การจดทะเบียนบุตรบุญธรรมของคนไร้สัญชาติ ตอนจบ: ภาคการจดทะเบียน


แนวปฏิบัติของการจดทะเบียนเป็นบุตรบุญธรรมของคนไร้สัญชาติเป็นอย่างไร?? เอกสารอะไรบ้างที่ต้องใช้?? ตอบทุกปัญหาด้วยประสบการณ์จริง

            จากที่ได้วิเคราะห์ข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการจดทะเบียนบุตรบุญธรรมของคนไร้สัญชาติไปแล้วในตอนแรก ในตอนจบนี้จะกล่าวถึงขั้นตอน ระเบียบปฏิบัติทางราชการในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการจดทะเบียนรับคนไร้สัญชาติเป็นบุตรบุญธรรมต่อไป

3. ขั้นตอนการจดทะเบียนบุตรบุญธรรมของคนไร้สัญชาติเป็นอย่างไร และแตกต่างจากการจดทะเบียนของผู้มีสัญชาติไทยหรือไม่?

            ขั้นตอนการจดทะเบียนบุตรบุญธรรมรวมไปถึงเอกสารที่ต้องยื่นประกอบการจดทะเบียนนั้นถือว่าคล้ายคลึงกัน หากแต่แตกต่างกันที่ชนิดของเอกสารพิสูจน์ตนของฝ่ายคนไร้สัญชาติเท่านั้น ในการนี้ผู้เขียนจะขออธิบายเป็นฝ่ายๆไปโดยอ้างอิงจากข้อเท็จจริงในการจดทะเบียนระหว่างคุณพ่อพิสิษฐ์และคุณแม่กนกพร – คุณพรทิพย์ ดังนี้

            1) ฝ่ายผู้รับบุตรบุญธรรม (คนสัญชาติไทย) โดยคุณสมบัติของผู้รับบุตรบุญธรรมคือต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 25 ปี และต้องมีอายุมากกว่าบุตรบุญธรรมอย่างน้อย 15 ปี (ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1598/19) ส่วนเอกสารที่ต้องนำไปแสดงต่อนายทะเบียน ได้แก่

            - สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน

            - สำเนาทะเบียนบ้าน

            - สำเนาทะเบียนสมรส (เนื่องจากคุณพ่อพิสิษฐและคุณแม่กนกพรเป็นสามีภริยากันตามกฎหมาย)

            2) ฝ่ายผู้บุตรบุญธรรม (คนไร้สัญชาติ) มีเอกสารที่ต้องนำไปแสดงต่อนายทะเบียน ได้แก่

            - สำเนาเอกสารพิสูจน์ตน (ซึ่งในกรณีของคุณพรทิพย์คือบัตรประจำตัวบุคคลผู้ไม่มีสถานะทางทะเบียน (บัตรเลข 0))

            - สำเนาเอกสารแสดงภูมิลำเนา (กรณีนี้ใช้ทร.38ก)

            - สำเนาทะเบียนสมรสไทย (เนื่องจากคุณพรทิพย์สมรสกับคุณคุโด้ ยูกิฮิโระ คนสัญชาติญี่ปุ่น โดยการสมรสทำขึ้นตามกฎหมายไทยในประเทศไทย และมีการรับรองการสมรสนี้ (recognition of marriage) ตามกฎหมายญี่ปุ่นด้วย)

            - สำเนาทะเบียนครอบครัวญี่ปุ่น[1] ซึ่งต้องผ่านการแปลเป็นภาษาไทยและรับรองโดยกรมการกงสุล กระทรวงต่างประเทศแล้ว

            3) ฝ่ายคู่สมรสของบุตรบุญธรรม (คนสัญชาติญี่ปุ่น) มีเอกสารที่ต้องนำไปแสดงต่อนายทะเบียนเพียงฉบับเดียว คือ สำเนาเอกสารพิสูจน์ตน ซึ่งในกรณีนี้ใช้สำเนาหนังสือเดินทางญี่ปุ่น (passport) ของคุโด้ซัง

            อนึ่ง เอกสารทุกชนิดควรเตรียมฉบับจริงไปด้วยเนื่องจากนายทะเบียนอาจขอเรียกตรวจสอบได้

            ซึ่งในการรับบุตรบุญธรรมครั้งนี้ ทั้งคุณพ่อพิสิษฐ์และคุณแม่กนกนพรต่างประสงค์ที่จะรับคุณพรทิพย์เป็นบุตรบุญธรรมทั้งคู่ ทำให้ต้องมีการจดทะเบียนรับบุตรบุญธรรม 2 ครั้ง กล่าวคือระหว่างคุณพ่อพิสิษฐ์-คุณพรทิพย์ครั้งหนึ่ง และคุณแม่กนกพร-คุณพรทิพย์อีกครั้งหนึ่ง ผู้เขียนจึงสอบถามนายทะเบียนว่าเมื่อคุณพ่อพิสิษฐ์และคุณแม่กนกพรเป็นสามีภริยากันอยู่แล้วและทั้งคู่ประสงค์จะรับคุณพรทิพย์เป็นบุตรบุญธรรมด้วยกันอยู่แล้ว ดังนั้นก็ขอจดทะเบียนรับบุตรบุญธรรมร่วมกันไปเลยไม่ได้หรือ ทางนายทะเบียนตอบว่าระเบียบราชการไทยไม่เปิดช่องให้กระทำได้ อีกทั้งโปรแกรมจดทะเบียนในเครื่องคอมพิวเตอร์ก็ไม่ได้ถูกออกแบบมาให้ทำได้ สร้างความสงสัยเล็กๆแก่ผู้เขียน แต่ก็ไม่เป็นปัญหาอะไรใหญ่โต (ผู้อ่านท่านใดทราบเหตุผลเบื้องหลังของเรื่องนี้ รบกวนแบ่งปันกันด้วยครับ)

            การจดทะเบียนดำเนินไปด้วยดี เนื่องจากนายทะเบียนอำเภอบ้านแพรกได้รับการชี้แจงข้อสงสัยต่างๆมาก่อนล่วงหน้าโดยทีมนักกฎหมายของโครงการบางกอกคลินิกฯ อีกทั้งยังคุ้นเคยกับครอบครัวคุณพรทิพย์เป็นอย่างดีเนื่องจากเป็นคนในท้องที่และเป็นผู้ดำเนินการจดทะเบียนสมรสให้แก่คุณพรทิพย์และคุโด้ซังมาแล้ว การสอบถามความยินยอมของคู่สมรสของผู้รับบุตรบุญธรรมไม่มีปัญหาประการใดเนื่องจากใช้ภาษาไทยในการสื่อสารกันได้ แต่ในการสอบถามความยินยอมของคู่สมรสของบุตรบุญธรรมซึ่งเป็นชาวญี่ปุ่นจะเป็นต้องอาศัยล่ามแปลภาษาด้วย[2] ซึ่งผู้เขียนก็รับหน้าที่เป็นล่ามเฉพาะกิจในการถามความยินยอมให้ ในการนี้ผู้เขียนได้สอบถามว่าผู้ที่จะเป็นล่ามในการถามเจตนาของช่าวต่างชาติ จำเป็นหรือไม่ที่จะต้องเป็นล่ามอาชีพ (เนื่องจากผู้เขียนรู้ภาษาญี่ปุ่นอยู่บ้างแต่ไม่ใช่ล่ามอาชีพ) ซึ่งก็ได้รับคำตอบว่า ไม่มีระเบียบราชการบังคับไว้แต่เป็นดุลพินิจของนายทะเบียนเองว่าล่ามมีความน่าเชื่อถือหรือไม่ ดังนั้นทางที่ดีควรจัดหาล่ามอาชีพมาเป็นผู้สอบถามเจตนาของชาวต่างชาติจะดีกว่า

 

            โดยผลของการรับบุตรบุญธรรมในวันนี้ ทำให้คุณพรทิพย์มีจุดเกาะเกี่ยวกับประเทศไทยเพิ่มขึ้นอีกจุดหนึ่งนอกเหนือจากการเป็นบุคคลในทะเบียนราษฎรของไทย และการมีภูมิลำเนาในประเทศไทย นั่นคือการมีครอบครัวอยู่ในประเทศไทย ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการใช้อ้างถึงความสัมพันธ์ที่มีต่อประเทศไทยซึ่งเธออาจจำเป็นต้องใช้ในอนาคต

            ทั้งนี้ผู้เขียนขอขอบคุณคุณอมรรัตน์ ปลัดอำเภอบ้านแพรกและเจ้าหน้าที่ในอำเภอบ้านแพรกทุกท่านที่ให้ความช่วยเหลือทำให้การจดทะเบียนบุตรบุญธรรมครั้งนี้เป็นไปอย่างราบรื่น ขอขอบคุณท่านอาจารย์พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทรและนักกฎหมายโครงการบางกอกคลินิกฯทุกท่านที่มอบโอกาสให้ผู้เขียนได้นำกฎหมายที่อยู่ในตำราออกมาใช้จริง ถือเป็นประสบการณ์ที่ดีมากๆและจะได้นำไปถ่ายทอดในโอกาสต่อๆไป

[1] ในประเทศญี่ปุ่นจะไม่แบ่งแยกเป็นทะเบียนสมรส ทะเบียนรับบุตรบุญธรรม ฯลฯ เหมือนในประเทศไทย หากแต่จะรวมข้อมูลต่างๆที่เกี่ยวข้องกับครอบครัวนั้นๆไว้ในทะเบียนเดียวเรียกว่า “ทะเบียครอบครัว” ซึ่งสามารถใช้เป็นสูติบัตร ทะเบียนสมรส ทะเบียนหย่า ทะเบียนรับบุตรบุญธรรม ฯลฯ ได้ทั้งสิ้น ซึ่งผู้เขียนเห็นว่าแนวปฏิบัติเช่นนี้น่าสนใจมากทีเดียว

[2] การให้ความยินยอมของคู่สมรสของผู้รับบุตรบุญธรรมก็ดี หรือของคู่สมรสของบุตรบุญธรรมก็ดี คู่สมรสผู้นั้นไม่จำต้องมาให้ความยินยอมด้วยตนเอง โดยอาจให้ความยินยอมมาเป็นลายลักษณ์อักษรก็ได้ แต่ในกรณีที่เป็นชาวต่างชาติ การให้ความยินยอมเป็นลายลักษณ์อักษรจำต้องมีการแปลเป็นภาษาไทยและรับรองคำแปลโดยกรมการกงสุล ซึ่งอาจเกิดความผิดพลาดในการแปลเนื้อความได้ อันจะส่งผลกระทบให้ไม่อาจใช้หนังสือให้ความยินยอมนั้นเพื่อประกอบการจดทะเบียนได้

หมายเลขบันทึก: 485620เขียนเมื่อ 20 เมษายน 2012 13:23 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มิถุนายน 2012 22:36 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท