บันทึกถึงดวงดาว 1


เป็นงานเขียนใน"วิทยาจารย์"(คุรุสภา) เป็นนิตยสารที่ไม่ไ้ด้วางจำหน่ายในท้องตลาด ขอนำมาเผยแพร่ครับ อาจจะเป็นประโยชน์ทางการศึกษาบ้างไม่มากก็น้อย-(ขอสละสิทธิ์ในการรับรางวัลใดๆ ครับเพราะเป็นงานที่พิมพ์เผยแพร่แล้ว--ปณิธิ)

บันทึกถึงดวงดาว 1

กระท่อมดาริกา

น้องดาวที่รัก

    น้องคงดีใจ ถ้ารู้ว่าคืนนี้พี่จะเริ่มต้นเขียนบันทึก  และจะเขียนให้น้องอ่านอย่างสม่ำเสมอเหมือนที่เคยให้สัญญาว่าวันหนึ่งพี่จะทำ และวันนั้นได้มาถึงแล้ว

      ดึกแล้ว…หลายคนคงหลับใหล   แต่พี่ยังนั่งมองดวงดาวที่กระพริบวิบวับแตะแต้มแผ่นฟ้าสีดำในคืนข้างแรมงดงามดุจภาพเขียนของจิตรกรเอก    หมู่ดาวที่เกลื่อนฟ้าหลายดวงมีเมฆก้อนใหญ่มาบดบัง  ทำให้พี่อดนึกถึงเด็กน้อยตาดำ ๆ ในโรงเรียนไม่ได้   เขาเหล่านั้นดุจดาวดวงเล็ก ๆ  ที่รอคอยให้เมฆทะมึนเคลื่อน คล้อยลอยหาย เพื่อจักเปล่งประกายแสงเจิดจรัสในกาลข้างหน้า   และพี่ก็คิดว่ามือของ   ครูนี่แหละ ที่จะช่วยปัดเป่าให้เมฆดำนั้นสูญสลายไปได้

        น้องดาวที่รัก    งานครูเป็นงานที่ยิ่งใหญ่    แม้ดูเหมือนว่าครูจะแอบหลบทำงานอยู่ในซอกเล็ก ๆ ของบ้านเมือง   แต่ก็ไม่ใช่ประเด็นที่ครูจะต้องมาป่าวประกาศว่าอาชีพตนสำคัญกว่าอาชีพอื่น - ใช่ไหม ? 

         เอาละ   มาพูดถึงเรื่องที่น้องดาวอยากให้พี่เล่าประสบการณ์เกี่ยวกับการสอนวิชาภาษาไทยของพี่ให้น้องได้อ่านกันบ้าง เผื่อบางทีน้องอาจจะนำไปปรับใช้ในการสอนของน้องก็ได้ แน่นอน เด็กที่โรงเรียนพี่ ก็อย่างที่เคยเล่าให้ฟังว่าเป็นเด็กประเภท  “ไม่ค่อยรู้  ไม่ค่อยเข้าใจ    ไม่อยากเรียน นั่นแหละ และก็คงมีครูภาษาไทยอีกหลายคนที่มีหัวอกเช่นเดียวกับพี่ คือนักเรียนคิด   ไม่เป็น อ่านเขียนไม่ค่อยได้ สร้างความหนักใจให้กับผู้สอนเป็นอย่างยิ่ง   แต่น้องดาวรู้ไหมในความหนักใจนี่แหละ พี่ถือว่าเป็นโอกาสทองของครูเลยล่ะ   พูดง่าย ๆ ก็คือ  ครูสามารถพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาสเหมือนที่ใคร ๆ เขาพูดกัน    เพราะครูจะได้คิดค้นสื่อและกิจกรรมการเรียนการสอนมาใช้กับ เด็กกลุ่มนี้และพี่ก็ทดลองแล้วหลายวิธี โดยเฉพาะเรื่องการเขียนบอกตามตรงเลยว่า   เมื่อเห็นผลงานของลูกศิษย์  บางชิ้นพี่ขนลุกเลย ไม่คิดว่า เด็กบางคนที่ไม่ชอบเขียนกลับมาฝึกเขียน มาซักถาม   มาติดตามผลงาน บางคนดูเฉิ่ม ๆ ทื่อ ๆ  กลับเสนอความคิดแปลก ๆ  สร้างสำนวนใหม่ ๆ  ได้อย่างคาดไม่ถึง

         มีเรื่องหนึ่งพี่จะเล่าให้ฟัง      นักเรียนชายคนหนึ่งค่อนข้างจะเกเรให้เขียนอะไร ก็ทำอย่างขอไปที      คราวหนึ่งพี่ให้แต่งเรื่องสั้น ๆ ความยาวประมาณ 10-15 บรรทัด กำหนดตัวละคร 3-4 ตัว เขาเขียนเสร็จอย่างรวดเร็วเดินมาส่งที่หน้าห้องด้วยรอยยิ้มและท่าทางกวน ๆ สร้างความ “ทึ่ง” ให้กับเพื่อน ๆ  ในห้องเป็นอย่างยิ่ง (นี่แหละ “วัยรุ่น” ล่ะ น้องดาว)  งานเขียนของเขาเริ่มต้นว่า

“มีผัวเมียคู่หนึ่ง อาศัยอยู่ในป่า….”  จากนั้นเขาก็ทำจุดไข่ปลาไปอีกประมาณ 12 บรรทัด บรรทัดสุดท้ายเขาจบว่า   “แล้วเขาทั้งสอง ก็อยู่ด้วยกันอย่างมีความสุข”

       คะแนนเต็มสิบ น้องดาวจะให้เท่าไหร่ ?

        น้องคงแปลกใจ พี่ให้สิบคะแนนเต็ม พร้อมประกาศให้เพื่อน ๆ ทั้งห้องได้ยินเมื่อเรียกเขามารับสมุดเขากระโดดตัวลอยร้องเสียงดังลั่น พี่ให้เขาอ่านให้เพื่อนฟัง พออ่านจบ พี่ก็พูดดัง ๆ ว่า

                “เรื่องนี้ เนื้อเรื่องตื่นเต้นเร้าใจ มีความคิดสร้างสรรค์แต่ตอนกลางเรื่อง  ผู้เขียนสะกดผิดไป   ห้าสิบคำ  บางช่วงเนื้อเรื่องสับสน   มีรอยขีดฆ่าอีกสิบกว่าแห่ง     จึงขออนุญาตลดคะแนนเหลือห้าคะแนนนะครับ”

             เขาได้ยินถึงกับอึ้งไปเลย แต่เพื่อน ๆ หัวเราะชอบใจ พี่เดินไปตบไหล่เขาเบา ๆ   แล้วชมว่า   เขามีความคิดสร้างสรรค์ดีมาก ยังไม่เคยมีใครคิดและเขียนได้อย่างนี้ ถ้าเขียนบ่อย ๆ อนาคตจะเป็นนักเขียนที่โด่งดังแน่ ๆ น้องรู้ไหม เขายิ้ม -  รอยยิ้มของเขาเหมือนกับว่าเขาได้รับชัยชนะในการแข่งขันอะไรสักอย่างหนึ่งในวันนั้น

               รอยยิ้มนี้แหละ ทำให้พี่เชื่อมั่นว่า คำว่า “ครู” ได้แทรกซึมเข้าไปสู่พื้นที่ดวงใจอันกว้างใหญ่ ของเขาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว… ในทางกลับกัน ถ้าพี่ให้คะแนนศูนย์ ตั้งแต่ต้น  พี่ก็อาจจะกลายเป็นครูฆาตกรที่ฆ่าลูกศิษย์คนหนึ่งไปแล้วก็ได้

                เขียนมายืดยาว วันนี้พี่จะเล่าวิธีจุดประกายความคิดอย่างง่าย ๆ   ให้นักเรียน  “ฝึกคิดหาคำ - หาเรื่อง”  ด้วยกลอน “ไฮกุ” *  วิธีการของพี่มีลำดับขั้นดังนี้

1. ให้ความรู้และฝึกเขียนกลอนไฮกุอย่างง่ายๆ

2. นักเรียนแต่งกลอนไฮกุ จำนวน ๓ บท โดยบอกกำหนดเวลาก่อนแล้วจึงบอกหัวข้อ

                2.1  ใช้เวลา 3 นาที แต่งหัวข้อ “สวนสัตว์”

                2.2  เมื่อทำข้อ 2.1 เรียบร้อยแล้ว     (นักเรียนบางคนอาจใช้เวลาเกินไปบ้างก็ไม่เป็นไร) ใช้เวลา 2 นาที แต่งหัวข้อ “สวนสัตว์”   เหมือนเดิมแต่พยายามใช้คำที่มีในข้อ ๒.๑ ให้น้อยที่สุด

               2.3  เมื่อทำข้อ 2.2 เรียบร้อยแล้ว ให้นักเรียนเลือกวรรคใดวรรคหนึ่ง ที่มีจำนวนพยางค์ (หรือคำ) 5 พยางค์  จากข้อ 2.1 และ 2.2   มาเป็นวรรคเริ่มต้น  ใช้เวลา 1 นาที  แต่งหัวข้อ “น้ำท่วม”  (ข้อนี้ ฝึกให้นักเรียนรู้จักใช้ข้อมูลเก่ามาสร้างสรรค์เรื่องใหม่)

                น้องดาวเชื่อหรือไม่    หลังจากให้นักเรียนทดลองแต่งแล้ว   ปรากฏว่าผลงานที่ใช้เวลาน้อยที่สุด (ข้อ 2.3)  กลับดีเด่นกว่าหัวข้อที่ให้เวลามากกว่า  พี่ถามนักเรียนว่าทำไมจึงเป็นเช่นนั้น  ส่วนใหญ่จะตอบว่า เวลาน้อยทำให้ต้องใจจดใจจ่อกับคำและเรื่องที่จะเขียน จิตใจไม่วอกแวกมีสมาธิแล้วคำกับเรื่องก็จะผุดขึ้นมาในสมองอย่างปัจจุบันทันด่วนเหมือนกับการบังคับสมองให้คิดให้ได้ และก็ได้จริงๆ น้องดาวลองอ่านผลงานการเขียนสักสองตัวอย่างนะ

ผลงานของ   ปาจรีย์  เม่นวังแดง

ครั้งที่ 1 “สวนสัตว์” (3 นาที)

 

โอ้เจ้าเสือตัวใหญ่

แยกเขี้ยวคำรามอยู่ในกรง

สง่างามและดุ

ครั้งที่ 2 “สวนสัตว์”(2 นาที)

 

ไปเที่ยวที่เขาเขียว

เจอสัตว์มากมายหลายชนิด

ตื่นเต้นและสนุก

ครั้งที่ 3 “น้ำท่วม” (1 นาที)

 

โอ้ เจ้าเสือตัวใหญ่

ยืนอยู่บนเกาะหินกลางน้ำ

แล้วมันจะรอดหรือ

ผลงานของ  สาวิตรี  แจ่มฉาย

ครั้งที่ 1 “สวนสัตว์” (3 นาที)

สัตว์น้อยในป่าใหญ่

ที่ใครก็อยากเข้ามาดู

นกน้อยเจ้าอยู่ไหน

ครั้งที่ 2 “สวนสัตว์”(2 นาที)

สัตว์น้อยและสัตว์ใหญ่

มีมากมายอยู่ในป่าเขา

ดูช่างงามตาดี

ครั้งที่ 3 “น้ำท่วม” (1 นาที)

สัตว์น้อยในป่าใหญ่

อยู่บนบกหรืออยู่ในน้ำ

สงสารเจ้าเหลือเกิน

     น้องดาวจะเห็นได้ว่า  ผลงานครั้งที่ 1 และ 2    มีลักษณะการเขียนแบบบรรยายว่า ใคร ทำ อะไร ที่ไหน เท่านั้น แต่ผลงานครั้งที่ 3  นักเรียนมีจินตนาการมากขึ้น สอดแทรกความรู้สึกส่วนตัว    ที่แฝงด้วยคุณธรรมอันงดงาม คือความเมตตาปรานีที่ซุกซ่อนอยู่ในตัวเขาว่ามีอยู่อย่างเปี่ยมล้นและใสพิสุทธิ์เพียงใด และคุณธรรมนี้ย่อมยิ่งใหญ่กว่าถ้อยคำที่สวยหรู ไม่ใช่หรือ ?

     น้องดาว คงเชื่อมั่นเช่นเดียวกับพี่ว่า  ถ้าเยาวชนของเรามีความเมตตาปรานีเป็นพื้นฐานที่แข็งแกร่งอยู่ในหัวใจแล้วเมื่อเติบโตขึ้น เขาย่อมจะเป็นผู้ที่รู้จักเห็นอกเห็นใจผู้อื่น และพร้อมจะช่วยเหลือเกื้อกูลผู้ตกทุกข์ได้ยากเพราะมโนสำนึกเขาจะพร่ำบอกกับตัวเองว่า     “สงสารเจ้าเหลือเกิน”     “มันจะรอดหรือ” อยู่เสมอ

    โลกของเราคงสวยสดงดงาม อบอวลไปด้วยกลิ่นหอมแห่งดอกไม้สันติสุขทุกแห่งหน

              รักและคิดถึง

           พี่ดิน

          .....................................................................................................................................
                          (วิทยาจารย์ ปีที่ 109   ฉบับที่ 6   เมษายน 2553)
 
 
คำสำคัญ (Tags): #ดาวดวงที่ 1
หมายเลขบันทึก: 491445เขียนเมื่อ 16 มิถุนายน 2012 22:08 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 กันยายน 2012 21:34 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)

ดีใจที่อาจารย์กลับมาแล้วค่ะ

สวัสดียามดึกค่ะอาจารย์ ;)

  • ด้วยความขอบคุณครับ....และดีใจที่ได้พบกันอีก
  • ยังแอบไปอ่านและชมภาพสวย ๆ อยู่เนือง ๆ ครับ
  • ช่วงที่หายไป งานค่อนข้างเยอะ แต่ก็(ยังแอบ)ไปวาดรูปเขียนกลอนอยู่บ้าง
  • เดี๋ยวจะนำมาฝากครับ...ขอให้มีความสุขกายสบายใจนะครับ
  • ด้วยความระลึกถึง
  • ปณิธิ ภูศรีเทศ

คำพูดของครูสำคัญต่อชีวิตนักเรียนมากครับ...สามารถทำให้เป็นคนละคนไปเลยครับ

  • ใช่ครับ อ.แว่นธรรมทอง
  • ขอบคุณครับ
  • ปณิธิ ภูศรีเทศ

ชอบบันทึกนี้มากค่ะ

เดี๋ยวกลับมาคุยอีก วันนี้งาน..เครียด...ค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท