ชีวิตที่พอเพียง : ๑๕๕๒. สองด้านของความว่าง


 
          ความว่างเป็นได้ทั้งคุณและโทษต่อชีวิต
 
          ในวัยเยาว์ ความว่างน่าจะเป็นโทษมากกว่าเป็นคุณ    เพราะมันเป็นความว่างจากคุณค่าแห่งชีวิต   ปฏิสัมพันธ์ภายในครอบครัว   และการเรียนรู้ในโรงเรียน ที่ผิดพลาด    ทำให้ศักยภาพแห่งความเป็นมนุษย์ของเด็กและเยาวชนถูกละเลย   พลังแห่งความเป็นมนุษย์ถูกทำลายหรือบ่อนเซาะ   จนเขาว่างเปล่าจากจินตนาการ  ว่างเปล่าจากแรงบันดาลใจ  ไม่เข้าใจศักยภาพของตนเอง    หมดความเชื่อมั่นในตนเอง  ไม่มีศรัทธาต่อความดีงาม และการสร้างสรรค์ ที่ตนเองมีหน่ออ่อนอยู่เต็มเปี่ยม
 
          ความว่างเช่นนี้ เกิดจากวัฒนธรรม และการศึกษา ที่ทำลายศักยภาพแห่งความเป็นมนุษย์    ทำให้พลังความดีงามของมนุษย์สูญหายไป
 
          แต่ในอีกด้านหนึ่ง มนุษย์ต้องการความว่าง   ว่างจากความเห็นแก่ตัว    ว่างจากมายาแห่งตัวตน ที่ปิดกั้นความยิ่งใหญ่ที่อยู่เหนือตัวตน   ที่ยกระดับไปสู่ความงอกงาม ความงดงาม และความเป็นธรรมชาติ    ธรรมชาติแห่งสรรพสิ่งที่เข้ามาประกอบกันเข้าเป็นสิ่งที่ยิ่งใหญ่มีคุณค่ากว่าสิ่งที่เราเข้าใจและสัมผัสได้    คือการผุดบังเกิดเป็น “ภพภูมิใหม่” (new order) ของความซับซ้อนแห่งธรรมชาติ
 
          ตัวตนคือภูเขาแห่งวิถีธรรม   ตัวตนปิดกั้นการเข้าถึงความยิ่งใหญ่แห่งธรรมสัจจะ   ปิดกั้นให้เราอยู่ได้เพียงในภพภูมิแห่งสมมติสัจจะเท่านั้น
 
          ว่างจากตัวตน  ว่างจากความยึดมั่นถือมั่น  จักเปิดประตูสู่ความจริงแท้แห่งชีวิต
 
          แต่ในวัยเยาว์ (และรวมทั้งวัยชรา) เราต้องเชื่อมั่นในคุณค่าแห่งชีวิต  เชื่อมั่นในคุณค่าของการเรียนรู้  เชื่อมั่นในคุณค่าของปฏิสัมพันธ์กับกัลยาณมิตร  เชื่อมั่นในคุณค่าของแรงบันดาลใจใฝ่ดี  เชื่อมั่นในคุณค่าของการลงมือทำ  เชื่อมั่นในคุณค่าของการเรียนรู้จากการลงมือทำ (ปฏิบัติ)   เชื่อมั่นในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ผ่านการปฏิบัติ   เราต่องไม่ว่างเปล่าจากธรรมะเหล่านี้
 
          ชีวิตมนุษย์  และธรรมทั้งหลาย อยู่กับความว่าง และความไม่ว่าง ดังนี้แล


หมายเหตุ  รำพึงรำพันนี้  ไม่มีถูก ไม่มีผิด   เป็นรำพึงรำพันแห่งความว่างจากถูก-ผิด
 
 
 
วิจารณ์ พานิช
๑ เม.ย.๕๕
หมายเลขบันทึก: 487610เขียนเมื่อ 10 พฤษภาคม 2012 14:32 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 มิถุนายน 2012 00:20 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท