ดำเด็กข้างบ้าน 16/3 ชาตรี สำราญ


“ลีลาการเขียนของดำเข้ากับทฤษฎีการเขียนเรื่องสั้นๆ หรือทฤษฎีการเขียนเรื่องสั้นๆ ไปตรงกับลีลาการเขียนของดำกันแน่”

ไอ้เหลือ

ไอ้เหลือ...หมาตัวลายดำขาว  แม่มันชื่อไอ้ด่าง  ไอ้เหลือเกิดในอู่ซ่อมรถ  ไอ้ด่างมีลูก 6 ตัว  แต่ทว่าภายหลังแม่มันนอนทับลูกตายไป 5 ตัว  คงเหลือลูกหมาตัวผู้เพียงตัวเดียว  ใครๆ จึงเรียกมันว่า  ไอ้เหลือ 

ไอ้เหลือโตมากับแม่ของมัน  มันนอนอยู่ในอู่ซ่อมรถ  พอแม่ของมันตาย  มันจึงมาอยู่กับผม  บ้านผมอยู่ติดกับอู่ซ่อมรถ  พ่อผมเป็นช่างซ่อมสีรถ  ผมกับพ่อให้อาหารไอ้เหลือทุกวัน  ไอ้เหลือจึงสนิทกับผม  สนิทกับพ่อและน้องของผมด้วย

ไอ้เหลือนอนที่หน้าอู่ซ่อมรถ  มันคอยดูโจรขโมยเศษเหล็กในอู่ซ่อมรถ  ถ้ามันเห็นคนแปลกหน้าตอนกลางคืน  มันจะเห่ให้พ่อผมได้ยิน  บางครั้งมันมานอนเฝ้ารถจักยานยนต์ของพ่อที่หน้าบ้านผม

ผมรักไอ้เหลือเพราะไอ้เหลือรักผม  ที่ผมรู้ว่าไอ้เหลือรักผม  ผมเห็นความรักของไอ้เหลือในบ่ายวันหนึ่ง  มีหมาตัวโตกว่ามันจะเข้ามากัดผม  ไอ้เหลือวิ่งเข้ากัดกับหมาตัวนั้น  แม้ว่ามันจะตัวเล็กกว่าแต่มันก็สู้  พ่อผมต้องใช้ไม้ตีหมาหลงทางตัวนั้นจนมันวิ่งหนีไป  ส่วนไอ้เหลือมีแผลที่ตัวมันหลายแผล  ผมกับพ่อต้องใส่ยาให้มันทุกวัน  จนแผลหายสนิทดี

ผมรักไอ้เหลือตั้งแต่นั้นมา (25/4/55)

อู่ซ่อมรถ

1.

พ่อเล่าว่า...ตอนพ่อเป็นเด็กหนุ่มนั้น  พ่ออาศัยอยู่ในอู่ซ่อมรถกับเพื่อนๆ  กลางวันพ่อจะหัดซ่อมสีรถ  เพื่อนของพ่อฝึกซ่อมตกแต่งโครงสร้างรถที่ถูกชนเสียหายให้คืนสภาพคล้ายของเดิม  แล้วพ่อจะฝึกพ่นสีรถต่อ  พ่อฝึกงานจนกระทั่งสามารถพ่นสีรถได้อย่างมืออาชีพ

พ่อเล่าต่ออีกว่า...พอพ่อแต่งงาน  พ่อก็ออกมาเช่าบ้านที่อยู่ติดกับอู่ซ่อมรถ  ผมเกิดมาก็เห็นอู่ซ่อมรถมาตั้งแต่เล็กๆ  ผมวิ่งเล่นอยู่ในอู่ซ่อมรถ  ผมรู้จักกับคนงานในอู่ซ่อมรถทุกคน

 

2.

ลุงนพดลเจ้าของอู่ซ่อมรถ  เป็นน้าของพ่อผม  ลุงดลเป็นคนฝึกพ่อให้เป็นช่างพ่นสีรถ  และทุกวันนี้ลุงดลยังฝึกพ่อให้รู้จักตีราคาค่าซ่อมรถเวลาลูกค้านำรถมาให้ซ่อม  ลุงดลบอกพ่อว่า  “ต่อไปจะได้ทำอู่เอง”

ลุงดลพูดเก่ง  พูดเอาใจลูกค้าเก่ง  จึงทำให้ที่อู่ของลุงดลมีรถมาซ่อมมาก  ลุงดลบอกพ่อว่า  “อย่าทำให้ลูกค้าเสียใจ  แต่ทำให้ลูกค้าเชื่อใจ”

เวลารถเสียหายมากๆ ลุงดลจะแนะนำให้ลูกค้าเปลี่ยนเครื่องอาหลั่ยรถใหม่  ลุงดลบอกเขาว่า  ซ่อมนั้นดี  ลุงดลได้เงิน  แต่ลูกค้าเสียเปรียบเพราะราคาซ่อมกับซื้ออาหลั่ยใหม่ใกล้เคียงกัน ลุงดลสอนผมว่า  “ความซื่อสัตย์ต่อลูกค้าทำให้เรามีอาชีพมั่นคง”

 

3.

                ทุกวันนี้เวลาโรงเรียนปิด  ผมจะหัดขัดสีรถกับพ่อ  เพื่อฝึกฝีมือเป็นช่างพ่นสีรถ  โตขึ้นผมจะได้เป็นเจ้าของอู่ซ่อมรถกับพ่อ  ผมจะทำอู่ซ่อมรถแบบลุงดล  คือ  ซื่อตรงต่อลูกค้า

27/4/55

 

ผมอ่านเรื่องไอ้เหลือแล้วรู้สึกชอบมาก  ชอบตั้งแต่ดำขึ้นต้นเรื่องว่า  “ไอ้เหลือ...หมาตัวลายขาวดำ  แม่มันชื่อไอ้ด่าง”  ดำใช้คำสั้นๆ แบบประโยคความเดียว  มาสร้างภาพของไอ้ดำ  ให้เห็นได้อย่างชัดเจน  ถึงแม้ว่า  “แม่มันชื่อไอ้ด่าง”  ดำน่าจะเขียนว่า  แม่มันชื่ออีด่าง  เพราะมันเป็นเพศเมีย  แต่ผมไม่บอกให้ดำแก้ไข  เพราะใครๆ ในอู่ซ่อมรถและในซอยนั้นเรียกแม่ไอ้เหลือว่า  “ไอ้ด่าง”  ทั้งนั้น  นี่คือความจริงใจที่ดำมีต่อการเขียนเรื่อง

นอกจากชื่อของแม่ไอ้เหลือแล้ว  ดำยังจริงใจโดยการเขียนความรู้สึกของตนที่มีต่อไอ้เหลืออย่างตรงไปตรงมา  เช่น

“ผมรักไอ้เหลือเพราะไอ้เหลือรักผม”

“ผมรักไอ้เหลือตั้งแต่วันนั้นมา”

นี่คือความจริงที่ดำสื่อให้ผู้อ่านเห็น  ดำเข้าใจถึงความรู้สึกของไอ้เหลือว่า  ไอ้เหลือรักดำ  ไอ้เหลือจึงยอมวิ่งเข้าไปต่อสู้กับสุนัขจรจัดที่จะมากัดดำ  ทั้งๆ ที่ไอ้เหลือตัวเล็กกว่า  จนในที่สุดไอ้เหลือก็บาดเจ็บ  ดำเข้าใจถึงความรักของไอ้เหลือที่มีต่อดำตรงนี้เอง  ดำจึงเขียนว่า  “ผมรู้ว่าไอ้เหลือรักผม  ผมเห็นความรักของไอ้เหลือ...”  คำพูดง่ายๆ แต่มีความจริงใจที่ดำถ่ายทอดเป็นตัวหนังสือให้อ่าน  นี่คือ  ความชัดเจนในการนำเสนอ  ไม่คลุมเครือ  ไม่กำกวม  และถ้อยคำทุกถ้อยคำที่ดำเขียนนั้นสั้นกระชับ  ประหยัดคำแต่มีความหมาย  อ่านได้ความชัดเจนและถูกต้องตามหลักภาษา  อีกทั้งยังซ่อนข้อคิดสะกิดใจ  ไว้ในเรื่องโดยไม่บอกตรงๆ ว่า  ผลของความซื่อสัตย์ของไอ้เหลือ  ผูกใจให้ดำรักไอ้เหลือ  ทั้งหมดนี้คือ  เสน่ห์  ของงานเขียนเรื่องไอ้เหลือ  ที่ผมมองเห็น

อู่ซ่อมรถเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ผมชอบ  ชอบตรงที่ดำเริ่มเปิดเรื่องว่า  “พ่อเล่าว่า...”  ง่ายแต่ชวนให้ติดตามอ่านต่อ  เพราะอยากรู้ว่า  พ่อเล่าอะไรให้ดำฟัง  ภาษาง่ายๆ  ซื่อๆ  ที่ดำหยิบยกมาเขียนนี้ชวนให้ผมสงสัยว่า  ใครสอน  ใครชี้แนะ  ผมเองนั้นไม่ได้สอนอย่างนี้  และไม่คิดว่าดำจะเขียนเปิดเรื่องได้ดีอย่างนี้  แต่ผมเชื่อว่า  พ่อของดำเล่าให้ดำฟังจริงๆ แล้วดำก็นำมาเล่าต่อ

ดำเขียนเปิดเรื่องได้ดีแล้ว  ดำก็เขียนปิดเรื่องได้ดีอีกด้วย  เป็นการปิดเรื่องแบบอ่านแล้วมีความสุข  สุขกับการวาดภาพอนาคตของดำ  ที่จะเป็นเจ้าของอู่ซ่อมรถ  ผู้มีคุณธรรม  ดั่งที่ดำเขียนว่า  “โตขึ้นผมจะเป็นเจ้าของอู่ซ่อมรถกับพ่อ  ผมจะทำอู่ซ่อมรถแบบลุงดล  คือ  ซื่อตรงต่อลูกค้า” 

สำหรับรูปแบบการเขียน  ดำปล่อยให้ตัวละครตัวแรก  คือพ่อของดำ  เล่าถึงความสัมพันธ์ระหว่างครอบครัวของดำกับอู่ซ่อมรถ   ดำเล่าว่า  “ผมเกิดมาก็เห็นอู่ซ่อมรถตั้งแต่เล็กๆ  ผมวิ่งเล่นอยู่ในอู่ซ่อมรถ  ผมรู้จักกับคนงานในอู่ซ่อมรถทุกคน”  และในตอนที่ 2  ดำเขียนเล่าเรื่องราวของลุงนพดล  เจ้าของอู่ซ่อมรถ  ซึ่งเป็นน้าชายของพ่อของดำว่า  มีบุคลิกลักษณะนิสัยอย่างไร  ดำเขียนถึงลุงของเขาสั้นๆ  แต่เห็นชัดถึงลักษณะนิสัยของ  “ลุงดล”  ได้ดี  ดำเขียนว่า  “ลุงดลพูดเก่ง  พูดเอาใจลูกค้าเก่ง  จึงทำให้ที่อู่ของลุงดลมีรถมาซ่อมมาก  ลุงดลบอกพ่อ  “อย่าทำให้ลูกค้าเสียใจ  แต่ทำให้ลูกค้าเชื่อใจ”  และลุงดลได้สอนดำว่า  “ความซื่อสัตย์ต่อลูกค้า  ทำให้เรามีอาชีพมั่นคง”  ดำได้ยินมาอย่างนี้  ดำจึงนำมาเขียนเล่าต่ออย่างตรงไปตรงมา  แต่ทำให้เรื่องราวของอู่ซ่อมรถ  มีความสมบูรณ์ขึ้น  คือ  สมบูรณ์ได้ด้านมีคติธรรม  สอดแทรกให้เห็นได้ชัดเจน  เห็นแบบสอนโดยไม่สอนและคติธรรมเหล่านี้  คือแนวคิดของผู้เขียนนั่นเอง  ซึ่งในตอนที่ 3  ดำเขียนบอกแนวคิดของเรื่องได้ชัดว่า  “โตขึ้นผมจะทำอู่ซ่อมรถแบบลุงดล  คือซื่อตรงต่อลูกค้า”

ผมว่าเรื่องอู่ซ่อมรถ  เป็นเรื่องที่ดำเขียนได้สมบูรณ์แบบของการเขียนเรื่องสั้นๆ  ที่ทำให้ผมต้องคิดหนักว่า

“ลีลาการเขียนของดำเข้ากับทฤษฎีการเขียนเรื่องสั้นๆ  หรือทฤษฎีการเขียนเรื่องสั้นๆ  ไปตรงกับลีลาการเขียนของดำกันแน่”

อ่านเป็นเล่มได้ที่นี่ครับ https://docs.google.com/docume...


หมายเลขบันทึก: 489926เขียนเมื่อ 3 มิถุนายน 2012 09:50 น. ()แก้ไขเมื่อ 5 ตุลาคม 2018 14:32 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท