การดูแลผู้ป่วยมะเร็งลำไส้ใหญ่ระยะที่ ๓ อนุสรณ์ที่ดีงามและประวัติแม่คำ ทองเลิศ(ต่อ)


การดูแลผู้ป่วยมะเร็งลำไส้ใหญ่ระยะที่ ๓  ตอน “เมื่อแม่ต้องล้มหมอนนอนเสื่อ

ความพ่ายแพ้ที่ไม่แพ้กับอาการปวดหลัง”

         แม่เข้ารับการรักษาที่ รพ.ปรางค์กู่ในวันที่ ๓ ตุลาคม ๒๕๕๔ ถึง วันที่ ๑๐ ตุลาคม ๒๕๕๔    ๗ วันแล้วที่แม่ต้องอยู่ในความดูแลของหมอโรงพยาบาลปรางค์กู่อย่างใกล้ชิด สิ่งที่น่าเป็นห่วงที่สุดคือแม่ติดเชื้อในกระแสเลือด หมอให้ยาครบ ๗ วันแม่ยังมีอาการไข้บ้าง ที่สำคัญที่สุดคือ น้ำตาลของแม่ขึ้นลงตลอดเวลา(คนปกติ ๘๐-๒๐๐) แต่บางวันปกติ บางวันขึ้นกว่า ๒๐๐ บางครั้งลดเหลือ ๖๐ จึงทำให้แม่รู้สึกเหนื่อย มีไข้ แต่แม่ก็ยังรู้สึกดี น้ำเกลือหมดก็บอกให้คนเฝ้าไปบอกหมอ หรือเวลาผู้เขียน พี่น้องอยู่ด้วยก็ให้หาของฝากมาให้หมอพยาบาล(ของกินเล็กๆ น้อยๆ)จึงเป็นนิสัยที่ของแม่ชอบทำในการให้บริการหรือให้คนอื่นอยู่ตลอดชีวิตที่เห็นแม่ทำอย่างนี้

        การดูแลแม่วันนี้อาการปวดหลังของแม่ก็ยังปวด แต่ให้ยาบรรเทาปวดด้วยการพ่น กิน ทำให้แม่ไม่รู้สึกปวดมากนัก ลุกนั่งกินข้าวได้แต่แม่ก็ชอบที่จะนอนมากกว่า แววตาของแม่ช่วงนี้ทำให้ลูกๆ รู้สึกกังวลเมื่อเห็นแม่มีความหวาดวิตก แต่แม่ก็มีกำลังใจ ไหว้พระก่อนนอนทุกวันแม้ว่าจะอยู่ที่โรงพยาบาล ญาติๆ มาเยี่ยมให้กำลังใจ ทำให้ให้แม่รู้สึกดี สดชื่นและความจำยังดี
          วันนี้แม้แม่ล่วงวัย ๘๔ ปี “การเกิด แก่ เจ็บ ตาย” เป็นเรื่องธรรมดาสำหรับชีวิต ในความ “พ่ายแพ้”ที่แพ้ต่อ “สังขาร”แต่ลูกๆทุกคนมั่นใจว่าลูกๆ  ไม่ได้ “พ่ายแพ้ต่อความดีงามที่มีต่อแม่” และ “แม่”ก็”ไม่ได้พ่ายแพ้ต่อความดีงามที่ทำและสั่งสมมาทั้งชีวิต” เพราะวันนี้แม่ยังเป็นผู้ให้ เป็นพุทธมามะกะ ที่พร้อมที่จะบำรุงศาสนา ยังระลึกถึงคุณบิดามารดา ยังอุทิศ บุญกุศล คุณงามความดีสำหรับผู้มีพระคุณและคนรอบข้างมิได้ขาด ตลอดชีวิตแม่ แม่ไม่เคยทะเลาะกับใคร ไม่เคยมีปากเสียงกับใคร แม่จะประพฤติในสิ่งดีงาม ในความเป็น “แม่”ที่มีต่อลูก วันนี้ “แม่ แม้จะพ่ายแพ้ต่อสังขาร แต่ แม่ไม่เคยพ่ายแพ้ต่อความดีงาม”
           จึงเป็นความรู้สึกของลูกคนหนึ่งที่ได้พูดได้เขียน ได้บอกความรู้สึกถึงความดีงามของแม่ ขณะที่แม่ยังนอนป่วยที่โรงพยาบาล ด้วยความหวัง “แม่จะกลับบ้าน” ด้วยความหวังที่แม่จะกลับมาอยู่ใน “อ้อมกอด” ของลูกอีกครั้งหนึ่ง เหมือนหลายครั้งที่ผ่านมา

การดูแลผู้ป่วยมะเร็งลำไส้ใหญ่ระยะที่ ๓  ตอน “เมื่อแม่ต้องล้มหมอนนอนเสื่อ

ความพ่ายแพ้ที่ไม่แพ้ : แม่ไปทอดกฐินด้วยกันนะ”

         ๒๓ ต.ค.๕๔ หลัง จากแม่ออกจากโรงพยาบาลปรางค์กู่ ด้วยความหวังของลูกๆทุกคนที่แม่มีอาการดีขึ้น เบาหวานลด ความดันปกติ กลับมาอยู่บ้านอาการปวดหลังทุเลาลง เนื่องจากหมอให้ยาแก้ปวดชนิดรุนแรง แม่กินข้าวได้ ไม่ต้องกินยาเบาหวาน ควบคุมอาหาร ลูกๆ ตรวจวัดความดันและเบาหวานทุกวัน ลูกหลานมาเยี่ยมทั้งใกล้และไกล
          วันนี้แม่ปวดหลังมากขึ้น ผู้เขียนต้องวิ่งเข้าออกโรงพยาบาลเพื่อรับยาและปรึกษาคุณหมอ โดยคุณหมอพัชรี ให้การดูแลปรึกษาตลอดจนให้คำแนะนำรักษา ซึ่งทำให้ผู้เขียนรู้สึกประทับใจและมั่นใจในการดูแลรักษามากขึ้น ลูกๆ ทุกคนวิตกกังวลมากขึ้นเมื่อแม่นอนไม่หลับความดันสูง เบาหวานขึ้น จึงต้องได้รับยาอย่างเร่งด่วน และช่วงกลางคืน(๒๓ ต.ค.๕๔)  ต้องพาแม่ไปหาหมอแม่ปวดหลังมากขึ้นและละเมอพูดจับใจความไม่ได้  พบหมอเสร็จหมอให้กลับบ้านทั้งๆ ที่เราอยากให้แม่นอนโรงพยาบาล แต่หมอก็ไม่ให้นอน ลูกๆ ต้องคอยวัดน้ำตาลความดันทุกสองชั่วโมงเพื่อให้มั่นใจว่าความดันและเบาหวานปกติ ถ้าน้ำตาลลดต้องรีบให้น้ำตาลหรือกลูโคสที่เตรียมไว้
          ทุกคนกังวลใจมากคือการทำบุญกฐินในวันที่ ๒๗-๒๙ ตุลาคม ๕๔ กลัวจะต้องสูญเสียแม่ เนื่องจากแม่ไม่เคยเป็นหนักขนาดนี้ การสูญเสียแม่ก่อนวันทำบุญคงเป็นเรื่องยากที่จะทำใจ ผู้เขียนเองกังวลมากเนื่องจากต้องเป็นคนพาแม่ไปหาหมอ รับรู้ว่าแม่อาการหนักหนาสาหัสมาก แต่ก็นั่นแหล่ะสิ่งที่ทำได้ตอนนี้คือ ต้องอาศัย “บุญ กรรม” ที่แม่เคยทำ เคยสร้าง เคยก่อ ที่เป็น “บุญดี กรรมดี” ที่แม่ทำหนุนนำกับกุศลให้แม่ได้ทำบุญกฐินครั้งที่ ๓ ตามที่แม่หวัง ซึ่งลูกๆกำลังช่วยกัน "ก่อและสร้างกรรมดี"ให้เป็น "พลวัตร" ให้แม่
          ข้อคิด “มะเร็ง เราไม่อาจคาดเดาได้ว่า มันจะกลับมาหาอีกเมื่อไร ทั้งที่เรา ระวังมากที่สุดแล้ว”

 

 การดูแลผู้ป่วยมะเร็งลำไส้ใหญ่ระยะที่ ๓  ตอน “เมื่อแม่ต้องล้มหมอนนอนเสื่อ

ความพ่ายแพ้ที่ไม่แพ้ : สู้ให้ถึงที่สุด”

๒๓ ต.ค.๕๔ เวลา ๐๑.๐๐ น.  

          คืนนี้ช่างเป็นคืนที่มีความรู้สึก “โหดร้าย” กับแม่ ... ลูกทุกคนได้แต่หวัง.. และหวัง .. ความรู้สึก ความจำแม่ “อ่อนแอ” ลงทุกที ออกจากโรงพยาลปรางค์กู่ แม่ยังเพ้อ ลืมเสียม ลืมห่อข้าวต้มมาฝากหมอที่โรงพยาบาลปรางค์กู่
          ความรู้สึกลูกๆ ไม่ต่างกันนัก ไม่มีรอยยิ้มให้แก่กัน ได้แต่ปลอบประโลมกันและกัน ... เพื่อยอมรับความจริงที่กำลังจะเกิดขึ้น  ผู้เขียนเอง...ต้องเข้มแข็ง ... ทั้งจิตใจ ร่างกาย ...บอกพี่น้องให้ “ยอมรับ” ... “สังขาร” .. และวัน... เวลา ... ที่อาจดูว่านานกับคำคืนนี้ ...
          สุดท้ายเราต้องปรึกษากับคุณหมอโรงพยาบาลปรางค์กู่ เพื่อส่งต่อแม่มารักษาที่โรงพยาบาลสรรพสิทธิ์ จังหวัดอุบลราชธานี พี่สาวซึ่งรู้จักหมอที่โรงพยาบาลสรรพสิทธิ์(เพราะการส่งต่อตามกระบวนการต้อง เข้าโรงพยาบาลศรีสะเกษก่อน รพ.ศรีสะเกษจึงจะส่งต่อไปอุบลได้) ได้ประสานโรงพยาบาลเพื่อรับการรักษา(เพิ่งเข้าใจว่าสิทธิพิเศษมีจริงๆ) ในเวลาเกือบเที่ยงคืน
          ด้วยข้อคิดของคุณหมอโรงพยาบาลปรางค์กู่ ว่าควรจะเดินทางตอนเช้า และได้ทำเอกสารส่งตัวให้ตอนตีห้า ด้วยรถยนต์ตัวเองเนื่องจากเป็นการข้ามขั้นตอนการรักษาและเป็นความต้องการของญาติผู้ป่วยจึงไม่มีรถรับส่งให้ ถึงโรงพยาบาลอุบลหกโมงเช้า หมอรับเป็นคนไข้ใน 

          ๒๔ ต.ค.๕๔

          ให้พี่น้องดูแลแม่อยู่กับแม่ ผู้เขียนเองได้ใช้เวลาที่ความรู้สึก “โหดร้าย” “หวาดหวั่น” กับการที่ต้องอาจสูญเสีย เพราะแม้แต่จะย้ายห้องย้ายเตียงในโรงพยาบาล “แม่” ก็ต้องถามหาว่าผู้เขียนอยู่ไหน ต้องรอผู้เขียนก่อน จึงจะยอมไป ....

          วัน เวลา ที่หวาดหวั่น วัน เวลา ที่แสนเศร้า... และวันเวลาที่เหลือน้อยลงทุกที ... สิ่งสุดท้ายของผู้เขียนวันนี้ คือเข้าวัด .. ไหว้พระ ...ขอพร ... อธิษฐานจิต ... ให้แม่ปลอดภัย... หาย... กลับบ้านไปทำบุญกฐิ ... ในปีนี้

          วัดป่าใหญ่ ...เจ้าใหญ่อินแปง ... ลูกชายคนนี้ได้ขอพรให้แม่หาย มีอายุยืนยาวต่อไป แม้จะเป็นเพียงความรู้สึกหนึ่ง...ในความ“หวังที่หวาดหวั่น”  “ในความหวังที่เป็นห่วง”

          การเสี่ยงทายยกช้างที่วัดป่าใหญ่ ... ครั้งนี้ ...

          ครั้งที่ ๑ ถามว่า แม่จะหายหรือเปล่า  ยกช้างขึ้น

          ครั้งที่ ๒ ถามว่า แม่จะหายหรือไม่ ยกช้างไม่ขึ้น

          การยกเสี่ยงทายเป็นไปตามแรงอธิษฐานและสิ่งที่น่าสังเกตคือ สองครั้งที่แม่เจ็บหนัก ครั้งที่หนึ่งที่วัดขามแก่น จังหวัดขอนแก่น เสี่ยงทายเช่นกัน ขอพรให้แม่อายุเกิน ๙๕ ปี ประมาณปี ๒๕๕๐ ก็ยกช้างขึ้นครั้ง

ที่ ๑  ครั้งที่ ๒ ยกไม่ขึ้น

          ครั้งนี้ก็เช่นกัน ทำให้ผู้เขียนมีกำลังใจและโทรศัพท์ไปถามพี่ที่ดูแลแม่ ... แม่พูดคุยทางโทรศัพท์กับผู้เขียนได้ อาการที่หวาดหวั่นในค่ำคืน ๒๓ ตุลาคม ๒๕๕๔  เบาบางลงไป ...การดูแลรักษา หมอตรวจสมอง ตรวจกระดูกสันหลังที่ปวด ความดัน เบาหวาน  และแม่ก็ดีขึ้น ... พูดคุย ...ความจำกลับมา คุยโทรศัพท์ได้ ..

          น้ำเสียงทางโทรศัพท์ของพี่ ... ของแม่ ...ดูมีความหวังและมีความสุข ... ขอเถอะ... หากแบ่งชีวิตที่เหลืออยู่ของลูกให้แม่ได้ ....ลูกชายคนนี้ ... อยากให้ชีวิตนี้กับแม่ ไปทั้งชีวิต ... ด้วยน้ำตาของลูกคนนี้ ... ยังเป็นของแม่คนเดียวเสมอ

          “สิ่งหนึ่งที่อยากจะฝากสำหรับทุกท่านที่เป็นลูก หรือเป็นผู้ดูแลผู้ป่วยโรคอะไรก็ตาม หรือแม้แต่ .. การดูแลรักษาผู้ป่วย..ของหมอ และโรงพยาบาลของแต่ละแห่งแตกต่างกันในด้าน “บุคลากร” เครื่องมือ...ในการวินิจฉัย... หากแม้มีโอกาสและทางเหลือที่เหลืออยู่ ...บางที่เราต้องเลือกและแสวงหา... ความหวัง ... จากหลายโรงพยาบาล ...เพราะปัจจัยความแตกต่างในบ้านเมืองเรา .....ยังก้าวไม่ทันกัน” ...

          ๒๙ ต.ค.๕๔  เวลา ๑๔.๒๘ น.  

          วันนี้ ทอดกฐิน วัดบ้านกลางได้ยอดกฐิน ๘๐,๙๔๙ บาท แต่มีการสมทบอื่น ๆ เช่น ต้นดอกไม้ อีก รวมประมาณ ๑๕๐,๐๐๐บาท

          พร้อมกับข่าวดีว่าแม่ หมอให้แม่ออกจากโรงพยาบาลอุบลฯ และจะนัดตรวจหลัง ตรวจความดัน

อีกประมารณ ๗ วัน ก็ได้แต่หวังว่าแม่จะกลับมาปกติ แม้จะหลงลืมบ้างเป็นไปตามอายุที่มากขึ้น

           วันนี้อิ่มบุญแม่กรวดน้ำ ...ทำบุญทางโทรศัพท์กับลูกหลานคงจะดีขึ้น

          เหนื่อยไหม.. ความรู้สึกนี้มีทุกคน ขอเพียงแม่มีความสุขลูก ๆ ทุกคนพร้อมที่จะเหนื่อย พร้อมที่จะทำให้ “แม่” เหมือนที่แม่เคยฟูมฟักลูก ๆ ทุกคนให้มีวันนี้...

          ๓ พ.ย. ๕๔    

          แม่กลับจากโรงพยาบาลสรรพสิทธิฯ หลังทอดกฐิน ผู้เขียนไปรับแม่กลับบ้าน แม่ดูสดใส ... คลายกังวลลงมาก .. กินยาตามหมอสั่ง ... ดูแลเป็นพิเศษ ... แต่วันนี้ ...น้ำตาลแม่ลดลงอย่างต่อเนื่อง จากเวลา ๑๘.๐๐ น. ที่ ๖๘  เวลา ๒๐.๐๐ น. ลดลง ๕๘  และเวลา ๒๒.๐๐ น. ลดลงเหลือ ๕๖  ทั้งนี้ให้กินน้ำหวาน... ให้กินอาหารเพิ่มน้ำตาล ทำให้ต้องส่งเข้าโรงพยาบาลปรางค์กู่ ... ให้กูลโคสทางเส้นเลือด  แม่กลับมาดีขึ้น รู้สึกตัว...แต่ก็นอนไม่หลับ มีอาการเพ้อ ...ความจำสูญเสียเป็นบางครั้ง ..

          ๕ พ.ย. ๕๔    

           แม่ต้องเดินทางต่อ คราวนี้รถโรงพยาบาลปรางค์กู่จะไปส่งที่โรงพยาบาลสรรพสิทธิฯ เพราะหมอนัดตรวจสแกนหลัง ... ตรวจฟันการดูแลผู้ป่วยมะเร็ง ... เป็นเรื่องที่ยากและก็ประมาทไม่ได้ ตลอดเวลา ...ที่หมอบอกว่า...แม่หายเป็นปกติแล้ว .. ผู้เขียนก็พาแม่ไปตรวจบริเวณผ่าตัด.. และตรวจระดับมะเร็งในกระแสเลือดอยู่ตลอดทุกปี ... จึงฝากเป็นกำลังใจ...สำหรับผู้ป่วย ญาติผู้ป่วยทุกคนที่ ทนทุกข์... ทรมาน.. กับโรคนี้ อย่าได้ประมาท .. เพราะไม่รู้มันจะกลับมาอีก… “เมื่อไร” และ “ตรงไหน” ที่จะเกิดใหม่ ... เหมือนแม่ผู้เขียน ...ที่ปวดหลัง .. เพราะอายุมาก หรือมะเร็ง ...ลุกลามไปที่กระดูก ...

การเดินทางของแม่ ... ไม่รู้จะยาวน่านเท่าไหร่ .. และเวลาที่เหลืออยู่ของแม่ ... เพียงพอที่ลูก ๆ จะพาแม่เดินทางสู้... “อย่างมีความหวัง” ได้อีกสักครั้งหรือไม่ .. จึงมีเพียง ... คำปลอบประโลมกันระหว่างลูก ๆ ว่า ...แม่เราอายุมากแล้ว .... ทำให้ดีที่สุด ... และสู้ให้ถึงที่สุด ...

          ... ไม่มีใครอยากเสีย ... สิ่งที่ตัวเองรัก ไม่มีใครอยากเสียสิ่งที่ตนเองมี และไม่มีใครอยากเสียสิ่งที่เป็นของตนเอง แม้เพียงน้อยนิด...

          การเดินทางของแม่ ... จึงเป็นความหวังของลูกทุกคน ... แม้วัน เวลา จะเหลือน้อยลงทุกที ...

 

การดูแลผู้ป่วยมะเร็งลำไส้ใหญ่ระยะที่ ๓  เมื่อแม่ต้องล้มหมอนนอนเสื่อ

(ความพ่ายแพ้ที่ไม่แพ้ : ผล MRI )

          ๑๑ ธ.ค. ๕๔      

หลังจากแม่เข้าออก รพ.สรรพสิทธิประสงค์ จังหวัดอุบลราชธานี หลายครั้ง เพื่อวินิจฉัยว่าเป็นอะไรแน่ที่ปวดหลัง หมอที่ศูนย์มะเร็งอุบลฯ บอกข่าวดีว่าแม่ไม่ใช่อาการของมะเร็ง จากการตรวจผล X-Ray จากนั้นแม่ต้องทำ MRI (การตรวจด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า) ผลแม่เป็นวัณโรคกินกระดูก    (เพิ่งเริ่มเป็น) หมอบอกว่า สามารถผ่าตัดได้ แล้วกินยาต่ออีก ๓ เดือน ถ้ากินยาอย่างเดียวอย่างน้อยหกเดือนถึงหนึ่งปี (กินอย่างต่อเนื่องไม่ให้ขาดแม้แต่วันเดียว เพราะมีผลต่อการดื้อยาของเชื้อโรค)

          แต่สิ่งที่น่าเป็นห่วงที่สุดคือ แม่อายุมาก น้ำหนักแม่เหลือแค่ ๒๗ กิโลกรัม เท่ากับเด็กเล็ก ๆ คนหนึ่งแต่ก็ปวดเมื่อยาแก้ปวดหมดฤทธิ์ หมอให้ยา แม่กลับมาอยู่บ้านกินยาตามที่หมอแนะนำ ซึ่งมีผลข้างเคียงเกือบ ๒๐ อย่าง ทั้งที่ต้องพบหมอโดยตรง และไม่ต้องพบหมอ ลูก ๆ ก็ศึกษาหาข้อมูลจากคนเป็นวัณโรคกินกระดูก ว่าผลข้างเคียงของยารุนแรงแรงมาก บางคนอาจกินยาแล้วอ่อนเพลียและช็อคได้หากการดูแลไม่ดี แม่เป็นเบาหวาน ความดัน มะเร็ง แล้วความหวังจะเป็นอย่างไร แต่สุดท้ายลูกๆทุกคนก็ลงความเห็นว่าแม่ต้องกินยาตามที่หมอให้อย่างต่อเนื่อง

 

๑๔ ธ.ค. ๕๔    ตั้งศาลให้เจ้ากรรมนายเวร ศาลพ่อใหญ่ทองดำ

วันนี้ ... สิ่งที่ลูก ๆ ทุกคนหวังว่าจะผ่าน วัน เวลาที่วิกฤตที่สุดในชีวิตอีกครั้งหนึ่ง ... ความหวังของลูก ๆ อาจจะน้อยลงทุกที  ทุกครั้งที่ลูก ๆ มองตากันก็เข้าใจในความรู้สึกของกันและกันในการยอมรับสิ่งที่จะเกิดขึ้น

          แม่เข้าโรงพยาบาลปรางค์กู่ตอนเที่ยง เนื่องจากความดันสูง และเบาหวานลดเหลือ ๔๖ ที่วันนี้ได้ตั้งศาลเพียงตาให้เจ้ากรรมนายเวรให้อยู่เป็นหลักแหล่งตามคำแนะนำของหลวงพ่อที่แม่นับถือ ลูก ๆ ตั้งใจว่าวันนี้ช่วงกลางคืนจะสวด อิติปิโส ๘๕ จบ ให้แม่เพื่อเป็นการต่ออายุตามความเชื่อโบราณ โดยลูก ๆ และญาติได้เตรียมชุดขาวไว้ แต่ก็ ... ไม่ได้ทำจึงหวังว่า... ยังจะมีโอกาสทำให้แม่

        ความดันแม่ไม่นิ่ง น้ำตาลลดลงแม่มีอาการเบลอ แต่พอจำความได้ รู้สึกตัว รู้ว่ายกมือกี่นิ้ว ... กลางคืนหมอให้ยาแก้ปวด แม่ไม่นอนทั้งคืน ...

แม่      คือ      หวัง

แม่      คือ      พลัง

แม่      คือ      คุณงามความดี

แม่      คือ      ผู้ปลูกฝังสิ่งดีงาม...  ให้ลูก ... เสมอมา...                          

                 

๑๕ ธ.ค. ๕๔    ครั้งแรกที่แม่ต้องต่อสายยาง...

ช่วงบ่ายแม่ทรุดหนักหลังจากหมอให้ยา ไม่รู้สึกตัว ไม่ตอบสนองใด ๆ  หมอโรงพยาบาลปรางค์กู่ส่งต่อโรงพยาบาลศรีสะเกษ แม่ไม่รู้สึกตัวอะไร ... ต้องให้อาหารทางสายยาง และให้เครื่องช่วยหายใจตลอดเวลา ... เป็นครั้งแรกที่แม่ต้องให้อาหารทางสายยาง ทั้งที่ผ่านมาหนักหนาสาหัสมากในการผ่าตัด... วันนี้ ... เห็นแม่ทรมาน กับสิ่งที่เป็นอยู่  ทั้งที่รู้ว่าต้องทำใจ ... แต่น้ำตาก็ไหลจนได้ ... ทั้งที่ไม่เคยให้พี่น้องรู้ว่า ... ผู้เขียนอ่อนแอแค่ไหน...

          แม่เป็นมะเร็ง แม่เป็นเบาหวาน แม่เป็นความดัน และแม่เป็นวัณโรคกินกระดูก .. กับวัย ๘๔ ย่าง ๘๕ ปี ความเจ็บปวด มันยากที่จะอดทน ... แม่ผ่านมาได้จากการเป็นมะเร็ง ... วิกฤตครั้งนี้ ... แม่จะสู้ได้หรือเปล่า... ลูก ๆ ทุกคน ได้แต่ปลอบใจกันว่า ... เราดูแลแม่มาดีที่สุดแล้ว ... ให้กำลังใจ ให้ความหวังแต่สิ่งหนึ่งที่เราหนีไม่พ้นคือ “ความตาย”

          น้ำตาลูก ๆ จึงเป็นเพียงเครื่องปลอบประโลม.. กัน และด้วยถ้อยคำที่ให้กำลังใจกันและกัน เท่านั้นที่ลูกแม่ทำได้ตอนนี้

          ข้อคิด ... สิ่งที่เรา...โหยหา... หวงแหน.. แก่งแย่ง... ชิงดี ชิงเด่น ... สุดท้าย ... เหลือได้ และเหลือไว้ ... เพียงคุณงามความดี...(ที่ฝากไว้)

 การดูแลผู้ป่วยมะเร็งลำไส้ใหญ่ระยะที่ ๓  เมื่อแม่ต้องล้มหมอนนอนเสื่อ

: ความพ่ายแพ้ที่ต้องแพ้กับลมหายใจสุดท้าย


๑๓ เม.ย.๕๕  “เมื่อแม่ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ”

          ๑๕- ๒๕ ธ.ค. ๕๔ แม่เข้ารับการรักษาตัวที่ รพ.สรรพสิทธิประสงค์ ลูกๆ ได้กลับมาสวดอิติปิโส ๑๐๘ จบให้แม่ที่บ้าน โดยมีญาติๆ เพื่อนบ้านประมาณ ๒๐ คนร่วมสวดเพื่อเป็นกำลังใจกับแม่ และแม่ได้กลับบ้านออกจาก รพ.สรรพสิทธิประสงค์ครั้งนี้แม่นอนโรงพยาบาล ๑๙ วัน

          และวันนี้ ๑๓ เม.ย. ๕๕ แม่กลับเข้าโรงพยาบาลอีกครั้งจาก รพ.ศรีสะเกษในวันที่ ๘ เม.ย. ๕๕ ส่งต่อ รพ.สรรสิทธิประสงค์ จังหวัดอุบลราชธานีในวันที่ ๑๑ เม.ย. ๕๕ อาการแม่ทรุดหนักลงเรื่อยๆ ความดันต่ำ นอนหลับลึกแบบไม่รู้สึกตัว หมอบอกว่า ..........

          เป็นอาการของคนแก่เหมือนรถเก่าซ่อมตัวหนึ่งก็เจออีกชิ้นหนึ่งที่เสียไป หมอก็ให้กำลังใจว่าค่อยรักษาไป

          หมอถามว่า จะให้ใส่ท่อช่วยหายใจหรือเปล่าลูกทุกคนลงความเห็นว่าให้อยู่ในดุลยพินิจของหมอ วันนี้ ลูกๆ ได้ดูแลแม่มาจนสุดความสามารถแม้ว่า เราจะหวังให้แม่กลับบ้านอยู่กับลูกหลานต่อไปทั้งที่อาจเป็นไปไม่ได้ หากแต่บุญคุณ คุณงามความดีที่แม่ทำมา จะทำให้แม่ปลอดภัย

          ในเวลา ๑๓ ปี ที่ลูกๆ ดูแลแม่ เข้าออกโรงพยาบาล เจอหมอที่เก่ง ลูกๆ บอกว่าแม่ผ่านความตายมาแล้ว จึงทำให้ลูกๆ ไม่คิดอะไรมาก กระนั้นน้ำตาทุกคนที่ปริ่มด้วยความรักที่มีต่อแม่

          การก้าวผ่าน “ความตาย”ของแม่และลูกๆ ทุกคนเห็นความตาย เห็นความเจ็บปวด ทรมาน พบเจอผู้คนที่จำนนและ “ยอมแพ้” ต่อความตายของญาติมิตร ของผู้ตาย ลูกๆ ได้แต่บอกกันว่า สักวันแม่เราก็เป็นเช่นนี้

          บทเรียนที่ลูกได้จากการดูแลแม่ “การก้าวผ่าน” “ความตาย”ของแม่ รู้ว่า ความดีงามต่างหากที่จะเป็นบุญหนุนนำให้คนมีความสุขและความหวังในชีวิตที่แท้จริง ทรัพย์สินเงินทองเป็นเพียงเปลือกของความสุขที่ทุกคนไขว่คว้า โหยหา แก่งแย่ง เอารัดเอาเปรียบ ละโมบ และสุดท้ายคือ เห็นแก่ตัว

          “ความตาย” ในแต่ละวันแต่ละครั้งที่แม่เข้าโรงพยาบาลตลอด ๑๓ ปี ทุกครั้งแม่เข้าพักที่หอผู้ป่วยหนัก ทำให้เห็นคนตายทุกวันๆ ละหลายคน

          วันนี้ ๑๓ เม.ย. ๕๕ วันสงกรานต์ ปีนี้ลูกๆ ได้รดน้ำดำหัวให้แม่ ตั้งแต่วันที่ ๖ เม.ย. ๕๕ ก่อนที่แม่จะเข้าโรงพยาบาล ทำให้ลูกๆ เห็นรอยยิ้มและความหวังของแม่ในการรักษาโรควัณโรคกินกระดูก...

          หากแต่วันนี้ แม่ทรุดหนักลงเรื่อยๆ ลูกๆ ได้แต่หวังว่า สิ่งดีงามจะคุ้มครองให้แม่ปลอดภัย แม้ลูกๆ จะยอมจำนน “ยอมพ่ายแพ้” ต่อความตายที่เห็นอยู่เบื้องหน้า

          ข้อคิดสำหรับการดูแลผู้ป่วยในวัยชรา ผู้ดูแลจะต้องมีความเข้าใจลักษณะของผู้ป่วย ลักษณะของอาการโรคที่เป็นตลอดจนมีความรู้เรื่องยาบ้างตามที่หมอแนะนำเพราะผลข้างเคียงของยา บางอย่างรุนแรงและที่สำคัญที่สุดคือ การตรวจวัดความดันเบื้องต้น การเตรียมปรอทวัดไข้ ผู้ดูแลจะต้องทำได้ จดบันทึกไว้         ในแต่ละวันเพื่อเปรียบเทียบดูการเปลี่ยนแปลง ซึ่งสิ่งเหล่านี้ทำให้หมอที่รักษา วินิจฉัยโรคได้ง่ายขึ้น

 

          ๑๕ เม.ย. ๕๕   “กลับบ้านเรานะแม่ ”

          ตลอดเวลาที่ลูกๆ ดูแลรักษาแม่ให้หายจากโรคที่ป่วยอยู่ ในช่วงที่ผ่านมาผู้เขียนและลูกๆทุกคน หลังจากแม่รับประทานอาหารเย็นก่อนนอน จะต้องพาแม่สวดอิติปิโสอย่างน้อยวันละ ๓ จบ บอกแม่ว่าสวดให้พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ถ้าแม่ไม่เหนื่อยจนเกินไปก็เพิ่มสวดให้พ่อ-แม่ แล้วต่อด้วยการชวนแม่คุยถึงสิ่งที่ได้ทำมาต่อสัตว์เหมือนที่คิดว่าเป็นบาปในใจ ด้วยการแผ่เมตตาให้เจ้ากรรมนายเวร

          สุดท้ายก่อนนอนหลังแผ่เมตตาก็คือการทำกัมฐานท่องพุทโท จนกว่าแม่จะหลับบางครั้งก็ให้แม่     ท่องตาม หรือท่องในใจ ทุกวันวันละ ๕ นาที ๑๐ นาที หรือแล้วแต่แม่จะหลับอย่างสบายทุกวัน สิ่งที่ผู้เขียนพยายามทำก็คือให้แม่สงบ มีสติ และผ่อนคลาย

          คืนวันที่ ๑๔ เม.ย. ๕๕ ความหวังแม่ต่ำลง วัดความดันไม่ได้ เหลือเพียงความรู้สึกตอบสนองเวลาเรียก แม่พยายามลืมตาความรู้สึกแม่ยังดี เพียงแต่ร่างกายไม่ไหว

          ลูกๆ ที่เฝ้าดูแลแม่ ได้แต่ปลอบใจและทำใจให้เป็นเรื่องปกติในการก้าวผ่าน “ความตาย”ด้วยการสวด อิติปิโสให้แม่ สวดบทพุทธคุณให้แม่ฟัง ดูแม่มีความสุข สุดท้ายสวดพุทโทให้แม่จนสงบในเวลาประมาณหกทุ่ม แม่หลับทุกครั้งที่ท่องพุทโทให้ฟัง แม่ท่องตามในใจเหมือนทุกครั้งที่อยู่บ้าน ถ้าท่องไม่ไหวแม่จะท่องในใจ และหลับในที่สุด

          ความดันแม่ลดลงเรื่อยๆ หมอบอกแม่ไม่ไหวแล้ว ลูกๆ บอกหมอว่าให้แม่ไปอย่างสงบที่โรงพยาบาลโดยไม่ต้องปั้มหัวใจ

          เวลา ๐๗.๓๐ น. (วันที่ ๑๕ เม.ย. ๕๕) ระบบการหายใจแม่ลดลงเป็นศูนย์นั้นคือหัวใจหยุดทำงาน สัญญาณชีพสิ้นสุดลง นั่นคือเวลาสุดท้ายของแม่ที่อยู่กับลูกๆ ได้สิ้นสุดลงจึงเป็นเวลาต่างภพต่างเวลาต่อกัน

          แต่สิ่งที่มั่นคงต่อกัน ระหว่างแม่-ลูกมันยิ่งใหญ่กว่าภพไหนๆ “ความรัก ความผูกพัน” สำคัญยิ่งกว่า การจากไปที่ไม่มีวันกลับสิ่งที่แม่เป็นแบบอย่างเป็นครูคนแรก เป็นสิ่งดีงามสำหรับลูกๆ ยังอยู่ต่อไป

          สุดท้ายลูกๆบอกกับแม่ว่า “กลับบ้านเรานะแม่” ขอให้แม่หลับให้สบาย หากแม่เหนื่อยแม่ได้พักแล้ว หากแม่กังวลลูกๆของแม่มีแม่เป็นแบบอย่างที่ดี และวันนี้ แม่ยังเป็นแม่ที่ดีเป็นแม่ที่มีแต่ความดีงามที่ฟูมฟักลูกๆทุกคนให้มีวันนี้.........

     ในการดูแลผู้ป่วยในวัยชรา เช่นนี้สิ่งจำเป็นที่สุดคือ

๑.     การเอาใจใส่ ความเข้าใจชวนพูดชวนคุยถึงเรื่องราวเก่าๆ ให้เล่าเรื่องสมัยเด็กบ้าง เพื่อเป็นการ

ทบทวนความทรงจำของคนแก่ซึ่งก็ได้ผลดีดูแม่มีความสุขขึ้น

๒.    การพยายามให้แม่สวดบทสวดต่างๆ ที่แม่จำได้ การแผ่เมตตาการทำสมาธิด้วยการท่องพุทโท

ทุกวัน เหมือนเป็นยาขนานเอกที่ทำให้แม่มีชีวิตที่ยืนยาวไม่เจ็บ ไม่ปวดและหลับอย่างสบายทุกวัน

๓.    ผู้เขียนเองจะทดสอบแม่ทุกวัน โดยเฉพาะเรื่องสายตา ผู้เขียนยกนิ้วกี่นิ้วแม่นับเลขได้ถึงเท่าไหร่

ทุกวัน สิ่งเหล่านี้จะทำให้เรารู้ว่า คนชราอยู่ในสภาพใดหากนับได้เหมือนวันก่อน จำได้เหมือนเมื่อวาน อาการไม่ทรุด นั่นคือความมั่นใจว่า ยังปกติ

๔. การรับประทานอาหารต้องสังเกตและดูปริมาณอาหารในแต่ละมื้อที่คนชราว่าได้มากน้อยเพียงใด หากพบว่าน้อยลงเราต้องดูว่าเพราะอะไรว่าต้องพบแพทย์หรือไม่

ทั้งหมดที่ผู้เขียนกล่าวมาเป็นเพียงประสบการณ์ส่วนหนึ่งในระยะเวลา ๑๓ ปีที่ลูกๆ ได้ดูแลแม่ซึ่งป่วยเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ระยะที่ ๓ (ระยะแพร่กระจาย) ความดัน เบาหวาน วัณโรคกระดูก และโรคของคนชราในวัย ๘๔ ปี ๑๑ เดือน ๗ วัน

 


ประวัติแม่คำ ทองเลิศ

          คุณแม่คำ  ทองเลิศ  เกิดวันที่ ๘ พฤษภาคม พ.ศ.๒๔๗๐ ที่บ้านนาเวียง ต.สมอ อ.ขุขันธ์  

(ปัจจุบัน  อ.ปรางค์กู่) จ.ศรีสะเกษ

          บิดาชื่อ  นายปีด  ศรีเลิศ (ภูมิลำเนาเดิม บ้านเวียง ต.สมอ อ.ปรางค็กู่ จ.ศรีสะเกษ)

          มารดาชื่อ นางนวล  แสงเพชร (ภูมิลำเนาเดิม บ้านหนองเหล็กตากแดด อ.อุทุมพรพิสัย จ.ศรีสะเกษ  สกุลเดิม ทองนาค)

แม่คำ ทองเลิศ มีพี่น้องร่วมบิดา-มารดา จำนวน ๓ คน คือ

๑.      นายพันธ์  ศรีเลิศ เสียชีวิต อายุ ๘๑ ปี

๒.      นางคำ  ทองเลิศ  ผู้วายชนม์ อายุ ๘๔ ปี ๑๑ เดือน ๗ วัน

๓.      นางบัว  พงษ์ธนู ยังมีชีวิตอยู่ อายุ ๘๓ ปี

มีพี่น้องร่วมบิดา จำนวน ๖ คน (สกุลเดิม ศรีเลิศ)

มีพี่น้องร่วมมารดา จำนวน ๕ คน (สกุลเดิม แสงเพชร)

          ชีวิตสมรส

          สมรสกับคุณพ่อบุญทา  ทองเลิศ มีบุตรธิดา จำนวน ๕ คน และบุตรบุญธรรม จำนวน ๓ คน ดังนี้

๑.      นางนวล  เชื้อทอง สมรสกับ นายประยงค์  เชื้อทอง อาชีพธุรกิจส่วนตัว มีบุตรธิดา จำนวน ๓ คน

๒.      นางสมนา  แจ่มศรี สมรสกับ นายสีกา  แจ่มศรี อาชีพเกษตรกร มีบุตรธิดา จำนวน ๓ คน

๓.      นางบุษบา  ชุมแสน สมรสกับ พ.ท.กนกศักดิ์  ชุมเสน อาชีพครู ตำแหน่งหัวหน้าโครงการสองภาษา(English Bilingual Program) โรงเรียนอัสสัมชัญอุบลราชธานี จ.อุบลราชธานี มีบุตรชาย จำนวน ๑ คน

๔.      นางสุชาดา  ไกรวิเศษ สมรสกับ นายมุณี  ไกรวิเศษ อาชีพเกษตรกร  มีบุตรชาย จำนวน ๓ คน

๕.      นายประจักษ์  ทองเลิศ อาชีพรับราชการ ตำแหน่งศึกษานิเทศก์ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาศรีสะเกษ เขต ๓

๖.      นางสาวสมบัติ  แสงเพชร อาชีพเกษตรกร

๗.      นางบุปผา  ศรีสุรักษ์  สมรส กับนายฤกษ์  ศรีสุรักษ์  มีบุตรธิดา จำนวน ๓ คน อาชีพเกษตรกร

๘.      นายธวัช  แสงเพชร สมรสกับ นางพิศสมัย  แสงเพชร มีบุตรธิดา  จำนวน ๓ คน ประกอบอาชีพส่วนตัว

ชีวิตครอบครัวของ คุณแม่คำ ทองเลิศและคุณพ่อบุญทา ทองเลิศ ประกอบอาชีพเกษตรกรรม

คุณแม่คำ ทองเลิศ เป็นผู้ที่มีความขยัน อดออม สร้างฐานะของตนเองได้เป็นปึกแผ่น เลี้ยงดูบุตรธิดาให้เป็นคนดีและทำงานรับใช้สังคม

          การดำเนินชีวิต คุณแม่คำ ทองเลิศ ใช้ชีวิตที่เรียบง่ายไม่เคยทะเลาะหรือมีปากเสียงกับใคร เป็นผู้ให้มากกว่าเป็นผู้รับ ยอมสละประโยชน์ส่วนตนเพื่อประโยชน์ส่วนรวมอย่างจริงจังให้ความสำคัญกับทุกคน เข้าวัดฟังธรรมตลอดชีวิตสุดท้าย...

 

 

 

กี่พระคุณ...  จากใครนับหมื่นแสน

อาจทดแทนเปรยเปรียบเทียบคุณค่า

แต่พระคุณ หนึ่งหยดนมคุณมารดา

ทั้งสามภพจบหล้าหาเทียมทัน...

ตั้งแต่จำความได้ แม่จะบอกสอนลูกเสมอว่า “ ลูกเป็นลูกคนโต ให้รักน้องๆ ให้มากๆ ช่วยอบรมน้องแทนแม่ ” แม่เป็นคนรักหลานมีอะไรแม่ก็จะแบ่งครึ่งเก็บไว้ให้ลูกหลาน ทุกคำสอนที่แม่บอกจะเก็บไว้ในความทรงจำและขอให้เกิดเป็นลูกแม่ทุกชาติไป

 

                                                          ฮักแม่หลาย

                                                    จากครอบครัวลูกสมนา

                                      นายสีกา - นางสมนา  แจ่มศรีและครอบครัว

 

 

ตั้งแต่เกิดมา ยาย คือ บุคคลที่สำคัญสำหรับหลานมาก ทุกครั้งที่กลับมาบ้านคำพูดแรกที่ยายถามหลานคือคำว่า “กินข้าวมาละบ้อ” คำพูดคำนี้จึงติดหูของหลานๆ ทุกคน ตลอดระยะเวลาที่ยายมีชีวิตอยู่ภาพที่ทุกคนเห็น คือ ภาพของยายที่เดินเก็บผักมาขาย เงินที่ได้มาก็แบ่งให้หลานบ้างเป็นเช่นนี้อยู่เป็นประจำจึงทำให้หลานๆ รักยาย ทุกเทศการที่ครอบครัวของเรามาอยู่รวมกัน ยายจะยิ้มอย่างมีความสุข

ต่อไปนี้คงไม่มีใครที่คอยถามหลานเหมือนยายอีกแล้ว ขอให้ยายหลับให้สบายสู่วิมานชั้นฟ้า สู่ภูมิภพ

ที่ดีด้วยเทอญ

                                     

                                                          รักและอาลัย

                                                    จากครอบครัวลูกบุปผา

                        นายฤกษ์ -นางบุปผา-นางสาวสุจิตตรา-นายวิศนุ  ศรีสุรักษ์

 

      ตั้งแต่เล็กๆ ครอบครัวหลานอุดรกับคุณแม่คำมีความผูกพันกันเสมอเหมือนครอบครัวเดียวกันคุณแม่คำได้เลี้ยงดูมา จนได้มาทำนากับแม่คำ คุณแม่จะนึ่งข้าว บันให้ลูกหลานจนลูกหลานรักยาย เพราะ แม่คือผู้เอื้อเฟื้อของครอบครัว บุญคุณของแม่คำที่มีต่อลูกหลานจึงทำให้ลูกหลานมีครอบครัวที่เป็นสุข

ขอให้ดวงวิญญาณของคุณแม่คำไปสู่สุคติ เกิดชาติใดก็ขอให้พบและเป็นลูกหลานของยายทุกชาติไป

 

    &n

หมายเลขบันทึก: 485823เขียนเมื่อ 23 เมษายน 2012 10:30 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 มิถุนายน 2012 10:44 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท