มนตร์ มหามฤตยุญชนะ


บังเอิญพบคำถามเกี่ยวกับมนตร์ “มหามฤตยุญชนะ” ในเว็บไซต์หนึ่ง เห็นว่าน่าสนใจ จึงนำมาเล่าสู่กันฟัง เผื่อผู้ตั้งคำถามคนนั้นจะได้ทราบคำตอบไปด้วย

มนตร์นี้มีปรากฏอยู่ใน คัมภีร์ฤคเวท เล่มที่ 7, สูกตะ (บท) ที่ 59, คาถา (ลำดับบทของร้อยกรอง) ที่ 12 คือคาถาสุดท้ายของบทนี้ มักจะเขียนอ้างว่า 7.59.12 เป็นอันรู้กัน

บทสวดทั้งหลายในฤคเวทนั้นเป็นฉันท์ คือร้อยกรองทั้งสิ้น บทนี้ก็เช่นกัน

ฉันท์ ที่ใช้เรียกว่า อนุษฏุภ (ฏ ปฏักสระอุ ภ สำเภา) หรือเรียกอีกอย่างว่า โศลก บทนี้ (เฉพาะบทที่ 12) เป็นมนตร์สวดแด่พระรุทระ เรียกอีกอย่างว่า มฤตยุวิโมจนี หรือมนตร์เพื่อปล่อยจากมฤตยู (ความตาย) นั่นเอง

ส่วนคำว่า มฤตยุญชนะ (มฺฤตฺยุญฺชน) มาจากศัพท์ มฺฤตฺยุมฺ (มฤตยู) และ ชน (ชัยชนะ) แปลศัพท์นี้ว่า ชัยชนะต่อมฤตยู..

 

เนื้อหามนตร์มีดังนี้

 

โอม...

ตฺรฺยมฺพกํ ยชามเห สุคนฺธึ ปุษฺฏิวรฺธนมฺ ฯ

อุรฺวารุกมิว พนฺธนานฺมฺฤตโยรฺมุกฺษีย มามฺฤตฺตาต ฯ

 

แยกศัพท์อย่างนี้

....ตฺรฺยมฺพกํ ยชามเห สุคนฺธึ ปุษฺฏิ-วรฺธนมฺ ฯ

...อุรฺวารุกํ อิว พนฺธนานฺ มฺฤตโยรฺ มุกฺษีย มา มฺฤตฺตาต ฯ

 

คำแปล

เราขอบูชาพระตรีเนตร เสมือนผู้ให้ความเติบโตงอกงามแก่แตงน้ำเต้า ที่มีกลิ่นหอม

ขอพระองค์จงปลดปล่อยข้าผู้มีพันธนาการแห่งมฤตยูจากความตายด้วยเทอญฯ

 

อธิบายคำแปลได้ดังนี้

1.เราขอบูชา/ทำพิธีสังเวย (ยชามเห)  มาจากธาตุ ยชฺ แปลว่า บูชา หรือสังเวย ลงปัจจัยแสดงประธานพหูพจน์ (อันที่จริงผู้พูดเป็นเอกพจน์ แต่เพื่อแสดงความเคารพ จึงใช้พหูพจน์)

2. (แด่)พระตรีเนตร (ตฺรฺยมฺพกํ)(เป็นกรรมของประโยค)  มาจาก ตฺรี+อมฺพก = ผู้มีตาสามดวง ในที่นี้ หมายถึง พระรุทระ ซึ่งเป็นเทพเจ้าที่กล่าวถึงมากในคัมภีร์ฤคเวท แต่ในภายหลังถือว่าคำนี้หมายถึง พระศิวะ (ภายหลังจึงเรียกมนตร์นี้ว่า มนตร์พระศิวะ)

3. ผู้มีกลิ่นหอม (สุคนฺธึ) (เป็นกรรมของประโยค) มาจาก สุ (ดี) + คนฺธิ = กลิ่น

4. ผู้เิติบโตงอกงาม (ปุษฺฏิ-วรฺธนมฺ) (เป็นกรรมของประโยค) ปุษฺฏิ แปลว่า มีผล, รุ่งเรือง, วรฺธน แปลว่า งอกงาม พัฒนา นี่เป็นคำสมาส

5. เสมือน (อิว) คำนี้ไม่แจกรูป

6. ผลแตงหรือน้ำเต้า (อุรวารุกํ) (เป็นกรรมของประโยค)

 

7. ท่านโปรดจงปล่อย (มุกฺษีย) จากธาตุ มจฺ แปลว่า ปลดปล่อย อยู่ในรูปแสดงความอ้อนวอน ประธานไม่ปรากฏรูป

8. ตัวข้า (มา) (เป็นกรรมของประโยค)

9. ผู้ถูกพันธนาการ (พนฺธนานฺ) (เป็นกรรมของประโยค)

10. มฺฤตโยรฺ (แห่งมฤตยู)

11. จากความตาย (มฺฤตฺตาตฺ)

 

หากต้องการฟังจาก Youtube ก็ลองค้นด้วยคำว่า "Maha Mrityunjaya Mantra" ก็เจอครับ มีทั้งสวดเป็นเพลง (มีทำนองและดนตรี) และสวดแบบทำนองพระเวท มีเสียงสูงต่ำ ท่านจะได้ฟังมนตร์นี้หลายๆ รอบ (เนื้อหามนตร์มีแต่สองวรรคเท่านั้น)

หมายเลขบันทึก: 493322เขียนเมื่อ 3 กรกฎาคม 2012 19:01 น. ()แก้ไขเมื่อ 3 กรกฎาคม 2012 20:34 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

สวัสดีค่ะแวะมาทักทายหาความรู้เพิ่มเติมค่ะ ท่านสบายดีนะคะ มีความสุขกับสิ่งที่ทำทุกๆวันนะคะให้กำลังใจค่ะ

ขอบคุณค่ะอาจารย์ที่เอาเรื่องยากๆมาเขียนให้น่าอ่าน แต่ชลัญก็มึนอยู่ดี

สวัสดีครับ อ.Blank หมูจ๋า

ขอบคุณมากครับ

ขอให้มีความสุขเช่นกันครับ

 

สวัสดีครับ คุณ Blank ชลัญธร

ยากจริงๆ นั่นแหละ อิๆ

บทสวดเหล่านี้น่าตื่นเต้นครับ เพราะมีความเก่าแก่

และยังใช้จนบัดนี้ คุณชลัญธรลองสวดดูก็ได้

อาจจะได้พ้นจากมฤตยู เป็นอมตะสองพันปี ;)

 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท