๑๓๐. วิธีฝึกเขียนสีน้ำหุ่นนิ่งเพื่อศึกษาคุณสมบัติของสิ่งที่ปรากฏให้สังเกตได้


ผมได้มีโอกาสกลับไปเยือนโรงเรียนเวชนิทัศน์พัฒนา สถานเทคโนโลยีการศึกษาแพทยศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราช มหาวิทยาลัยมหิดล และได้เห็นผลงานของอาจารย์และนักศึกษาชวนให้ตื่นตาตื่นใจหลายอย่าง ซึ่งส่วนหนึ่งก็คือผลงานการศึกษาเพื่อพัฒนาพื้นฐานไปสู่การเขียนภาพและการถ่ายภาพทางการแพทย์ รวมไปจนถึงการทำงานกราฟิคและการทำงานศิลปะทางการแพทย์

แต่เดิมนั้น หลักสูตรวิทยาศาสตร์บัณฑิต สาขาเวชนิทัศน์ของมหาวิทยาลัยมหิดล จะเป็นหลักสูตรที่เปิดรับเอานักศึกษาที่จบการศึกษาทางศิลปะในระดับอนุปริญญามาแล้ว ดังนั้น จึงมีพื้นฐานทางด้านศิลปะที่ได้รับการฝึกฝนมาเป็นอย่างดีระดับหนึ่งไม่ต่ำกว่า ๕ ปี ซึ่งอยู่ในระดับที่หากออกไปทำงาน ก็จะสามารถเข้าสู่วงการมืออาชีพ เป็นช่างฝีมือ เป็นศิลปิน และเป็นจิตรกรไปแล้ว หลักสูตรเวชนิทัศน์ของมหาวิทยาลัยมหิดลรับเอามาให้การศึกษาต่อทางด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์พื้นฐานเพิ่มเข้าไปอีก ๒ ปีเพื่อสร้างคนทำงานทางด้านศิลปะสื่อและการสื่อสารการศึกษาทางแพทย์

ปัจจุบันนี้ ทางมหาวิทยาลัยได้ปรับปรุงหลักสูตรให้เป็นหลักสูตร ๔ ปี และพื้นฐานทางด้านศิลปะนั้น ก็เพิ่มเนื้อหาวิชาเพื่อจัดการเรียนการสอนอย่างบูรณาการเบ็ดเสร็จด้วยตนเอง พร้อมกับปรับปรุงวิธีเปิดรับนักศึกษา ซึ่งแต่เดิมจะรับจากนักศึกษาทางศิลปะ ก็เปลี่ยนเป็นรับจากผู้ที่จบมาทางวิทยาศาสตร์ นักศึกษาจึงต้องเรียนอย่างเข้มข้นทั้งสาระการศึกษาที่มีลักษณะเป็นสาขาวิชาทางด้านวิทยาศาสตร์ การศึกษา ศิลปศาสตร์ นิเทศศาสตร์ เทคโนโลยีการศึกษา และศิลปะ ซึ่งทั้งหมดจะต้องสะท้อนไปสู่การทำงานสื่อ เทคโนโลยี และการสื่อสารทางการศึกษาต่างๆ ความน่าสนใจสำหรับผมก็คือ แล้วนักศึกษาที่มีพื้นฐานมาทางวิทยาศาสตร์นั้น จะสามารถใช้เวลาเพียงไม่กี่ปีนี้พัฒนาทักษะตนเองทางด้านศิลปะและศิลปะสื่อได้หรือ

ต่อมา ทุกปีของเมื่อ ๒-๓ ปีที่ผ่านมา ที่ผมได้มีโอกาสไปศิริราชและก็อดไม่ได้ที่จะต้องแวะไปดูโรงเรียนเวชนิทัศน์ ทั้งไปกราบครูบาอาจารย์ แวะไปหาเพื่อนพี่น้อง ชมผลงานและชมกิจกรรมของการเรียนการสอน พอให้ได้เห็นความเคลื่อนไหวและเป็นความบันดาลใจของตนเอง บางครั้ง จึงได้ชมนิทรรศการแสดงผลงานของนักศึกษาและคณาจารย์ ซึ่งก็ทำให้ผมสิ้นข้อกังขาดังที่กล่าวในข้างต้น เพราะผลงานของนักศึกษาที่มักได้ชมในโอกาสต่างๆนั้น บังเกิดผลออกมาดีอย่างไม่น่าเชื่อ

อาจารย์ผู้สอนพื้นฐานทางด้านศิลปะของสาขาวิชาเวชนิทัศน์ในปัจจุบันนี้ คือผู้ช่วยศาสตราจารย์ชาญวิทย์ ปั้นทอง ซึ่งเป็นเวชนิทัศน์รุ่นเดียวกับผม แต่เป็นรุ่นพี่ของผมที่วิจิตรศิลป์เพาะช่าง ๑ ปี ผมเรียกชื่อเล่นท่านว่าพี่ป๋อง ที่เพาะช่างนั้น พี่ป๋องเป็นมือหนึ่งของการเขียนภาพสีน้ำมันคนหนึ่งในแนวอิมเพรสชั่นนิสต์ และเป็นกลุ่มที่ฝีมือการดรออิ้งแน่น ปาดเกรยองดี โดยเฉพาะฟิกเกอร์และพอตเตรท แต่ที่เวชนิทัศน์นี้ พี่ป๋องต้องสอนพื้นฐานสีน้ำและดรออิ้งให้แก่นักศึกษา ซึ่งดูวิธีสอนและวิธีฝึกฝนทักษะของนักศึกษาแล้วก็เห็นภาพว่าทำไมนักศึกษาจึงสามารถพัฒนาทักษะด้านนี้ได้เร็วและจัดว่าดีมากอีกด้วย

สิ่งที่ได้เห็นก็คือ ทุกครั้งที่ผมได้ไปเยี่ยมโรงเรียนและต้องแวะหาพี่ป๋อง ก็จะต้องได้เห็นพี่ป๋องขลุกอยู่กับการเขียนสีน้ำ เขียน เขียน เขียน และเขียน กระทั่งผลงานการเขียนภาพสีน้ำของพี่ป๋องวางเกลื่อนเต็มห้องพักอาจารย์ พอจะแสดงผลงานเดี่ยวได้เลยทีเดียว แกบอกว่าต้องฝึกและหาเทคนิคที่พอเหมาะเพื่อสอนนักศึกษา

กระทั่งปัจจุบัน พี่ป๋องก็ใช้วิธีสอนแบบครูศิลปะมักใช้สร้างคนรุ่นใหม่คือเขียนให้ดู พาทำไปด้วยกัน แล้วก็เดินเป็นพี่เลี้ยงแนะนำให้เป็นรายบุคคล นับแต่จับมือสอนให้ทีละคน เมื่อเริ่มได้พื้นฐานแล้ว ก็นั่งเขียนไปกับนักศึกษา แล้วนักศึกษาก็จะนั่งเขียนพร้อมกับหมุนเวียนลุกมาดูสิ่งที่อาจารย์แสดงให้ดูจริงๆไปบนการเขียนร่วมกับนักศึกษา วิธีการเหมือนกับแบบอย่างจากครูศิลปะท่านหนึ่งของเราคือศาสตรเมธีปัญญา เพ็ชรชูแห่งเพาะช่าง

ผลงานชุดนี้ ก็เป็นงานที่นั่งเขียนเพื่อสอนนักศึกษา เป็นการให้พื้นฐานและสร้างประสบการณ์ตรงให้กับนักศึกษาอีกหลายอย่างในสิ่งที่นักศึกษาจะต้องเข้าถึงเองด้วยการปฏิบัติเขียนภาพหุ่นนิ่ง เลยขอนำมาบันทึกถ่ายทอดพร้อมกับวิเคราะห์เป็นข้อสังเกตซึ่งเชื่อว่าจะเป็นประโยชน์สำหรับครูอาจารย์และคนทำงานศิลปะ รวมไปจนถึงนักศึกษาและผู้สนใจศึกษาเพื่อฝึกฝนให้แก่ตนเอง

ภาพชุดนี้ เป็นวิธีฝึกเขียนสีน้ำหุ่นนิ่งหรือ Still Lives เพื่อศึกษาคุณสมบัติของสิ่งที่ปรากฏให้สังเกตได้ ซึ่งการเขียนภาพหุ่นนิ่งนี้ หากเป็นนักเรียนศิลปะแล้วละก็ ก็จะเป็นวิธีศึกษาพื้นฐานสำหรับการทำงานศิลปะบนองค์ประกอบทางวัตถุ สิ่งของ แบบ รูปทรง พื้นที่ ความสัมพันธ์เชิงมิติ ทัศนียภาพ สัดส่วน จังหวะ การปล่อย และที่ว่าง เหล่านี้เป็นต้น

แต่ในทางศิลปะสื่อและการสื่อสารทางแพทย์นั้น ในการเขียนภาพ ก็ต้องเน้นมิติการแสดงข้อเท็จจริง ดึงและเน้นออกมาให้เห็น สามารถสังเกตและเข้าใจได้ง่าย มีความถูกต้องทางวิทยาศาสตร์ ซึ่งหลายอย่างเครื่องมือและเทคโนโลยีแต่เพียงลำพังอาจไม่สามารถทำให้ได้ เช่น อาการแสดงที่แสดงออกของแผลและผิวหนังแบบต่างๆ ซึ่งเป็นอาการแสดงทางคลีนิคของโรคที่แตกต่างกัน เป็นต้นว่า อาการบวมและมีน้ำเหลืองแบบโปร่งใสข้างใน, การบวมอักเสบของแผลซึ่งมีรอยเสียหายของเซลและเยื่อบุบวมแดงและบวมเป็นหนอง ซึ่งอาการแสดงจะไม่ใสและแดงเรื่อออกจากข้างใน แต่จะทึบ, หรือลักษณะของผื่นบวมแบบเห่อขึ้นโดยไม่มีการอักเสบ, การบวมนูนแบบการเกิดผังผืดและคีลอยด์, การเป็นก้อนและติ่งจากเนื้องอก เป็นอาทิ

ลักษณะดังตัวอย่างเหล่านี้ หากไม่เข้าใจกลไกและความสัมพันธ์เชิงระบบภายในของอาการที่ปรากฏ ไม่ได้ฝึกฝนทักษะการสังเกตอย่างมีหลักวิชา และไม่รู้วิธีดึงความแตกต่างออกมาสื่อแสดง ก็มีโอกาสที่จะดูเหมือนกับเป็นอาการแสดงแบบเดียวกันไปหมด เมื่อต้องการบันทึกข้อมูลด้วยการถ่ายภาพ วาดภาพ หรือสื่อแสดงด้วยภาพ ก็จะไม่สามารถสื่อแสดงอาการทางคลีนิคและไม่สามารถบันทึกแง่มุมที่จะให้ข้อมูลที่มีความสำคัญต่อทางการแพทย์ได้

การเก็บข้อมูลไม่ว่าจะเป็นการถ่ายภาพ วาดภาพ ปั้น หล่อแบบ ทำหุ่นจำลองและสิ่งเลียนแบบ หรือเก็บรักษาชิ้นส่วนของจริง ที่ใช้เป็นหลักฐานข้อมูลได้ไม่ถูกต้องกับความเป็นจริง ก็จะส่งผลถึงการวินิจฉัย สร้างความรู้ ให้บทสรุปที่ไม่ถูกต้อง และหากเป็นการปฏิบัติต่อผู้ป่วย ก็จะส่งผลต่อชีวิตและสุขภาพของผู้ป่วยได้ หากเป็นสื่อและกรณีศึกษา ที่นำมาจัดกระบวนการเรียนการสอนแก่แพทย์และบุคลาการทางสุขภาพ ก็จะทำให้นักศึกษาและนักวิจัย เกิดทักษะสร้างเกณฑ์จำแนกความแตกต่างและสรุปความเหมือน ที่จำเป็นต่างๆ ไม่ได้ ต้องไปลองผิดลองถูกบนชีวิตและความเป็นความตายของผู้ป่วย

การขาดความรู้และขาดความสังเกต ซึ่งจำเป็นต้องใช้ทำงานในสถานการณ์ต่างๆ ทั้งเพื่อทำสื่อ ตลอดจนเก็บบันทึกข้อมูลเพื่อช่วยพัฒนาการทำงานทางสุขภาพ ในลักษณะดังกล่าว จึงนับว่าจะมีส่วนก่อให้เกิดความสูญเสียและขาดประสิทธิภาพต่อการทำงานแก้ปัญหา ส่งผลกระทบเชิงลบต่อทุกคนที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งการสร้างความรู้ในบริบทจำเพาะของสังคมไทยและการบันทึกรายงานเพื่อสะสมกรณีตัวอย่าง ตลอดจนทำการศึกษาจากประสบการณ์สังคม รวมทั้งผลิตองค์ความรู้และสะสมข้อมูลกรณีศึกษาที่หาได้ยาก ก็จะทำไม่ได้อย่างที่ควรจะเป็น เหล่านี้เป็นต้น

ลักษณะอย่างที่กล่าวมานี้ แม้วาดภาพที่สวยงามที่สุด หรือถ่ายภาพด้วยกล้องที่ดีที่สุด แต่ไม่มีพื้นฐานความรู้เกี่ยวกับสิ่งที่ยกตัวอย่างมา ก็จะไม่สามารถบันทึกข้อมูลและแสดงรายละเอียดที่แตกต่างตรงส่วนที่มีนัยสำคัญ ทั้งต่อการบันทึกข้อเท็จจริงและการให้ข้อมูลทางการแพทย์ เพื่อนำไปใช้ทำงานวิจัย การเป็นข้อมูลประกอบการวินิจฉัยและทำ Conferrence และงานเพื่อการศึกษาทางการแพทย์ ดังที่ต้องการได้

เมื่อนักศึกษาฝึกฝนพื้นฐานทางศิลปะและได้พื้นฐานเหล่านี้แล้ว นอกจากจะได้ทักษะและความสามารถทางด้านศิลปะติดตัวไปแล้ว ก็จะเป็นพื้นฐานสำหรับการศึกษาและพัฒนาทักษะอีกขั้นหนึ่งที่เริ่มบูรณาการกับการใช้เทคโนโลยีและความรู้ทางวิทยาศาสตร์การแพทย์ เช่น เป็นพื้นฐานสำหรับการศึกษาอาการแสดงทางคลีนิคที่สังเกตได้จากภาพและจากภายนอก การย้อมสีและเตรียมสไลด์เพื่อวาดภาพและศึกษาข้อมูลภาพสไลด์จุลกายวิภาค หรือการศึกษาลักษณะที่ปรากฏในระดับเซลล์และเนื้อเยื่อ รวมไปจนถึงการทำงานศิลปะสื่อทางการแพทย์ทุกแขนง ทั้งการปั้น หล่อ ทำหุ่นจำลอง ทำ Topography การทำสิ่งแสดงของจริงด้วย Specimen สิ่งตัวอย่าง เหล่านี้เป็นต้น

ดังนั้น ก่อนไปถึงขั้นดังกล่าว นักศึกษาจึงมีความจำเป็นมากที่จะต้องแตกฉาน อ่านและสังเกตสิ่งต่างๆ ทั้งด้วยตา การใช้ความรู้ และรู้จักธรรมชาติของเทคนิคทางศิลปะอย่างลึกซึ้งด้วยตนเอง ที่จะทำให้ปรากฏออกมาได้อย่างชัดเจน ถูกต้อง ซึ่งการเข้าถึงด้วยตนเองจากการเขียนสีน้ำหุ่นนิ่ง ดังตัวอย่างงานชุดนี้ จะเป็นวิธีหนึ่ง ชมภาพหาความสุขทางศิลปะและได้ศึกษาเรียนรู้ไปด้วยกันครับ

การจัดองค์ประกอบหุ่นนิ่ง สำหรับวาดภาพและเขียนสีน้ำ เพื่อศึกษาและวิจัยให้รู้จักรูปทรงและลักษณะพื้นผิวที่ด้าน มันวาว มีความสด และมีลีลาหลากหลาย ทั้งกลมกลืน แตกต่าง ขัดแย้ง ทรงกลม ทรงกระบอก ทรงกระบอกกับทรงกลม ทรงกระบอกแบบกลวง ทรงกลมแบบด้าน ทรงกลมแบบมันวาว  ทรงกลมแบบมันวาว ผสมกับด้าน และมีความใสอยู่ข้างใน

เพิ่มธรรมชาติที่ปรากฏ ที่ซับซ้อนและยุ่งยากมากขึ้น โดยเฉพาะรูปทรงที่ลดรูปทรงเรขาคณิตลงไปจนกลายเป็นผสมผสานและบ่งบอกคุณลักษณะโดยธรรมชาติอยู่ในตัวเอง ขณะเดียวกัน ก็เพิ่มปัจจัยความยากเพิ่มมากขึ้นโดยมีวัตถุสิ่งของที่โปร่ง ใส สะท้อนแสงและสะท้อนคุณสมบัติของสิ่งอื่น มีคุณสมบัติของตนเองที่สามารถมองทะลุไปเห็นสิ่งอื่นและมีความสะท้อนบอกเล่าสิ่งอื่นที่อยู่รอบข้างได้ด้วย สิ่งที่หนักก็จับลักษณะที่แสดงให้ดูถึงการมีน้ำหนัก สิ่งที่เบาก็ดูเบา สิ่งที่สีเข้มแต่กลวงและเบา ก็ให้ความรู้สึกและทำการสังเกตคุณสมบัติที่แตกต่างเหล่านี้ได้บนข้อมูลภาพ

นำลักษณะธรรมชาติและความซับซ้อนทั้งหมดมาอยู่ด้วยกัน ทั้งมันวาวแบบโลหะ มันวาวแบบดินเผาและอโลหะ มันวาวแบบผลไม้และสิ่งธรรมชาติ สดแบบธรรมชาติแต่ไม่วาวเป็นโลหะ วาว โปร่งและสะท้อนคุณสมบัติของสิ่งแวดล้อมรอบด้านแบบกระจกและแก้วใสใสกับกระจกและแก้วสี สีสันบนสิ่งของมีมวลหนาแน่น สีสันบนสิ่งของที่บางเบาแบบผืนผ้าหลากสี เหล่านี้เป็นต้น

ผลงานชุดนี้ เป็นผลงานที่เขียนสาธิตและสอนโดยทำให้นักศึกษาดูของผู้ช่วยศาสตราจารย์ชาญวิทย์ ปั้นทอง หรือพี่ป๋องของผม แต่ผมก็ได้เห็นผลงานของนักศึกษาก่อนหน้าที่จะได้ถ่ายภาพชุดนี้ด้วยแล้วเช่นกัน ซึ่งก็พบว่าผลงานของนักษาในปีที่ ๒ เทอมที่สอง และปีที่ ๓ นั้น ดีอย่างน่าประหลาดใจ บางคนเขียนดรออิ้งและเขียนสีน้ำได้ดียิ่งกว่าคนที่เรียนมาทางศิลปะโดยตรงเสียอีก และงานความคิดสร้างสรรค์นั้น ก็มีพลังสะท้อนความรู้ทางวิทยาศาสตร์ที่กล้าสร้างสรรค์การแสดงออกทางศิลปะสื่อได้อย่างน่าสนใจมากทีเดียว.

หมายเลขบันทึก: 490759เขียนเมื่อ 10 มิถุนายน 2012 19:11 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 กันยายน 2013 23:14 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

คอศิลปะแวะมาชมก่อนใครเลยนะครับ
ขอบคุณอาจารย์ณัฐพัชร์ครับ

I can see that this is an art of observation, art of interpretation and art of communication using one's own theory of expression,...

;D

สวัสดีครับคุณ sr ครับ

แง่มุมอย่างบทสรุปที่กระชับและชัดเจนมากของคุณ sr คือ การสังเกต(ด้วยความรู้ที่มีนัยสำคัญ), การตีความและแปลผล, และศิลปะของการสื่อสาร ให้สามารถเข้าถึงปรากฏการที่เป็นจุดหมายร่วมกันได้อย่างดีที่สุด ของสาขาที่มีลักษณะเป็นสหวิทยาการ ดังเช่นการผสมผสานศิลปะกับวิทยาศาสตร์ของสาขาเวชนิทัศน์ที่ผมนำมาเล่าถ่าย ทอดสู่กันนี้ เป็นสิ่งที่สอน ถ่ายทอด และสร้างความรู้นำทางให้ได้ยากครับ

ด้านหนึ่งเป็นการเดินเข้าไปสังเกตและสร้างประสบการณ์ภายในด้วยเครื่องมือและวิธี การทางศิลปะ ซึ่งหากถ่ายทอดและสื่อแสดงไม่ได้ ก็จะเป็นประสบการณ์และทักษะเฉพาะตน ขณะเดียวกัน หากถ่ายทอดและสื่อสารสู่ผู้รับ ซึ่งขาดการสร้างพื้นฐานเพื่อรู้จักและเข้าใจประสบการณ์ด้านในด้วยตนเองด้วย ก็จะทำให้ไม่สามารถสอนและสร้างคนรุ่นใหม่ๆให้สามารถทำได้อีก โดยดีกว่าเดิม ได้อย่างเป็นระบบ อีกด้านหนึ่ง ซึ่งเป็นความรู้ทางการแพทย์และวิทยาศาสตร์ ก็มีข้อจำกัดที่จะสื่อสารให้ผู้อื่นรู้สึกและเข้าใจสิ่งที่ซับซ้อนได้โดยง่าย

ช่องว่างตรงนี้จึงเป็นเรื่องหนึ่งที่ผมคิดว่าสำคัญมากครับ เพราะกว่าจะได้แพทย์และนักวิชาการที่มีทักษะสื่อสารและสื่อแสดงความรู้ออก ทางศิลปะและสื่อได้ด้วยสักคนหนึ่ง หรือได้คนทำงานศิลปะที่เข้าถึงธรรมชาติความเป็นจริงบนความรู้ทางวิทยาศาสตร์ หรือศาสตร์อื่นๆ สักคนหนึ่ง เหล่านี้นั้น เป็นเรื่องยากและหากต้องรอให้เกิดขึ้นเองเหมือนเป็นพรสวรรค์และความสามารถ เฉพาะตนอย่างเดียว ก็จะสร้างคนและสร้างความรู้ขึ้นมาได้ไม่พอใช้

ดังนั้น หากสามารถสร้างความรู้และการอธิบาย ที่เชื่อมโยงและสานรอยต่อดังกล่าวได้มากยิ่งๆขึ้น เราก็จะสามารถสร้างคนและทำให้ผู้คนสามารถเรียนรู้บนความแตกต่าง เพื่อเดินบวกกันและเป็นปัจจัยส่งเสริมกัน ให้เกิดสิ่งต่างๆที่ดีกว่าการคิดและทำอย่างแยกส่วนกันได้มากยิ่งๆขึ้น เลยเป็นสิ่งที่ผมเองให้ความสำคัญว่าจะต้องทำอยู่เสมอๆเมื่อมีโอกาสอย่างนี้แหละครับ

เป็นเรื่องเล็กๆน้อยๆที่สำคัญน่ะครับ เปรียบได้กับเหมือนเรามีทีวีอย่างดี แต่ปลั๊กไฟเพียงตัวเดียว ก็กลับเป็นองค์ประกอบเล็กน้อยที่จำเป็น ที่จะทำให้ระบบไฟฟ้าที่มีอยู่พร้อมกับทีวีอย่างดีที่มี ต้องกลายเป็นกองนิ่งหมดความหมาย เปิดและใช้ดูไม่ได้ มีค่าเท่ากับไม่มีและเหมือนเป็นเศษเหล็กเฉยๆ เท่านั้น ทำนองนี้แหละครับ

ขอบคุณคุณแสงแห่งความดี
ที่แวะมาเยือนและทักทายกันครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท