ครูอาสา (๘) วันสุดท้าย


 

เมื่อครั้งที่แล้ว ตอนที่ช่างฝันกับพี่ชายใหญ่กำลังวาดภาพปกหนังสือกันอยู่ ช่างฝันเหลือบมองไปที่หุ่นการ์ตูนปูนปลาสเตอร์ตัวเล็กๆ ที่วางเรียงรายอยู่ใกล้ขอบหน้าต่าง แล้วก็พูดขึ้นว่า “อยากลองทำแบบนี้บ้างจัง”

 

ฉันจึงถามว่า “ช่างฝันไม่เคยทำเหรอ เอาสิ.. งั้นครั้งหน้าเรามาลองทำกันดูนะ  ครูเคยเห็นเขามีวางขายที่แถวหน้าโรงพยาบาล หาไม่ยากหรอก แล้วครูจะหามาให้นะ” พอเย็นวันนั้นฉันก็เที่ยวเดินหาแผงขายหุ่นปูนปลาสเตอร์ตามที่ๆ จำได้ว่าเคยเห็น แต่ว่าแผงลอยแถวอนุสาวรีย์ก็อยู่กันไม่ค่อยเป็นที่สักเท่าไร รอบแรกจึงยังหาไม่เจอ ฉันจึงเดินหาอย่างตรวจตราอีกรอบ แล้วในที่สุดก็ได้พบกับร้านที่มีหุ่นปูนปลาสเตอร์ขายสมใจ

 

ตอนที่ฉันไปถึงห้องกิจกรรม ช่างฝันกับพี่ชายใหญ่นั่งรออยู่แล้ว พี่ชายใหญ่ถามว่า “วันนี้จะทำอะไรครับ” พอฉันบอกว่าจะระบายสีหุ่นปูนปลาสเตอร์ เขาก็บอกว่า “วันนี้อารมณ์หงุดหงิดครับ รู้สึกไม่ค่อยสบายเท่าไร” ฉันจึงบอกว่า “ถ้างั้นก็ไปเข็นรถเล่นให้สบายใจก่อนนะ” แต่ระหว่างที่ช่างฝันทำกิจกรรม พี่ชายใหญ่ก็เข้ามาป้วนเปี้ยนดูอยู่เป็นระยะๆ

 

วันนี้ช่างฝันมีเพื่อนใหม่คนหนึ่งนั่งอยู่ที่โต๊ะด้วย  ฉันฟังจากบทสนทนารู้สึกว่าเธอจะรู้จักกับช่างฝันและพี่ใหญ่เป็นอย่างดี  แต่วันนี้ไม่เห็นแร็กแร็กแล้ว

 

กิจกรรมวันนี้เริ่มจาก ฉันให้ช่างฝัน และ เด็กหญิงชมพู่ เขียนบรรยายรูปร่างลักษณะของหุ่นปูนปลาสเตอร์ของแต่ละคนให้ละเอียดที่สุด โดยไม่ให้อีกคนหนึ่งเห็นว่าตนได้รูปอะไร  จากนั้นก็ให้เพื่อนอีกคนวาดตามคำบรรยายลักษณะไปเรื่อยๆ จนจบ  พอวาดภาพออกมาแล้วก็เอามาเทียบกับหุ่นตัวจริง ทำให้ต่างก็หัวเราะขำกันใหญ่

 

จากนั้นก็ถึงเวลาระบายสีหุ่น ช่างฝันได้รูปไดโนเสาร์ถือลูกบาส  ส่วนชมพู่ได้รูปลูกหมี ไปทำงาน  สีที่มีมากับหุ่นเป็นแม่สี ๓ สี และ สีขาว บรรจุอยู่ในขวดพลาสติกเล็กๆ  ฉันเริ่มจากการให้เด็กๆ คิดก่อนว่าอยากจะให้หุ่นของตัวมีสีอะไร แล้วหากต้องการสีนั้นจะต้องนำสีอะไรไปผสมกับสีอะไร จึงจะได้สีที่ต้องการ

 

ช่างฝันอยากให้ไดโนเสาร์มีสีเขียว จะได้ตัดกับสีส้มของลูกบาสที่ถืออยู่ในมือ และไดโนเสาร์ตัวนี้จะสวมเสื้อกล้ามสีเหลือง  ส่วนชมพู่อยากได้หมีสีชมพู เมื่อวางแผนแล้วก็ต้องเขียนกำกับลงไปด้วยว่า ส่วนต่างๆ ต้องใช้สีอะไรผสมกับสีอะไร

 

ถึงตอนทำงานจริงกระดาษเขียนความคิดแผ่นนี้มีประโยชน์มาก เพราะช่วยกำกับสติของเด็กๆ ได้ดี พวกเขามีการผสมสี และทดลองระบายลงในบนกระดาษก่อนที่จะลงสีจริงด้วย ทำให้ได้สีที่ใกล้เคียงกับสีเดิม แม้ว่าจะผสมสีเอาไว้ไม่พอแล้วจะต้องผสมเพิ่มเติมก็สามารถเทียบสีกับกระดาษแผ่นที่เคยระบายไว้ก่อนหน้านี้ได้

 

เมื่อระบายสีหมดทั้งตัวแล้ว ขั้นสุดท้ายก็คือการเขียนขั้นตอนการทำ และการผสมสีให้ได้สีที่ต้องการ

 

แล้วภารกิจสุดท้ายของฉันในหน้าที่ครูอาสา ก็จบลงอย่างสมบูรณ์...

 

อีกประมาณ  ๒ สัปดาห์คุณหมอโจ้เขียนอีเมลมาถึงพวกเราว่า

 

เรียนครูอาสาฯทุกท่าน

 

โครงการ Volunteer for inpatient Kids' Clubs (แม้ลมหายใจสุดท้ายก็ไม่ท้อ) สิ้นสุดลงแล้วอย่างเป็นทางการ เด็กๆที่โรงพยาบาลได้รับความสุข ความสนุก และความท้าทายเมื่อได้กลับไปเป็นนักเรียนอีกครั้ง คุณแม่/คุณย่า/คุณยายที่ได้เห็นลูกหลานฝึกเรียนเขียนอ่านก็ชื่นใจ คุณหมอ/คุณพยาบาลก็อวยพรให้เด็กๆ ได้รับโอกาสเป็นนักเรียนบ้างบางเวลาสมดังใจ (มิใช่เป็นคนป่วยตลอดไป) เด็กหลายคนยังคงผูกพันกับกิจกรรมและถามถึงคุณครูอาสาฯบ่อยๆ  

 

โครงการจึงใคร่ขอขอบคุณแทนเด็กๆ และขออวยพรให้คุณครูทุกท่านได้ประสบความสุขในทุกๆ สิ่งที่ลงมือทำ ขอให้บุญกุศลที่ท่านสร้างไว้ในครั้งนี้ได้ส่งผลให้ท่านเจริญในธรรม และงดงามยิ่งๆ ขึ้นไปนะคะ

 

..........................................

 

 

ขอบคุณทางโครงการฯ ที่จัดโอกาสให้พวกเราได้มาพบกับประสบการณ์ล้ำค่า ขอบคุณวันเวลาที่ทุกคนมีร่วมกัน

สุดท้าย ต้องขอบคุณคุณหมอโจ้ ที่ไม่เคยท้อ และมอบความหวังให้กับทุกชีวิต ตราบเท่าที่ยังมีลมหายใจ

 

 

หมายเลขบันทึก: 485201เขียนเมื่อ 15 เมษายน 2012 16:45 น. ()แก้ไขเมื่อ 7 พฤษภาคม 2012 17:41 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท