น้ำตาลดีหลังลูกเริ่มรับผิดชอบ


ลูกที่มีพ่อแม่เป็นเบาหวาน ขอให้รู้ว่าท่านสามารถช่วยให้พ่อ / แม่ของท่านมีสุขภาพที่ดีได้ อย่ารอให้สายเกินไป

“หมอ... ฉันจะเริ่มดูแลตนเองแล้วแหละ” คำพูดของป้าใหญ่ (นามสมมติ) ที่หมอเฝ้ารอมานาน


ป้าใหญ่ เจ้าของร้านทำเครื่องมือต่าง ๆ จากสังกะสี/อลูมิเนียม ด้วยตนเอง (ตัดเอง เชื่อมเอง ติดตั้งเอง) เลี้ยงลูกชาย 2 คน เพียงลำพัง ตลอดเวลาที่รู้จักกับป้าใหญ่มา ป้าไม่เคยไม่มีความเครียด มีเรื่องราวมากมายที่ทำให้ผู้เป็นแม่ต้องกลุ้มใจ คิดมากนอนไม่หลับ ไม่ฉีดยา ไม่กินยา

 
เริ่มจากลูกชายคนโตเข้าสู่วัยรุ่น เกเรไม่เรียน หนีเที่ยว ทะเลาะกันประจำ สุดท้ายก็ไปทำงานกรุงเทพฯ ช่วงไปทำงานกรุงเทพฯ ความเครียดก็เบาบางลงเล็กน้อย เพราะไม่เห็น เหลือแต่ความเป็นห่วง นับว่ายังโชคดีที่ลูกชายคนเล็กเป็นเด็กดี เข้าวัดเข้าวากับยาย เรียบร้อย สอนง่าย เป็นช่วงที่น้ำตาลทำท่าจะดีขึ้น แต่ไม่นานลูกชายคนโตก็ประสบอุบัติเหตุและกลับมาพร้อมกับภรรยาที่กำลังตั้งครรภ์ ความเครียดเกิดขึ้นซ้ำอีก ไหนจะดูแลลูก ไหนจะต้องไปคุยกับพ่อแม่ของลูกสะใภ้

จนกระทั่งหลานคลอดออกมา ลูกชายก็หายและปลอดภัย เริ่มมาเรียนรู้งานสังกะสี/อลูมิเนียม ครอบครัวทำท่าจะไปได้ดี แล้วมรสุมชีวิตพัดมาอีก ลูกชายคนเล็กไปคบเพื่อนไม่ดี พาเล่นเกม ไม่กลับบ้าน และสุดท้ายติดยาเสพติด และมีอาการประสาทหลอน พร้อมกันนั้นลูกชายคนโตทะเลาะกับภรรยา แล้วภรรยาก็ขอแยกทางไปอยู่กับพ่อแม่ของตน

ชีวิตดังละคร.... ถามว่าตลอดเวลาที่ดูแลป้าใหญ่นั้น เรื่องเบาหวานคงเป็นเรื่องเล็ก ๆ ไกล ๆ เมื่อเทียบกับปัญหาของลูกชาย.... ในบทบาทแพทย์ผู้ดูแลจะทำอะไรได้บ้าง ???? 

ช่วง 8 ปี ที่ผ่านมา สิ่งที่ทำได้ก็คือ รับฟัง ให้กำลังใจ ปลอบโยน มองมุมต่าง นำปัญหามาเป็นพลังให้ป้าใหญ่ดูแลตนเองบ้าง เพราะเป็นหลักของบ้านจริง ๆ สำหรับเรื่องเบาหวานนะหรือต้องใช้คำว่ารักษาสัมพันธภาพไว้ ไม่ให้ขาดหายจากกัน เพราะความรู้ที่ให้ไปป้ามีพร้อมจำได้ แต่ทำไม่ได้ น้ำตาลลงมากใกล้ 200 mg% จะถือว่าดีมาก ช่วงไหนบรรยากาศในบ้านดี น้ำตาลก็ลงต่ำกว่า 200 mg% บ้าง

 
วันนี้ลูกชายคนเล็กกำลังรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาลจิตเวช อาการดีพอใช้ แต่ที่ส่งผลให้ป้ามาดูแลตนเองได้ และระดับน้ำตาลดีขึ้นมาก ส่วนใหญ่ต่ำกว่า 200 mg% รูปร่างดูดี ใบหน้าที่ยิ้มแย้ม รู้สึกภาคภูมิใจ ก็คงเป็นเพราะลูกชายคนโตที่ผ่านช่วงวัยรุ่น ผ่านมรสุมของชีวิตมากมาย จนวันนี้เป็นลูกชายที่รับผิดชอบ ดูแลร้านให้แม่ ดูแลแม่ พาแม่มาทำแผล ดูแลน้อง ทำใจได้กับชีวิตคู่ที่แตกแยก แต่ยังคงเป็นพ่อที่ดีของลูกได้

 
ความสำเร็จในความพากเพียรใด ๆ คงไม่ภาคภูมิใจเท่าแม่ที่ทำให้ลูกเติบโตขึ้นมาเป็นคนที่ดีได้ แล้วก็เป็นกำลังใจที่ยิ่งใหญ่ของแม่เช่นกัน

 
สำหรับลูกที่มีพ่อแม่เป็นเบาหวาน ขอให้รู้ว่าท่านสามารถช่วยให้พ่อ / แม่ของท่านมีสุขภาพที่ดีได้ อย่ารอให้สายเกินไป

พญ.สกาวเดือน นำแสงกุล

รพ.ครบุรี จ.นครราชสีมา

หมายเลขบันทึก: 491394เขียนเมื่อ 16 มิถุนายน 2012 16:06 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 มิถุนายน 2012 11:28 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ลูกที่มีแม่ พ่อเป็นเบาหวาน ควรได้อ่านบทความนี้ น่าเผยแพร่ครับ

ขอบคุณคุณแว่นธรรมทองที่แนะนำ ความจริงคนที่ให้การดูแลรักษาผู้ป่วยก็ควรเข้าใจเรื่องพวกนี้ด้วย บางทีเรามองเห็นแต่ตัวผู้ป่วยและเบาหวาน ลืมคิดไปว่าคนเรานั้นมีเรื่องราวในชีวิตอีกมาก

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท