Awareness


Awareness

ผมเริ่มได้ลงมือเข้าร่วมและต่อมากลายเป็นกระบวนกรของการจัดอบรมเชิงปฏิบัติ (workshop) ที่นำเอา "ศาสตร์ใหม่" (New Sciences หรือ New-Age) เข้ามาบูรณาการตั้งแต่ประมาณปี 49 ในช่วงเวลาที่ผ่านมานั้น สิ่งหนึ่งที่พอจะเรียกได้ว่าเป็นประโยชน์มากคือ "ชุดคำถาม" ที่ผุดปรากฏขึ้น ทั้งในระหว่างการทำ workshop ภายหลังทำ หรือเกิดขึ้นตอนไหนๆก็ตามแต่สืบสาวราวเรื่องกลับไป กลายเป็นการ "สุกงอม" ของเมล็ดที่หว่านเอาไว้ตอนนั้น

ก่อนจะตกลงทำงานกัน คำถามบ่อยที่สุดก็คือ "ทำแล้วได้อะไร" และที่รองๆลงมาก็คือ "รู้ได้ไง" ซึ่งในฐานะที่เผอิญ (จงใจใช้คำนี้.. อิ อิ) มีอาชีพเป็นครู และทำเรื่องหลักสูตรมาบ้าง ก็คุ้นชินกับการตั้งนิยามของ model of success แล้วแตกออกมาเป็น "เป้าประสงค์การเรียน" เพื่อไปออกแบบ "การจัดประสบการณ์การเรียน" และ "การประเมิน" จะเรียกตัวย่อว่าอะไรก็เถอะ แต่คร่าวๆแล้วก็เป็นแบบนี้ทั้งนั้น ตอนแรกที่ผมเป็นคนเข้าร่วม (และเป็นคนรับผิดชอบจัดงานด้วย) ผมก็ถามกระบวนกรในตอนนั้น (พี่วิธาน ฐานะวุฑฒ์ และณัฐฬส วังวิญญู) ว่าเข้าอบรมแล้วจะได้อะไร รู้ได้ยังไง และที่ทำไปเกี่ยวข้องกับวัตถุประสงค์อะไรเหมือนกัน (ทราบภายหลังหลังจากกลายมาเป็นกระบวนกรเอง และจากปากคำให้การว่า ลำบากใจมากทีเดียวสำหรับชุดคำถามนี้) ตอนนั้นก็เกิด "วาทะกรรม" ของคำว่า "จิตตปัญญาศึกษา" (กำเนิดมาจากกลุ่มจิตวิวัฒน์ที่อาจารย์ประเวศ วะสี ก่อตั้งขึ้น) ของคำ "สุนทรียสนทนา (dialogue)" (อ.วิศิษฐ์ วังวิญญู น่าจะเป็นคนทอยคำนี้รึเปล่า.. แต่เขียนหนังสือเรื่องนี้ไว้) ของ contemplative education ซึ่งเป็นหลักสูตรหนึ่ง สอนในมหาวิทยาลัยนาโรปะ ประเทศสหรัฐอเมริกา ว่าเป็น package การเรียนรู้ที่ลึกซึ้ง ซับซ้อน ผ่อนคลาย บูรณาการ เป็นองค์รวม ฯลฯ จนกลุ่มคำให้นิยามเหล่านี้เอง ก็ต้องการคำนิยามขยายอีกอย่างมาก

หลังจากที่ได้ขยับมาลอง "ทำเอง" อยู่พักหนึ่ง เมื่อได้มาทบทวน "คำถามเดิมๆ" ก็พบว่า แม้จะยังไม่มีคำถามที่สมบูรณ์ แต่ก็มีมุมมองและความรู้สึกต่อคำถามเหล่านี้เปลี่ยนไปมากพอสมควร

และอาจจะกล่าวได้ว่าการจัดอบรมเชิงปฏิบัติแบบนี้ ก็เริ่มเห็นกันหนาหูหนาตามากขึ้น มีการ "ขยับลอง" เกิดขึ้น วันก่อนไปจัดแถวๆศาลายา แอบเห็นห้องข้างๆจัดห้องเหมือนกันกับของเรา (ลักษณะการจัดห้องคือ ไม่มีเก้าอี้ มีแต่พื้นโล่งๆ ปูผ้าขาว แจกหมอน เบาะรองนั่งประจำตัวทุกคน) ก็คุยกันว่า อืม... ชักฮิตกันแล้ว

บทความนี้ได้แรงบันดาลใจ (หรือ precipitated by) บทความของโค้ชปุ้ย  ซึ่งแจงแจงความเป็นโค้ชและโค้ชชิ่ง (coachship and coaching) กับความเป็น facilitator และ facilitation เอาไว้ในหัวข้อ "เป็น facilitator ดีหรือเป็นโค้ชกันแน่" บทความนี้มิใช่เป็นบทความโต้ตอบ หรือการเขียนเพื่อเปรียบเทียบความคิด แต่เป็นบทความที่ตกผลึกหลังการสนทนา (ในท้ายบทความนั้น) กับอะไรๆที่เกิดขึ้นในระหว่างมีประสบการณ์ facilitating ผู้คน ก็ขอขอบพระคุณไว้ ณ ที่นี้ด้วย

คำที่สะกิดต่อมคิดใคร่ครวญคือ การรับรู้ (perception) และ การรู้ตัว (awareness + mindfulness)

ผมเคยอ่านเจอบทความหนึ่งที่ว่าด้วยสาระแห่งการเรียนรู้ หรือศาสตร์ว่าด้วยมนุษย์เรียนรู้อย่างไร ได้ยังไง และได้เห็น "ข้อสรุป" หรือ notion หนึ่งที่ชวนฉงนฉงายต่อมากๆก็คือ มนุษย์ดูเหมือนจะเป็น species เดียวที่มีความสามารถ "ตระหนักรู้ว่าเรากำลังรู้" ได้ นั่นคือมีสภาวะเหมือนกับว่าเราเดินออกมาจากร่างกายหยาบของเรา แล้วหันกลับไปดู "status" ว่าร่างนี้มีอะไรเกิดขึ้นบ้าง กำลังคิด กำลังพูด กำลังรู้สึกอะไร ฯลฯ และจากความสามารถอันนี้ทำให้กระบวนการเรียนรู้ของมนุษย์นั้นซับซ้อนขึ้นอย่างมหาศาล

ถ้าเราดู model สมอง เซลล์ประสาท (neurone cells) นั้นจำเป็นต้อง "สื่อสาร" เพราะหน้าที่ที่สำคัญที่สุดก็คือส่งผ่านการสื่อสารที่ซับซ้อนมากเหล่านั้นที่เกิดขึ้นทุกวัน การสื่อสารของเซลล์ประสาททำได้หลายวิธี หนึ่งในนั้นโดยการส่งสัญญานผ่านไปตามแขนงประสาท ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเซลล์ยื่นเป็นระยางออกไปจากตัวเซลล์ ถ้าส่งออก จะรับเข้าทางแขนงที่เรียกว่า dendrites ถ้าส่งออกก็จะไปทางแขนงที่เรียกว่า axon ไม่เพียงแค่การส่งการรับผ่านแขนงประสาท แต่ยังมีสัญญานอื่นๆ ในรูปแบบของสารเคมี กระแสไฟฟ้า มาเสริมการทำงานที่ซับซ้อนนี้ให้ละเอียดสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น

หากเราถอยออกมาดูระดับ "พฤติกรรม" ก็จะเห็นความสัมพันธ์ของ "input vs output" ได้อีก เรา "ทำอะไรออกไป" ก็จะเชื่อมโยง หรือมีสาเหตุมาจากการรับรู้ไม่น้อย

แต่การพยายามเขียนสมการออกมาว่า รับอะไรเข้าไป แล้วจะออกเป็นพฤติกรรมอย่างไร อันนี้ที่ทำให้นักพฤติกรรมศาสตร์ทึ่งอึ้งในความซับซ้อนของสมการที่ว่านี้ เกิดความยากในการพยากรณ์ให้แม่นยำ เพราะสมการขาเข้าแบบหนึ่งนั้น มนุษย์ไม่ได้มีความ "คงที่" ในการตอบสนองว่าจะทำอะไรต่อไป การแปรเปลี่ยนของพฤติกรรมมีได้ตั้งแต่ระดับ reaction (หรือปฏิกิริยา) ซึ่งเป็น reaction ชั้นตื้นๆ ไม่ได้คิด ไม่ได้ใคร่ครวญ ใช้อารมณ์ ณ พื้นที่ผิวในตอนนั้นเป็นตัวกำหนดทิศทาง (กำหนดทิศคร่าวๆ แต่รายละเอียดว่าจะทำอะไรต่อ ก็มี variation ได้อีก) หรือเป็น response ที่เป็นพฤติกรรมชั้นลึกลงไปอีก มีตัวตน มีการคิดใคร่ครวญ และยังคงผสมผสานกับอารมณ์ความรู้สึกอยู่ และลึกไปจนถึง core self ที่ประกอบด้วยอะไรอีกมากมาย เช่น spirituality หรือ sense of wellness, sense of agency และ sense of set of values ระบบความเชื่อ วัฒนธรรม ประเพณี สังคม ซึ่งสิ่งเหล่านี้ส่งผลกระทบต่อพฤติกรรม ณ เวลาต่างๆไม่เท่ากัน ในปัจเจกบุคคลหนึ่ง อิทธิพลจากเหตุปัจจัยกลุ่มต่างๆต่อพฤติกรรมแปรเปลี่ยนไปตามเวลา สถานที่ บริบทอย่างมากมาย

ทีนี้ ใน workshop เราทำอะไร?

แน่นอน บริบทที่เกิดขึ้นใน workshop นั้น เป็นบริบทจำลอง แต่วัตถุประสงค์ของการจำลอง ไม่ใช่เพื่อให้ "ไม่เหมือนจริง" แต่เพื่อ "ทำให้ง่าย (facilitate)" ที่จะเริ่มรับรู้อะไรบางอย่าง ความคิด อารมณ์ ความรู้สึก และเหนืออื่นใดก็คือ awareness ว่าเรากำลังคิด กำลังมีอารมณ์ กำลังรู้สึก นั่นเอง เราใช้อุบายมากมายในการปรับบริบท สิ่งแวดล้อมที่ว่านี้ และอาจจะมีการทดลองหย่อนบริบทใหม่ ที่ยากขึ้น ท้าทายขึ้น ดูว่า awareness ที่กำลังหล่อเลี้ยง ประคบประหงมนี้ มีทักษะเกิดขึ้นแล้วหรือไม่

เราไม่ได้หวังว่าผู้เข้าร่วมจะมีพฤติกรรมตอบสนองแบบคงที่ หากแต่สามารถ "เลือกได้ดี" ในบริบทต่างๆกันออกไป เพราะเกิดความเชื่อว่า หากเราตัดสินใจโดยใช้ศักยภาพที่แท้ของเราจริงๆ การตัดสินใจนั้นๆน่าจะเป็นอะไรที่เปี่ยมประสิทธิภาพมากที่สุด และพฤติกรรมที่ออกมาก็จะแปรเปลี่ยนไปได้ทุกรูปแบบ อาศัย "optimal condition" หรือเงื่อนไข (เกือบ) สัมบูรณ์ที่ว่านี้นี่เอง

ถ้าหากเรายิ่งมีเวลามากเท่าไหร่ เรายิ่ง "ทดสอบ" awareness ในบริบทต่างๆกันได้มากขึ้นเท่านั้น ส่วนหนึ่งเรา "เชื่อว่า" หากมนุษย์ค้นพบอะไรที่ดี มีประโยชน์มากๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งทำให้เกิดความสุข สงบ และตนเองมีค่ามีความหมาย สมองจะสร้าง communication track ที่แข็งแรง เสถียร ไม่แตกสลายไปง่ายๆเกิดขึ้น เป็นกลไกเดียวกับการที่เราสร้าง track รับรู้ชื่อ รับรู้ความสำคัญพื้นฐาน เช่น พ่อ แม่ ลูก เป็นกลไกเดียวกับการที่เราสร้าง track สำหรับ "นิสัย" หรือแม้กระทั่ง "สันดาน" ขึ้นมา อะไรที่ไม่โดน ไม่สำคัญ (เราเป็นคนให้ความหมายว่าสำคัญ/ไม่สำคัญ) ก็จะมี track ที่อ่อนแอ ไม่แข็งแรง เป็นทางเดินของสัญญานประสาทที่ยังไม่ถาวร ไม่เสถียร

จะเห็นปรากฏการณ์ "ปลีกวิเวก" ที่คนหลายๆคนไปหาเวลา สถานที ที่ดูแลจิตใจตนเอง แล้วติดใจ เพราะมันสุข มันสงบ เบาสบาย แต่ไม่สามารถคงอยู่อย่างถาวร เมื่อกลับมาใน "บริบทเก่า" ทุกอย่างก็กลับมาเหมือนเดิม อันนี้เป็นการสร้าง track ที่ยังอ่อนแอ และขาดการดูแลต่อเนื่อง ส่วนหนึ่งของ workshop ที่ว่านี้ จึงเน้นที่ "awareness of consciousness" หรือการมีสติรู้ หมายรู้ ว่าไอ้ที่เราสุข เราสงบ เราเบาสบายนั้น เป็นผลรวมจากหลายองค์ประกอบ และเราต้องดูแลทุกๆองค์ประกอบเหล่านั้น เพื่อที่จะได้มาซึ่งประสิทธิภาพเดิม

ในพื้นที่ workshop จึงไม่สามารถจัดให้แน่นเอี้ยด เวลาที่ผู้เข้าร่วมได้มีประสบการณ์กับตัวเองจริงๆจะสำคัญมาก มิฉะนั้นจะไม่ได้ awareness ตรงนี้ไป ขาดเครื่องปรุงรสอันสำคัญที่จะนำมาซึ่งทักษะที่ต่อเนื่อง ยาวนาน เสถียร ดังนั้นแม้ว่าเราจะมี "ตารางเรียน" มีช่วงว่าง ช่วงพัก แต่เราก็หวังว่าในช่วงเวลาเหล่านั้นจะถูกใช้อย่างคุ้มค่าเช่นกัน

awareness ไม่ใช่พฤติกรรม และพฤติกรรมมากมายที่เราสังเกตเห็นได้นั้น ไม่มีทางบอกได้เลยว่าเป็นพฤติกรรมที่คนกระทำมี หรือไม่มี awareness จากการดูภายนอก เพราะการสอดประสานทั้งความคิด ความรู้สึก อารมณ์ คุณค่า ในพฤติกรรมหนึ่งๆนั้น ละเอียดมาก คนที่กระทำเท่านั้นที่จะชัดที่สุด บ่อยครั้งที่เราอาจจะ "เลียนแบบ" (เน้นความคิดเป็นหลัก) พฤติกรรมว่ามีการใคร่ครวญ หรือ เลียนแบบ (เน้นอารมณ์เป็นหลัก) พฤติกรรมว่า เรา in กับกิจกรรม แต่ในระดับที่พฤติกรรมเชื่อมโยงกับคำถามประเภท "เราคือใคร" และ "เรากำลังทำอะไร" เป็นเงื่อนไขภายในที่ไม่มีใครมองเห็นได้

สู่สภาวะ Connect to the Source หรืออาจจะเรียกอื่นๆ เป็น awaken mind หรือ อะไร ฯลฯ 

บางที "ปรากฏการณ์" เหล่านี้ (connect to the source /  awaken mind) ก็ถูกถ่ายทอดออกมาในวงสนทนา วงเล็กบ้าง วงใหญ่บ้าง กำหนดไม่ได้ เพราะ optimal time, place, person ของแต่ละคน ต้องการเปรี้ยว หวาน มัน เค็ม ไม่เท่ากัน แต่เกิดมาเมื่อไหร่ คนในวงนั้นๆก็จะได้รับอะไรที่งดงาม ประภ้สสรมาก เพราะเมื่อมนุษย์คนหนึ่ง ได้ SHINE จากการแสดงอะไรที่เป็นศักยภาพที่แท้ เราทุกคนสามารถสัมผัสได้ ชื่นชมได้ แม้ว่าจะกรอกลงไปในแบบฟอร์มไม่ได้ก็ตาม

หมายเลขบันทึก: 491565เขียนเมื่อ 18 มิถุนายน 2012 11:51 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มิถุนายน 2012 19:34 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

โรงเรียนบ้านหนองผือ บริหารโดยใช้ 4 A A 1 ก็คำนี้ล่ะ ตระหนักกันก่อน ถึงจะเดินหน้าได้ ครับ

ขอบคุณครับ

มี A ไม่ยาก แต่มี A ให้ตลอด มีให้ทันท่วงที ที่ต้องฝึกอย่างเคี่ยวกรำทีเดียวครับ

ขอบคุณคุณหมอสกลมากคะ ที่อ้างอิงถึงปุ้ย

ปุ้ยอ่านสองครั้งแล้วยังไม่ค่อยเข้าใจนัก ก็คงต้องยอมรับว่า ปุ้ยน่าจะมีความรู้เรื่อง awareness น้อยนักคะ 555+

555 จริงครับ อธิบายเรื่องนี้ด้วย set ภาษาที่เราใช้ๆกันอยู่ไม่ใช่เรื่องง่ายเลยจริงด้วยครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท