๓๐๙.ตำนาน-ปู่ฟ้าโง้ม นิทานเมืองปง


 

                นานมาแล้วในสมัยที่มนุษย์สืบหาต้นตอ หรือสาวไปหาบรรพบุรุษของตัวเองไม่ได้ มีเรื่องเล่าว่า ชายคนหนึ่งรูปร่างสูงใหญ่โตมโหฬาร  ความใหญ่โตของรูปร่างชนิดที่ว่าเวลายืนจะต้องโง้ม (ก้ม) หัวตลอดเวลา เพราะความสูงของแก แม้แต่หัวยังไปจรดถึงฟ้า คนทั้งหลายจึงให้สมญานามท่านว่า “ฟ้าโง้ม” เพราะแม้แต่ฟ้ายังต่ำกว่าหัวของชายผู้นี้ จนคนทั้งหลายเข้าใจว่า แม้แต่ฟ้ายังโน้มลงมา

                จำเนียรกาลผ่านไปด้วยวัยที่ล่วงเลย  ด้วยเหตุที่เกิดมานานก่อนผู้อื่น ตั้งแต่ปู่ย่าตายาย รุ่นแล้วรุ่นเล่าใครเกิดขึ้นมา จนโตขึ้นพอจะรู้เดียงสาก็เห็นชายผู้นี้อยู่ตลอดเวลาคนทั้งหลายจึงให้คำนำหน้าว่า “ปู่” จึงร่วมกันเรียกว่า “ปู่ฟ้าโง้ม”

                มีเสียงเล่าว่าปู่ฟ้าโง้ม มีเพื่อนสนิทอยู่คนหนึ่ง ซึ่งไปมาหาสู่กันตลอด เมื่อไปไหนมาไหนจะต้องแวะเที่ยวหากันเสมอเพื่อนคนนี้มีชื่อว่า “ปู่ระหึง” ความที่แกมีรูปร่างใหญ่โตพอๆ กันนี้เอง มีคนเล่าว่ารอยเท้าของปู่ระหึง จะใหญ่โตมโหฬารมิใช่น้อย ๆ เมื่อมีคนเจอรอยเท้าปู่ระหึงข้างใดข้างหนึ่ง (ไม่ว่าซ้ายหรือขวา) ผู้คนจะรู้ได้ทันทีว่าถ้าเดินไปเรื่อย ๆ จะหารอยเท้าอีกข้างของปู่ระหึงเจอตัวใช้เวลาเดินไปอีกตั้ง ๓ ปี

                ด้วยความใหญ่โตของรูปร่างคนทั้งสองนั้นเอง ปู่ฟ้าโง้มมีอาชีพทำไร่ทำนาบริเวณพื้นที่ของจังหวัดเชียงราย แพร่ น่าน พะเยา และลำปาง เป็นพื้นที่นาของปู่ฟ้าโง้มทั้งหมด ในแต่ละปี ปู่ฟ้าโง้มจะปลูกข้าวกล้า และไถนาเอาไว้  เพื่อเตรียมปลูกข้าวนั้นเอง

                ด้วยภารกิจที่ใหญ่โตนี้เอง ปู่ฟ้าโง้มจึงไถนาของตัวเองไม่เสร็จสิ้นสักที วันเวลาก็ล่วงเลยไป ก็มาถึงยุคของเราเสียก่อน  ดังนั้นบริเวณที่เป็นภูเขาสลับซับซ้อนตามแนวภูเขาผีปันน้ำ ที่กั้นระหว่างพะเยา น่าน ลำปางจึงเป็นขี้ไถของปู่ฟ้าโง้ม ที่ไถค้างเอาไว้นั่นเอง

                ส่วนบริเวณที่เตรียมการที่จะปลูกข้าวด้วยการไถและผานเรียบร้อยบางส่วนแล้ว (คนภาคเหนือเรียกฮาย) คือการไถผานนั้นเอง บริเวณที่ปู่ฟ้าโง้มฮายไว้แล้ว จึงชื่อว่า เชียงราย ซึ่งปรากฏต่อมาเป็นที่ราบลุ่มที่กว้างใหญ่ ๑ ใน ๓ ของภาคเหนือตอนบนในปัจจุบัน ด้วยประการนี้เอง !

                วันหนึ่งปู่ฟ้าโง้มนึ่งข้าว ณ ที่แห่งหนึ่ง พอข้าวสุกได้ที่แล้วจึงยกไหหม้อข้าวนึ่งมาปกคือ การนำมาวางไว้ ณ บริเวณบ้านแห่งหนึ่งซึ่งที่แห่งนั้นต่อมาได้ชื่อว่า เมืองปง จนถึงทุกวันนี้ เมื่อปู่ฟ้าโง้มได้จัดให้มีงานรื่นเริงบันเทิงใจ มีการเฉลิมฉลองกันอย่างสนุกสนาภาษาเหนือเรียกว่า “ม่วน” ณ บ้านแห่งหนึ่งบ้านแห่งนั้นจึงชื่อว่า “เชียงม่วน” มาจนถึงทุกวันนี้ ต่อมา ทั้งเมืองปงและเชียงม่วนเป็นอำเภอ  ในจังหวัดพะเยา

                เมื่อปู่ฟ้าโง้มมีนาจำนวนมาก  การทำนาต้องใช้เวลานาน  นาของแกจึงถูกน้ำกัดเชาะพังลงไปคำว่า “พัง” ภาษาเหนือว่า “ปัง” ต่อมาคนทั้งหลาย เมื่ออกเสียงคำว่านาปัง จึงเพี้ยนมาเป็นนาปรัง บริเวณดังกล่าวจึงเป็นชื่อตำบลแห่งหนึ่งของอำเภอปงว่า “ตำบลนาปรัง” มาจนทุกวันนี้

     

           ตำนานเรื่องนี้ น่าจะเป็นการกล่าวอ้างถึงความใหญ่โตของคนเล่าเอง  เพราะมีจุดที่น่าคิดอยู่ ๒ ประการ คือ

     ๑.      ผู้เล่าต้องการจะโยงคำว่า เชียงราย,เมืองปง,เชียงม่วน,นาปรัง เอาไว้ด้วยกัน เพื่ออธิบายลักษณะภูมิประเทศ ซึ่งอาจจะมีคำถามจากลูกหลานว่า มาจากอะไร ทำไม เป็นต้น เพื่อแก้ปริศนาดังกล่าวนักเล่านิทานจึงเอามาผูกโยงเป็นเรื่องราวเอาไว้

     ๒.    การเล่าคือการบอกต่อ ๆ  กัน ในวงสนทนา อาจมีผู้เล่ามากกว่าสองคน ต่างคนต่างเล่าข่มกันถึงความใหญ่ของสิ่งที่ตนอ้างถึง เหมือนกับว่าจะแข่งกันว่าใครเล่าใหญ่โตมหึมามากกว่าจะชนะอะไรประมาณนั้น

 

หมายเลขบันทึก: 485002เขียนเมื่อ 12 เมษายน 2012 18:48 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 มิถุนายน 2012 15:31 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

เล่าได้ละเอียดดีจัง
อ่านเพลินเลย
ได้ความรู้ด้วยครับ 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท