วิชาการสายรับใช้สังคมไทย : 49. มหาวิทยาลัยเพื่อยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ในพื้นที่


มหาวิทยาลัยเพื่อการยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ในพื้นที่ต้องไม่จัดองค์กร (organization) ตามแบบมหาวิทยาลัยเพื่อวิชาการ คือไม่เอาวิชาการเป็นตัวตั้ง แต่เอางาน (ยกระดับชีวิตความเป็นอยู่) เป็นตัวตั้ง ดังนั้นแทนที่มหาวิทยาลัยชุมพรจะแยกหน่วยงานเป็นคณะวิชา ก็แยกเป็นคณะพัฒนาแทน

วิชาการสายรับใช้สังคมไทย  : 49. มหาวิทยาลัยเพื่อยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ในพื้นที่

การเสวนาเรื่องการจัดตั้งมหาวิทยาลัยชุมพรตามบันทึกนี้ ทำให้ผมนึกถึงมหาวิทยาลัยที่มีเป้าหมายหลัก เพื่อยกระดับการทำมาหากิน และยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนในพื้นที่   หรือในภาษาวิชาการอาจเรียกว่า เพื่อการพัฒนาอย่างสมดุลและยั่งยืนของพื้นที่

ผมเคยบันทึกเรื่องอุดมศึกษากับการพัฒนาพื้นที่และเมืองไว้ที่นี่ และที่นี่

จังหวัดชุมพรเตรียมจัดการประชุมเสวนา ว่ามหาวิทยาลัยชุมพรควรมีลักษณะอย่างไร 

  

โดยผมจะไปพูดแนะนำแนวความคิดใหม่ ให้ตั้งมหาวิทยาลัยแบบใหม่ คือเน้นการทำหน้าที่พัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ของคนในพื้นที่    ซึ่งก็คือเน้นทำงานวิชาการสายรับใช้สังคมนั่นเอง    โดยผู้ทำงานพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนในพื้นที่คือ (๑) ผู้บริหารมหาวิทยาลัยระดับต่างๆ  (๒) อาจารย์ทุกคน ย้ำว่าทุกคน  (๓) เจ้าหน้าที่สายสนับสนุน  (๔) นักศึกษา    โดยทำงานร่วมกับภาคี หรือหุ้นส่วน ที่หลากหลาย ทั้งในพื้นที่ และนอกพื้นที่   รวมทั้งบางกรณีภาคีอาจมาจากต่างประเทศ   ภาคีที่สำคัญยิ่งคือ อปท.  และภาคธุรกิจ

การทำหน้าที่พัฒนาความเป็นอยู่ของคนในพื้นที่ ทำผ่านภารกิจหลากหลายรูปแบบ   ได้แก่ (๑) การเรียนการสอน   ซึ่งจะเน้นเรียนแบบทำโปรเจ็กต์ (Project-Based Learning - PBL) และอาจารย์จะอาศัยความสัมพันธ์กับผู้คนในพื้นที่หาโปรเจ็กต์ที่เป็นงานจริงๆ ให้ นศ. ทำ    ซึ่งจะทำให้ นศ. ได้เรียนแบบ Learning by Doing เป็นหลัก   และอาจารย์ จะทำหน้าที่เป็น learning facilitator ของ PBL   (๒) การทำงานวิจัย ที่เน้นวิจัยเพื่อการพัฒนาพื้นที่ ตามความต้องการของหน่วยงานหรือผู้คนในพื้นที่    ซึ่งหมายความว่ามีแหล่งทุนสำหรับทำงานวิจัย   (๓) การทำงานบริการวิชาการให้แก่ชุมชน ซึ่งก็จะทำให้มหาวิทยาลัยมีรายได้สำหรับนำมาเลี้ยงตัวเอง และส่วนหนึ่งเลี้ยงนักศึกษาด้วย

มหาวิทยาลัยที่ชำนาญในการทำงาน ๓ ด้านข้างบนตามความต้องการของสังคม ชุมชน หรือพื้นที่ ที่ผมรู้จักดีแห่งหนึ่งคือ สถาบันอาศรมศิลป์   ที่ทำหน้าที่สถาบันอุดมศึกษาแบบบูรณาการการเรียนรู้ การวิจัย และการให้บริการสังคม ไว้ในงานชิ้นเดียวกัน   และหารายได้มาเลี้ยงสถาบันและเป็นทุนเลี้ยงชีพของนักศึกษาได้ด้วย    มหาวิทยาลัยชุมพรน่าจะไปขอเรียนรู้วิธีดำเนินการแนวบูรณาการนี้จากสถาบันอาศรมศิลป์

ภารกิจที่ (๔) ที่มหาวิทยาลัยชุมพรน่าจะพิจารณาคือ ตั้งบริษัททำธุรกิจด้านใดด้านหนึ่งแบบใช้ความรู้เข้มข้น และกิจการนี้มีคุณค่าแก่คนในพื้นที่จังหวัดชุมพร   โดยน่าจะเชิญชวนคหบดีในจังหวัดร่วมกันลงทุน และเป็นกรรมการบริษัท   เป้าหมายหนึ่งคือ ให้บริษัทนี้เป็นแหล่งหาเงินสนับสนุนมหาวิทยาลัย   คือเน้นการเป็นบริษัทแบบ social enterprise ไม่ใช่เน้นกำไรสูงสุด   และแทนที่จะเรียกชื่อว่าบริษัท ก็อาจเรียกว่าเป็นสำนัก   แต่จดทะเบียนเป็นบริษัท เพื่อให้เป็นนิติบุคคลแยกออกไป เพื่อให้มีระบบการจัดการที่คล่องตัว

มหาวิทยาลัยเพื่อการยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ในพื้นที่ต้องไม่จัดองค์กร (organization) ตามแบบมหาวิทยาลัยเพื่อวิชาการ   คือไม่เอาวิชาการเป็นตัวตั้ง   แต่เอางาน (ยกระดับชีวิตความเป็นอยู่) เป็นตัวตั้ง    ดังนั้นแทนที่มหาวิทยาลัยชุมพรจะแยกหน่วยงานเป็นคณะวิชา   ก็แยกเป็นคณะพัฒนาแทน   เช่นคณะพัฒนาเศรษฐกิจ  คณะพัฒนาสิ่งแวดล้อม  คณะพัฒนาสุขภาพ เป็นต้น

กติกาด้านบุคลากรต้องกำหนดตามแนวใหม่หมด  ตั้งแต่ competency/skills ของอาจารย์ที่พึงประสงค์ กติกาการทำงาน การคิดภาระงานของบุคลากร  เกณฑ์คุณภาพของผลงานวิชาการ(สายรับใช้สังคม)    ซึ่งจะต้องมีคณะทำงานขึ้นมายกร่าง    และต้องเตรียมไว้ว่า เมื่อใช้ไประยะหนึ่งก็ต้องมีการทบทวนปรับปรุง เพราะเป็นเรื่องใหม่ที่ไม่มีใครทำมาก่อน

สรุปว่า มหาวิทยาลัยเพื่อยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ในพื้นที่ ทำงานพัฒนาพื้นที่ด้วยวิชาการ พร้อมๆ ไปกับการพัฒนาคน คือ นศ. และอาจารย์ (และบุคลากรสายสนับสนุนอื่นๆ) รวมทั้งพัฒนาชาวบ้านในพื้นที่ด้วย   และในเวลาเดียวกันก็เกิดการพัฒนาวิชาการ    และพัฒนาวิธีการจัดองค์กรสถาบันอุดมศึกษาแบบใหม่   พัฒนาวิธีการจัดการสถาบันอุดมศึกษาแบบใหม่ ที่แตกต่างไปจากเดิม เพื่อเน้นทำหน้าที่พัฒนาพื้นที่ 

วิธีการจัดการที่จะต้องคิดขึ้นใหม่ มีทั้งจัดการบุคลากร  จัดการเรียนการสอนและประกันคุณภาพบัณฑิต  จัดการสินทรัพย์รายได้รายจ่าย  และจัดการความสัมพันธ์กับภาคีต่างๆ ในพื้นที่ (และนอกพื้นที่)

สงสัยว่า สถาบันอุดมศึกษาแบบแหวกแนวขนาดนี้จะอยู่รอดยาก ถ้าทีมผู้บริหารไม่เก่งอย่างถึงขนาด   คือจะโดนบุคลากรที่ยึดติดแนวทางและจารีตวิชาการแบบเดิมๆ ค่อยๆ เปลี่ยนไปสู่แนวทางเดิม    คือกลายเป็นมหาวิทยาลัยเพื่อวิชาการเหมือนมหาวิทยาลัยทั่วๆ ไป    ดังนั้น หากมหาวิทยาลัยชุมพรจะเอาแนวทางใหม่นี้จริง ต้องมีระบบจัดการความเสี่ยงที่เอาจริงเอาจัง   โดยความเสี่ยงที่น่ากลัวที่สุดคือ การกลายพันธุ์   หรือการมีความขัดแย้งรุนแรงจากการที่บุคลากรด้านวิชาการส่วนหนึ่งต้องการให้ใช้จารีตวิชาการตามแนวทางที่เขาเคยเรียนมา

ระบบจัดการความเสี่ยงนี้ ต้องเน้นที่การคัดกรองบุคลากรที่เข้าร่วมงาน เน้นที่แรงบันดาลใจและศรัทธาต่อมหาวิทยาลัยประเภทแหวกแนวนี้    รวมทั้งการสื่อสารสังคม ให้เกิดความเข้าใจ และเห็นคุณค่ามหาวิทยาลัยแนวใหม่นี้   สื่อสารจากเรื่องจริง เป็นระยะๆ ต่อเนื่องตลอดเวลา    นั่นคือเน้นสื่อสารด้วย case stories

วิจารณ์ พานิช

๒๘ เม.ย. ๕๕

หมายเลขบันทึก: 486437เขียนเมื่อ 29 เมษายน 2012 05:54 น. ()แก้ไขเมื่อ 29 พฤษภาคม 2012 21:02 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

เห็ด้วยอย่างยิ่ง อยากทำงานกับมหาวิทยาลัยเพื่อยกระดับคูณภาพชีวิตในพื้นที่ แต่ต้องเปลี่ยนตัวชี้วัดประเมินมหาวิทยาลัย เพื่อให้มหาวิทยาลัยสามารถทำงานเช่นนี้ได้

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท