ก้าวผ่านการเมืองเรื่อง Tablet กันเถอะ


ผมพิมพ์บันทึกนี้กับ iPad ครับ และผมเชื่อว่ามีผู้คนไม่น้อยที่อ่านบันทึกนี้กับ Tablet Computer ไม่ว่าจะเป็น iPad หรือ Android ครับ

เมื่อไม่กี่วันมานี้ Microsoft พึ่งประกาศเปิดตัว Microsoft Surface ซึ่งเป็น tablet ภายใต้ยี่ห้อของ Microsoft เอง และสำนักข่าวต่างๆ ก็คาดการณ์กันว่าอีกไม่นาน Google จะเปิดตัว tablet ของตัวเอง

ประเทศมาเลเซียก็พึ่งเปิดตัว 1Malaysia Pad ไปไม่นานนี่เองครับ

แน่นอนครับ เราทุกคนรับรู้กันอย่างชัดเจนแล้วว่าโลกนี้ก้าวไปสู่ยุคของคอมพิวเตอร์พกพาที่เรียกกันว่า "tablet" กันเรียบร้อยแล้ว คอมพิวเตอร์ที่เราเคยเห็นกันนั้นจะกลายเป็นอดีตไปแล้วครับ

แต่ไม่ได้หมายความว่าคอมพิวเตอร์เหล่านั้นจะหายไปนะครับ แต่จะเป็นเครื่องเฉพาะกิจเฉพาะงานไป เหมือนในปัจจุบันที่เฉพาะคนที่ต้องทำงานเกี่ยวกับภาพและเสียงที่ซับซ้อนต้องใช้คอมพิวเตอร์ที่มีกำลังประมวลผลสูงๆ นั่นเอง งานเฉพาะกิจเหล่านี้ใช้ tablet ทำไม่ได้ครับ แต่สำหรับชีวิตของคนโดยทั่วๆ ไปที่ไม่ได้เป็นคนทำงานเฉพาะเจาะจง tablet ปัจจุบันทำงานเหล่านั้นได้หมดครับ

แต่ประเทศไทยนั้นมีกรรมครับ เพราะเรามีปัญหาทางการเมืองที่รุนแรงไม่มีที่สิ้นสุดอยู่

tablet กลายเป็นภาพของรัฐบาลฝั่งสีแดง ทำให้ผู้ที่สนับสนุนฝั่งอื่นๆ ต้องต่อต้านกันเต็มที่ด้วยเหตุผลต่างๆ กันอย่างที่เราได้เห็นกันทุกวันนี้ครับ

แต่ถ้าสังเกตให้ดีๆ จะพบว่าฝั่งสนับสนุนพรรคสีฟ้าที่เป็นคนด้านเทคโนโลยีจะวางเฉยไม่ต่อต้าน หรือถ้าจะต่อต้านก็จะไม่ต่อต้านด้วยทำนองว่า "tablet ไม่มีประโยชน์ ซื้อ desktop ดีกว่า" อย่างที่คนที่ไม่ได้อยู่ในวงการเทคโนโลยีทำกัน แต่จะต่อต้านในทำนองว่า "เตรียมการในการใช้งาน tablet ไม่พร้อม" ประมาณนั้นครับ

เป็นเทคนิคการถนอมตัวไม่ให้เจ็บตัวในภายหลังของคนฉลาดครับ คนที่สนับสนุนพรรคสีฟ้าและสีเหลืองก็ต้องเรียนรู้จากเทคนิคของพรรคพวกไว้เหมือนกันครับ

หลายคนที่เคยเถียงเรื่อง OLPC (One Laptop Per Child) ในอดีต (ทั้งๆ ที่ไม่ได้เกี่ยวกับการเมืองไทย) เดี๋ยวนี้ก็เปลี่ยนโทนเสียงมาเรียบร้อยแล้ว บางคนออกมาบอกว่าตัวเองสนับสนุนโครงการเหล่านี้มาตั้งแต่ต้นด้วยซ้ำ คนอื่นอาจจำไม่ได้แต่ผมจำได้ แต่สิ่งที่ทำได้ก็แค่เพียงส่ายหัวด้วยความขำขันครับ

การเถียงว่า tablet ไม่ดีนั้นเหมือนกับการเถียงว่า "กระดานชนวนดีกว่าสมุด" ครับ

จำกระดานชนวนกันได้ไหมครับ สมัยคุณพ่อคุณแม่ผมเรียนหนังสือเขาใช้กระดานชนวนครับ คุณพ่อผมตอนนี้อายุ 75 ปี เทียบแล้วก็เท่าๆ กับผู้ยิ่งใหญ่ทางการเมืองไทยหลายๆ ท่านพอดี เรียกว่าท่านเหล่านั้นยังมีความทรงจำของกระดานชนวนอยู่พอประมาณทีเดียว

ลองนึกว่าพรรคการเมืองที่เราไม่ชอบจะเอาสมุดมาใช้แทนกระดานชนวนดูสิครับ แม้เราจะไม่ชอบเขาแค่ไหนแต่จะไปเถียงแค่ไหนก็คงจะชนะยาก เจ็บตัวเปล่าๆ หาเรื่องอื่นเถียงดีกว่า

ผมเองไม่ได้เป็น "แฟน" ของพรรคสีอะไรเป็นพิเศษ พยายามชวนคุยกันด้วยเหตุผลมาตั้งนานแล้ว แต่ไม่ค่อยมีคนจะยอมคุยด้วย เพราะคนส่วนใหญ่ถ้าเป็นแฟนสีอะไรก็จะเป็นแฟนสีนั้นเหนียวแน่นมาก ช่วงหลังนี้ผมเลยคิดว่าไม่เขียนเรื่องการเมืองดีกว่า มันเป็นเรื่อง "ความเชื่อส่วนตัว" ที่ไม่ควรจะไปแตะต้อง ไม่ต่างกับความเชื่อเรื่องศาสนา

แต่พอมาเรื่อง tablet นี่ผมคิดว่าเป็นหน้าที่ของผมที่ควรจะให้ความรู้แก่สังคม (เท่าที่ความรู้ผมจะมี)

ดังนั้นเลิกเถอะครับ การถกเถียงว่า tablet ดีหรือไม่ดีไม่มีประโยชน์ มันพิสูจน์แล้วว่าดีกว่า และไม่ได้พิสูจน์ที่ประเทศไทยด้วย

ผมดีใจที่รัฐบาลปัจจุบันจะเอา tablet มาให้เด็กนักเรียนใช้ ผมเชื่อว่ารัฐบาลที่แล้ว (ซึ่งวางภาพพจน์ตัวเองเป็นคนรุ่นใหม่มีการศึกษา) ก็อยากจะทำนโยบายเช่นเดียวกันแต่ติดที่ว่าเดี๋ยวไปชนกับนโยบายของฝั่งตรงข้าม นี่เป็นตัวอย่างของนักการเมืองที่เห็นผลประโยชน์ส่วนตัวมาก่อนผลประโยชน์ของสังคม พฤติกรรมเช่นนี้เป็นกันทุกสี ผลกรรมก็ตกแก่ประชาชนไทยที่เชื่อฟังนักการเมืองเหล่านี้โดยไม่ตั้งคำถามกลับครับ

เราควรใช้โอกาสที่รัฐบาลปัจจุบันเอา tablet มาใช้ ร่วมกันคิดหาทางวางแผนเพื่อให้ tablet เกิดประโยชน์สูงสุด เราจะหวังรัฐบาลทำอย่างเดียวไม่ได้ แต่ต้องเกิดจากการร่วมมือของเราทุกคน การทำเช่นนี้จะเป็นตัวสร้างความเชื่อมั่นให้แก่รัฐบาลที่จะเข้ามาหลังจากนี้ ไม่ว่าจะเป็นสีอะไรก็ตาม ว่าผลประโยชน์ของประชาชนต้องมาก่อน เพราะประชาชนมีกำลังที่จะร่วมมือกันเพียงพอที่จะรักษาผลประโยชน์ของพวกเราเองครับ

คำสำคัญ (Tags): #tablet#การเมือง
หมายเลขบันทึก: 492115เขียนเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 10:15 น. ()แก้ไขเมื่อ 10 กรกฎาคม 2012 12:00 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (16)

เห็นด้วยและเชื่อถึงวิธีการนำเทคโนโลยี่มาใช้พัฒนาการศึกษาของไทยมาตั้ง

นานแล้ว  แต่ก็ยังมีผู้ที่คัดค้านชนิดหัวชนฝาอยู่มากโดยพยายามหาเหตุผลและ

ข้ออ้างมาหักล้างให้ได้  ทั้งๆที่รู้อยู่เต็มอกว่า.....ประโยชน์มันมีมากกว่าโทษ

ยังไงๆก็มองถึงประโยชน์ของส่วนรวมให้มากขึ้นดีกว่าไหม

ขอบคุณกับบันทึกที่ช่วยชี้แนะให้บางคนตาสว่างและเปิดใจให้กว้างขึ้นนะคะ

ต้องเห็นแก่ประโยชน์ที่จะเกิดกับคนในชาติให้มาก ๆ จริง ๆ ครับ อ.ธวัชชัยครับ แต่สังคมบ้านเรากำลังมีความเห็นสวนทางนะครับ

ตอนนี้ก็กำลังหัดใช้ ipad จากน้องๆ นศพ. ค่ะ . วันนี้ มีคนไข้มาด้วย อาการเครียดจากคุยเรื่องการเมือง ว่า ยิ่งเถึยง คนที่โดนเถียง ยิ่งเข้ามาคุย ต้องให้มาอ่านบทความอาจารย์ จะได้หายเครียด

แนะนำไปว่า ถ้าฝ่ายตรงข้ามาคุย ก็ ยิ้ม แล้วเฉยๆ เพราะ fact ก็เป็น fact นั่นเอง ส่วน opinion ก็ไม่ต้องแตะ เพราะ "เป็นความเชื่อส่วนตัว"

จริงๆ การเมืองไทยนี่เป็นเครื่องมือที่ดีในการฝึกสติมากเลยนะครับ พี่ที่เคารพท่านหนึ่งใช้คำว่า "มันเป็นกรรมสาธารณะ" ผมชอบมากเลยครับ

ใช้แต่แทปเลตของแอปเปิ้ล ยังไม่เคยใช้ของฝั่งแอนดรอยด์ จึงไม่แน่ใจว่ามีแอปที่เหมือนกันรึเปล่า สำรับตนเองชอบแอปตัวนึงคือ ibooks ที่สามารถโหลดหนังสือ หรือแม้แต่ไฟล์เวิร์ดมาแปลงเป็น PDF แล้วเปิดอ่านผ่านแอปนี้ จึงมีความคิดว่า หากมีโครงการสร้างหนังสือให้น้องหรือหนังสือให้ลูกหลานก็น่าจะดี

กล่าวคือ การเขียน หรือสร้างเรื่องราวสั้นๆ แบบนิทาน หรือเรื่องเล่า จากนั้นทำเป็นหนังสือ โดยผู้เขียนหรือผู้ทำอาจจะทำจากเวิร์ด หรือ powerpoint ใส่รูปใส่แบคกราวน์ให้สวยๆ แล้วมาเซฟแปลงเป็น PDF จากนั้นก็ส่งไปที่เวบที่ใช้เป็นแหล่งรวม เพื่อให้ดาวน์โหลดกันไปใช้เปิดในแทปเลต

เมื่อจะใช้ก็อาจจะออนไลน์กับแทปเลตแล้วดาวน์โหลดมาจากนั้นส่งเข้าไปเปิดใน ibooks เด็กๆก็จะสามารถเข้าไปอ่านนิทาน หรือเรื่องเล่าความรู้นั้นๆได้

อันนี้อาจจะดัดแปลงประยุกต์จากพวกเวบนิยายต่างๆในอินเตอร์เนต อต่อายุผู้ใช้งานตรงนั้นจะเป็น >13 ปีขึ้นไป จนไปถึงผู้ใหญ่ ตัวอย่างก็เช่น เวบเด็กดี หรือพันทิป (ที่ห้องถนนนักเขียน) ซึ่งหลังจากนั้นก็มีหลายเวบเอาไอเดียมาเปิดเป็นเวบเข้าไปอ่านนิยายกันได้

แต่อันนี้เราทำเพื่อเด็กประถม หรือไม่ก็สำหรับอนุบาลด้วยก็ได้ คิดว่าคงมีหลายคนที่มีไอเดีย หรือความสามารถในการเขียน การเล่าเรื่อง และการสร้างหนังสืออีบุ๊คแบบง่ายๆ แล้วหากมีการทำกันหลายๆคน ก็คงจะสนุกอีกทั้งยังได้ประโยชน์ไม่น้อย

ใช่แล้วครับ พี่ k-jira เราช่วยกันทำหนังสือที่น่าอ่านสำหรับเด็กคนละเล่มสองเล่มเพื่อเผยแพร่ เด็กๆ ก็จะมีหนังสืออ่านมากมายครับ

ผมเองเตรียมทำหนังสือภาพสักเล่ม "พ่อฉันเป็นโปรแกรมเมอร์" รับรองว่าเด็กๆ ได้อ่านเล่มนี้แล้วจะรู้จักว่าโปรแกรมเมอร์ทำอะไรแน่นอนครับ

พูดถึงเรื่องการเมืองกับ tablet แล้วผมนึกถึงกรณีเปรียบเทียบอีกอย่าง เปรียบแล้วเหมือนมีนักการเมืองท้องถิ่นคนหนึ่งมาบอกว่าจะตัดถนนลาดยางผ่านหน้าบ้านเราที่มีถนนลูกรัง ทุกคนไม่ว่าจะชอบหรือไม่ชอบนักการเมืองคนนี้ควรจะยินดีและสนับสนุนให้เกิดการตัดถนนไปได้ด้วยดี ได้ถนนที่ดีที่ได้ใช้ประโยชน์ร่วมกันอย่างแท้จริงครับ

ผมชอบเพลงประกอบละครเรื่องไผ่แดงที่ร้องโดยคุณเทียรี เมฆวัฒนาตอนหนึ่งที่ว่า "คนละทาง คนละอย่าง คนละอุดมการณ์ แต่ก็มีจุดหมายเดียวกัน" เพราะมันสะท้อนสิ่งที่เรียกว่าวัฒนธรรมทางสังคมได้เป็นอย่างดี สมัยที่เรียนในมหาวิทยาลัยเวลาที่มีกิจกรรมเมื่อกำหนดเป้าหมายร่วมกันแล้วมักจะมีแนวทางและวิธีการในการดำเนินการที่แตกต่างกัน บางครั้งก็เล็กๆน้อยๆ บางครั้งก็เรียกว่าสุดขั้ว ต้องมีการถกเถียงกันเอาเหตุผลมาหักล้างกันบางทีแทบจะชกกันตาย แต่เมื่อมีการลงมติแล้วกลุ่มที่อยู่เสียงข้างน้อยก็ยอมที่จะร่วมมือด้วยความเต็มใจ บางทีเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงแข็งขันกว่าเจ้าของไอเดียที่ชนะโวตด้วยซ้ำไป เพราะเราต่างยึดเป้าหมาย ไม่ใช่วิธีการหรือบุคคล ผมว่านั่นแหละคือความสวยงามของประชาธิปไตย

ดีใจครับที่อาจารย์เขียนถึงเรื่องนี้อีกเพราะหลังจากที่เคยอ้างบันทึกของท่าน(โดยไม่ได้ขออนุญาต) และก็น่าจะมีแนวคิดแบบเดียวกันที่ก้าวข้ามสิ่งที่เห็นเป็นรูปร่าง PC, Laptop หรือ Tablet ไปแล้ว ซึ่งตั้งแต่ได้เห็นโครงการ OLPC แล้วมีคนคิดจะเอามาใช้กับบ้านเรามันเหมือนกับว่าระบบการศึกษาบ้านเรามีอนาคตกับเขาบ้างแล้ว

ในอดีตที่ผ่านมาเรามองเรื่องการพัฒนาการศึกษาแค่หลักสูตร การพัฒนาครู(ส่วนใหญ่ก็ไม่พ้นเรื่องของ welfare-benefit หรืออะไรเทือกนั้น)และเรื่องโครงสร้างการบริหาร (ผ่านโครงการปฏิรูปการศึกษาที่ล้มเหลวไม่เป็นท่าไปแล้วหนึ่งรอบ และกำลังโซเซติดตามมาอีกหนึ่งรอบ รอบละ 10 ปี)แต่ไม่เห็นมีใครเคยพูดถึงเรื่องของระบบโครงสร้างพื้นฐาน http://en.wikipedia.org/wiki/Infrastructure ทางการศึกษา(Educational Infrastructure : The educational and research system, including elementary and secondary schools, universities, specialised colleges, research institutions, the systems for financing and accrediting educational institutions) ทั้งที่เป็นเรื่องสำคัญ

สมมตินะครับ ถ้าระบบโครงสร้างพื้นฐานทางการศึกษาดีพอ..วันนี้สำนักพิมพ์ ก.กบ จัดพิมพ์หนังสือที่เด็กต้องใช้อ่านประกอบการเรียน วันรุ่งขึ้นโรงเรียนทั่วประเทศทุกโรงกว่าสามหมื่นแห่งต้องได้รับหนังสือเล่มนี้พร้อมๆกัน แต่จริงๆแล้วมันเป็นไปได้แค่ไหนครับ เราต้องจัดการกับระบบ Logistics นี้อย่างไรให้มีประสิทธิภาพเช่นว่า ตั้งขึ้นมาเอง จ้างเอกชนอย่าง FedEx บริษัทไปรษณีย์ไทย ฯลฯ ต้องใช้ระบบอะไรในการบริหารงบประมาณ และอื่นๆอีกมากมายอย่างไรกัน

การให้เด็กๆมีโอกาสเข้าถึงหนังสือเพียงแค่เล่มเดียวและเรื่องเดียวแค่นี้ จะมีความยุ่งยากและมีต้นทุน (Cost) แต่ละครั้งเป็นเท่าใด ที่แน่ๆมันคงมากมายจนถ้าใช้วิธีนี้ประเทศเราคงไม่มีปัญญาที่จะทำ แล้วเรื่องอื่นๆอีกร้อยแปดพันเก้าล่ะครับ

วันนี้เรามีเทคโนโลยีที่ทำให้เราไม่ต้องใช้สื่อกระดาษก็ได้ ไม่ต้องขนส่งด้วยรถ เรือ หรือเครื่องบินก็ได้ เทคโนโลยีเครือข่าย Internet, WiFi, 3G, 4G ฯลฯ สามารถแก้ปัญหาต่างๆเหล่านี้ได้โดยถ้าเทียบกันแล้วใช้ต้นทุนที่ต่ำกว่ากันมากจนสามารถที่จะกระจาย contents ต่างๆทางด้านการศึกษานับไม่ถ้วนไปสู่สถานศึกษาทุกหนทุกแห่งในพริบตาผ่านสื่อสมัยใหม่ที่เรียกว่า Tablet แล้วทำไมเรายังลังเลอยู่ล่ะครับ

อย่างไรก็ตามการนำเทคโนโลยีนี้มาใช้คงไม่ได้มีแค่ตัวแทบเล็ตและสิ่งที่บรรจุมาให้ในเบื้องต้นเท่านั้น (OS and Application Software) เพราะถ้าไม่สามารถเชื่อมต่อกับ Internet ได้ และ/หรือ ไม่มีแหล่งเนื้อหา (Contents) ที่เหมาะสมกับผู้เรียนที่มีความหลากหลาย เพิ่มเติมได้ไม่รู้จบ แทบเล็ตก็คงไม่มีความหมายอะไรมากไปกว่า "คอมพิวเตอร์พกพาหรือคอมพิวเตอร์ที่สามารถใช้งานขณะเคลื่อนที่ได้ขนาดกลางที่มีหน้าจอแบบสัมผัสในการใช้งานเป็นหลัก" เพียงเท่านั้น http://www.tabletd.com/articles/289 เพราะในที่สุดแล้วมันก็คงละลายหายไปเหมือนกับการซื้อคอมพิวเตอร์ การสร้างห้องคอมพิวเตอร์ให้โรงเรียนเหมือนเช่นที่ผ่านๆมา ดังนั้นการนำแทบเล็ตมาใช้จึงต้องทำให้เป็นจุดกำเนิดของโครงสร้างส่วนอื่นๆที่เกี่ยวข้องอีกมากมายไม่จำกัดอยู่เฉพาะเรื่องของการศึกษาเท่านั้น

..ได้อ่านบทความแต่ยังทำความเข้าใจได้ไม่ดีนัก (ภาษาไม่ค่อยแข็งแรง) เห็นว่าน่าสนใจลองเอามาให้ช่วยกันดูช่วยกันทำความเข้าใจเผื่อจะเป็นประโยชน์บ้างครับ http://webpedagogy.wordpress.com/category/educational-infrastructure/

เช้านี้ ฟังเขาอ่านว่า เรื่อง เจ้าคอมพิวแบบ กระดานชนวน สำหรับเด็ก ที่แปล คำเตือน อ่านแล้ว "สับสนชีวิต" ครับ

เรียนอาจารย์หมอ JJ ครับ เรื่องเหล่านี้นี่ละครับ ที่พวกเราในสังคมต้องมาช่วยกันแก้ไขและพยายามทำให้ tablet ที่ได้มานี้ใช้งานได้ครับ

ฟังแล้วดูเหมือนพรรครัฐบาลอาจจะได้ประโยชน์จากการทำงานของพวกเราในสังคม แต่คนที่ได้ประโยชน์กว่าคือคนในสังคมครับ

เปรียบเหมือนตัดถนนอีกแล้วครับ คนที่ตัดถนนอาจจะได้ขึ้นป้ายว่าเขาเป็นคนทำให้ถนนสายนี้ลาดยางได้ แต่คนที่ได้ใช้ถนนทุกวันก็คือพวกเราที่ถนนนั้นตัดผ่านครับ

ที่อาจารย์ Lungnoke เขียนนั้นถูกต้องมากครับ กระบวนการจัดพิมพ์และ Logistics สำหรับหนังสือสักเล่มเพื่อให้ถึงมือเด็กหนึ่งล้านคนนั้นยุ่งยากและแพงกว่าการส่งผ่านระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์มากครับ

ทันทีที่เด็กหนึ่งล้านคนมี tablet พวกเราทุกคนก็มีโอกาสที่จะเขียนหนังสือหรือสร้างสื่อการเรียนสำหรับเด็กให้เด็กเหล่านั้นอ่าน (ถ้าเด็กและคุณครูเลือกที่จะอ่าน) แต่ถ้าเด็กเหล่านั้นไม่มี tablet พวกเราคนธรรมดาไม่มีโอกาสช่วยประเทศชาติเรื่องการศึกษาได้ง่ายๆ เช่นนั้นเลยครับ

ผมทันใช้กระดานชนวน ตกแตกประจำ ใช้คู่กับดินสอหิน ตอนนี้กำลังมองหา Tablet สักเครื่อง แต่ยังไม่มีความรู้ กำลังศึกษา เพราะสามารถพกพา สะดวกดี ขอคำแนะนำดี ๆ เกี่ยวกับ tablet จะใช้ขนาดไหน แบบไหนดี ครับ ขอบคุณครับ

สนับสนุน

แต่เหมือนอาจารย์ว่านั่นแหละค่ะ

ก่อนที่จะไปพูดถึงประโยชน์ให้ลูกปู  

ต้องช่วยกันคิดว่าจะทำอย่างไรให้แม่ปูรู้และเข้าใจว่าจริง จริ๊ง 

มันมีประโยชน์มากกว่าโทษนิ

 

  • ในเรื่องความเห็นความเชื่อทางการเมือง เห็นด้วยกับ "ดร.ธวัชชัย" ค่ะ ว่า "คนส่วนใหญ่ถ้าเป็นแฟนสีอะไรก็จะเป็นแฟนสีนั้นเหนียวแน่นมาก" เพราะเป็นเช่นนั้นจริงๆ ถ้าเชียร์ฝั่งใด ฝั่งนั้นทำอะไรก็ถูกหมด และฝั่งตรงกันข้ามทำอะไรก็ผิดหมด ถ้าเป็นการสวมหมวกการคิดตามแนวคิดของ ฺBono ก็เป็นพวกสวม "หมวกสีแดง" คือคิดตามอารมณ์ความรู้สึก ไม่สวม "หมวกสีขาว" ที่คิดตามข้อมูล ข้อเท็จจริง จึงไม่มีทางที่จะปรองดองกันได้
  • และในเรื่อง "taplet" นั้น อ.วิก็เห็นด้วยในคุณประโยชน์ของมัน แต่สิ่งที่ควรนำไปพิจารณาก็คือการใช้ประโยชน์ เพราะผลการศึกษาวิจัยและและข้อมูลเชิงประจักษ์ ชี้ว่า  นักเรียนนักศึกษาส่วนใหญ่จะใช้ IT เพื่อความบันเทิง และความสัมพันธ์ทางสังคมกับกลุ่มคนที่ใช้ Social Media ด้วยกัน มากกว่าใช้ประโยชน์ด้านการศึกษา และทำอย่างไรที่จะมีการแบ่งเวลา ไม่ให้นักเรียนอยู่ IT เป็นเวลานานเกิน จนไม่มีเวลาสำหรับการมีปฏิสัมพันธ์ทางสังคมกับคนรอบข้าง ทำให้ขาดทักษะทางสังคม และไม่มีเวลาสำหรับการออกกำลังกายทำให้เกิดปัญหาเด็กอ้วน เพราะนั่งอยู่กับที่ใช้ IT และกินไปด้วยในขณะเดียวกัน
  • ว่าจะขอบคุณ "ดร.ธวัชชัย" ที่กรุณาไปตามหาข้อมูลในบันทึกเรื่อง "สี่วันในเกาหลีใต้ฯ" ที่หายไป และนำกลับมาให้อยู่ในบันทึกได้เหมือนเดิม แต่ยังไม่มีโอกาส เลยขอถือโอกาสขอบคุณตรงนี้เลยนะคะ ไม่คิดเลยว่าท่านจะกรุณาช่วยแก้ปัญหาให้ น้ำใจของท่านในครั้งนี้ซาบซึ้งใจมากค่ะ

ด้วยความยินดีในเรื่องการกู้บันทึกครับ

ในส่วนผลการวิจัยเรื่องการใช้ IT นั้น จากที่อ่านจากอาจารย์เขียนผมก็จะมีข้อแย้งในเรื่องการอภิปรายผลของงานชิ้นนี้อยู่ครับ ผมคิดว่าที่จริงแล้วสาเหตุที่ผลเป็นเช่นนั้นเพราะการประยุกต์ใช้ของ IT ที่มีให้นักเรียนนักศึกษาส่วนใหญ่ที่ใช้งานได้จริงมีอยู่ด้านนั้นเท่านั้น ผลวิจัยจึงออกมาเป็นเช่นนั้นครับ

ถ้าเปรียบอินเทอร์เน็ต (ที่มีให้ใช้งานในภาษาไทย เพราะคนไทยยังมีข้อจำกัดเรื่องภาษาอยู่มาก) เหมือนศูนย์อาหารที่มีขายข้าวกับก๋วยเตี๋ยวเท่านั้น หากทำวิจัยก็จะพบว่าคนที่เข้าศูนย์อาหารนี้เลือกรับประทานเฉพาะข้าวกับก๋วยเตี๋ยวครับ

ที่จริงควรมีงานวิจัยศึกษาว่าการประยุกต์ใช้ของอินเทอร์เน็ตที่ใช้งานได้จริงสำหรับคนไทยนั้นมีอะไรบ้างออกเป็นรายปีก็น่าจะมีประโยชน์มากครับ

หากเราก้าวผ่านเรื่องสีและการเมืองได้ ชีวิตจะมีความสุข และเบาสบายขึ้นเยอะเลยนะครับ

เห็นด้วยครับที่เราควรมีกระบวนการศึกษาการใช้ทรัพยากรมนุษย์และเทคโนโลยีที่คุ้มค่าจริงๆ ในบ้านเรา Tablet ไม่ใช่ปัญหา คนที่ไม่รู้คือปัญหาที่ต้องแก้ไข ขอบคุณมากครับอ.ดร.ธวัชชัย

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท