บันทึกถึงดวงดาว 2


เป็นงานเขียนใน"วิทยาจารย์"(คุรุสภา) เป็นนิตยสารที่ไม่ไ้ด้วางจำหน่ายในท้องตลาด ขอนำมาเผยแพร่ครับ อาจจะเป็นประโยชน์ทางการศึกษาบ้างไม่มากก็น้อย-(ขอสละสิทธิ์ในการรับรางวัลใดๆ ครับเพราะเป็นงานที่พิมพ์เผยแพร่แล้ว--ปณิธิ)

บันทึกถึงดวงดาว 2

กระท่อมดาริกา

น้องดาวที่รัก

                เรื่องที่จะเล่าให้ฟังวันนี้    พี่ขอบอกก่อนว่า นักเรียนโดยเฉพาะระดับมัธยมศึกษาส่วนใหญ่    คงไม่มีพฤติกรรมเช่นนี้

                พี่เคยสังเกตนักเรียนที่อยู่ว่าง ๆ หรือกำลังคุยกำลังเล่น เวลาที่ครูเรียกใช้ไหว้วานแทบทุกคน  จะปฏิเสธหรือเกี่ยงกัน ยิ่งครูไม่เฉพาะเจาะจงว่าใช้ใครก็แทบจะไม่มีใครลุกมาช่วยครูเลย บางครั้งครู หิ้วของพะรุงพะรัง  นักเรียนจะหลบหรือแกล้งมองไม่เห็นเหมือนกลัวว่าจะต้องมาช่วยครู   บางคนที่ เข้ามาช่วย แทนที่เพื่อน ๆ จะชื่นชมยินดี กลับถูกหัวเราะเยาะเย้ยว่า “ซวย” ที่ถูกครูใช้

                วันหนึ่ง มีนักเรียนหญิงคนหนึ่งมาเล่าให้พี่ฟังว่าเธอเก็บโทรศัพท์มือถือได้  เธอเล่าด้วยความภาคภูมิใจว่าโชคดีจริง ๆ   พี่ถามกลับไปว่า ทำไมไม่คืนเจ้าของเขาไป เพราะถ้าเจ้าของ   เขารู้ตัวว่าโทรศัพท์หาย เขาก็คงโทรเข้าเครื่องตัวเอง น้องดาวรู้ไหม นักเรียนของพี่ตอบว่าอย่างไร   เธอตอบว่าจะคืนทำไมก็เจ้าของ “เซ่อ” เองที่ทำหล่นหาย พี่ได้ฟังถึงกลับอึ้งไปเลย   ทำให้นึกถึงระบบการเรียนการสอนในโรงเรียนว่าเรามุ่งให้เด็กเรียนเพื่อที่จะ “รู้” มากเกินไปหรือเปล่า     เด็กนักเรียนคนนี้จึงละเลยเรื่อง “คุณธรรมจริยธรรม” ไปเสียสิ้น พี่จึงสอนไปว่า ของใครใครก็รัก  ถ้าเป็นของเรา เราก็เสียดาย 

 แม้เราเก็บได้ก็จริง  แต่เราไม่มีสิทธิ์ที่จะไปถือครองของคนอื่น และที่สำคัญคือ มันมีหนทางที่จะคืนเจ้าของเขาได้

           “หนูหักซิม (การ์ด) ทิ้งไปแล้ว ตั้งแต่เก็บได้”  นั่นคือคำตอบที่พี่ได้รับ

            อีกเรื่องหนึ่งที่เห็นมากับตา

             มีนักเรียนชายสี่ห้าคนเดินอยู่บนถนนในโรงเรียน     นักเรียนชายคนหนึ่งก้มลงเก็บไม้ลูกชิ้นแหลม ๆ และเศษกระดาษ จะเอาไปทิ้งที่ถังขยะ เพื่อนในกลุ่มเห็นก็แซวว่า

            “โอ้โฮ วีระบุรุษกองขยะ”    อีกคนหนึ่งก็สำทับว่า

           “ไม่เคยทำความดีรึไง”  พร้อมเสียงหัวเราะเยาะ   เท่านั้นแหละ ขยะในมือก็หลุดผล็อยลงไป นอนแน่นิ่งกับพื้นถนนเหมือนเดิม

              เกิดอะไรขึ้นกับเยาวชนของชาติเรา

              ปัจจุบันการทำความดีมันเป็นเรื่องน่าละอายสำหรับเยาวชนบางกลุ่มไปแล้วหรือ

             หรือเขาเห็นตัวอย่างใด ในสังคมรอบตัวของเขา    จึงมองเห็นว่าการทำความดีมันน่าละอายไปเสียแล้ว  หรือโรงเรียนซึ่งหมายถึงครู เน้นสอนแต่เรื่องความรู้หรือไอคิว เพียงอย่างเดียวจริง ๆ

             น้องดาวอาจนึกถามในใจว่า พี่เคยสอนเกี่ยวกับคุณธรรมจริยธรรมบ้างหรือไม่   พี่ก็จะตอบว่าเคยสอน  แต่คงไม่ใช่วิธีการมานั่งฟังเทศนาหลักธรรมะจากครูหรือพระ   คงไม่ใช่วิธีการที่ให้เด็กมานั่งสวดมนต์เป็นชั่วโมง ๆ ในทุก ๆ สัปดาห์  เพราะพี่คิดว่าวิธีการนี้ดูเหมือนจะเป็นการ  “บังคับ” เด็กเกินไป และกิจกรรมใดก็ตามที่เด็กโดยเฉพาะวัยรุ่นรู้สึกว่าถูกบังคับ   แน่นอนสิ่งที่จะตามมาคือ “การต่อต้าน” เมื่อต่อต้านแล้วก็ยากที่จะให้เขารับอะไร ๆ  ที่ “ครูเห็นว่าดี” นำมา “ยัดเยียด” ให้เขา

              ขอให้น้องดาวเข้าใจก่อนว่า พี่ไม่ได้ต่อต้านเรื่องการสวดมนต์ไหว้พระ  แต่ถ้าจะทำน่าจะมีกลวิธีจูงใจให้มากกว่านี้

              แล้วพี่สอนภาษาไทยอย่างไรล่ะ ที่แทรกเรื่องคุณธรรมจริยธรรมแล้ว นักเรียนไม่ต่อต้านพี่ก็จะตอบว่า  ก็สอนโดยอย่าให้เขารู้ว่าถูกสอนน่ะสิ  และครูไม่ควรใจร้อนอยากเห็นผล เร็ว ๆ  เช่น สอนเด็กที่เคยลักขโมยแล้วต้องการให้เลิกทันที     สอนเด็กที่ติดยาแล้วจะให้เลิกทันใดเพราะเรื่องเหล่านี้ต้องอาศัยเวลา หากใจร้อนใจเร็ว แรงของครูที่ลงไปก็อาจจะสูญเปล่า  น้องดาว ลองอ่านเรื่องที่พี่สอนนักเรียนเรื่องนี้ก็ได้

 พี่นำป้ายโฆษณา / ประกาศมาผูกเป็นเรื่อง แล้วให้นักเรียนเขียนขยายเรื่องตามกรอบเรื่องที่กำหนด

ประกาศ

ที่นี่มีลูกกบขาย

ราคาถูกๆ

สนใจ เชิญติดต่อ โทร

                จุดประสงค์          

                ๑. เพื่อเป็นพื้นฐานการเขียนบทความ เรื่องสั้น

                    นิทาน  นวนิยาย

                ๒. แทรกคุณธรรมเรื่องความเมตตา ความ

                     กตัญญู

ชื่อเรื่อง  “ลูกกบ” 

กรอบเรื่องที่กำหนด      สมมุติว่านักเรียนเป็นพ่อกบหรือแม่กบ ได้อ่านประกาศต่อไปนี้    ให้เขียนบรรยายความรู้สึกที่กลั่นออกมาจากหัวใจ ที่คิดว่า หากใครมาอ่านแล้วต้อง ร้องไห้ขี้มูกโป่งแน่ ๆ เมื่อเขียนเสร็จแล้ว    ให้นักเรียนแลกเปลี่ยนผลงานกับเพื่อนในห้องอ่านสักสองสามคนว่ามี   คำที่สะกดผิดหรือไม่ หรือควรปรับปรุงปรับเปลี่ยนอย่างไร มีข้อเสนอแนะอย่างไร  จากนั้นให้เพื่อน   ลงชื่อแล้วจึงส่งครู    ตรงจุดนี้เป็นการสร้างสัมพันธภาพระหว่างเพื่อนในห้อง    และได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้กันไปในตัว 

ตัวอย่างเรื่องที่นักเรียนเขียน            

โธ่  ลูกรักของแม่  ชาตินี้เจ้าไม่น่าเกิดมาเป็นกบเลย  แม่สงสารเจ้าเหลือเกิน    ที่ต้องมาพรากพ่อแม่ตั้งแต่ยังเล็ก    เจ้าเป็นลูกของพ่อกับแม่   ชาตินี้เราต้องพรากจากกัน  ถ้าเกิดชาติหน้าฉันใด ขอให้เกิดมาอยู่ด้วยกันอีก        ขอให้เราได้เกิดมาเป็นคน ชาตินี้พ่อกับแม่ช่วยอะไรเจ้าไม่ได้จริง ๆ  ฮือ ฮือ ฮือ..................(ยังมีต่อ)           (ผลงานของ  นายวิเชษฐ์  แก้วอู่)

       จากงานเขียนชิ้นนี้   อยากจะบอกน้องดาวว่า       พี่ได้เห็นความคิดในเชิงบวกของนักเรียนมากมาย ไม่มีใครเขียนในเชิงลบเลย    สรุปประเด็นหลักจากเรื่องที่เขียนทั้งหมดก็คือนักเรียนจะบรรยายถึงความรักของพ่อแม่ที่มีให้ลูก ความเศร้าโศกอาลัยเมื่อสูญเสียบุคคลอันเป็นที่รัก       นั่นย่อมแสดงว่าหัวใจของลูกศิษย์พี่ล้วนระบายด้วยสีขาวบริสุทธ์จริง ๆ  น้องดาวคิดเห็นเช่นเดียวกับพี่หรือเปล่า ?

       วันนี้ พี่คงพักไว้เพียงนี้ก่อน หิวแล้ว พี่ไปทานข้าวก่อน น้องดาวดูแลสุขภาพตัวเองด้วยนะ

รักและคิดถึง

      พี่ดิน

…………………………..

วิทยาจารย์ พฤษภาคม 2553

คำสำคัญ (Tags): #ดาวดวงที่ 2
หมายเลขบันทึก: 491448เขียนเมื่อ 16 มิถุนายน 2012 22:16 น. ()แก้ไขเมื่อ 28 มิถุนายน 2012 21:57 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

เป็นการสอนนักเรียนที่ให้เด็กได้คิดค่ะอาจารย์ เมื่อเขาผ่านกระบวนการคิดบ่อยครั้งขึ้น เขาอาจทำในสิ่งที่ควรทำค่ะอาจารย์

ขอบคุณบันทึกชวนติดตามนะคะ ท่านอาจารย์สบายดีนะคะ

  • ขอบคุณครับ kunrapee สำหรับดอกไม้
  • ปณิธิ ภูศรีเทศ
  • สบายดีครับ...ดีใจที่ได้กลับมาที่นี่ (แม้จะยากเย็นเต็มที)...
  • เป็นเรื่องที่เขียนหลังจากที่ได้สอนนักเรียนแล้ว เลยนำมาเล่าสู่กันฟังครับ
  • โชคดีมีสุขครับ
  • ปณิธิ ภูศรีเทศ

ชอบเทคนิกการสอน...เสียดายที่เกษียณแล้ว

  • เป็นงานเขียนที่บันทึกหลังจากสอนนักเรียนครับ
  • อาจจะดูธรรมดาสักหน่อย แต่ก็ได้ผลดีเหมือนกัน
  • ขอบคุณครับคุณ "แว่นธรรมทอง" ที่ให้กำลังใจ
  • ปณิธิ ภูศรีเทศ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท