Archanwell
รศ.ดร. พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร

เรียนรู้อะไรบ้างจากการพิสูจน์ความเป็นเอนกหรืออานนท์ในสังคมไทยเมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ.๒๕๕๕


มองผ่านปัญหาความเป็นเอนกและอานนท์ที่ถกเถียงกันในสังคมไทยเมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ.๒๕๕๕ : องค์กรส่วนใหญ่ของรัฐไทยคงไม่มีแนวคิดว่า ตนเองมีหน้าที่ส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนเป็นแน่แท้ ?, โดย รศ.ดร.พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร, เอกสารประกอบการสอนวิชาสิทธิมนุษยชน, เมื่อวันที่ ๑๒ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๕๕

ไม่มีคนทำงานด้านสิทธิในการรับรองสถานะบุคคลตามกฎหมายในประเทศไทยมีความคันในอารมณ์เมื่อฟังเรื่องฝาแฝดเอนก-อานนท์เลยหรือคะ หากถอดบทเรียนจากเรื่องนี้ เราพบว่า มีหลายบทเรียนด้านการจัดการความยุติธรรมมากมาย

โดยการมองผ่านเรื่องราวของเอนกที่ร้องขอรับโทษทางอาญาแทนอานนท์น้องฝาแฝด เราเห็น “ภาพจริง” ของสัมพันธภาพระหว่างมนุษย์ กฎหมาย และรัฐ ซึ่งเป็นทฤษฎีพื้นฐานที่ศึกษาในระบบการศึกษาของมนุษย์อย่างมากมาย

ในประการแรก เรามองเห็นว่า สื่อมวลชนได้กลายเป็นกระบวนการยุติธรรมตามกฎหมายธรรมชาติที่เป็นปากเสียงแก่ทุกฝ่ายในการร้องขอความเป็นธรรมให้กับตนเอง เราพบว่า เมื่อบุญเกิดและเอนกร้องขอให้ปล่อยตัวอานนท์โดยอ้างว่า เขาไม่ได้กระทำความผิดต่อตำรวจและศาล แต่ก็ไม่ได้รับความช่วยเหลือแต่อย่างใด พวกเขาจึงไปร้องทุกข์ต่อสื่อมวลชน ในขณะที่ตำรวจและศาลซึ่งน่าจะเข้าเป็นที่ปรึกษาเหล่าเจ้าของปัญหาในการจัดการความยุติธรรม เราก็พบว่า สำนักศาลยุติธรรมก็ยังไม่มีท่าทีที่ชัดเจนนัก ส่วนตำรวจนั้นมีท่าทีที่เป็นปรปักษ์ต่อคำร้องทุกข์ของบุญเกิดและเอนกอย่างชัดเจน เรามองเห็นว่า องค์กรที่มีหน้าที่เอื้อต่อความยุติธรรมแก่อานนท์ กลับมีแนวคิดและปฏิกิริยาที่ไม่พอใจนักต่อคำร้องทุกข์ของบุคคลทั้งสอง และในที่สุด ทั้งตำรวจและองค์กรที่เกี่ยวข้องก็ต่างพากันมาต่อสู้เพื่อความเป็นธรรมของตนในพื้นที่สื่อ เราเรียนรู้อะไรจากปรากฏการณ์นี้ล่ะ ? กระบวนการยุติธรรมที่แท้จริงอยู่ตรงไหนกันนี่ ?

ในประการที่สอง เรามองเห็นว่า องค์กรของรัฐไทยที่มีหน้าที่รับรองสิทธิในสถานะบุคคลตามกฎหมายน่าจะ “จิตสำนึกในการทำงานเชิงรุก” เมื่อมนุษย์ในสังคมไทยประสบปัญหาการพิสูจน์สิทธิในการรับรองสถานะบุคคล

คงมิใช่ปัญหาความขาดองค์ความรู้ในการพิสูจน์ทราบข้อเท็จจริงว่า ใครคือเอนก ? ใครคืออานนท์ ? ความเป็นเอนกหรืออานนท์นั้นเป็นข้อเท็จจริงที่มีอยู่เองหรือเป็นข้อเท็จจริงที่เกิดจากการรับรองทางกฎหมาย ? เราน่าจะตอบได้เลยไหมว่า เมื่อนางบุญเกิดคลอดนายเอนกและนายอานนท์ออกมาแล้วนั้น บุคคลทั้งสองก็ย่อมจะมีสิทธิในสถานะบุคคลตามกฎหมายแล้ว ไม่ว่าจะมีการแจ้งการเกิดของบุคคลทั้งสองในทะเบียนราษฎรของรัฐใดหรือไม่ ก็ตาม แต่อย่างไรก็ตาม ความเป็นมนุษย์เป็นข้อเท็จจริงที่ก่อให้เกิด “สิทธิในการรับรองสิทธิในสถานะบุคคลตามกฎหมายเอกชน” แก่ทั้งเอนกและอานนท์ และในทางกลับกัน ความเป็นมนุษย์ก็ได้ก่อ “หน้าที่” แก่รัฐที่บุคคลทั้งสองปรากฏตัวอยู่ที่จะต้องรับรองสิทธิในสถานะบุคคลให้แก่บุคคลทั้งสอง เมื่อบุคคลทั้งสองปรากฏตัวในประเทศไทย มาตรา ๑๕ วรรค ๑ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ก็บัญญัติว่า "สภาพบุคคลย่อมเริ่มแต่เมื่อคลอดแล้วอยู่รอดเป็น ทารกและสิ้นสุดลงเมื่อตาย อีกทั้งสิทธิในการรับรองสถานะบุคคลตามกฎหมายของทั้งเอนกและอานนท์ย่อมได้รับการรับรองโดยข้อ ๖ แห่งปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ค.ศ.๑๙๔๘/พ.ศ.๒๔๙๑ และข้อ ๑๖ แห่งกติกาสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิทางแพ่ง/พลเมืองและสิทธิทางการเมือง ค.ศ.๑๙๖๖/พ.ศ.๒๕๐๙ ซึ่งผูกพันประเทศไทยในสถานะกฎหมายระหว่างประเทศที่เป็นลายลักษณ์อักษรอย่างไม่ต้องสงสัย

เราจะเห็นว่า ความเป็นมนุษย์ที่ปรากฏตัวในสังคมไทยของเอนกและอานนท์ได้นำพวกเขาไปสู่ “หน้าที่ของรัฐไทยยอมรับรองการเกิดของเอนกและอานนท์ในทะเบียนราษฎรของรัฐไทย” จนนำไปสู่การรับรองสิทธิในสัญชาติไทยของบุคคลทั้งสองในทะเบียนบ้านและออก “บัตรประชาชน” ซึ่งเป็นบัตรประจำตัวบุคคลที่มีสิทธิในสัญชาติไทยให้บุคคลทั้งสองถือไว้

เมื่อเอนกและอานนท์ไม่ไร้รัฐเพราะพวกเขาได้รับการรับรองสถานะบุคคลแล้วในทะเบียนราษฎรของรัฐไทย พวกเขาจึงเป็นบุคคลที่มีรัฐไทยเป็นรัฐเจ้าของตัวบุคคล (Personal State) เมื่อพวกเขามีปัญหาการพิสูจน์สิทธิในการรับรองสถานะบุคคลตามกฎหมาย จึงน่าสงสัยว่า ทำไมกรมการปกครอง ซึ่งทำหน้าที่นายทะเบียนกลางจึงไม่ออกมาให้พยานหลักฐานที่ดีที่สุดที่จะพิสูจน์ว่า ใครคือเอนก ? และใครคืออานนท์ ? เพราะการบันทึกรายการสถานะบุคคลในสถานะราษฎรไทยนี้ย่อมหมายถึงการรับรู้ของรัฐไทยต่อ “อัตลักษณ์” ของฝาแฝดทั้งสอง และพยานหลักฐานที่ดีที่สุด ก็คือ ลายพิมพ์นิ้วมือนั่นเอง

ผู้เขียนเดาว่า อาจมีคนมาโต้แย้งว่า ไม่ใช่หน้าที่ของกรมการปกครองที่จะออกมาแสดงหลักฐานที่ดีที่สุดสำหรับการพิสูจน์ความเป็นเอนกหรืออานนท์ หากไม่มีการร้องขอ การโต้แย้งนี้ก็อาจถูกหากเรามองจากแนวคิดที่ว่า รัฐไทยไม่มีหน้าที่เคารพ “สิทธิ เสรีภาพและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์” แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อเราตระหนักว่า มาตรา ๔ แห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ทั้ง พ.ศ.๒๕๔๐ และ พ.ศ.๒๕๕๐ ต่างก็บัญญัติว่า “ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิ และเสรีภาพของบุคคล ย่อมได้รับความคุ้มครอง” ดังนั้น คงไม่ใช่สิ่งที่ถูกต้องที่องค์กรของรัฐจะนิ่งเฉยเมื่อมนุษย์ประสบปัญหาสิทธิเสรีภาพ หน้าที่คุ้มครองศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์สิทธิและเสรีภาพของบุคคลน่าจะเป็นหน้าที่ “เชิงรุก” อีกด้วย มิใช่ “เชิงรับ” อีกด้วย

ผู้เขียนสงสัยอีกว่า กรมราชทัณฑ์ซึ่งกำลังกักขังอานนท์ ซึ่งอาจจะเป็นผู้บริสุทธิ์ ควรจะต้องมีแนวคิดและท่าทีเช่นใด ? ควรอยู่เฉยๆ รอจนกว่าความจริงทุกอย่างจะกระจ่าง หรือควรมีท่าทีเชิงรุก การปฏิเสธสิทธิในการเยี่ยมมนุษย์คนหนึ่งที่ถูกกล่าวอ้างว่า เป็นอานนท์ของบุคคลที่อ้างตัวเป็นเอนกนั้นทำให้ผู้เขียนสงสัยอย่างทุกข์ทรมานว่า เป็นสิ่งที่ถูกต้องแล้วหรือไม่ ? การปฏิเสธนี้ในสายตาของเอนกพี่ชาย ก็คือ การปฏิเสธที่เขาจะได้กล่าวขอโทษอานนท์น้องชายที่ต้องมาถูกกักขังอย่างยาวนานแทนพี่ชายทั้งที่ไม่ได้กระทำความผิด ผู้เขียนสงสัยว่า การปฏิเสธนี้จะสร้างความชอบธรรมอย่างไรแก่กรมราชทัณฑ์ การเยี่ยมผู้ต้องหาเป็นสิทธิของมนุษย์ที่จะเอื้ออาทรต่อผู้ต้องหามิใช่หรือ ?

คงมีคนค้านว่า การห้ามบุคคลที่อ้างตัวเป็นเอนกมาพบอานนท์ซึ่งถูกกล่าวหาว่าเป็นเอนกนั้น ก็เพื่อป้องกันการสื่อสารในการต่อสู้คดีที่กำลังจะเป็นความกันอยู่ ซึ่งผู้เขียนก็จะสงสัยต่อไปจากข้อคัดค้านนี้ว่า ผู้ต้องหาไม่มีสิทธิที่จะเตรียมตัวในการต่อสู้คดีความหรืออย่างใด ?

ขอขอบคุณผู้ตรวจการแผ่นดินและกรมคุ้มครองสิทธิเสรีภาพที่ออกมาในที่สุดเพื่อเริ่มต้นกระบวนการยุติธรรมตามกฎหมายให้แก่บุญเกิดเอนกและอานนท์

ท้ายที่สุด โดยมองผ่านปัญหามนุษย์ที่ยากจนดัง บุญเกิด เอนก และอานนท์ เราทั้งหลายในสังคมไทยหวังจะเห็นอะไร ?

สำหรับผู้เขียน เราน่าจะหวังที่จะเห็นการต่อสู้เพื่อความเป็นธรรมแก่อานนท์ตามข้อเรียกร้องของบุญเกิดซึ่งเป็นมารดาและเอนกซึ่งเป็นพี่ชายมิใช่หรือ ? เราน่าจะหว้งที่จะไม่เห็นการออกมาชี้แจงความไม่ผิดของส่วนราชการ และการประกาศเอาโทษการร้องขอความเป็นธรรมของบุญเกิด ซึ่งอ่านไม่ออกและเขียนไม่ได้ ไม่มีความรู้ความเข้าใจในกระบวนการยุติธรรมที่ซับซ้อน มิใช่หรือ ?

นอกจากนั้น เราน่าจะหวังที่จะเห็นการลุกขึ้นมาทำงานเชิงรุกขององค์กรตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องในการพิสูจน์ความเป็นเอนกและอานนท์ เพื่อความเป็นธรรมจะได้เริ่มต้นนับหนึ่ง

หรืออาจจะถึงเวลาที่สังคมไทยจะต้องตอบกันว่า เมื่อมนุษย์มีปัญหาที่จะต้องพิสูจน์ทราบสถานะบุคคลตามกฎหมาย องค์กรตามกฎหมายของรัฐไทยองค์กรใดบ้างที่มี “หน้าที่เชิงรุก” ที่จะต้องมาจัดการความเป็นธรรมและความยุติธรรม” แก่มนุษย์เจ้าของปัญหา ? เพราะหากไม่มีการตอบคำถามนี้ คนในสถานการณ์ดังบุญเกิดเอนกและอานนท์ก็คงจะต้องไปใช้สิทธิเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมตามกฎหมายธรรมชาติ แทนกระบวนการยุติธรรมตามกฎหมายบ้านเมือง หรือเราไม่มีองค์ของรัฐที่มีหน้าที่ส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนเชิงรุก

ความเป็นธรรมและความยุติธรรมสำหรับมนุษย์ในสังคมไทยจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อมีการร้องขอเท่านั้นหรือ ? การลงมาทำงานเชิงรุกขององค์กรของรัฐจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อมีการกดดันทางสังคมในพื้นที่สื่อสาธารณะเท่านั้นจริงหรือ ? ความเป็นจริงนี้ขมขื่นทีเดียวสำหรับนักวิชาการกฎหมายสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย

มีบทเรียนอย่างน้อย ๒ บทเรียน จากเหตุการณ์การดำเนินคดีต่อนายอานนท์ในฐานะของนายเอนกโดยตำรวจและศาลนี้ กล่าวคือ

บทเรียนในประการแรก เป็นเรื่องของการจัดการความผิดพลาด เราควรจะตระหนักว่า เมื่อมีความผิดพลาดเกิดขึ้น มนุษย์ที่ควรจะต้องมี "หน้าที่" รับผิดชอบในความผิดพลาดนั้น มักจะหาข้อแก้ตัวก่อนที่จะแสดงความรับผิดชอบ เราลองมาคิดดูนะคะว่า การกระทำเช่นนั้นถูกต้องไหม ? และคิดต่อไปซิคะ หากผู้ไม่ยอมรับในความผิดพลาดนั้น เป็นผู้ที่อยู่ในกระบวนการยุติธรรม ความรู้สึกของสังคมที่มีต่อบุคคลนั้นจะเป็นอย่างไร ? การมีข้อแก้ตัวที่สมเหตุสมผลก็คงเป็นไปได้ แต่ไม่ว่าข้อแก้ตัวนั้นจะเป็นอย่างไร ความรับผิดชอบต่อความผิดพลาดนั้นก็ยังคงอยู่ และเมื่อความผิดพลาดนั้น เป็นเรื่องของสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานของมนุษย์คนหนึ่ง ความล่าช้าในการแสดงความรับผิดชอบนั้น ก็คือ การสร้างความอยุติธรรมครั้งใหม่สำหรับเหยื่อแห่งความผิดพลาด จึงอยากให้บุคคลในกระบวนยุติธรรมโปรดพิจารณา

บทเรียนในประการที่สอง เป็นเรื่องของการจัดการอัตลักษณ์ของบุคคลที่เก็บโดยรัฐเจ้าของตัวบุคคล วงเสวนาเกี่ยวกับเรื่องนี้ส่วนใหญ่มักไม่มีความเห็นในประเด็นการพิสูจน์อัตลักษณ์ ซึ่งเป็นประเด็นเทคนิคทางกฎหมายในการพิสูจน์สถานะบุคคล อันเป็นในกฎหมายวิธีพิจารณาความ อีกทั้งไม่มีการยกประเด็นอำนาจหน้าที่ของหน่วยงานที่มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับการเก็บข้อมูลอัตลักษณ์แต่อย่างใด วงเสวนามักจะสนใจแลกเปลี่ยนประเด็นอันเกี่ยวกับผลของความยินยอมของอานนท์ในการลงนามในเอกสารในนามของเอนก หรือประเด็นความรับผิดของอเนกฐานทำร้ายร่างกายต่อผู้เสียหาย หากเรามาพิจารณาแต่ละประเด็นที่เกี่ยวข้อง เราจะพบว่า ประเด็นความรับผิดของเอกนกในคดีทำร้ายร่างกายน่าจะยังคงอยู่ต่อไป ความรับผิดชอบต่อผู้เสียหายก็คงยังมีต่อไป แต่ประเด็นว่า เมื่อคนที่อ้างว่า เป็นเอนกปรากฏตัวขึ้นมานอกคุก ก็ควรมีการเปิดพื้นที่การพิสูจน์ว่า ใครกันแน่คือเอนก แล้วบุคคลนั้นก็ควรจะเข้าสู่กระบวนยุติธรรมต่อไป ในขณะที่บุคคลที่คืออานนท์ ก็จะได้หลุดจากกระบวนพิจารณาที่ตนมิได้เกี่ยวข้องด้วย เว้นแต่มีการพิสูจน์ว่า อานนท์ก็มีความเกี่ยวข้องกับการทำร้ายร่างกาย อานนท์ก็ควรจะเข้าสู่กระบวนการพิจารณาของศาลในนามของอานนท์เอง มิใช่ในนามของอเนก บทเรียนที่สองนี้จึงเป็นบทเรียนของการใช้สติปัญญาเพื่อแยกแยะประเด็นของอัตลักษณ์ของบุคคลออกจากประเด็นความรับผิดตามกฎหมายอาญาต่อสังคมและความรับผิดทางแพ่งต่อผู้เสียหาย

เราหวังว่า สถานการณ์จริงที่เกิดขึ้นในสังคมไทยครั้งนี้ จะเป็นพื้นที่คิดคำนึงของทุกคนในสังคมไทย โดยเฉพาะบุคคลที่มีอำนาจหน้าที่ในกระบวนการยุติธรรมไทย

---------------------------------------

ข้อเท็จจริงที่เกี่ยวข้องกับบทความ

---------------------------------------

แม่พาแฝดผู้พี่มามอบตัวกับตำรวจ หลังแฝดน้องโดนจับดำเนินคดีทำร้ายร่างกายที่พี่ก่อไว้จนศาลพิพากษาจำคุก 4 ปี (๘ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๕๕)

08 พฤษภาคม 2555 เวลา 20:33 น.  http://www.posttoday.com

---------------------------------------------------

ปทุมธานี-จับมั่วพี่น้องแฝด (๙ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๕๕)

วันที่ 09 พฤษภาคม พ.ศ. 2555 ปีที่ 22 ฉบับที่ 7832 ข่าวสดรายวัน

---------------------------------------------------

รองเลขาฯ ศาลยุติธรรมยันคดีฝาแฝดผิดตัว ผู้ต้องขังมีความผิดฐานเบิกความเท็จ (๑๐ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๕๕)

http://www.mcot.net วันพฤหัสบดี ที่ 10 พ.ค. 2555   

------------------------------------------------

ตร. กร้าวแจ้งความกลับ "แฝดพี่-มารดา" คดีจับผิดตัว (๑๐ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๕๕)

วันพฤหัสบดีที่ 10 พฤษภาคม 2555 เวลา 18:42 น. http://www.dailynews.co.th

------------------------------------------------

สภาทนายฯ แบะท่าช่วยเหลือคดีจับแฝดผิดตัว (๑๑ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๕๕)

วันพฤหัสบดีที่ 11 พฤษภาคม 2555

http://www.dailynews.co.th

------------------------------------------------

กระทรวงยุติธรรมยื่นมือเข้าช่วยเหลือคดีจับฝาแฝดผิดตัว ขณะที่ผู้คุมไม่อนุญาตแฝดพี่เยี่ยมแฝดน้อง (๑๑ พฤษภาคม)

11 พฤษภาคม 2555 เวลา 18:08 น.

http://www.khaosod.co.th

------------------------------------------------

กองทุนยธ.ช่วยประกันแฝดปทุม (๑๒ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๕๕)

วันที่ 12 พฤษภาคม พ.ศ. 2555 ปีที่ 22 ฉบับที่ 7835 ข่าวสดรายวัน

----------------------------------------------------------

Videoข่าวเรื่องคำพิพากษาคดีแฝดผิดตัว (๑๒ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๕๕)

วันเสาร์ ที่ 12 พ.ค. 2555  http://www.mcot.net

----------------------------------------------------------

ผช.ผบ.ตร.ลงพื้นที่สางคดีจับฝาแฝดผิดตัว (๑๓ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๕๕)

โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์ 13 พฤษภาคม 2555 09:42 น.

----------------------------------------------------------

หมายเลขบันทึก: 487806เขียนเมื่อ 12 พฤษภาคม 2012 10:58 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 09:49 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท