คลินิกความดันโลหิตสูงที่หมู่บ้าน


ผลดีที่เกิดขึ้นคือประชาชนเริ่มตื่นตัวรู้จักและเข้าใจโรคความดันโลหิตสูง มีการตรวจวัดความดันโลหิต ชีพจร น้ำหนัก รอบเอว ทุกเดือน

คุณหมอฝน พญ.สกาวเดือน นำแสงกุล ส่งเรื่องเล่าการทำงานมาให้ดิฉันบันทึกในบล็อกหลายสัปดาห์แล้ว ดิฉันไม่ได้ดำเนินการให้สักทีเพราะมัวแต่ทำภารกิจอื่น สัปดาห์จึงขอนำเสนอให้สมาชิกได้ ลปรร. นะคะ

ที่ครบุรีมีเรื่องราวของการทำงานกับผู้ป่วยเรื้อรังดี ๆ อยู่มาก แต่ยังไม่มีโอกาสสอนให้หมอฝนใช้ Gotoknow เองสักที เลยต้องใช้ระบบการส่งผ่านแบบนี้ไปก่อน

วัลลา ตันตโยทัย

“หมอ ๆ ฉันขอไปรับยากับ อสม. ที่บ้านได้ไหม” 
“ยังไม่ได้หรอกค่ะคุณยาย คุณยายยังมีความดันโลหิตสูงอยู่นะคะ”

บางคนอาจจะงงว่ามีการรับยากับ อสม.ด้วยหรือ เรื่องราวเริ่มเมื่อประมาณ ปลายปี 2554 เมื่อมีการประชุมวางแผนพัฒนาการดูแลผู้ป่วยความดันโลหิตสูง เพื่อสนับสนุนการดูแลตนเองของผู้ป่วยและชุมชน จากการค้นพบศักยภาพของ อสม. ดูแลโรคเรื้อรังของตำบลแชะ (ตำบลที่โรงพยาบาลตั้งอยู่) ซึ่งพี่ ๆ ฝ่ายเวชศาสตร์ชุมชนได้พัฒนาความสามารถมาตั้งแต่ปี 2554

เริ่มด้วยการวางแผนว่าใครบ้างที่จะเข้าร่วมโครงการคลินิกความดันโลหิตที่หมู่บ้านได้ ผลก็คือผู้ป่วยที่ไม่มีภาวะแทรกซ้อน ไม่มีโรคร่วม มีความดันโลหิตอยู่ในระดับปกติ เมื่อได้ผู้เข้าเกณฑ์แล้ว ก็ทำการส่งข้อมูลให้กับฝ่ายเวชศาสตร์ชุมชนเพื่อแบ่งผู้ป่วยเป็นกลุ่มที่มีบ้านอยู่ใกล้กัน และสื่อสารให้กับ อสม. ดูแลโรคเรื้อรังว่ามีใครบ้าง โดยมีสมาชิกกลุ่มละ 10 -15 คน

แล้วเริ่มสื่อสารกับผู้ป่วยซึ่งนัดมาเป็นกลุ่มตำบลอยู่แล้ว ว่าจะสมัครใจเข้าร่วมโครงการไหม โดยมีการเชิญ อสม. ที่จะดูแลมาพบปะกับผู้ป่วยที่คลินิกด้วย ซึ่งตอนแรกผู้ป่วยก็ลังเลใจอยู่บ้าง แต่พอผ่านไป 4 เดือน มีแต่คนขอเข้าร่วมโครงการ เฮ้อ! ก็คงต้องผ่านเกณฑ์ก่อนนะคะจึงจะเข้าร่วมได้

อสม.ดูแลโรคเรื้อรัง ได้รับความรู้ทั้งเกี่ยวกับโรคความดันโลหิตสูง ภาวะแทรกซ้อน อาการที่ต้องเฝ้าระวัง คำแนะนำที่ดี ๆ สำหรับผู้ป่วยความดันโลหิตสูง การตรวจวัดความดันโลหิตที่ได้มาตรฐาน และมีเครื่องมือในการตรวจพร้อมเพื่อให้สามารถปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ระบบการดูแลที่ถูกวางไว้เป็นอย่างไร ก็คือว่าผู้ป่วยกลุ่มนี้จะมี อสม. ไปเยี่ยมบ้าน และตรวจวัดน้ำหนัก รอบเอว ความดันโลหิต และชีพจร สอบถามอาการที่ผิดปกติที่ต้องส่งกลับมาโรงพยาบาลทันที รวมทั้งให้คำแนะนำการดูแลตนเอง ทุกเดือน และนำส่งผลการตรวจและอาการให้กับพยาบาลเพื่อให้แพทย์ได้รับทราบผลการตรวจวัดทุกเดือน ซึ่ง พญ.ทิพวรรณ (คุณหมออ้อมที่น่ารัก) ก็จะดูผลการตรวจเพื่อดูว่าจะต้องติดตามใครมาพบก่อนนัดหรือไม่

จากนั้นทุก 2 เดือน ถ้าผู้ป่วยมีอาการปกติ ผลการตรวจวัดปกติ อสม.ก็จะมารับยาและนำไปเติมให้กับผู้ป่วย จากนั้น ทุก 5 -6 เดือน ผู้ป่วยจะมีนัดเข้ามารับบริการในโรงพยาบาล เพื่อพบแพทย์

ผลดีที่เกิดขึ้นคือประชาชนเริ่มตื่นตัวรู้จักและเข้าใจโรคความดันโลหิตสูง มีการตรวจวัดความดันโลหิต ชีพจร น้ำหนัก รอบเอว ทุกเดือน ซึ่งปกติผู้ป่วยจะได้รับการนัดตรวจ 2 -3 เดือนเท่านั้น อสม. มีเครื่องมือที่บ้าน ทำให้ประชาชนสามารถไปวัดความดันโลหิตกับ อสม.ได้ มีการคัดกรองและวัดความดันโลหิตกันมากขึ้น และผลดีที่ตามมาคือช่วยลดความแออัดที่คลินิกความดันโลหิตสูงลงได้ 

แต่อย่างไรก็ตาม การติดตามให้กำลังใจและพัฒนาความสามารถของ อสม.ดูแลโรคเรื้อรัง คงต้องทำอย่างต่อเนื่อง และพัฒนาให้มีผู้มีความรู้เรื่องโรคความดันโลหิตสูงมากขึ้น เพื่อส่งเสริมการดูแลตนเองของประชาชน

สำหรับผลการดำเนินงาน คงต้องรอสรุปผลปลายปีนะคะ ไว้คอยติดตามตอนต่อไป

พญ.สกาวเดือน นำแสงกุล

รพ.ครบุรี จ.นครราชสีมา

หมายเลขบันทึก: 491392เขียนเมื่อ 16 มิถุนายน 2012 16:02 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 19:20 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท