ความทรงจำที่ว่างเปล่า - ดร. นพ. กิติพันธ์ วิสุทธารมณ์


อย่าทำอย่างผมเป็นอันขาด

 ความทรงจำที่ว่างเปล่า




17 มีนาคม 2550


อย่าปล่อยให้ความทรงจำที่มีกับลูกนั้นว่างเปล่า 


เส้นทางแห่งความสำเร็จที่ ดร. นพ. กิติพันธ์ วิสุทธารมณ์ ผอ.รพ.หัวใจกรุงเทพ และผู้ก่อตั้งร่วม Minneapolis Heart Institute แห่งรัฐมินนิโซตา 1 ใน 10 สถาบันโรคหัวใจที่มีชื่อเสียงที่สุดของอเมริกา แผ้วถางไว้ดูสง่างามเสมอ จวบจนวันที่เขาพบกับความสูญเสียที่มิอาจอุทธรณ์ จนหากหมุนเวลากลับได้..เขาจะไม่เป็นหมอ

“ถ้าให้เลือกระหว่างชีวิตที่ประสบความสำเร็จอย่างสูงในฐานะศัลยแพทย์กับการได้มีเวลาอยู่กับลูก ผมขอทำอย่างอื่นที่ไม่ต้องใช้เวลาไปกับโรงพยาบาล กับเทรนนิ่ง และกับความเป็นหมอดีกว่า”

“เมื่อย้อนกลับไปมองชีวิตตัวเองว่ามีอะไรไม่ถูกต้องและน่าเศร้าที่สุด พบว่าผมทุ่มเทให้กับงานมากเกินไป ผมแต่งงานตอนจบแพทย์ เรียนต่อเฉพาะทางและทำงานใช้ทุนที่อเมริกาตอนมีลูกชายคนโต (ไก่ มารช วิสุทธารมณ์) เราทั้งคู่ต้องทำงานและเรียนหนังสือไปด้วย จึงไม่สามารถเลี้ยงลูกเองได้ ต้องส่งไปอยู่กับคุณพ่อคุณแม่ที่เมืองไทยตนเขาอายุ 3 ขวบ”


“เมื่อมีลูกคนเล็กยิ่งแย่ใหญ่ ผมต้องอยู่เวรครั้งละ 72 ชั่วโมง กลับบ้านหนึ่งคืนแล้วต้องกลับไปอยู่เวรใหม่อีก 72 ชั่วโมง ขนาดวันคลอดยังปล่อยให้ภรรยาไปคลอดอีกโรงพยาบาลคนเดียว เพราะผมต้องไปดูเคสผ่าตัดให้หัวหน้าตั้งแต่หกโมงเช้า กว่าจะออกจากห้องผ่าตัดก็บ่าย ถึงได้รู้ว่าลูกเป็นชายหรือหญิง”


“นี่เป็นผลพวงจากการเรียนแพทย์สมัยนั้น ซึ่งหนักหนากว่าปัจจุบันมาก เพื่อนฝรั่งที่เรียนด้วยกันมาตั้งแต่ศัลยกรรมทั่วไป 7 คนแต่งงานแล้วทั้งหมด แต่พอเรียนศัลยกรรมหัวใจและทรวงอกต่ออีกสองปีครึ่ง ต้องหย่ากันถึงสามคู่ เพราะภรรยาไม่เข้าใจว่าทำไมต้องอยู่เวร กลับดึก และทำงานหนักขนาดนั้น แต่เราไม่มีทางเลือก หากต้องการเรียนให้จบก็ต้องทำทุกอย่างตามที่เขากำหนด ยิ่งผมไม่ใช่อเมริกัน ถ้าจะแข่งขัน เขาทำ 100% ผมต้องทำให้ได้ 120% จึงทุ่มเทเวลาให้กับงานมากกว่าครอบครัว”

“ลูกโตขึ้นเรื่อย ๆ แต่ผมไม่เคยมีเวลาให้ ได้อยู่ด้วยกันน้อยมาก ช่วงลูกไก่อายุ 7 – 12 ขวบ ผมทำปริญญาเอกอีกใบ เลิกงานแล้วต้องเรียนหนังสือ ไม่ก็ขลุกอยู่ในห้องสมุดจนดึกถึงกลับบ้าน ชีวิตที่จะได้ใช้กับลูกจึงหมดไป พองานเริ่มสบายขึ้นเริ่มมีเวลา ลูกก็โตจนไปไหนมาไหนกับเพื่อนเองแล้ว”

“ มองกลับไปก็นึกไม่ออกเลยว่าได้ทำอะไรกับลูกบ้าง ความทรงจำว่างเปล่าไปหมด ผมอยู่อเมริกา เขาเรียนจบก็มาเมืองไทย พอเขากลับไป ผมก็ย้ายกลับมา สวนกันตลอด การที่ผมห่างหายไปจาก 12 ปีแรกของชีวิตลูกจึงยังเป็นความรู้สึกผิดบาปที่เกาะกินใจเรื่อยมา แต่โชคดีภรรยาอธิบายให้ลูกเข้าใจถึงเหตุผลที่ผมไม่มีเวลา ทำให้เราไม่เคยมีปัญหากัน และสนิทกันมาก แม้ไม่ค่อยได้ใช้ชีวิตด้วยกันก็ตาม”

“ลูกไก่ชอบช่วยเหลือคนอื่นมาแต่ไหนแต่ไร สมัยประถม เวลาปิดเทอมไปเรี่ยไรขอรับบริจาคนม ขนม อาหารกระป๋อง จากเพื่อนบ้าน และส่งหนังสือพิมพ์ตอนเช้าเพื่อเก็บเงินไปซื้อของให้คนไร้ที่อยู่ พอเรียนมหาวิทยาลัย ในวันขอบคุณพระเจ้า เขากลับมาบ้าน ทำไก่งวง อบขนมปัง เตรียมสลัด แล้วนำไปให้คนยากไร้ที่ไม่มีเงินกิน หรือตอนเกิดสึนามิ เขาก็ทำเว็บไซต์ http://www.phuketproject.org รวบรวมเงินได้ 80,000 เหรียญ ได้เพื่อนจากทั่วโลกอีก 100 กว่าคนมาช่วยกันสร้างบ้านให้ชาวบ้านที่ไม้ขาวกับเขาหลัก ซึ่งทุกอย่างเขาทำเองมาโดยตลอด ไม่เคยมีใครบอกให้ทำ”

“เขาเคยมาเปรย ๆ เรื่องอยากทำงานให้ International Rescue Committee (IRC) ซึ่งเป็นองค์กรอิสระของสหประชาชาติที่ให้ความช่วยเหลือผู้ลี้ภัยในนานาประเทศ แต่เราทักท้วงไว้ เพราะหน้าที่การงานเดิมกำลังไปได้สวย เป็นถึง Executive Creative Director อายุน้อยที่สุดในบริษัทโฆษณาที่เขาทำ มีอนาคตสวยงามรออยู่ ส่วนงานใหม่ได้เงินน้อยกว่าเดิมถึงสามเท่า แถมเสี่ยงอันตรายจากเหตุความไม่สงบ เขาฟังแล้วบอกว่าจะลองคิดดู ซึ่งดูก็รู้ว่าใจเขาไปกับงานนั้นแล้วแน่นอน เพราะเป็นความชอบส่วนตัว จากที่เคยทำงานอาสาสมัครในหลาย ๆ ประเทศแถบแอฟริกามาแล้ว”

“แล้วคืนหนึ่งก็เหมือนมีสายฟ้าฟาดเปรี้ยงลงมากลางใจ เมื่อมีโทรศัพท์จากญาติที่อเมริกามากลางดึกเพื่อแจ้งข่าวร้ายว่าลูกไก่ได้จากพวกเราไปอย่างไม่มีวันกลับ ผมฟังแล้วช็อก ไม่อยากเชื่อว่าเป็นเรื่องจริง”


“เขาไปเมืองคิกาลี ประเทศรวันดา เพื่อสำรวจพื้นที่ก่อนจะตกลงรับงานกับ IRC วันนั้นเขาต้องเดินขึ้นเขาสูงกว่าหมื่นฟุต ขากลับบ่นปวดขามากจึงขอหยุดพักก่อน พวกที่เหลือเดินต่อไปได้ไม่เท่าไหร่ ชาวบ้านก็วิ่งหน้าตื่นตามมาบอกว่าคุณไก่เป็นลมล้มพับไป พอกลับไปดูเขาก็เสียชีวิตแล้ว”

“ใบมรณบัตร แจ้งว่าเขาเป็นลิ่มเลือดอุดตันหัวใจ ฟังจากคำบอกเล่าของคนที่อยู่ในเหตุการณ์แล้ว ตัวบอกเหตุน่าจะมาจากการที่อยู่ ๆ เขาปวดต้นขามาก นั่นคืออาการที่ลิ่มเลือดไปเกาะกันแน่นที่ผนังหลอดเลือดบริเวณต้นขา จนขวางการไหลเวียนของกระแสโลหิต พอถูกแรงดันมาก ๆ ลิ่มเลือดจึงหลุดผลัวะแล้วไหลไปทับถมกันจนอุดตันที่หัวใจ ทำให้เกิดภาวะหัวใจวายเฉียบพลัน อาการนี้พบไม่บ่อยนัก หากไม่ตรวจละเอียดถึงขั้นดูความผิดปกติของผนังหลอดเลือดก็จะไม่รู้”

“ ซึ่งยิ่งทำให้เสียใจมากขึ้นไปอีก เพราะผมเป็นหมอ รักษาคนไข้มาไม่รู้เท่าไหร่ แต่กับลูกชายแท้ ๆ กลับไม่เคยแม้แต่จะตรวจร่างกายเขาด้วยตัวเองสักครั้ง ได้แต่จับลูกชายคนเล็กมาตรวจละเอียด เป็นการป้องกันประวัติศาตร์ซ้ำรอยทีหลัง”

“ตอนไปรับศพที่สนมบิน ผมคิดว่าทำใจได้แล้วประมาณหนึ่ง แต่พอเห็นโลงศพถูกยกลงมา หัวใจเหมือนถูกขยุ้มเค้นจนปวดไปหมด แต่ต้องเข้มแข็งไว้เพราะภรรยาควบคุมตัวเองไม่ได้แล้ว ฟูมฟายใช้มือเปล่าพยายามงัดตะปูเปิดฝาโลงออก กลัวลูกอึดอัดหายใจไม่ออก ต้องปลอบกันอยู่นานกว่าจะสงบ”

“เปิดโลงออก ตัวเขายังเปื้อนดินเปื้อนทรายเต็มไปหมด ผมจึงจัดการอาบน้ำแต่งตัวให้เขาใหม่ ไม่เคยคิดเลยว่าชีวิตนี้จะต้องมานั่งทำศพลูก มีแต่คำถามเต็มหัวว่าทำไมต้องเป็นเรา ตอนเป็นลูก ผมต้องเสียพ่อแม่และพี่สาวไปพร้อมกันด้วยอุบัติเหตุที่ไม่คาดฝันมาแล้ว ทำไมยังต้องเป็นเราอีก”

“เหตุการณ์เมื่อยี่สิบกว่าปีก่อนย้อนกลับมาในหัว ตอนนั้นพ่อแม่และพี่สาวขับรถไปดูที่ดินต่างจังหวัด จู่ ๆ จักรยานยนต์พุ่งมาจากไหนไม่รู้ อัดเข้าที่ถึงน้ำมันแล้วแฉลบไปใต้ท้องรถ ไฟลุกพรึ่บท่วมคัน พ่อหนีออกมาจากรถได้เลยกลับไปช่วยแม่และพี่สาวที่ติดอยู่ในรถ แต่ไม่สำเร็จ ตัวเองโดนไฟคลอกกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ พยายามกลิ้งตัวกับพื้นเพื่อดับไฟจนตกคูน้ำเน่าข้างทาง รักษาตัวในโรงพยาบาลได้ไม่กี่วัน แผลก็ติดเชื้อ และเสียชีวิตตามแม่กับพี่สาวไป”

“คิดไปก็หาคำตอบไม่ได้และยากจะทำใจยอมรับ ทุกวันนี้ผมจึงยังคงทำงานหนักไม่ต่างไปจากสมัยที่อยู่อเมริกา อยู่โรงพยาบาลวันละ 14 ชั่วโมงทุกวันตลอดสัปดาห์ จะต่างกันก็เพียงเมื่อก่อนผมทำงานหนักเพื่อพิสูจน์ตัวเอง เพื่อชื่อเสียงและความสำเร็จ แต่ทุกวันนี้ผมทำงานหนักเพื่อจะได้ไม่มีเวลาคิดเรื่องลูก แต่แม้เสียใจมากเท่าไหร่ สิ่งหนึ่งที่ต้องยอมรับคือความภาคภูมิใจในตัวเขาที่ทำเพื่อคนอื่นมาโดยตลอดกระทั่งในวินาทีสุดท้ายของชีวิต”

“วันเวลาที่หมดไปกับหน้าที่การงานทำให้ความทรงจำเกี่ยวกับการใช้ชีวิตร่วมกันของผมและลูกซีดจาง บางช่วงว่างเปล่าจนนึกอะไรไม่ออก ซึ่งถือเป็นความผิดพลาดที่น่าเศร้าและอันตราย เพราะสามารถเกิดขึ้นได้ง่าย ๆ กับทุกคนหากไม่ระวัง ทำให้ผมพร่ำบอกกับลูกน้องไม่ว่าจะเป็นหมอหรือใครก็ตามว่า ควรมีเวลาอยู่กับครอบครัวให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้”

“ช่วงชีวิตของลูกก่อนที่เขาจะโตเริ่มไปกับเพื่อนนั้นสำคัญสำหรับพ่อแม่ทุกคน ฉะนั้น ใครก็ตามที่ลูกยังเล็ก จงอย่าได้ปล่อยให้พื้นที่ตรงนี้ว่างไป เพราะถ้าปล่อยผ่านไปแล้วจะหมุนเวลากลับมาไม่ได้อีก เวลาที่ใช้ร่วมกันมีค่ามากเกินกว่าจะพยายามทำแต่งานหาแต่เงิน ซึ่งสิ่งที่ได้มาไม่สามารถซื้อช่วงเวลาตรงนี้กลับมาได้ ถ้าคุณทำอย่างเดียวกับผม สุดท้ายก็ต้องรู้สึกแบบเดียวกัน”

“เพราะฉะนั้น...อย่าทำอย่างผมเป็นอันขาด”

 


คัดมาจากนิตยสาร แพรว

  

Create Date : 17 มีนาคม 2550

สามปีต่อมา....

เวลา 17 นาฬิกา 30 นาที วันนี้ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี 

เสด็จแทนพระองค์ไปในการพระราชทานน้ำหลวงอาบศพ ทรงวางพวงมาลาหลวง, พวงมาลาของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ, พวงมาลาของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี,
 และพวงมาลาส่วนพระองค์ที่หน้าหีบศพนายแพทย์กิติพันธ์ วิสุทธารมณ์ ณ ศาลากวีนิรมิต วัดเทพศิรินทราวาส 

นายแพทย์กิติพันธ์ วิสุทธารมณ์ เกิดเมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2481 หลังสำเร็จชั้นมัธยมศึกษาที่โรงเรียนอัสสัมชัญ 
ได้เข้าศึกษาที่คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล และสำเร็จการศึกษาศัลยแพทย์ศาสตร์จาก University of Minnesota โดยเคยดำรงตำแหน่งสำคัญ ๆ อาทิ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลหัวใจกรุงเทพ, 
หัวหน้าศัลยแพทย์หัวใจและทรวงอก โรงพยาบาลสมิติเวช สุขุมวิท, คณะกรรมการอำนวยการศูนย์หัวใจสิริกิติ์ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มหาวิทยาลัยขอนแก่น,
 และที่ปรึกษาสมาคมศัลยแพทย์ทรวงอกแห่งประเทศไทย นายแพทย์กิติพันธ์ ถึงแก่กรรมด้วยโรคมะเร็งตับอ่อนเมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2553 สิริอายุได้ 72 ปี ในการนี้ ทรงรับศพไว้ในพระบรมราชานุเคราะห์เป็นเวลา 7 วัน 

31- 05 -2553

หมายเลขบันทึก: 492998เขียนเมื่อ 1 กรกฎาคม 2012 08:07 น. ()แก้ไขเมื่อ 2 กรกฎาคม 2012 12:21 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (9)

สวัสดีค่ะสวัสดี เปิดอ่านเป็นบันทึกแรกของวันนี้ ด้วยความรู้สึกตีบตันในหัวใจ หลายครั้งความว่างจากทรงจำที่ว่างเปล่าเช่นนี้ กลับประทับอยู่ในใจตลอดไป เพราะแท้จริงแล้วบนเนื้อที่ของใจที่เราว่าว่างเปล่ากับเรื่องนั้นๆ กลับอัดแน่นไปด้วยจิตสำนึก ระลึกถึง แต่มันหมดโอกาสหวนกลับไปแล้วต่างหาก เป็นเรื่องเตือนใจได้ว่านับจากนี้ หากยังมีอะไรติดค้าง จงคัดกรองที่จะทำเพื่อกัน กับวันเวลาที่เหลืออย่างจำกัดลงทุกที ขอบคุณบันทึกนี้ที่สุดค่ะ

".. จะต่างกันก็เพียงเมื่อก่อนผมทำงานหนักเพื่อพิสูจน์ตัวเอง เพื่อชื่อเสียงและความสำเร็จ แต่ทุกวันนี้ผมทำงานหนักเพื่อจะได้ไม่มีเวลาคิดเรื่องลูก"

ประโยคนี้กินใจและแฝงนัยให้ขบคิดมากนักค่ะ

ขอบคุณค่ะทำให้ไก้คิดเหมือนกัน

..เป็น อุทาหรณ์..เจ้าค่ะ.ขอบคุณค่ะ(.ยายธี)...

  • สะเทือนใจกับเรื่องเล่าจากประสบการณ์ชีวิตจริง ๆ ของผู้เล่ามากค่ะ
  • “ ซึ่งยิ่งทำให้เสียใจมากขึ้นไปอีก เพราะผมเป็นหมอ รักษาคนไข้มาไม่รู้เท่าไหร่ แต่กับลูกชายแท้ ๆ กลับไม่เคยแม้แต่จะตรวจร่างกายเขาด้วยตัวเองสักครั้ง ได้แต่จับลูกชายคนเล็กมาตรวจละเอียด เป็นการป้องกันประวัติศาตร์ซ้ำรอยทีหลัง”

  • สิ่งนี้เตือนใจผู้อ่านให้รู้สึกดูแลรักษาสิ่งที่มีค่าของเราไว้อย่างดี เพื่อจะได้ไม่มีคำว่าเสียใจที่จะไม่มีโอกาสได้ทำเพื่อคนที่เรารัก แต่อย่างน้อย การทำงานเพื่อผู้อื่น เพื่อสังคมก็เป็นการส่งผลบุญกุศลนี้ให้กับลูกที่ท่านรักยิ่งค่ะ
  • อนุโมทนาบุญที่กรุณาเผยแพร่เรื่องราวที่ให้ธรรมะแก่ผู้อ่านค่ะ 

การมีชีวิต เราเดินผ่านกระจกมากมายนับไม่ถ้วน เห็นภาพสะท้อนไปมาจำนวนมหาศาล

เราน่าจะเห็นภาพตัวเราเองบ้าง...

เห็นด้วยกับคุณหมอ ป. ถึงแม้เราจะไม่ได้อยู่กับคนที่เรารัก เพราะเขาเป็น "หัวใจ" ของเรา ดังนั้นดูแล "หัวใจ" ของเราด้วยการทำแต่กรรมดี แล้ว "หัวใจ" ดวงนี้จะเขาจะรับรู้ แม้ร่างกายเราไม่ได้อยู่ด้วยกัน

ดร. นพ. กิติพันธ์ วิสุทธารมณ์คุณหมอที่ให้ชีวิตใหม่แก่ผม ผมขอกราบคาราวะท่านด้วยความเคารพรักอย่างสูงสุดยิ่ง มิเคยลืมเลือนครับผม ???

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท