จักป้องกัน             ผิดพลาด                 อาจแก้ไข

โดยสำรวม            ระวัง                       ไม่คลั่งไคล้

มิหลงใหล            ได้สติ                      สมฤดี”

หมายเลขบันทึก: 494391เขียนเมื่อ 11 กรกฎาคม 2012 10:03 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กรกฎาคม 2012 07:52 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

ขอบคุณครับสำหรับเนื้อหาดีดี สอดคล้องกับการศึกษาไทยปี 2020 ที่ใจอยากเห็น โดยจะต้องมีสติไม่ประมาทในการวางแผนการศึกษาไทย

เยี่ยมชมบันทึกและส่งต่อกำลังใจ

คะคุณ ณัฐรดา  สุขสุธรรมวงศ์

ชื่นชมแนวคิดและการนำพระพุทธศาสนา

มาสอดแทรกในการเรียนการสอน

เป็นการฝึกจิต ฝึกสมาธิ ปลูกฝังสิ่งดีงามแก่เด็ก

ตั้งอยู่บนความมีสติ รู้คิด รู้ทำคะ

สวัสดีค่ะคุณพี่ณัฐรดา,

มาเรียนรู้คำสอนดีดีที่ไม่ได้จำกัดเฉพาะสำหรับเด็กๆ เท่านั้นค่ะ

คุณพี่สบายดีนะคะ

ขอบคุณค่ะ :)

ทำอย่างไร ผู้ใหญ่อย่างเราจึงตระหนักในธรรม นะ เราจะผสานคำสอนของพระพุทธองค์มาร่วมกับยุคสมัยสารสนเทศท่วมท้นแบบนี้ได้อย่างไร คิดคำนึงก็คือจะทันกาลหรือเปล่ากับความล้ำยุคของเทคโนโลยี่ จินตนาการไม่ออกจริงๆ ครับ ส่วนตัวคิดว่า น่าสนใจแล้วล่ะ แต่อย่างไม่กระจ่าง ยังคิดว่าโบราณอยู่ คิดว่าไม่สอดคล้องกับความจริง นะครับ ขอบคุณบันทึกดีๆ นี้นะครับ :)

  • พี่ครับ
  • หายไปนาน
  • กลับมาได้อ่านเรื่องดี
  • ชอบมากเลย
  • สมเด็จฯท่านเคยอยู่กาญจนบุรีด้วยครับ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท