การบริหารจัดการแบบบ้านบ้านกับฮักเมืองน่าน


ช่วงนี้ได้ผู้เขียนได้เข้ามาอบรมผู้บริหารระดับกลาง ในการอบรมเขาได้ให้ฝึกลองนำเสนอสารคดีหลักการบริหาร ๕ นาที พร้อมเอกสาร ผู้เขียนจึงนำเอาเรื่องราวหลักการบริหารของฮักเมืองน่านมานำเสนอ ดังนี้

..........................................................

“ฮักเมืองน่าน”เป็นองค์กรชาวบ้านที่เกิดขึ้นจากการรวมตัวกันของกลุ่มคนในท้องถิ่นที่มีจิตสำนึกรักและห่วงใยแผ่นดินถิ่นเกิด ทั้งพระสงฆ์ ชาวบ้าน นักพัฒนา และข้าราชการ มารวมตัวกันในปี พ.ศ. ๒๕๓๓ และดำเนินกิจกรรมรณรงค์อนุรักษ์สิ่งแวดล้อม และขยายไปงานต่างๆ ที่เป็นปัญหาของชุมชนท้องถิ่น จนเกิดกลุ่ม/องค์กรและเครือข่ายกระจายอยู่ทั่วทั้งจังหวัดน่าน เช่น เครือข่ายอนุรักษ์ป่าชุมชน, เครือข่ายอนุรักษ์พันธุ์สัตว์น้ำ, เครือข่ายเกษตร, เครือข่ายป้องกันยาเสพติด, เครือข่ายเอดส์, เครือข่ายออมทรัพย์และสวัสดิการภาคประชาชน, เครือข่ายครอบครัวเข้มแข็ง, เครือข่ายเด็กและเยาวชน, เครือข่ายสื่อภาคประชาชน, เครือข่ายพระสงฆ์, และอื่นๆ อีกมากมาย และได้จดทะเบียนเป็น “มูลนิธิฮักเมืองน่าน” ในปี พ.ศ.๒๕๔๑ ปัจจุบันมีกลุ่ม/องค์กรเครือข่าย จำนวน ๘๘๕ กลุ่มองค์กร

หลักการบริหารจัดการแบบฮักเมืองน่าน

กลุ่มฮักเมืองน่านได้ใช้การบริหารแบบก้อนเส้า ตามสุภาษิตพื้นบ้านที่ว่า “สามก้อนเส้านึ่งข้าวจึงจะสุก”

ก้อนเส้าที่ ๑ “ฮักและศรัทธา” เป็นตัวนำทางที่ทำให้คนมาหลอมรวมใจกันพัฒนาถิ่นฐานบ้านเกิด ความศรัทธาในตัวผู้นำตามธรรมชาติ(Role Model) ที่ได้ก่อการดี กลุ่มคนฮักเมืองน่านมี “พระครูพิทักษ์นันทคุณ” เป็นผู้นำที่ทุกคนมีความรัก ศรัทธา และเชื่อฟัง พร้อมที่จะร่วมอุดมการณ์ทำงานเพื่อถิ่นฐานบ้านเกิด รวมไปถึงกลุ่มผู้นำอาวุโสที่ได้ทำกิจกรรมจนเกิดผลเป็นรูปธรรม อย่างเช่น กลุ่มบ้านหลวงหวงป่า กลุ่มศิลาแลง กลุ่มอนุรักษ์พันธุ์สัตว์น้ำบ้านดอนแก้ว กลุ่มบุคคลเหล่านี้จึงเป็นที่เคารพศรัทธา นำไปสู่การเอาแบบอย่าง ทำตาม และต่อยอดขยายผลออกไป

ก้อนเส้าที่ ๒ “มุฑิตาจิต” เป็นยุทธศาสตร์ขยายความดีที่เกิดขึ้นในชุมชน ที่มีอยู่ในพื้นที่ (ทุนทางสังคม) ใครมีดีด้านใด ก็ไปศึกษาเรียนรู้กับเขา ไปให้กำลังใจเขา ชื่นชม ยกย่องเชิดชู ชักชวนมาเป็นเครือข่าย แล้วถอดเอาตัวอย่างบทเรียนจากเขา นำมาทดลองทำ นำมาต่อยอด ให้ขยายผลออกไป โดยยึดหลักการเรียนรู้ คือ “พารู้ พาดู พาทำ” โดยมี "เวทีชาวบ้าน" เพื่อให้คนหลากหลายได้มาพบปะแลกเปลี่ยนประสบการณ์กันและกัน ต่อยอดความรู้กัน ตามภาษาชาวบ้านที่ว่า “ปี้ฮู้สองน้องฮู้หนึ่ง” เป็นการเอาความรู้เชิงปฏิบัติที่ได้สั่งสมจากประสบการณ์การทำงานมาแลกเปลี่ยนกัน หลักการคือไม่หนีจากภูมิรู้ของท้องถิ่น แต่เสริมด้วยหลักวิชาการสากลไปด้วย

ก้อนเส้าที่ ๓ “เครือข่าย” เป็นการจัดการความสัมพันธ์ระหว่างคนกับคน กลุ่มกับกลุ่ม กลุ่มกับเครือข่าย เป็นความสัมพันธ์หลายทิศทาง ในแนวราบ ทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันและกัน ได้พบปะกัน แบ่งปันและใช้ทรัพยากรร่วมกัน ได้ประโยชน์ร่วมกัน เกิดความรัก ความผูกพัน สร้างแรงบันดาลใจ ไว้วางใจกัน เกิดพลังความร่วมมือ นำไปสู่พลังการจัดการแบบทวีคูณ (๑ + ๑ = 5) และพลังอำนาจในการปกป้องคุ้มครองสิทธิของชุมชนและการต่อรองกับองค์กรภายนอก กลุ่มฮักเมืองน่านจึงมีทั้งเครือข่ายเชิงประเด็น เครือข่ายเชิงพื้นที่ และเครือข่ายเชิงการเรียนรู้

การบริหารจัดการนั้นเป็นทั้งศาสตร์และศิลป์ แต่ส่วนใหญ่ก็ยังวนเวียนอยู่กับการเป็นอยู่ เป็นไปของชุมชนสังคมโลก การบริหารจัดการที่สำคัญยิ่งกว่านั้นคือ การจัดการความรู้เท่าทันใจของตนเอง ลดความเป็นตัวตน ความเป็นอัตตา ตัวกูของกู รู้จักพอดี ไม่มากไป ไม่น้อยไป ลดความโลภ ความโกรธ ความหลงลง ไม่แบ่งเขา แบ่งเรา อยู่กันอย่างเกื้อกูลกัน สรรพสิ่งล้วนแล้วแต่อิงอาศัยกัน หากเข้าใจแล้วปฏิบัติ ปัญหาต่างๆ ก็จะน้อยลง การอยู่ร่วมกันในชุมชนและสังคมก็เป็นสุข เพราะเราคือโลก โลกคือเรา คือการเรียนรู้ คือการอยู่ร่วม อยู่อย่างมีความหมาย

อ้างอิง

๑. ถนัด ใบยา. จิตวิญญาณฮักเมืองน่าน. น่าน : มูลนิธิฮักเมืองน่าน; 2544.

๒. บานจิตร สายรอคำ, ถนัด ใบยา. ฮักเมืองน่าน : บนเส้นทางแห่งการเรียนรู้. เชียงใหม่ : นันทกานต์ กราฟฟิค การพิมพ์ ; 2547.

หมายเลขบันทึก: 494255เขียนเมื่อ 10 กรกฎาคม 2012 06:58 น. ()แก้ไขเมื่อ 25 มีนาคม 2015 15:57 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

คนเมืองน่าน...มีสิ่งดีๆ เกิดขึ้นเสมอครับ

เมืองนาน ==> นั้น "น่าฮัก น่าพักนอน" จริงๆ นะเจ้า

ขอบคุณมาก สำหรับบทความดีดีนี้นะคะ

ฮักเมืองน่าน ชื่นชอบและติดตามมานาน

เครือข่ายคนเมืองลุง พูดถึงบ่อย

สามเส้านึ่งข้าวสุก

รักศรัทธา มุฑิตา และเครือข่าย ขอนำไปปรับใช้ให้เมืองลุงน่าอยู่

แวะเยี่ยมชมบันทึก

ชื่นชมแนวคิด "การจัดการความรู้เท่าทันใจของตนเอง"

รู้ตัว รู้ตื่น รู้พอ พึ่งพา เกื้อกูล พูนสุขคะ

 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท