Archanwell
รศ.ดร. พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร

ตอบคุณสุหนานเกี่ยวปัญหาสิทธิในสัญชาติไทยของคนถือบัตรผู้พลัดถิ่นสัญชาติพม่าเชื้อสายไทยซึ่งเกิดในประเทศไทย


บันทึกคำตอบปัญหาประชาชนเกี่ยวกับการจัดการประชากรในประเทศไทย โดย รศ.ดร.พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร เมื่อวันที่ ๑๐ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๕๕

คุณสุหนานได้อีเมลล์ผ่านระบบอีเมลล์ของ [email protected] เมื่อวันที่ ๒๐ เมษายน พ.ศ.๒๕๕๕ เวลา ๑๓.๓๔ น. เพื่อตั้งคำถาม อ.แหวว โดยตั้งหัวข้อว่า “ผมอยากถามว่า บัตรประจําตัวสัญาชาติพม่าเชื้อสายไทย ของผม อ่ะ เลข ๗ ข้างหน้า” โดยมีใจความว่า “ผมชื่อ ด.ช.สุหนาน - อายุ ๑๕ ปี เรียนอยู่ รร.สตรีระนอง อยู่ ม.๓ ปีนี้ครับ ผมอยากถามว่า บัตรประจําตัวสัญาชาติพม่าเชื้อสายไทย ของผม อ่ะ เลข ๗ ข้างหน้าเเละผมสูติบัตรเเละทะเบียนบ้านเล่มเหลืองอ่ะ ผมอยากรู้ว่าจะมีสิทธิ์ที่จะได้รับสัญชาติไทยไหมครับๆ ช่วยบอกวิธีที่จะได้รับสัญชาติไทยหน่อยได้ไหมครับ พอดีว่าผมอยากเรียน นายร้อยครับ ขอพระคุณอย่างสูงครับ”

---------

คำตอบ

---------

เมื่อวันที่ ๙ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๕๕ เวลา ๘.๓๗ น. อ.แหววก็ได้เขียนอีเมลล์ตอบคุณสุหนาน และยังได้แนบอีเมลล์ถึงมวลมิตรทางวิชาการหลายท่านที่สนใจศึกษาปัญหาสิทธิในสถานะบุคคลตามกฎหมาย กล่าวคือ (๑) อ.ด๋าว ดรุณี ไพศาลพาณิชย์กุล (๒) คุณชมพู่ กรกนก วัฒนภูมิ (๓) อาจารย์เชอรี่ พวงรัตน์ ปฐมสิริรักษ์ โดยตั้งชื่ออีเมลล์ตอบว่า “ตอบคุณสุหนานคนถือบัตรผู้พลัดถิ่นสัญชาติพม่าเชื้อสายไทย ซึ่งออกโดยจังหวัดระนอง” และได้เขียนคำตอบไปว่า

“ต้องขอโทษที่ตอบช้าไปนะคะ คุณเป็นคนไทยพลัดถิ่นใช่ไหมค่ะ หากคุณไปพิสูจน์ความเป็นคนไทยพลัดถิ่นได้ครบตามที่กฎหมายสัญชาติใหม่กำหนด คุณก็จะมีสถานะเป็นคนสัญชาติไทยโดยหลักสืบสายโลหิต ถือเป็นคนสัญชาติไทยโดยการเกิด คุณก็จะเรียนในโรงเรียนทหารได้ค่ะ

ตอนนี้ ครอบครัวของคุณมีใครบ้าง ?  แต่ละคนถือบัตรอะไรบ้าง ? เคยอ่าน พระราชบัญญัติสัญชาติ(ฉบับที่ ๕) พ.ศ.๒๕๕๕ หรือไม่ ? คุณและครอบครัวควรรีบเข้าขอการรับรองสถานะความเป็นคนไทยพลัดถิ่นนะคะ มิฉะนั้น ก็จะถูกถือว่า มีสถานะเป็นคนต่างด้าวเข้าเมืองผิดกฎหมายที่มีสิทธิอาศัยชั่วคราวในประเทศไทย ดังที่เป็นอยู่”

ตอนนี้ ก็ต้องรอคำตอบจากน้องสุหนาน และคิดว่า ก็จะได้ขอให้มวลมิตรทางวิชาการของ อ.แหววที่มีความว่างและความอยากทำเข้าให้ความช่วยเหลือทางกฎหมาย เรื่องของสัญชาติไทยของคนไทยพลัดถิ่นในยุคนี้ไม่ใช่เรื่องยากในทางกฎหมาย แต่เป็นเรื่องยากในทางมานุษยวิทยา หากเราพิสูจน์ได้ว่า พวกเขาเป็นคนไทยพลัดถิ่นที่มีจุดเกาะเกี่ยวที่ชัดเจนกับประเทศไทย พวกเขาก็จะได้รับการรับรองสถานะคนสัญชาติไทยโดยการเกิดโดยหลักสืบสายโลหิต เหล่านักวิชาชีพทางกฎหมายโปรดเริ่มต้นฝึกฝนทักษะทางกฎหมายเพื่อรักษาโรคไร้สัญชาติให้แก่คนเชื้อสายไทยที่เกิดในประเทศไทยแก่คนในสถานการณ์ดังน้องสุหนาน การจัดการปัญหาคยไทยพลัดถิ่นที่ประสบปัญหาความไร้สัญชาติยังเป็นภารกิจด้านสิทธิมนุษยชนของประเทศไทยอยู่ต่อไป ตราบที่พวกเขายังไม่ได้รับรองสิทธิในสัญชาติของประเทศใดประเทศหนึ่งแล้วอย่างมีประสิทธิผล

หากท่านใดสนใจเรื่องของคนไทยพลัดถิ่นที่เกิดในประเทศไทย ก็โปรดไปอ่านงานเขียนของ อ.แหววเกี่ยวกับ “นายประการ” ซึ่งเป็นคนในสถานการณ์เดียวกันกับน้องสุหนานค่ะ

สนใจโปรดคลิกเพื่ออ่านได้เลยค่ะ 

กรณีศึกษานายประการ : คนไทยพลัดถิ่นที่เคยถือบัตรผู้อพยพเชื้อสายไทยจากจังหวัดเกาะกง กัมพูชา แต่ยังไม่ได้รับการรับรองสถานะคนสัญชาติไทยโดยหลักดินแดนโดยการเกิดตามมาตรา ๒๓ แห่ง พ.ร.บ.สัญชาติ (ฉบับที่ ๔) พ.ศ.๒๕๕๑ และยังทรงสิทธิในสัญชาติไทยโดยหลักสืบสายโลหิตตามมาตรา ๙/๖ วรรค ๒ แห่ง พ.ร.บ.สัญชาติ พ.ศ.๒๕๐๘ ซึ่งเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.สัญชาติ (ฉบับที่ ๕) พ.ศ.๒๕๕๕

โดย รศ.ดร.พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร

รายงานการทดลองพิสูจน์และพัฒนาสิทธิในสัญชาติไทยเพราะมีสถานะเป็นคนไทยพลัดถิ่น

เมื่อวันจันทร์ที่ ๒ เมษายน พ.ศ. ๒๕๕๕

http://www.learners.in.th/blogs/posts/517732

http://www.facebook.com/note.php?note_id=10150768740533834

 

หมายเลขบันทึก: 487607เขียนเมื่อ 10 พฤษภาคม 2012 14:03 น. ()แก้ไขเมื่อ 10 พฤษภาคม 2012 14:07 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท