บทอาขยานสู่การเรียนรู้ 2 จบ ชาตรี สำราญ


บทอาขยานควรสอนให้เด็กๆ ได้ ท่องจำ ต้องทำ เพราะมีคุณค่ามหาศาล ถ้าได้ผ่านกระบวนการเรียนรู้ที่ถูกต้องจนฝังใจเป็นทักษะถาวรแก่ผู้เรียน

จากที่เขียนมาทั้งหมดนี้  เพื่อแสดงให้เห็นว่าการสอนบทอาขยานหรือบทดอกสร้อยนั้น  ไม่ใช่เฉพาะแต่การสอนให้ท่องจำเท่านั้น  ครูผู้สอนจะต้องสอนให้  ท่องจำสู่การต้องทำด้วย  เพราะการท่องจำโดยไม่รู้ความหมายหรือท่องจำอย่างเดียว  ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์แก่ผู้เรียน  การเรียนจะต้องให้ผู้เรียนเรียนรู้อย่างใความหมายต่อผู้เรียนจึงจะเกิดการเรียนรู้

                ถามว่าแล้วจะให้เด็กๆ รู้อะไรบ้าง

                คำถามนี้ท้าทายให้ค้นหาคำตอบมาก  ให้พยายามเค้นความคิดด้วยดวงจิตที่มุ่งมั่นจะสอนเด็กเพ่ะตั้งใจไว้ว่า

                คิดสิ่งที่จะสอน

                จะสอนให้เด็กคิด

                โดยจะสอนบทอาขยานหรือบทดอกสร้อย  ในรูปแบบท่องจำสู่การต้องทำ  ด้วยวิธีการดังนี้

                1. ท่องจำ  การท่องจำนั้นมีหลายระดับที่จะช่วยพัฒนาผู้เรียนให้เกิดการคิด  เช่น 

                                1.1 จำเป็นต้องจำ  คือจำแบบจำปากเพื่อนำไปตอบสอบคำกับครู  และจำเพื่อฝึกสมองให้พัฒนาทั้งซีกซ้าย  ซีกขวา  เพราะการจำบทร้อยแก้วและร้อยกรอง  ก็เป็นการพัฒนาสองได้ทางหนึ่งด้วย

                                1.2 จำจนขึ้นใจ  การจำขั้นนี้เป็นการจำจากที่จำแบบนกแก้วนกขุนทองมาสู่การจำแบบสามารถรำลึกได้  คือ  เมื่อต้องการจะนำไปใช้ก็รำลึกนึกมาได้  เพราะทุกอย่างอยู่ในหัวใจบันทึกไว้ในความทรงจำ  สามารถนึกเรียงลำดับมาใช้ได้อย่างดี  ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการฝึกในขั้นที่ 1  ว่าจำได้มากน้อยเพียงใด  ถ้าจำได้ดี  เรียงลำดับก่อนหลังได้ก็จะดึงไปใช้ได้ง่ายๆ เหมือนเราบรรจุโปรแกรมความจำไว้ในสมองนั่นเอง

                                1.3 จำแบบบท  เป็นการจำเพื่อนำไปใช้ประกอบการเขียนบทร้อยกรองทำนองเสนาะได้   เพราะรูปแบบของฉันทลักษณ์แต่ละอย่างนั้นมีแบบครู  ให้ดูได้เป็นแบบอย่าง  เช่น  จะเขียนโคลงก็นึกถึง

                                เสียงลือเสียงเล่าอ้าง            อันใด  พี่เอย

                เสียงย่อมยอยศใคร                              ทั่วหล้า

                สองเขือพี่หลับไหล                             ลืมตื่นฤๅพี่

                สองพี่คิดเองอ้า                                    อย่าได้ถามเผือ

 

                คำครูเหล่านี้จะช่วยให้นักเลงกลอนสอนเขียนสามารถนำมาใช้ได้ทุกครั้งในเวลาจะเขียน  กวีต้นแบบได้ร้อยเรียงฉันทลักษณ์ไว้ให้เห็นเป็นแบบอย่างที่ดีแล้ว

                                1.4 จำบทร้อยถ้อยคำ  บทกวีแต่ละบทนั้น  กวีผู้รจนางานได้เพียรพยายามเรียงร้อยถ้อยคำนำมาเขียนให้ไพเราะสละสลวยเป็นแบบอย่างของการใช้ภาษา  อีกทั้งได้สอดใส่อารมณ์ลงในถ้อยคำเหล่านั้น  ทำให้เวลาอ่านจะเห็นภาพของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้  ดังเช่น

                ชะโดดุก   กระดี่โดด   สลาดโลด   ยะหยอยหยอย 

                กระเพื่อมน้ำ   กระพร่ำพรอย   กระฉอกฉาน   กระฉ่อนชล

                                อ่านแล้วเห็นภาพธรรมชาติ  เห็นปลามาว่ายเวียนอยู่ข้างหน้า  กระโดดไปมาให้ละอองน้ำโดนเรา  ข้อความเหล่านี้  ถ้าเราจดจำแล้วนำมาฝึกเรียงร้อยให้เป็นถ้อยภาษาใหม่บ่อยๆ จะทำให้เราเขียนภาษาได้งดงามยิ่งขึ้น

                2. ต้องทำ  เมื่อเด็กๆ สามารถจดจำบทกวีได้ตามลำดับขั้นตอนดังที่เสนอไว้ในข้อ 1  แล้ว  ครูสามารถพัฒนาเด็กให้เป็นผู้กระทำบ้าง  เพราะการทำดีกว่าการจำแต่เพียงอย่างเดียว  การทำที่มีลำดับขั้นตอนดังนี้คือ

                                2.1  ต้องทำการถอดแบบผังคำประพันธ์  ให้เห็น

                                                -  คำสัมผัสนอก  สัมผัสใน

                                                -  คำสัมผัสระหว่างบท  ระหว่างวรรค

                                                -  ลูกเล่นคำนำเขียนที่เสริมสร้างให้บทประพันธ์นั้นๆ อ่านแล้วให้อารมณ์อ่อนพริ้วหวิวไหวหรือโกรธเคืองไปตามถ้อยภาษาที่ร้อยเรียงไว้  จนเกิดความสะเทือนอารมณ์แก่ผู้อ่าน

                                2.2 ต้องทำการค้นหาความหมายของคำแต่ละคำ  ที่นำมาเรียงร้อยให้เกิดเสียงไพเราะ  แต่ถ้าเจาะลึกลงไปจะพบว่าคำแต่ละคำนั้น  ซ่อนเร้นความหมายที่มีหลายนัย  เป็นอวัจนสารให้ได้คิด  นั่นคือ  ฝึกเด็กให้รู้เท่าทันภาษา  เพราะภาษาหรือคำแต่ละคำในบางคำมีความหมายแฝงไว้  เป็นหลุมพรางให้ผู้อ่านตกลงไปในถ้อยภาษาได้  ถ้ารู้ไม่เท่าทัน

                                แต่ถ้ารู้เท่าทันก็จะอ่านวรรณกรรมเหล่านั้นได้อรรถรสยิ่ง  เช่น  รักดีหามจั่ว  รักชั่วหามเสา  เราต้องตีความหมายให้เห็นภาพแล้วจึงจะเข้าใจภาษา  เพราะในภาษาซ่อนภาษาให้เราหาความหมาย

                                2.3 ต้องทำการวิเคราะห์เจาะใจผู้เขียนว่า

                                                -  ทำไมจึงต้องเขียนบทร้อยกรองบทนี้

                                                -  มีแรงบันดาลใจอย่างไร

                                เพราะคำถามเหล่านี้ทำให้ต้องเจาะลึกศึกษาที่มาที่ไปของวรรณกรรมที่อ่านเกลียวโยงกับประวัติศาสตร์เหตุการณ์บ้านเมือง  ทำให้ผู้อ่านรู้รอบจะส่งผลให้รอบรู้ได้

                                2.4 ต้องวิเคราะห์เจาะลึกให้เห็นความสอดรับเชื่อมโยงกับเหตุการณ์ต่อเหตุการณ์  คือ  อดีต  ปัจจุบันต่อถึงอนาคต  แล้วผันสู่ความเชื่อมโยงถึงผู้อ่านว่า

                                -  สิ่งนั้น  (เรื่องที่เกิด)  น่าจะมีผลกระทบต่อตนเอง  ต่อสังคม  ต่อประเทศชาติ  ต่อโลกได้อย่างไรบ้าง

                                -  มีวิธีปฏิบัติอย่างไรที่จะไม่ให้เหตุการณ์ดังกล่าว  (ถ้าเป็นเหตุการณ์ด้านลบ)  เกิดซ้ำขึ้นได้อีก

                จะเห็นได้ว่า  ทั้งการจำและการทำ  จะทำหรือสอนเพียงผ่านๆ ไม่ได้  เพราะทักษะจะเกิดขึ้นแก่ผู้เรียนได้เมื่อได้ทำซ้ำๆ ซึ่งผู้เรียนจะต้องผ่านกระบวนการทำซ้ำในรูปแบบได้

                                ฝึกหัด

                                ฝึกฝน

                                ฝึกปรน

                                ฝึกปรือ

                สี่ขั้นตอนนี้มีค่าต่อการจัดกิจกรรมการเรียนการสอน  เพราะเป็นการผนึกกำลังทางความคิดให้เด็กๆ ผู้เรียนมีความชำนาญการเขียนขึ้นเรื่อยๆ จาก  หัดเขียน  เป็นนักเขียนได้  และเขียนเป็น

                สื่อสิ่งพิมพ์ต่างๆ ก็สามารถนำมาประกอบการสอนกับบทเรียนดอกสร้อยหรือบทอาขยานได้  โดยครูตั้งประเด็นคำถามสร้างสถานการณ์ให้เด็กได้คิดวิเคราะห์ว่า

                -  ประโยคหรือข้อความนี้มีความสอดคล้องพ้องรับกับข่าวเรื่องใด  อย่างไร  ทำไม

                -  คิดว่าถ้าปล่อยให้เหตุการณ์ในข่าวเกิดขึ้นต่อไปแล้วจะมีผลกระทบอย่างไร  ทำไมจึงคิดอย่างนั้น

                คำถามแค่นี้  นักเรียนจะต้องใช้เวลาในการพิจารณาข่าวให้สอดคล้องกับข้อความในบทอาขยานนานพอดู

                ผมเคยให้เด็กวิเคราะห์ข้อความในบทอาขยานตอน  “...เป็นเครื่องหาเลี้ยงชีพสำหรับตน”  เด็กๆ จะต้องใช้เวลานานกว่า 20 นาที  ในการวิเคราะห์ข่าวแล้วจึงลงมือตัดฉีกเนื้อข่าวจากหนังสือพิมพ์มาปะติดบนกระดาษ  แล้วขยายความให้สอดรับกับเนื้อข่าวที่ต้องการ

                การอ่านข้อความ  นำมาวิเคราะห์หาสาระสำคัญว่าทิศทางที่แท้จริงอยู่ตรงไหน  ควรใช้ข่าวหรือภาษาใดประกอบการวิเคราะห์ข่าว  ข้อความ  และภาพข่าว  เพื่อมาประกอบกับข้อความที่ต้องการให้สอดรับกัน  อีกทั้งเด็กๆ จะต้องหาเหตุผลในการเลือกข่าวมาเขียนลงในชิ้นงาน  รวมถึงการทำนายอนาคตและสถานการณ์ข้างหน้า  และการคิดค้นหาหนทางป้องกันไม่ให้เกิดสถานการณ์ซ้ำซ้อน  คือกระบวนการเรียนรู้ที่ครู้จะต้องสร้างให้เกิดขึ้นแก่เด็กๆ เพราะนี่คือทักษะชีวิตที่แท้จริงในโลกแห่งข้อมูลข่าวสารไร้พรมแดน  ครูจำเป็นที่จะต้องสร้างลักษณะนิสัยการคิดวิเคราะห์วิจารณ์  มีดุลยพินิจในการบริโภคข้อมูลข่าวสารให้มากๆ จนเกิดเป็นทักษะชีวิต  ถ้าเด็กบังเกิดพฤติกรรมพินิจพิเคราะห์ข้อมูลข่าวสารอย่างมีเหตุผล  รู้จักบริโภคข้อมูลข่าวสาร  รู้จักตั้สติรองรับข้อมูลข่าวสาร  รู้จักระงับความอยาก  ที่จะบริโภคสิ่งของตามโฆษณาในสื่อต่างๆ ไดแล้ว  เด็กๆ จะมีชีวิตอยู่ในโลกไร้พรมแดนได้อย่างสงบสบาย  นั่นคือ  เด็กจะฉายภาพ  เก่ง  ดี  มีสุข  ให้เห็นได้อย่างเด่นชัด

                เขียนมาถึงตรงนี้ใคร่ที่จะสรุปว่า  บทอาขยานควรสอนให้เด็กๆ ได้  ท่องจำ  ต้องทำ  เพราะมีคุณค่ามหาศาล  ถ้าได้ผ่านกระบวนการเรียนรู้ที่ถูกต้องจนฝังใจเป็นทักษะถาวรแก่ผู้เรียน 

                บทดอกสร้อยสุภาษิตคือ  สร้อยมรกตอันล้ำค่า  ถ้าครูรู้จักนำมาใช้สอน            


        อ่านเป็นเล่มได้ที่นี่ https://drive.google.com/file/...            

 

หมายเลขบันทึก: 486803เขียนเมื่อ 2 พฤษภาคม 2012 09:46 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 ตุลาคม 2018 13:11 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

เป็นหนังสือของ มูลนิธิ สดศรี- สฤษดิ์วงศ์ครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท