ดำเด็กข้างบ้าน 16/1 ชาตรี สำราญ


ความอยากรู้ทำให้เด็กๆ สนใจเรื่องที่ครูสอน แล้วสิ่งที่ครูสอนก็เข้าไปอยู่ในหัวใจของผู้เรียน

๑๖.

พอเห็นทาง

 

                เรื่องราวของการจัดการเรียนการสอนนั้น  จะว่ายากก็ยาก  จะว่าไม่ยากก็ไม่ยาก  ขึ้นอยู่กับว่า  ครูตั้งความหวังไว้อย่างไร  กับ  “ดำ  เด็กข้างบ้าน”  ผมแค่ตั้งความหวังไว้ว่า  จะช่วยให้ดำอ่านออกจริง  เขียนได้จริง

                ถามว่าไอ้ที่จริง  นั้นจริงแค่ไหน  จริงอย่างไร  ผมขอตอบว่าจริง  แค่บอกให้เขียนคำๆ นั้น  ดำเขียนได้ถูกต้อง  อ่านออกเสียงชัดเจน  แม้ว่าดำต้องนึกต้องคิดบ้างก็ได้  ไม่ถึงกับอ่านคล่องเขียนคล่อง  แล้วผมก็หาวิธีสอนเด็ก

                ผมปรับวิธีสอนใหม่  โดยเริ่มต้นการเรียน  เขียนตามคำบอก  ผมจะสังเกตและบันทึกจดจำพฤติกรรมการเขียนอ่านของดำไว้ตลอดเวลา  เริ่มเขียนคำง่าย  ถ้าดำเขียนได้จะพยายามหาคู่คำมาบอกให้เขียนต่อ  เช่น  เริ่มต้นที่  คลาน  ถ้าดำเขียนได้  ผมจะบอกให้เขียนคำว่า  คลาย  แต่ถ้าดำเขียนไม่ได้  ผมมาให้เขียนคำว่า  ลาน  ถ้าเขียน  ลาน  ไม่ได้  จะบอกให้เขียน  ลา  แล้ว  ลาน  แล้ว  คลาน  ต่อไป  การสอนแบบนี้  การสอนแบบนี้  ดำจะมองเห็นพัฒนาการของคำที่ค่อยๆ เพิ่มขึ้นที่ละนิดๆ

                                ลา   -   ลาน   -   คลาน

                                ลา   -   ลาย   -   คลาย

                                ลอ   -   ลอง   -   ล่อง   -   คล่อง

                                ลอ   -   ลอม   -   ล่อม   -   คล่อม

                                รา   -   ราด   -   ปราด

                                รา   -   ราบ   -   ปราบ

 

                ผมสอนแบบนี้ช่วยให้ดำอ่าน-เขียนได้เร็วขึ้น  ความจริงวิธีสอนแบบนี้  ผมใช้สอนเด็กๆ ลูกศิษย์ของผมมานานนับ 20 ปี  แล้วจึงมั่นใจว่า  จะช่วยดำได้

                การสอนคำ  ต้องเนื่องต่อไปสู่การสอนความ  คือ  สอนให้รู้ความหมายของคำที่เด็กๆ อ่านออก  เขียนได้  แล้วต่อไป  นำใช้เป็น  (ประโยชน์ในชีวิตจริง)

                การสอนคำ  สอนเขียนเรื่องจะต้องสอนหลักภาษาควบคู่ไปด้วย  หลักภาษาต้องสอนให้สนุก  สอนเล่นๆ ไม่จริงจัง  แต่จริงใจ  ผมสนุกกับการเรียนรู้  กลวิธีสอน  หลักภาษากับเด็กดำ  ซึ่งอ่อนแอทางการอ่าน-เขียนและมีความสนใจต่อการเรียนน้อยกว่าการเล่น  วันหนึ่งๆ ดำจะมาเรียนกับผมบางครั้งครึ่งชั่วโมงก็เสร็จ  บางครั้งชั่วโมงหนึ่ง  ผมสังเกตดู  การเขียนดำคำบอก  ดำจะชอบ  เพราะเราตกลงกันว่า  วันนี้ใครแพ้  กติกาคือ  ถ้าผมบอกให้ดำเขียน  ดำเขียนถูกคำนั้น  ผมแพ้  แต่ถ้าดำเขียนผิด  ผมชนะ  ส่วนใหญ่ดำชนะ  เพราะผมใช้วิธีการสอนแบบเพิ่มเติมคำ  ลา – ลาย – กลาย  หรือคำใดที่เขียนผิดเมื่อวานนี้  แก้ไขจนถูกต้องวันนี้  ผมจะนำมาบอกให้เขียนอีก  ดำก็จะเขียนได้

                อีกอย่างหนึ่งผมแอบสังเกต  คำใดดำเคยเขียนถูกมาก่อนแล้ว  ผมจะนำมาบอกให้เขียน  แต่ผมจะเริ่มว่า  “คำต่อไปนี้ยาก  ถ้าเขียนถูกเก่ง”  ดำมักจะเขียนได้  ถ้าเขียนผิดผมจะขอโทษ  บอกว่า  คำยากไปลองคิดเขียนใหม่  โดยให้เปิดพจนานุกรมดู  (ฝึกการใช้พจนานุกรม)  วันต่อไปจะนำมาบอกให้ดำเขียนอีก  ดำก็จะเขียนได้ถูกต้อง  ดูดำจะดีใจที่เขาชนะผม

                การสอนหลักภาษา  ผมจะไม่สอนที่ละเรื่อง  เช่น  สอนพยางค์  แล้วสอนวลี  สอนคำ  ผมจะสอนไปพร้อมๆ กัน  สอนช้า  สอนย้ำ  ซ้ำเรื่อง  แต่ไม่ซ้ำตัวอย่าง  ยกตัวอย่างมากๆ  แล้วให้ดำลองยกตัวอย่างบ้าง  เป็นการฝึกการเรียนรู้ทั้งผู้สอนและผู้เรียน  เขียนเป็นภาพได้

 

 

                         ฝึก

 

              ตัวอย่าง                                  ทดสอบ

 

                          สรุป

 

ผมยกตัวอย่างคำว่า  จะ  ปะ  ละ  ดะ  ต้น  ดอก  ผล  ใบ  สวย  เขียนและพูดช้าๆ ให้ดำพูดคำเหล่านี้บ้าง  แล้วถามว่า  “ดำเปิดปากออกเสียงกี่ครั้ง” 

ผมพูดคำว่า  จะ  ปะ  ผมบอกว่า  ผมเปิดปากพูด 2 ครั้ง  เรียกว่า 2 พยางค์  ถามดำว่าทำไมจึง 2 พยางค์

ผมพูด  ละ  ผมบอกว่า  ผมเปิดปากพูด 1 ครั้ง  เรียกว่า 1 พยางค์  ถามว่าทำไมจึง 1 พยางค์ 

ผมพูด  จะ  ปะ  ละ  ดะ  ผมบอกว่า  ผมเปิดปากพูด 4 ครั้ง  เรียกว่า 4 พยางค์

แล้วผมให้ดำพูดคำ 1 พยางค์  2 พยางค์ 

ผมพูดอีกว่า  จะ  ปะ  ละ  ดะ  ต้น  ดอก  ผล  ใบ  สวย  พร้อมกับชี้คำที่เขียนแล้วบอกว่า  นับได้ 9 พยางค์

ผมพูดพร้อมชี้คำ  จะ  ปะ  ต้น  ดอก  สวย  ถามดำว่ากี่พยางค์  พยายามพูดออกเสียงชี้คำแล้วให้ดำตอบว่ามีกี่พยางค์  จนดำเข้าใจ  ผมจะสอนใหม่ว่า  จะ  ปะ  ละ  ดะ  เป็นพยางค์  แต่ไม่เป็นคำ  แต่ต้น  ผล  ดอก  ใบ  สวย  เป็นคำนับได้ 5 คำ  และนับเป็นพยางค์ได้ 5 พยางค์  ถามว่า  ต้น  ดอก  ผล  ใบ  สวย  ต่างจาก  จะ  ปะ  ละ  ดะ  อย่างไร  ดำดูคิดแล้วบอกว่า  “ต้น  ดอก  ผล  ใบ  สวย  มีความหมาย  แต่  ละ  ปะ  ดะ  ไม่มีความหมาย”  ผมจะเน้นย้ำว่ามีความหมาย  ไม่มีความหมาย  โดยพยายามให้ดำยกตัวอย่างคำที่มีความหมายและคำที่ไม่มีความหมาย  จนเห็นว่าดำเข้าใจแล้ว  ลองให้ดำสรุป  สุดท้ายดำสรุปได้ว่า

“ถ้าเปิดปากพูดออกเสียง 1 ครั้ง  มีความหมายหรือไม่มีความหมายก็ได้  เรียกว่า 1 พยางค์

“ถ้าเปิดปากพูดออกเสียง 1 ครั้ง  มีความหมาย  เรียกว่า  1 คำ  และเรียกว่า 1 พยางค์ได้อีกด้วย”

ต่อจากนั้นให้ดำหาคำที่มี 1 คำ  1 พยางค์  1 คำ  2 พยางค์  1 คำ  3 พยางค์  1 คำ  4 พยางค์  1 คำ  5 พยางค์  หนังสือเรื่อง “เขียนอย่างไร  อ่านอย่างไร”  ช่วยให้ดำค้นหาคำได้ง่ายและมากคำ  นอกจากนี้  วันต่อมา  การเขียนตามคำบอก  นอกจากจะต้องเขียนคำถูกต้องแล้วต้องบอกได้ด้วยว่ามีกี่พยางค์กี่คำ

สอนพยางค์  สอนคำ  แล้วสอนวลี  ประโยคต่อ  โดยใช้วิธีเดียวกัน  คือสอนรวมกัน  ทั้งวลี  ประโยค  มีตัวอย่าง  ฝึก  สอบ  แล้วสรุป  และเมื่อเขียนประโยคแล้วจะต้องวิเคราะห์ว่า  อะไรคือประธาน  กรรม  กรียา  ขยายกรรม  ส่วนไหนคือวลี  มีกี่พยางค์  กี่คำ  คำไหนเป็นคำนาม  สามานยนาม  คำวิสามานยนาม  ซึ่งฉวยโอกาสสอนเพิ่มตรงนี้เลย  ดูดำเข้าใจดี  เพราะดำได้เรียนทั้งระบบ

ผมเห็นการสอนประโยคแล้ววิเคราะห์ชนิดของคำให้ออกมาเป็นส่วนๆ ทุกครั้ง  ช่วยให้ผู้เรียนเข้าใจหลักภาษาได้ดี  และเมื่อมีเพิ่มขึ้น  เช่น  คำเชื่อม  คำสรรพนาม  และคำอื่นๆ ก็ค่อยๆ สอนเพิ่ม  เพราะคำเหล่านี้เวลาวิเคราะห์  ถ้าไม่เคยเรียนมา  ผู้เรียนจะสงสัย  อยากรู้  ครูก็ฉวยโอกาสสอนทันที

ความอยากรู้ทำให้เด็กๆ สนใจเรื่องที่ครูสอน 

แล้วสิ่งที่ครูสอนก็เข้าไปอยู่ในหัวใจของผู้เรียน

อ่านเป็นเล่มได้ที่นี่ครับ https://docs.google.com/docume...


หมายเลขบันทึก: 489924เขียนเมื่อ 3 มิถุนายน 2012 09:32 น. ()แก้ไขเมื่อ 5 ตุลาคม 2018 14:32 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท