การจดทะเบียนบุตรบุญธรรมของคนไร้สัญชาติ ตอนแรก: ภาคข้อกฎหมาย


ทำไมคนไร้สัญชาติถึงสามารถขอจดทะเบียนบุตรบุญธรรมได้?? กฎหมายไทยนำมาใช้แก่การจดทะเบียนบุตรบุญธรรมของคนไร้สัญชาติได้อย่างไร?? ตอบทุกคำถามด้วยหลักกฎหมายสิทธิมนุษยชนและหลักกฎหมายไทย

            อ่านความเดิมจากตอนที่แล้ว "การเดินทางข้ามชาติ กับ เอกสารพิสูจน์ตนระหว่างการเดินทางข้ามชาติ ของคนต่างด้าวในประเทศไทย Travel document และ เอกสารเดินทางฉุกเฉิน (Emergency Certificate - E.C.) –บันทึกจากช่วงการให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายกรณีของพรทิพย์ จากกรณีศึกษา 'เรื่องการสมรสข้ามชาติ' " โดยคุณพวงรัตน์ ปฐมสิริรักษ์ ได้ที่นี่

            ภายใต้ความช่วยเหลือของโครงการบางกอกคลินิกฯ ทำให้วันนี้ครอบครัวยูกิฮิโระได้เห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ในอันที่จะได้อยู่ร่วมกันเป็นครอบครัวชัดเจนขึ้น จากการที่ต้องเป็นคนไร้รากเหง้ามายาวนานกว่า 28 ปี (หรืออาจจะมากกว่านั้น) สู่การเป็นบุคคลในทะเบียนราษฎรไทย (ทร.38ก) และอาจได้รับสัญชาติไทยหรือสัญชาติญี่ปุ่นในอนาคต ในวันนี้ (18 เมษายน 2555) นางสาวพรทิพย์ ม่วงทองได้กลายเป็นบุตรบุญธรรมตามกฎหมายของคุณพ่อพิสิษฐ์และคุณแม่กนกพร เนคมานุรักษ์ สามีภริยาที่ให้การอุปการะเลี้ยงดูคุณพรทิพย์มาตั้งแต่ยังเล็กเป็นที่เรียบร้อย ผู้เขียนได้มีโอกาสเข้าร่วมในกระบวนการจดทะเบียนรับบุตรบุญธรรมในครั้งนี้และเห็นว่ามีประเด็นทางกฎหมายบางประการที่น่าจะนำมาเผยแพร่ให้แก่ผู้ที่สนใจ ดังนี้

1. คนไร้สัญชาติมีสิทธิขอจดทะเบียนเป็นบุตรบุญธรรมตามกฎหมายไทยด้วยหรือ?

            ปัญหาการเป็นคนไร้รัฐ/ไร้สัญชาติสร้างความสับสนให้แก่นักกฎหมายและเจ้าหน้าที่ของรัฐไทยมาช้านาน โดยเฉพาะความไม่เข้าใจถึงสิทธิอันพึงมีพึงได้ในฐานะที่เป็น “มนุษย์” หรืออีกนัยหนึ่งที่เรียกว่า “สิทธิมนุษยชน (Human Right)” ทำให้เกิดความสับสนในหมู่นักกฎหมายว่า สิทธิลักษณะใดที่คนไร้รัฐ/ไร้สัญชาติพึงมี และสิทธิลักษณะใดที่สงวนไว้เฉพาะผู้มีสัญชาติไทยเท่านั้น

            หากเราเริ่มค้นหาจากตัวบทกฎหมายในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์บรรพ 5 ลักษณะ 2 หมวด 4 ว่าด้วยบุตรบุญธรรม ตั้งแต่มาตรา 1598/19 ถึงมาตรา 1598/37 จะพบว่าไม่มีบทบัญญัติมาตราใดเลยที่ระบุว่าคุณสมบัติของผู้ที่จะเป็นบุตรบุญธรรมได้จะต้องเป็นผู้มีสัญชาติไทย ดังนี้จึงนำไปสู่ปัญหาว่าบรรดากฎหมายดังกล่าวจะนำมาบังคับใช้แก่คนไร้สัญชาติได้หรือไม่

            ภายใต้ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (Universal Declaration of Human Rights: UDHR) มาตรา 16[1] ซึ่งประเทศไทยเป็นรัฐภาคีก็ได้ระบุว่าสิทธิในการก่อตั้งครอบครัวเป็นสิทธิมนุษยชนและครอบครัวก็เป็นกลุ่มสังคมโดยธรรมชาติและโดยพื้นฐานของมนุษย์ซึ่งจะต้องได้รับความคุ้มครองจากรัฐ ดังนั้นแม้บุคคลจะเป็นคนไร้สัญชาติก็ตาม แต่การไร้สัญชาตินั้นก็หาได้ปฏิเสธเขาจากการเป็นมนุษย์ไม่ เมื่อการรับบุตรบุญธรรมก็เป็นการก่อตั้งครอบครัวรูปแบบหนึ่ง กล่าวคือ เป็นการก่อตั้งนิติสัมพันธ์ทางครอบครัวระหว่างบุคคลที่ไม่มีความสัมพันธ์ทางสายโลหิตหากแต่มีความสัมพันธ์ทางจิตใจระหว่างกัน คนไร้สัญาติเช่นคุณพรทิพย์จึงควรได้รับความคุ้มครองจากรัฐไทยและกฎหมายไทยในการเป็นบุตรบุญธรรมดั่งผู้มีสัญชาติไทย

 

2. เพราะเหตุใดจึงสามารถใช้กฎหมายไทยบังคับแก่การจดทะเบียนเป็นบุตรบุญธรรมของคนไร้สัญชาติได้?

            เมื่อได้พิจารณาแล้วว่าคนไร้สัญชาติมีสิทธิยื่นขอจดทะเบียนเป็นบุตรบุญธรรมได้ ปัญหาต่อไปที่ต้องวิเคราะห์ก็คือ กฎหมายของประเทศไทยจะสามารถนำมาบังคับใช้แก่การจดทะเบียนบุตรบุญธรรมครั้งนี้ได้หรือไม่ จากข้อเท็จจริงนี้ผู้ที่จะรับบุตรบุญธรรมมีสัญชาติไทยส่วนผู้ที่จะเป็นบุตรบุญธรรมเป็นคนไร้สัญชาติซึ่งถือว่าเป็นคนต่างด้าว จึงต้องอาศัยหลักกฎหมายขัดกัน (Conflict of Laws) เข้ามาค้นหากฎหมายที่จะนำมาบังคับใช้แก่เรื่องนี้ (applicable law) ซึ่งตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการขัดกันแห่งกฎหมาย พ.ศ.2481มาตรา 35 วรรคสอง[2] จะเห็นได้ว่า

            1) ฝ่ายคุณพ่อพิสิษฐ์และคุณแม่กนกพรซึ่งเป็นผู้รับบุตรบุญธรรมนั้น ปัญหาความสามารถและเงื่อนไขแห่งการรับบุตรบุญธรรมของฝ่ายนี้ย่อมเป็นไปตามกฎหมายไทย

            2) ส่วนฝ่ายคุณพรทิพย์ซึ่งเป็นบุตรบุญธรรมนั้น เนื่องจากคุณพรทิพย์เป็นตนไร้สัญชาติทำให้ต้องพิจารณามาตรา 6 วรรคสี่[3]ประกอบด้วย ซึ่งในที่นี้ภูมิลำเนาของคุณพรทิพย์ตามเอกสารทร.38ก คืออำเภอบ้านแพรก จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ทำให้ปัญหาความสามารถและเงื่อนไขแห่งการรับบุตรบุญธรรมทางฝ่ายนี้ก็ย่อมเป็นไปตามกฎหมายไทยด้วยเช่นกัน (อ่านต่อตอนจบ)

[1] UDHR Article 16
            (1) Men and women of full age, without any limitation due to race, nationality or religion, have the right to marry and to found a family. They are entitled to equal rights as to marriage, during marriage and at its dissolution.
            (2) Marriage shall be entered into only with the free and full consent of the intending spouses.
            (3) The family is the natural and fundamental group unit of society and is entitled to protection by society and the State.

[2] มาตรา 35 วรรคสอง...ถ้าผู้รับบุตรบุญธรรม และบุตรบุญธรรมมีสัญชาติแตกต่างกัน ความสามารถและเงื่อนไขแห่งการรับบุตรบุญธรรมให้เป็นไปตามกฎหมายสัญชาติของคู่กรณีแต่ละฝ่าย แต่ผลแห่งการรับบุตรบุญธรรมระหว่างผู้รับบุตรบุญธรรมกับบุตรบุญธรรม ให้เป็นไปตามกฎหมายสัญชาติของผู้รับบุตรบุญธรรม...

[3] มาตรา 6 วรรคสี่...สำหรับบุคคลผู้ไร้สัญชาติ ให้ใช้กฎหมายภูมิลำเนาของบุคคลนั้นบังคับ ถ้าภูมิลำเนาของบุคคลนั้นไม่ปรากฏ ให้ใช้กฎหมายของประเทศซึ่งบุคคลนั้นมีถิ่นที่อยู่บังคับ

หมายเลขบันทึก: 485619เขียนเมื่อ 20 เมษายน 2012 13:04 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 มิถุนายน 2012 01:16 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท