ดำเด็กข้างบ้าน 16/2 ชาตรี สำราญ


ความเรียง 3 บรรทัดที่ดีนั้นจะต้องรู้จักหาคำมาเขียนแทนความจริงที่เห็น

เมื่อเห็นว่าดำเข้าใจหลักภาษาเบื้องต้นแล้ว  ก็ให้ดำนำวิธีการแต่งประโยคมาใช้กับการเขียนความเรียง  3  บรรทัด  แต่การเขียนครั้งนี้  ดำจะต้องใช้มุมมองที่ต่างไปจากเดิมๆ  คือแทนที่จะเขียนคำว่า  “พ่อ”  ดำต้องใช้สัญลักษณ์แทนคำพ่อให้ได้  ดำจะต้องมองทุกอย่างด้วยสายตาของดำที่ต่างไปจากเดิม  และต่างไปจากคนธรรมดามองเห็นแล้ว  ดำต้องเผยความคิดของตนออกมาเป็นข้อเขียนอย่างจริงใจ  ดำเขียนว่า

 

 

 

พ่อ

                                                ถ้ำใหญ่เชิงเขา

                                                สิงโตหมอบนิ่ง

                                                ฝนตกหนักมาก

                                                                                15/4/55

 

ดำเล่าให้ผมฟังว่า  วันที่เขากลับไปเยี่ยมย่าที่นราธิวาส  ตอนเย็นฝนตกหนัก  พ่อเขานอนอยู่กลางบ้าน  ดำมองเห็นพ่อเหมือนสิงโตตัวใหญ่  หมอบนิ่งอยู่  เขาจึงเขียนความเรียงบทนี้ขึ้นมา  ผมชมว่าดำคิดเขียนได้ดี  ผมชอบที่ดำมองพ่อเป็นสิงโตแล้วเขียนออกมาได้ชัดเจนมาก  ความคิดอย่างนี้  เขียนได้อย่างนี้  คนเก่งเท่านั้นจึงทำได้  ดำยิ้ม  แล้ววันรุ่งขึ้นผมก็ได้อ่านความเรียงบทใหม่ของดำ

ฉันเอง

                                                นกน้อยเดียวดาย

                                                ในป่ากว้าง

                                                ไร้เพื่อนเล่น

                                                                                16/4/55

 

ผมให้ดำบอกเล่าที่มาที่ไปของเรื่อง  ดำบอกว่า  เขาอยู่บ้านคนเดียวเช้านี้  คอยเวลามาเรียนกับผม  พี่น้องไปเล่นกับเพื่อนๆ  พ่อแม่ไปทำงานที่อู่ซ่อมรถ  เขาจึงเขียนมาให้ผมอ่าน  ผมชมว่าดำเก่งขึ้น  รู้จักคิดคำเปรียบเทียบว่า  ตัวดำเป็นนกน้อย  อ่านแล้วรู้สึกเหงา  เปล่าเปลี่ยวเหมือนนกตัวนั้น 

อีกบทหนึ่งดำบอกว่า  เขาคิดถึงยายของเขาที่อยู่ที่นครศรีธรรมราช  สงกรานต์ปีนี้เขาไม่ได้ไปเยี่ยมยายคงเหงามาก  เขาจึงเขียนว่า

คิดถึงยาย

                                                ต้นไทรยืนเหงา

                                                ไร้นกน้อยมาหา

                                                กลางเดือนเมษา

                                                                                17/4/55

 

จะเห็นได้ว่าความเรียงทั้ง 3 บทนั้น  ดำได้พัฒนาความคิดขึ้นมาก  เพราะก่อนที่จะฝึกเขียนความเรียงครั้งนี้  เราพูดคุยกันว่า  ความเรียง 3 บรรทัดที่ดีนั้นจะต้องรู้จักหาคำมาเขียนแทนความจริงที่เห็น  เช่น  บ้าน  จะต้องมองให้เห็นว่ามันเป็นอย่างไร  เวลาอยู่ในบ้านรู้สึกเหมือนอยู่ที่ไหน  ให้นำความรู้สึกนั้นมาเขียนให้ตรงกับที่รู้สึก  แล้วลองให้ดำคิดเขียนมาเรื่อยๆ  จนสามารถเขียนได้อย่างนี้

ผมบอกดำว่า  ถ้าผมจะประเมินความเรียงของดำ  ผมมีเกณฑ์การประเมินดังนี้

1. ความชัดเจน  ใช้ภาษา  ใช้คำชัดเจน  ผู้อ่านๆ แล้วเข้าใจตรงตามที่ผู้เขียนต้องการ  ถ้าแปลความก็สามารถแปลความได้ตรงตามที่ผู้เขียนต้องการ  อย่าให้ผู้อ่านเกิดความคลุมเครือคิดไปได้หลายทาง

(มาถึงตรงนี้ผมให้ดำพิจารณาความเรียงทั้ง 3 เรื่อง  ทำอย่างไรจึงจะทำให้ผู้อ่านเข้าใจความหมายของสิงโต  นกน้อย  ต้นไทร  ผมถามนำจนกระทั่งดำคิดได้ว่าขาดชื่อเรื่อง  ดำจึงเพิ่มชื่อเรื่อง  บทสิงโต  ชื่อว่า  พ่อ  นกน้อย  ชื่อว่า  ฉันเอง  และต้นไทร  ชื่อว่า  คิดถึงยาย)

2. ความกระชับของถ้อยคำ  คำที่นำมาใช้ต้องมีความหมายตรงตามความต้องการ  ไม่เยิ่นเย่อ  อ่านแล้วให้ความรู้สึกมองเห็นภาพ

3. มีพลัง  คือคำที่นำมาเขียนนั้นมีลักษณะปลุกเร้าอารมณ์ของผู้อ่าน  อ่านแล้วมีความรู้สึก  ถ้าเราฟังเพลงบางครั้ง  เราจะรู้สึกเศร้าไปกับเสียงเพลงนั้น  บทกวีก็เช่นกัน  ถ้าอ่านแล้วผู้อ่านเกิดอารมณ์ร่วมด้วยจะดีมาก

4. ความไพเราะ  ข้อเขียนหรือบทกวี  เวลาอ่านแล้วไม่รู้สึกขัดหู  เกิดความไพเราะเวลาอ่าน  บทกวีหรือข้อเขียนนั้นจะถูกใจผู้อ่านมาก

ผมลองให้ดำพิจารณาดูว่า  ความเรียงของดำมีสิ่งที่ผมพูดถึงทั้ง 4 ข้อมากน้อยเพียงใด  ถ้าดำให้อยู่ในระดับความพึงพอใจ  จะให้อยู่ในเกณฑ์ใด  และบทใดใน 3 บทนี้  ที่ดำชอบมากเพราะเหตุผลใด

เมื่อผมอ่านความเรียงเรื่อง  “พ่อ”  ของดำ  ผมเห็นพลังความรัก  ความศรัทธาที่ดำมีต่อพ่อของเขามาก  จึงทำให้ดำมองพ่อของเขาดั่งเจ้าป่ายิ่งใหญ่และสง่างาม  จะสังเกตได้ว่า  เวลาดำเขียนถึงพ่อ  ดำถือว่าพ่อคือต้นแบบของเขา  ดำกล่าวถึงพ่ออย่างชื่นชม  ท่ามกลางเสียงฝนที่กระหน่ำอยู่นอกบ้าน  ภายในบ้านเงียบสนิท  เงียบเหมือนกับว่า  ไม่มีใครคนที่ 2 อีกแล้ว  มีแต่พ่อของดำนอนอยู่กลางบ้าน  ความสง่างามของพ่อดั่งสิงโต  เจ้าป่าในดวงใจของดำ  ส่งผลให้บ้านหลังนั้นคือถ้ำที่อาศัยของสิงโต

ความคิดที่อยากไปเล่นกับพี่และเพื่อนๆ ตามประสาเด็ก  ต่อสู้กับความรับผิดชอบที่จะต้องมาเรียนรู้ในเวลานั้น  ทำให้เกิดความเหงา  ว้าเหว่  จึงเปรียบตนเองดั่งนกน้อยที่เกาะคอนไม้อยู่กลางไพรกว้างเพียงตัวเดียว  และนกน้อยตัวนี้เองที่ทำให้ความเรียงเรื่อง  “คิดถึงยาย”  เกิดขึ้น  เพราะนกน้อยตัวนี้ไม่ได้บินไปหาร่มไทรที่ยืนคอยอยู่กลางป่าอย่างเงียบเหงา

ดำเก่งตรงคิดแล้วนำมาเขียนได้ตรงตามความรู้สึกของตน  ภาษาที่ดำนำมาใช้มีความชัดเจนในความหมาย  ไม่ว่าในเรื่องของพ่อ  ที่ดำเปรียบบ้านเหมือนถ้ำที่อาศัยของสิงโต คือ พ่อของเขาเอง  หรือยายคือต้นไทรที่ยืนเหงาคอยนกน้อย คือ ดำซึ่งเป็นหลานที่เคยไปเยี่ยมทุกปีในวันสงกรานต์  แต่ปีนี้หลานไม่ได้ไปหา  ยายต้องเหงา...ดำคิดอย่างนี้  ดำจึงเขียนออกมาตามที่ตนคิด  ดำสามารถสื่อความหมายได้ชัดเจน  อีกทั้งคำทุกคำที่นำมาเขียน  มีความหมายสั้น  กระชับดี  อีกทั้งมีพลังปลุกเร้าอารมณ์ในเรื่องคิดถึงยาย  อ่านแล้วมองเห็นภาพของต้นไทร คือ ยายของดำยืนเหงา  คอยหลานๆ มาเยี่ยม  ผมเป็นคนแก่คนหนึ่งอ่านบทกวีบทนี้แล้ว  มีความรู้สึกร่วมกับผู้เขียนเช่นกัน  พูดถึงความไพเราะ  ผมว่าดำหยิบคำแต่ละคำมาวางไว้ได้เหมาะเจาะ  “ถ้ำใหญ่เชิงเขา”  ในเรื่องพ่อ  หรือ  “นกน้อยเดียวดาย”  ในเรื่องฉันเอง  ดำใช้คำสั้นๆ แต่ทุกคำที่นำมาเรียงร้อยกันเสริมกันให้เห็นภาพของเรื่อง  มีความหมายของความและให้อารมณ์ตามเสียงของคำที่อ่าน  ผมจึงว่า  วันนี้ดำพัฒนาความคิดในการเขียนเรื่อง  และผมมองเห็นทางของดำแล้วว่า  ถ้าดำรักการเขียน  ดำน่าจะเดินทางใดได้บ้าง

นอกจากความเรียง 3 บรรทัดแล้ว  ผมฝึกให้ดำเขียนเรียงความ  แบบเรื่องสั้นๆ (Short-Short Story) ด้วย  เพราะดำจะต้องเรียนในชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 

เรื่องสั้นๆ มีความยาวของเรื่องน้อยกว่าเรื่องสั้นธรรมดา  (Short Story)  เรื่องสั้นธรรมดาใช้เวลาอ่านจบภายในเวลา 1 ชั่วโมง  แต่เรื่องสั้นๆ นั้นใช้เวลาอ่านจบเพียง 10 นาทีเท่านั้น  การเขียนเรื่องสั้นๆ นั้น  ผู้เขียนจะต้องมีจินตนาการโดยพื้นฐานที่มาจากความจริงของชีวิตมนุษย์  แล้วผู้เขียนก็นำมาเขียนเล่าตามลีลาที่ตนถนัด  แต่ต้องคำนึงว่า  เป็นเรื่องสั้นๆ  สามารถอ่านจบภายในเวลาอันรวดเร็ว  ดังนั้นการดำเนินเรื่องจะต้องไม่ยืดเยื้อ  การจบเรื่องอาจจบแบบทิ้งให้ผู้อ่านคิด  หรือก่อให้เกิดความสะเทือนใจ  องค์ประกอบของเรื่องสั้นๆ มี

1. โครงเรื่อง  มีโครงเรื่องเดียว

2. ตัวละคร  มีตัวละครเพียง 1-2 ตัวเท่านั้น

3. แก่นของเรื่อง  แนวคิดของเรื่องควรมีเพียงเรื่องเดียวหรือไม่มีก็ได้

4. ฉาก 

5. คติธรรม  คือข้อคิดที่แทรกเข้ามาในเรื่อง

6. ลีลาภาษา  ควรเขียนตามที่ผู้เขียนถนัด  แต่ใช้ภาษากระชับ  สละสลวย  ชัดเจน  ไม่ยืดเยื้อ

 

แต่กฎเกณฑ์เหล่านี้  ผมไม่ได้บอกดำ  เปิดโอกาสให้ดำเขียนเรื่องตามลีลาของดำ  ผมบอกดำสั้นๆ ว่า  ดำจะเขียนเรื่องอะไรก็ได้ให้ผมอ่านจบภายในเวลาไม่เกิน 10 นาที  แต่เรื่องนั้นอ่านแล้วให้ข้อคิดแก่ผมบ้าง  ดำจึงเขียนเรื่องไอ้เหลือให้ผมอ่าน  เพราะดำถนัดและชอบเรื่องนี้  (ดำมักจะพูดถึงไอ้เหลือให้ผมฟังบ่อยๆ )

ความจริงดำเคยเขียนเรื่องไอ้เหลือแบบกลอนเปล่าให้ผมอ่านมาก่อนหน้านี้แล้ว  แต่เมื่อดำจะเขียนเรื่องไอ้เหลืออีก  ผมก็บอกว่าดี  ผมจะคอยอ่าน

ผมไม่ได้พูดถึงรูปแบบการเขียนเรื่องสั้นๆ ให้ดำรู้  เพราะผมเชื่อว่ากฎเกณฑ์เหล่านั้นจะสร้างปมให้ดำไม่กล้าเขียนเรื่องสั้นๆ  ผมเพียงแต่นั่งพูดคุยกับดำว่า  เรื่องสั้นๆ เขาเขียนให้คนอ่านจบภายในเวลาไม่เกิน 10 นาที  แล้วผมก็ลองตั้งคำถามถามดำว่า

1. ทำไมจึงเป็นไอ้เหลือ

2. ไอ้เหลือมีความสัมพันธ์กับใครบ้าง

3. ไอ้เหลือมีความดีอย่างไรบ้าง

4. ทำไมดำจึงรักไอ้เหลือ

ผมถามคำถามทีละข้อ  ดำค้นหาคำตอบมาตอบผม  เราสนทนาแบบซักถามกัน  จนผมเห็นว่า  ดำมีข้อมูลมากพอที่จะเขียนได้แล้วก็ให้ดำเขียน  ดำเขียนเรื่องไอ้เหลือมาแบบเรื่องราวยาวติดต่อกัน  ผมต้องช่วยจัดเรียงลำดับเรื่องให้ใหม่  แล้วชี้ให้เห็นความซ้ำซ้อนของข้อความ  ดำต้องตัดต่อความใหม่  แล้วเขียนเรียงลำดับเรื่องราวใหม่จนกระทั่งเป็นไอ้เหลือที่น่าอ่าน  และอีก 2 วันต่อมา  ดำยื่นเรื่อง  “อู่ซ่อมรถ”  ให้ผมอ่านอีก

อ่านเป็นเล่มได้ที่นี่ครับ https://docs.google.com/docume...



หมายเลขบันทึก: 489925เขียนเมื่อ 3 มิถุนายน 2012 09:44 น. ()แก้ไขเมื่อ 5 ตุลาคม 2018 14:32 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท