เผยขยะอันตรายเกือบร้อยละ 13 ส่งผลเสียต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม แนะลดความเสี่ยง เพียงแยกก่อนทิ้ง


เมื่อวันที่ 3 มิถุนายน 2555 เภสัชกรเชิดเกียรติ แกล้วกสิกิจ หัวหน้ากลุ่มสื่อสารความเสี่ยงและพัฒนาพฤติกรรมสุขภาพ สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 9 พิษณุโลก กรมควบคุมโรค  กล่าวว่า ปัญหาขยะอันตรายจากซากผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมใช้แล้ว กำลังเป็นภัยคุกคามตัวใหม่ของสังคมไทยที่นับวันยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้น จากข้อมูลของสำนักโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อม กรมควบคุมโรค  ได้สรุปสถานการณ์และปัญหาเกี่ยวกับการจัดการขยะอันตรายในประเทศไทย เมื่อปี พ.ศ.2545 พบว่ามีปริมาณขยะมูลฝอยเกิดขึ้นประมาณ 14.2 ล้านตัน ในจำนวนนี้เป็นขยะอันตรายถึง 1.78 ล้านตัน คิดเป็นร้อยละ 12.54 ของขยะมูลฝอยทั้งหมด โดยแยกเป็นขยะอันตรายจากอุตสาหกรรม 1.4 ล้านตัน และเป็นขยะอันตรายจากชุมชน 0.38 ล้านตัน ในขณะที่ขยะอันตรายที่ถูกส่งไปกำจัดมีเพียง 0.67 ล้านตัน หรือประมาณร้อยละ 37.6 ของปริมาณขยะอันตรายทั้งหมด ซึ่งหมายความว่ามีขยะอันตรายอีกร้อยละ 63.4 ที่ไม่ได้ผ่านการบำบัดหรือกำจัดและอาจถูกทิ้งปะปนอยู่กับขยะมูลฝอยทั่วไปซึ่งขยะอันตรายเหล่านี้ยังมีสารเคมีอันตรายหลงเหลืออยู่

          ขยะอันตรายบางชนิดอาจมีสารเคมีที่เป็นพิษหรือสารไวไฟ หรือสารกัดกร่อนเป็นส่วนประกอบ เหลือความเป็นอันตรายในตัวเองอยู่ หากจัดการไม่ถูกวิธีหรือไม่ระวัง จะทำให้สารเคมีที่อยู่ในนั้นรั่วซึมออกมา อาจทำให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพอนามัยของคนและสิ่งแวดล้อมได้ และอาจสะสมอยู่ในสิ่งแวดล้อมเป็นเวลานาน ก่ออันตรายต่อเนื่องอีกหลายเดือนถึงหลายปี  โลหะหนัก สารเคมี สารอันตรายที่ปนเปื้อนในขยะอันตราย สามารถเข้าสู่ร่างกายได้ 3 ทาง คือ การหายใจ (ทางจมูกและปาก) เช่น สูดหายใจเอาอากาศที่มีควันไฟและฝุ่นละอองจากการเผาขยะเข้าไป การกิน เช่น เก็บขยะแล้วไม่ล้างมือก่อนกินอาหาร หรือดื่มน้ำที่ปนเปื้อนสารเคมีจากขยะ และการดูดซึมทางผิวหนัง เช่น เดินเท้าเปล่าบนถนนที่ถมด้วยซากแบตเตอรี่เก่าเป็นประจำ 

ลักษณะการเจ็บป่วยนั้น หากเป็นพิษแบบเฉียบพลัน มักเป็นการสัมผัสเกิดขึ้นในครั้งเดียว ในระยะเวลาสั้น เช่น 1 นาที ถึง 2-3 วัน อาการ ได้แก่ เกิดผดผื่นคัน ระคายเคือง ผิวหนังไหม้ อักเสบ ขาดอากาศ หน้ามืด วิงเวียน หมดสติ หากเป็นแบบเรื้อรังเป็นการสัมผัสสารอันตรายในปริมาณที่ค่อนข้างต่ำ แต่เป็นระยะเวลานานทุกวัน ตั้งแต่เป็นเดือน ถึงเป็นปี ทำให้เสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็ง เสี่ยงต่อการเกิดโรคต่างๆ เช่น พิษตะกั่วเรื้อรัง พิษแคดเมียมเรื้อรัง โรคทางระบบประสาท หรือระบบเม็ดเลือด อื่นๆ

         ประชาชนบางส่วนยังขาดความรู้ความเข้าใจในการคัดแยกขยะอันตราย วิธีการทิ้งขยะที่ถูกต้อง ดังนั้นการรณรงค์ให้ประชาชนเห็นความสำคัญในการแยกขยะอันตรายอย่างจริงจัง จึงเป็นความจำเป็น ดังนั้นจึงขอแนะนำให้ประชาชนสำรวจดูว่าในบ้าน ชุมชนหรือบ้านเรือนที่พักอาศัย ของที่ใช้อยู่ในชีวิตประจำวัน คัดแยกขยะอันตรายต่าง ๆ เหล่านี้ก่อนทิ้ง

1. มีส่วนประกอบเป็นโลหะหนัก เช่น ตะกั่ว ปรอท แคดเมียม แมงกานีส (ถ่านไฟฉาย) แบตเตอรี่ หลอดไฟเก่า)

2. เป็นสารพิษ เช่น ยาฆ่าแมลง

3. ติดไฟง่าย หรือไวไฟ เช่น กระป๋องแอลกอฮอล์ กระป๋องสเปรย์ พลุ ประทัด

4. มีฤทธิ์เป็นกรดหรือด่าง เช่น น้ำยาล้างห้องน้ำ น้ำยาซักผ้าขาว น้ำกรด โซดาไฟ

5. มีสัญลักษณ์เตือนวัตถุอันตราย เช่น กะโหลกไขว้ เปลวไฟ กัมมันตรังสี

6. มีเลือดเปรอะเปื้อนปริมาณมาก

          เภสัชกรเชิดเกียรติ  กล่าวแนะนำว่า ประชาชนจึงควรคัดแยกขยะอันตรายนี้ตั้งแต่ที่บ้าน  เพื่อป้องกันไม่ให้มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม  เพราะบางชนิดอาจมีสารเคมีที่เป็นพิษหรือสารไวไฟ หรือสารกัดกร่อนเป็นส่วนประกอบ เหลือความเป็นอันตรายในตัวเองอยู่ ถ้าจัดการไม่ถูกวิธีหรือไม่ระวัง จะทำให้สารเคมีที่อยู่ในนั้นรั่วซึมออกมาได้ ก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพต่อตนเอง คนในบ้าน พนักงานเก็บขยะ ชุมชนโดยรอบ และสัตว์เลี้ยง รวมทั้งปนเปื้อนสิ่งแวดล้อมทั้งในดิน น้ำ และอากาศ ให้เป็นพิษได้

ข้อความหลัก " ขยะอันตรายส่งผลเสียต่อสุขภาพ  ลดความเสี่ยง  เพียงแยกก่อนทิ้ง”

กรมควบคุมโรค  ห่วงใย  อยากเห็นคนไทยมีสุขภาพดี

ที่มา http://dpc9.ddc.moph.go.th/crd/news/2555/06_04_poi.html

คำสำคัญ (Tags): #ขยะอันตราย
หมายเลขบันทึก: 490265เขียนเมื่อ 6 มิถุนายน 2012 00:35 น. ()แก้ไขเมื่อ 8 มิถุนายน 2012 10:06 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท