พระอารมณ์ขันของสมเด็จพระเทพรัตนฯ


ได้อ่านหนังสือ "พระอารมณ์ขันของสมเด็จพระเทพรัตนฯ" ของคุณวิลาศ มณีวัต ที่เคยเขียนหนังสือ "พระราชอารมณ์ขันของพระบาทสมเด็จพระ เจ้าอยู่หัวฯ" มาเเล้ว จึงอยากเอามาเล่าต่อให้ฟังกันครับ

เข้าจุฬาฯ ชั่วโมงแรกก็เจอดี

นิสิตจุฬาฯ ตื่นเต้นกันทุกคน  เมื่อทราบข่าวที่ค่อนข้างแน่นอนว่า
สมเด็จเจ้าฟ้าพระองค์นี้จะทรงสอบเข้าจุฬาฯ  เพื่อจะทรงศึกษาในคณะอักษรศาสตร์

ไม่เฉพาะแต่ที่ตึกอักษรศาสตร์เท่านั้น ทางคณะวิทยาศาสตร์  คณะวิศวกรรมศาสตร์
คณะบัญชี  ตลอดจนคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์  ต่างก็คอยเฝ้าดูเหตุการณ์ว่าสมเด็จเจ้าฟ้า
พระองค์นี้จะทรงวางพระองค์อย่างไรกับอาจารย์และกับเพื่อนนิสิตด้วยกัน
ข้อสำคัญใครจะกล้าเข้าใกล้พระองค์ท่าน  บางคนถึงกับลงทุนซักซ้อมการเพ็ดทูล
แบบราชาศัพท์กันระหว่างเพื่อนฝูง

และแล้ววันแรกในชีวิตนิสิตหญิง  ซึ่งเป็นเจ้าฟ้าพระองค์แรกของจุฬาฯ ก็มาถึง

 

อาจารย์ในคณะอักษรศาสตร์ก็ตื่นเต้น
แต่ในวันแรกของการเปิดเทอมแรกของปีใหม่ 
ทุกอย่างและทุกคนดูจะวุ่นวายชุลมุนกันไปหมด
โดยเฉพาะนิสิตปีที่ ๑  ห้องเรียนอยู่ที่ไหนก็ยังไม่ทราบ
สอบถามกันให้วุ่นวาย

วิชาแรกในวันนั้นของนิสิตอักษรศาสตร์ปีที่ ๑  คือวิชาวรรณคดีละครพูด
ซึ่งจะต้องเข้าเรียนรวมกันทั้งชั้นในห้องใหญ่ ... ใหญ่จริง ๆ
นักเรียนปีหนึ่งแม้ว่าจะมาจากโรงเรียนต่าง ๆ  ไม่เคยรู้จักกันมาก่อน
แต่ก็จับกลุ่มกันเฉพาะที่มาจากโรงเรียนเดียวกัน  ก็เลยคุยแข่งกันเป็นกลุ่ม ๆ
เสียขรมแซดไปหมด  อาจารย์ศักกดิ์ศรี  แย้มนัดดา
อาจารย์ผู้สอนเข้ามาในห้องแล้ว  นิสิตใหม่ก็ยังไม่รู้จักเกรงใจ

ท่านอาจารย์ต้องนั่งรออยู่เป็นเวลาถึงห้านาที  เพื่อจะให้เงียบ
แต่ก็เปล่า ... ไม่ได้ผล ... ไม่มีทีท่าว่าจะเงียบ

อาจารย์ศักดิ์ศรีจึงตัดสินใจว่า  จะต้องเทศนาสั่งสอนอบรมเรื่องระเบียบ
วินัยกันเสียแล้ว  เรื่องเรียนอย่าเพิ่งเลยเพราะนิสิตยังขาดสมาธิ
สอนไปก็จับอะไรไม่ได้

อาจารย์เลยเทศน์เสียเกือบครี่งชั่วโมง

แต่แล้วก็นึกขึ้นได้ว่า  เอ๊ะ  สมเด็จเจ้าฟ้าก็ต้องอยู่ในกลุ่มนี้
ในห้องนี้แน่  พยายามกวาดสายตาดูก็ไม่เห็นเพราะมีนักเรียนมากมาย
นั่งหน้าสลอนไปหมด  จนจำไม่ได้ว่าใครเป็นใคร

พวกนิสิตใหม่ตกใจ  ที่อาจารย์ไม่ยอมสอนในชั่วโมงแรก  เอาแต่อบรมเรื่อง
ระเบียบวินัย  ต่างซุบซิบกันว่าอาจารย์คนนี้ดุจังเลย

สำหรับทูลกระหม่อมนั่นทรงตกพระทัย  เพราะตอนอยู่ที่โรงเรียนจิตรลดา
ไม่เจอะเจออาจารย์ดุแบบนี้

ทรงบ่นกับพระสหายที่นั่งอยู่ข้าง ๆ ว่า
"พอเข้าชั่วโมงแรกก็เจอดีเลยทีเดียว"
แต่ไม่ทรงขุ่นเคืองพระทัย  ทรงเห็นว่าการรักษาระเบียบวินัยในห้องเรียน
เป็นสิ่งจำเป็น  แม้นักเรียนจะเป็นผู้ใหญ่แล้วก็ไม่ควรละทิ้งระเบียบเช่นนี้

พระอาจารย์ศักดิ์ศรี  แย้มนัดดากล่าวถึงทูลกระหม่อมว่า  ทรงเป็นผู้เพียรกล้า
ในการแสวงหาวิชาความรู้  ทรงตักตวงอย่างไม่รู้จักอิ่ม  ลำพังการเรียน
เฉพาะชัวโมงที่ลงทะเบียนไว้ก็กินเวลาสัปดาห์ละไม่น้อยอยู่แล้ว
และยังจะมีงานที่จะต้องทำมาส่งอาจารย์อีก  เพื่อน ๆ บ่นกันว่าปีแรกนี้เรียนหนัก
เรียนไม่ค่อยรู้เรื่องบ้าง  เซ็งบ้าง  ตามแต่จะบ่นกันไปกระปอดประแปด
แต่ทูลกระหม่อมไม่ทรงบ่นเลย  มีแต่จะคิดเรียนโน่นเรียนนี่เพิ่มเติมอยู่เสมอ
อย่างไม่ทรงรู้จักคำว่าเหน็ดเหนื่อย  ทรงสนุกกับการเรียน  เรียนวิชาปีหนึ่งแล้ว
พอว่างก็แอบไปเข้าห้องเรียนชั้นปริญญาโทขอฟังกับเขาด้วย
เพราะทางมหาวิทยาลัยไม่ห้ามพวกปริญญาตรีจะเข้าฟังของพวกปริญญาโท
ก็ไม่มีกฎห้ามแต่อย่างใด  แต่อาจารย์ศักดิ์ศรีบอกว่า  สามสิบปีทีสอนมา
ไม่เคยมีนักศึกษาปริญญาตรีเข้ามาแอบฟังการสอนชั้นปริญญาโทเลย
เพิ่งมีคราวนี้แหละ  จึงเป็นที่กล่าวขวัญถึงกันมากในหมู่คณาจารย์

แต่ในหมู่นิสิตคณะอื่นนั้น  โจษขานกันแต่ว่ามีบุญตาได้เห็นทูลกระหม่อม
แล้วหรือยัง  จนมีนิสิตช่างสังเกตแนะให้ว่า  "คนไหนไว้เปียยาวก็คนนั้นแหละ"


คราวหนึ่ง  ในการเสด็จเยี่ยมราษฎรทางภาคเหนือ
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ
และสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี  ได้ทรงแวะประทับ
ค้างคืนที่หน่วยราชการแห่งหนึ่ง  ซึ่งทรงคุ้นเคยกับบรรดาพนักงานเจ้าหน้าที่
เพราะได้เคยเสด็จไปประทับที่นั่นมาสามสี่ครั้งแล้ว

คราวนี้ทางหน่วยราชการมีเวลาเตรียมตัวรับเสด็จค่อนข้างนาน
จึงเตรียมต้นไม้ไว้ให้ทรงปลูก  อันเป็นประเพณีที่นิยมปฏิบัติกัน
ทั้งในต่างประเทศและในประเทศไทย  เท่ากับเป็นการเน้นให้
ประชาชนได้รู้สึกถึงคุณค่าของต้นไม้

 

ต้นไม้ที่หน่วยราชการแห่งนั้นเตรียมไว้ให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
ทรงปลูก  ได้แก่  ต้นมะขามหวานเพชรบูรณ์  ซึ่งยกย่องกันว่าเป็นพันธุ์มะขามหวาน
รสดีที่สุดและราคาแพงที่สุด

ทรงมีพระราชกระแสรับสั่งกับท่านผู้อำนวยการหน่วยงานแห่งนั้นว่า
"ให้ปลูกมะขามหรือ ... นี่คงจะเห็นฉันตัวโค้ง ๆ งอ ๆ เหมือนมะขามหรือไง?"

ท่านผู้อำนวยการถึงกับสั่น  ครั้นกุมสติได้  จึงกราบบังคมทูลพระกรุณาว่า
"พระราชอาญาไม่พ้นเกล้าฯ  มะขามนั้นเป็นไม้ใหญ่ที่แข็งแรงคงทน
อายุยืนมาก  ก็ประสงค์ว่า  อยากจะเห็นใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท
ทรงพระเจริญมีพระชนมายุยืนนาน  เป็นที่พึ่งแก่ปวงข้าพระพุทธเจ้า
และราษฎรชาวบ้านให้นานแสนนานพะย่ะค่ะ"

 

ถึงวาระสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ   สยามบรมราชกุมารี
จะทรงปลูกบ้าง  ต้นไม้ที่หน่วยราชการแห่งนั้นจัดเตรียมไว้คือ  ต้นส้มโอ

 

สมเด็จพระเทพรัตนฯ รับสั่งด้วยพระพักต์ยิ้มแย้มสดชื่นว่า
"นี่คงจะเห็นฉันอ้วนตุ๊สมเป็นส้มโอล่ะซี ..."

ท่านผู้อำนวยการหน้าซีด  นึกเคืองอยู่เหมือนกันที่ลูกน้องฝ่ายจัดหา
ช่างกระไรไปเลือกเอาส้มโอมา  นิ่งคิดหาทางออกอยู่ครู่หนึ่ง
แล้วกลั้นใจรีบกราบบังคมทูลว่า
"พระราชอาญาไม่พ้นเกล้าฯ  ที่น้อมเกล้าน้อมกระหม่อมให้ทรงปลูกส้มโอ
ก็เพราะชาวบ้านอำเภอนี้ถือว่าส้มโอ คือ บ่อเงินบ่อทองพะย่ะค่ะ ...
ปี ๆ หนึ่งทำเงินเป็นสิบ ๆ ล้าน  ขึ้นชื่อว่าส้มโอ  จังหวัดไหน ๆ
ก็สู้ของที่นี่ไม่ได้  เป็นสมบัติอันล้ำค่ำทางการเกษตรพะย่ะค่ะ ...
ก็อยากจะให้พระบารมีคุ้มเกล้าฯ  อย่าให้ส้มโอที่อื่นมาแย่งเอาตำแหน่ง
ยอดส้มโอไปจากที่นี่พะย่ะค่ะ"

 

รับสั่งต่อด้วยพระอารมณ์ขันว่า
"รับรองต้องตุ้มต๊ะตุ้มตุ้ยเหมือนคนปลูก"

พระดำรัสประโยคนั้นรู้กันไปทั่วทั้งจังหวัด  คุณลุงคุณป้าคุณย่าคุณยาย
น้ำหูน้ำตาไหล  ปีติปลาบปลื้มว่าทรงเป็นกันเองกับชาวบ้านจริง ๆ
ไม่ถือพระองค์เลย  และทรงมีพระอารมณ์ขันอย่างนึกไม่ถึง
ยังเล่าขานกันต่อมาอีกหลายปี  เพราะเมื่อใครไปเห็นต้นส้มโอนั้น
เจ้าหน้าที่ผู้รักษาดูแล  ก็จะเล่าให้ฟังด้วยความชื่นชมโสมนัส
และซาบซึ้งในพระเมตตาคุณของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ
สยามบรมราชกุมารีอย่างไม่เสื่อมคลาย

 

 

สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ  สยามบรมราชกุมารี
ทรง "กล้าสู้"  ทั้ง ๆ ที่รู้ว่าอาจารย์ศักดิ์ศรีเข้มงวดและดุ  เมื่อมีการแบ่ง
กลุ่มย่อยฝึกเขียนภาษาไทยออกเป็นสิบกลุ่ม  พระสหายหลายคนบอกว่า
"ไปอยู่กลุ่มอื่นดีกว่า  กลุ่มอาจารย์ศักดิ์ศรีดุจะแย่"  แต่ทูลกระหม่อมกลับ
เลือกเข้ากลุ่มอาจารย์ยอดดุ  ทรงพอพระทัยที่จะอยู่ในกลุ่มอาจารย์ดุและเข้มงวด
เพราะทรงเชื่อว่าอาจารย์คงจะกวดขันการเรียนภาษาไทยของพระองค์ท่าน
ได้ดีกว่ากลุ่มอื่น ๆ

นักเรียนกลุ่มนี้ถ้าเขียนภาษไทยไม่เข้าท่า  ผิดสำนวนผิดความหมาย
ผิดตัวสะกด  ก็ต้องโดน "ขึ้นกระดาน" กันเป็นประจำ  อาจารย์จะแจงสี่เบี้ย
ว่าผิดตรงไหน  ควรแก้ไขอย่างไรให้เป็นภาษาไทยที่ดี  บางคนถูก
"ขึ้นกระดาน" บ่อย ๆ เข้าก็รู้สึกอาย  แอบบ่นว่า "เข้ากรุ๊ปผิดเสียแล้วเรา"

 

แต่ทูลกระหม่อมไม่เคยทรงบ่นเลย  ทรงอดทนแบบถึงไหนถึงกัน
ไม่ยอมแพ้  จนในที่สุดในตอนสอบก็ทรงผ่านไปได้ด้วยคะแนนยอดเยี่ยม

เวลาสอบ  โปรดใช้ปากกาเส้นใหญ่  ถ้าเขียนผิดจะทรงใช้ยางลบ
ลบแล้วลบอีก  แต่พอเห็นใกล้จะหมดเวลาจะต้องส่งกระดาษคำตอบแล้ว
ก็จะเลิกใช้ยางลบ  แต่ใช้ปากกาขีดฆ่า  แล้วเขียนคำใหม่ลงไปเลย
ทรงตรวจทานกระดาษคำตอบอย่างพระทัยเย็น  และก็ไปส่งตอนกระดิ่ง
หมดเวลาทุกครั้ง  ไม่เคยรีบส่งก่อนจะหมดเวลาเลย


ในการวางพระองค์กับอาจารย์นั้น  จะทรงทำความเคารพครูบาอาจารย์ก่อนเสมอ
อาจารย์ ดร. ศักดิ์ศรี  แย้มนัดดา  เขียนเล่าไว้ว่า  ท่านเคยเดินขึ้นบันได
ห้องโถงตึกอักษรศาสตร์ ๑  ขึ้นไปชั้นบน  ผมนึกภาพนี้ออก
เพราะตอนผมเรียนบัญชีจุฬาฯ  ก็เรียนที่ตึกนี้  เดินขึ้นเดินลงบันไดวันละหลายหน

ท่านอาจารย์ศักดิ์ศรีมัวแต่ตามองดูขั้นบันไดทีละขั้น  กลัวจะสะดุดหกล้ม
ได้ยินเสียงนิสิตหญิงพูดดัง ๆ ว่า
"สวัสดีค่ะ .. อาจารย์"  แล้วก็เดินสวนทางลงไป
ท่านอาจารย์ก็ตอบโต้โดยมิได้เงยหน้าขึ้นดู
"ฮื่อ ... สวัสดีจ้ะ"
แต่พอเหลียวกลับไปดูว่าใครเป็นคนทักเมื่อตะกี้นี้ก็ใจหายวาบ
เพราะผู้ที่เดินอมยิ้มลงบันไดไปนั้น  ก็คือ ... สมเด็จเจ้าฟ้าสิรินธร

อาจารย์ศักดิ์ศรี  แย้มนัดดา เล่าว่า  โดนเข้าแบบนี้อีก ๒-๓ ครั้ง
ตอนขึ้นบันไดเหมือนครั้งแรกไม่มีผิด

เลยทำให้ทูลกระหม่อมทรงสนิทสนมกับอาจารย์ผู้นี้มาก
คราวหนึ่งเสด็จกลับจากอีสาน  ทรงเข้าห้องช้ากว่าเพื่อน
ก็ต้องเข้าไปประทับนั่งแถวหน้าสุด  ทรงค้นกระเป๋าใบใหม่อยู่ครู่หนึ่ง
แล้วก็หยิบห่อของยู่ยี่ห่อหนึ่งส่งให้อาจารย์  พร้อมกับตรัสว่า
"ของฝากจากอีสานค่ะ"

ของฝากนั้นคือ  ขนมตุ้บตั้บ  อันมีชื่อเสียงของอีสาน  ซึ่งทรงซื้อมาจากอุดร
ทำเอาอาจารย์ศักดิ์ศรีตื้นตันใจเป็นล้นพ้น  น้ำพระทัยนี้จะตรึงตราอยู่ในใจ
อาจารย์ไปจนกว่าชีวิตจะหาไม่

 

อัจฉริยะในเชิงสร้างสรรค์ ศิลปะเริ่มฉายแสง


ความเป็นอัจฉริยะของมนุษย์เรา  เป็นเรื่องของสิ่งแวดล้อม
หรือกรรมพันธุ์  ได้เป็นที่ถกเถียงกันในหมู่ปราชญ์มาช้านาน
สำหรับผู้เขียนเองเชื่อว่า  สิ่งแวดล้อมและการอบรมในวัยเด็ก
ย่อมจะมีส่วนมีอิทธิพลอยู่บ้าง  แต่กรรมพันธุ์หรือความสืบเนื่องทางสายเลือด
จากบุพการีนั้นสามารถที่จะส่งผลรุนแรง  สืบทอดมาถึงบุตรได้
ดังมีตัวอย่างให้เห็นอยู่บ่อย ๆ

บิดาของจอห์น  ฮุสตัน  เป็นนักแสดงระดับศิลปินก็สืบทอดมาถึงจอห์น  ฮุสตัน ได้
ทำให้เขามีความรัก  ลุ่มหลงโลกของการแสดงมาแต่เด็ก  จนเขาได้เป็นผู้กำกับ
มือหนึ่ง  ได้รับรางวัลตุ๊กตาทองจากฮอลลีวูด  และแล้วจอห์น  ฮุสตัน ก็สืบทอด
ความเก่งฉกาจอันนั้นต่อมายังลูกสาวของเขา  คือ อันเจลิกา  ได้สำเร็จอีกเหมือนกัน
ซึ่งเธอก็ได้พิสูจน์ความสามารถในการแสดง  ได้รับรางวัลตุ๊กตาทองทันให้บิดาได้
เห็นและชื่นใจ

ในบางกรณี  การสืบทอดอัจฉริยะทางสายเลือดอาจกระโดดข้ามตอนไปบ้าง
ชั้นลูกยังมาไม่ถึง  แต่ไปสืบต่อถึงเอาในชั้นหลาน  ดังในกรณีของปราชญ์เบอร์ทรันด์  รัสเซลส์
ปู่ของเขาเป็นนายกรัฐมนตรีอังกฤษผู้ปราดเปรื่อง  ชั้นลูกยังไม่แสดงความเป็นอัจฉริยะ
ให้ปรากฎ  แต่พอถึงชั้นหลาน คือ เบอร์ทรันด์  รัสเซลส์  ความเป็นอัจฉริยะยอดคน
ก็สำแดงเด่นชัดขึ้นมา  เขาเป็นนักคิดที่เด่นที่สุดแห่งยุค  มีแนวคิดอิสระ
และเป็นไปเพื่อสันติภาพและความอยู่รอดของมนุษยชาติ  มิไยสังคมที่เน่าเฟะ
ทั้งในอังกฤษและอเมริกา จะพยายามต่อต้านและบีบกดรังแก  โดยเอาตัวเบอร์ทรันด์  รัสเซลส์
ไปเข้าคุกถึงสองครั้ง  แต่เขาก็ดันทะลุฟันฝ่าออกมาได้ด้วยความเป็นอัจฉริยะ
จนได้รับรางวัลโนเบลไปทางด้านวรรณคดี

ความเป็นอัจฉริยะของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
ได้ฉายแสงออกมาเป็นครั้งแรกในระหว่างที่ยังทรงศึกษาอยู่ในโรงเรียนจิตรลดา
ด้วยการเริ่มแต่งเพลงชื่อ  สัมตำ  ซึ่งคนธรรมดา  สติปัญญาธรรมดา
อายุเพียงเท่านั้นย่อมจะแต่งไม่ได้  การที่จะสามารถแต่เพลงขนาดนั้นได้
จะต้องมีองค์ประกอบเข้มข้นสองอย่าง คือ ต้องมีอารมณ์ขันอย่างเอกอุ
แทนที่จะทรงคิดแต่งเพลงดวงจันทร์ หรือ วันฟ้าสวย  กลับทรงคิดเอา "ส้มตำ"
มาแต่ง  แสดงถึงพระราชหฤทัยที่รักสามัญชน  ต่อไปภายหน้าจะเป็นที่รักของ
ชาวบ้านทั่วประเทศ  และองค์ประกอบข้อสอง  ก็คือ  การที่จะ "ปรุง" ส้มตำ
ให้เป็นเพลงขึ้นมาได้นั้น  จะต้องมีแววอัจฉริยะทางดนตรีอย่างพิเศษอยู่ในสายเลือด
คือ สืบทอดความเป็นศิลปินนักแต่งเพลงมาจากทูลกระหม่อมพ่อนั่นเอง

อารมณ์ขันนั้นย่อมเกิดจากการคิด  การมองที่ละเอียดกว่าคนอื่น ๆ
เป็นที่ทราบกันในหมู่ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ว่า  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
ทรงมีพระราชอารมณ์ขันอย่างเยี่ยม  ทรงมองบุคคลและเหตุการณ์อย่างละเอียด
ทะลุปรุโปร่ง  และด้วยพระเมตตา  จึงได้ทรงอบรมให้พระราชโอรสและพระราชธิดา
รู้จักใช้ความสังเกตอย่างละเอียดลออมาตั้งแต่ทรงพระเยาว์  แม้กระทั่งเวลากลางคืน
ก็ยังทรงสอนให้รู้จักสังเกตดวงดาวบนท้องฟ้า


ทางด้านสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ  จะทรงดูแลวางพื้นฐาน
วัฒนธรรมไทยให้  โดยให้ทูลกระหม่อมอ่านวรรณคดี  ยืนโรงอยู่สามเรื่อง
คือ พระอภัยมณี  อิเหนา  และรามเกียรติ์  โดยเฉพาะเรื่องอิเหนานั้น
รับสั่งว่าคำกลอนไพเราะ  ให้ลูกท่องให้ขึ้นใจ เช่น  "ว่าพลางทางชมคณานก
โผผกจับไม้อึงมี่"  เนื่องจากได้ทรงอ่านกลอนเพราะ ๆ มาแต่เด็กนี่เอง
ทูลกระหม่อมจึงชอบเรียนวรรณคดีไทยและชอบแต่งกลอน

เด็ก ๆ ทุกคนย่อมชอบฟังนิทาน  การเล่านิทานให้ลูกฟังเป็นวิธีการอบรมปลูกฝัง
นิสัยที่ดีอย่างหนึ่ง  ทุกชาติจึงต้องมีหนังสือนิทานสำหรับเด็ก  เพื่อให้เด็กสนุกสนาน
เพลิดเพลินและรับเอาคติธรรม  เรื่องความสุจริต  การทำดีได้ดี  การช่วยเหลือเผื่อแผ่
แก่คนอื่น ๆ  ให้ค่อย ๆ ซึมเข้าไปในความนึกคิดที่รวมกันขึ้นมาเป็นอุปนิสัย
และบุคลิกภาพ  สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงตระหนักถึงความสำคัญ
ของนิทาน  จึงทรงเลือกนิทานสนุก ๆ จากหนังสือมาเล่าให้ฟัง  บางครั้งก็เป็น
นิทานชาดกในพุทธศาสนา  บางทีก็ทรงเล่าเรื่องจากประวัติศาสตร์
ประวัติบุคคลสำคัญและความรู้รอบตัวอื่น ๆ  และเพื่อให้สนุกยิ่งขึ้น
เมื่อจบรายการแล้วก็จะทรงทบทวนโดยให้มีการตอบปัญหา
ถ้าตอบถูกก็จะมีรางวัลให้หนึ่งบาท  อันการเล่านิทานของสมเด็จแม่นั้น
ทรงมีศิลปะปรุงแต่งให้มีรสชาติตื่นเต้น  โดยการเน้น  ระบายสี
หยิบยกเอาประเด็นที่น่าสนใจขึ้นมาเล่าถึงขนาดที่ว่า "ทูลกระหม่อมพ่อยังโปรดฟัง"

และมีการแถมท้ายให้ตื่นเต้นด้วยการทรงเล่าเรื่องผีซึ่งสมเด็จพระเทพฯ ได้ทรงวิจารณ์ว่า
"แต่ก่อนนี้พี่เลี้ยงไม่ยอมเล่าเรื่องผี  พอไปโรงเรียนเพื่อน ๆ ก็มาหลอก
สมเด็จแม่ท่านว่า  ถ้ามานั่งอธิบายว่าผีไม่มี จ้างก็ไม่เชื่อ  ท่านจึงสำทับโดยการ
เล่าเรื่องผีที่น่ากลัวกว่าให้เข็ด"

อีกข้อหนึ่งที่สมเด็จแม่ทรงดูแลมากก็คือ  ด้านพลานามัยและมารยาทการนั่งโต๊ะ
สำหรับพลานามัยหรือการออกกำลังกายนั้น  จะทรงมอบหมายให้ทูลกระหม่อมดูแลสนาม
ถอนหญ้าแห้วหมูและคอยตัดต้นข่อยที่ดัดเป็นรูปต่าง ๆ  พอตกค่ำ ขึ้นมาเสวย
ก็เป็นเวลาที่จะทรงอบรมในเรื่องการนั่งโต๊ะอาหารแบบฝรั่ง

ด้วยการอบรมที่ดีพร้อมทุกด้านดังกล่าวนี้  เมื่อถึงวาระที่ทูลกระหม่อมจะทรงเข้าศึกษาที่
รร. จิตรลดา  จึงตั้งต้นเรียนได้ดีและก้าวหน้าในการศึกษาไปได้อย่างรวดเร็ว
เพราะมีพื้นฐานดีอยู่แล้ว

ขณะที่ทรงศึกษาอยู่ในชั้นมัธยมต้นที่ รร. จิตรลดานี่เอง  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
จะเสด็จพระราชดำเนินทรงดนตรีที่มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ  ประสานมิตร
ขณะกำลังเตรียมรายการเพลง  ทูลกระหม่อมก็ทรงบ่นขึ้นว่า
"จะร้องเพลงอะไรก็มีคนจองไว้แล้วทั้งนั้น... ถ้าจะต้องแต่งเพลงเสียเอง"

ข้อความนี้ถึงพระเนตรพระกรรณ  ก็ได้มีพระราชกระแสลงมาว่า  ให้ทูลกระหม่อมแต่งเพลง
สำหรับร้องเองเพลงหนึ่ง  ระหว่างนั้นเมื่อทรงว่างจากการท่องตำราเรียน
ก็โปรดการเข้าครัว  ทำอาหารเป็นงานอดิเรก  และอาหารจานโปรดก็คือส้มตำ
เพราะทำได้ง่าย ๆ  เครื่องปรุงไม่มีอะไรพิสดารมากนัก  แต่รสแซบดี

จึงได้ทรงเกิดความคิด  นำเอาตำราทำส้มตำมาเรียงร้อยให้คล้องจองกัน
คงจะแบบเดียวกับสุนทรภู่เคยเอารายชื่ออาหารมาเรียงร้อยให้ไพเราะคล้องจองกันว่า

"อิมัสมิงริมฝั่ง
อิมังปลาร้า
กุ้งแห้งแตงกวา
อีกปลาดุกย่าง
ช่อมะกอก  ดอกมะปราง
เนื้อย่าง  ยำมะดัน
ข้าวสุกค่อนขัน  น้ำมันขวดหนึ่ง
น้ำผึ้งครึ่งโถ  ส้มโอแช่อิ่ม
ทับทิมสองผล
เป็นยอดกุศล  สังฆัสสะเทมิฯ"

ส่วนเพลงชาวบ้านชื่อ "ส้มตำ" ของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ
สยามบรมราชกุมารี  มีเนื้อร้องว่าดังนี้

"ต่อไปนี้จะเล่า         ถึงอาหารอร่อย
คือสัมตำกินบ่อย       รสชาติแซบจัง
วิธีการก็ง่าย             จะกล่าวได้ดังนี้
มันเป็นวิธี                วิเศษเหลือหลาย

ไปซื้อมะละกอ           ขนาดพอเหมาะเหมาะ
สับสับเฉาะเฉาะ          ไม่ต้องมากมาย
ตำพริกกับกระเทียม      ให้ยอดเยี่ยมกลิ่นอาย
มะนาวน้ำปลาน้ำตาลทราย     น้ำตาลปี๊บถ้ามี

ปรุงรสให้เยี่ยมหนอ       ใส่มะละกอลงไป
อ้ออย่าลืมใส่                กุ้งแห้งป่นของดี
มะเขือเทศเร็วเข้า          ถั่วฝักยาวเร็วรี่
เสร็จสรรพแล้วซี            ยกออกจากครัว

กินกับข้าวเหนียว           เที่ยวแจกให้ทั่ว
กลิ่นหอมยวนยั่ว            น่าน้ำลายไหล
จดตำราจำ                   ส้มตำลาวเอาตำรามา
ใครหม่ำเกินอัตรา           ระวังท้องจะพัง

ขอแถมอีกนิด                แล้วจะติดใจใหญ่
ไก่ย่างด้วยเป็นไร           อร่อยแน่จริงเอย"


แม่ครัวบ้านผู้เขียน (วิลาศ  มณีวัต)  ได้ฟังเพลงนี้แล้วก็อด
วิจารณ์ในฐานะผู้ชำนาญการทำส้มตำไม่ได้ว่า
"ตอนที่มันสนุกถึงใจนะเจ้าคะ ... ก็ตอนที่ร้องว่า 'สับสับ  เฉาะเฉาะ' นั่นแหละ ...
มองเห็นภาพกำลังปรุงส้มตำจริง ๆ เลย ..."

 

เพลงนี้ปรากฎว่าแพร่หลายออกไปอย่างรวดเร็วจนบริษัทสร้างภาพยนตร์รายหนึ่ง
ได้ทูลขอพระราชทานอนุญาตนำเอามาตั้งเป็นชื่อเรื่องภาพยนตร์เรื่องใหม่คือเรื่อง "ส้มตำ"

การแต่งเพลงจึงกลายเป็นความสนุกอีกอย่างหนึ่งของพระองค์  ต่อมาในขณะประทับเครื่องบิน
ออกจากไทยไปอิหร่าน  ก็ได้ทรงแต่งเพลงปลาทองเถา

ยามเสด็จไปพักผ่อนหน้าร้อนริมทะเลที่หัวหิน  เมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๐  ก็ได้มาอีกเพลง  ชื่อ
"อกทะเล"  มีเนื้อร้องว่าดังนี้


"นี่ก็ล่วงเวลาเห็นช้าแล้ว
พระจันทร์แคล้วหลบลี้หนีหน้าหาย
ได้ฟังเพลงร้องเล่นเย็นใจกาย
เย็นพระพายพัดเอื่อยเรื่อยเรื่อยเรียง

ได้อยู่ใกล้ใจคลายทุกข์เป็นสุขศรี
จนดนตรีที่ได้ยินจะสิ้นเสียง
ตัวจากไปใจยังอยู่เป็นคู่เคียง
คอยมองเมียงพบกันวันหน้าเอย"




หมายเลขบันทึก: 491117เขียนเมื่อ 14 มิถุนายน 2012 01:02 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 02:20 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)
  • ขอบคุณที่นำเรื่องดีๆ มาถ่ายทอดต่อนะคะ จะแนะนำให้นักศึกษาเข้ามาอ่านค่ะ
  • โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การน้อมนำเอาเอาแบบอย่างของทูลกระหม่อมไปปฏิบัติ แบบอย่างที่อาจารย์ ดร. ศักดิ์ศรี  แย้มนัดดา เล่าว่า " ทรงเป็นผู้เพียรกล้าในการแสวงหาวิชาความรู้  ทรงตักตวงอย่างไม่รู้จักอิ่ม  ลำพังการเรียน เฉพาะชัวโมงที่ลงทะเบียนไว้ก็กินเวลาสัปดาห์ละไม่น้อยอยู่แล้ว และยังจะมีงานที่จะต้องทำมาส่งอาจารย์อีก  เพื่อน ๆ บ่นกันว่าปีแรกนี้เรียนหนัก เรียนไม่ค่อยรู้เรื่องบ้าง เซ็งบ้าง  ตามแต่จะบ่นกันไปกระปอดประแปด แต่ทูลกระหม่อมไม่ทรงบ่นเลย  มีแต่จะคิดเรียนโน่นเรียนนี่เพิ่มเติมอยู่เสมอ อย่างไม่ทรงรู้จักคำว่าเหน็ดเหนื่อย  ทรงสนุกกับการเรียน  เรียนวิชาปีหนึ่งแล้ว พอว่างก็แอบไปเข้าห้องเรียนชั้นปริญญาโทขอฟังกับเขาด้วย เพราะทางมหาวิทยาลัยไม่ห้ามพวกปริญญาตรีจะเข้าฟังของพวกปริญญาโท ก็ไม่มีกฎห้ามแต่อย่างใด  แต่อาจารย์ศักดิ์ศรีบอกว่า  สามสิบปีทีสอนมา ไม่เคยมีนักศึกษาปริญญาตรีเข้ามาแอบฟังการสอนชั้นปริญญาโทเลย เพิ่งมีคราวนี้แหละ  จึงเป็นที่กล่าวขวัญถึงกันมากในหมู่คณาจารย์"

#2651023 พระองค์ท่านทรงเป็นแบบอย่างที่ดีในทุกๆด้านให้กับประชาชนทุกคน  ทูลทูลกระหม่อมทรงเป็นนิสิตที่ยอดเยี่ยม  และทรงเป็นพระอาจารย์ที่เยี่ยมยอด  สำหรับผมพระองค์เปรียบเสมือนอาจารย์ของผมเลยก็ว่าได้ครับ  

ขอสมเด็จพระเทพฯ ทรงพระเจริญค่ะ


 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท