เลงมะมวด


วันนั้น....เป็นครั้งแรกในรอบ 30 ปี ที่ผมได้เห็นเขาเล่น "เลงมะมวด" อีกครั้ง ซึ่งทำให้ผมรู้สึกตื่นเต้นและดีใจเป็นอย่างมาก ที่เห็นพิธีกรรมนี้ยังคงดำรงอยู่ได้มาจนกระทั่งถึงปัจจุบันนี้

 

 

 

บันทึกการเดินทาง :

เลงมะมวด

 

 

บรรดาร่วงทรงกำลังพากันเต้นรำ

 

 

 

          ช่วงที่ผ่านเดินทางไปเยี่ยมบ้านเกิดที่จังหวัดศรีสะเกษ เมื่อปลายเดือนมีนาคม 2555 ที่ผ่านมา ผมรู้สึกโชคดีที่ได้ไปเห็นพิธีกรรม "เลงมะมวด" พอดี ซึ่งจัดพิธีขึ้นที่บ้านของน้าสาวซึ่งเป็นญาติของผมคนหนึ่ง

          เรื่องของเรื่องมีอยู่ว่า....เมื่อหลายเดือนก่อน น้าเขยซึ่งเป็น ตชด. เกิดอาการป่วยขึ้นมาอย่างกระทันหัน แล้วก็ลุกไม่ขึ้นอยู่เป็นเดือนๆ ญาติพี่น้องก็เลยไปให้หมอดูชาวบ้านทำนายทายทักดู โดยเขาบอกว่าผีปู่ย่าตายายอยากจะดู "เลงมะมวด" ก็เลยทำให้น้าเขยเป็นอย่างที่เห็น หากหายเมื่อไหร่ ก็ให้ทำพิธี "เลงมะมวด" เพื่อเป็นการแก้บนผีฟ้าหรือบรรพบุรุษ


          คำว่า "เลง" แปลว่า ....เล่น
          คำว่า "มะมวด" แปลว่า....แม่มด ผีฟ้า หรือผีบรรพบุรุษ

          พิธีกรรม "เลงมะมวด" คือ การเต้นรำเพื่อแก้บนหรือขอบคุณผีฟ้า/ผีบรรพบุรุษ ที่ช่วยให้ผู้ป่วยซึ่งเป็นลูกหลานหายจากอาการเจ็บป่วย
          พิธีกรรม "เลงมะมวด"นี้ ถือว่าเป็นความเชื่อหรือวัฒนธรรมพื้นถิ่นของพี่น้องชาวไทยเชื้อสายเขมรที่อยู่ในอีสานใต้ ซึ่งปัจจุบันนี้เริ่มจะหาดูได้ยากและเริ่มจะหาคนสืบทอดได้ยากเต็มที

          ในอดีต....สมัยที่ผมยังเป็นเด็ก ผมมีโอกาสได้ดูเขา "เลงมะมวด" ปีละหลายๆ ครั้ง แต่หลังจากที่ผมเดินทางออกจากบ้านเกิดเพื่อไปใช้ชีวิตอยู่ที่อื่น เกือบ 30 ปี ผมก็ไม่เคยได้เห็นพิธีกรรมนี้อีกเลย

           วันนั้น....เป็นครั้งแรกในรอบ 30 ปี ที่ผมได้เห็นเขาเล่น "เลงมะมวด" อีกครั้ง ซึ่งทำให้ผมรู้สึกตื่นเต้นและดีใจเป็นอย่างมาก ที่เห็นพิธีกรรมนี้ยังคงดำรงอยู่ได้มาจนกระทั่งถึงปัจจุบันนี้





ญาติพี่น้องช่วยกันขุดหลุมฝังเสาปรำพิธี

ใช้ทางมะพร้าวมุงหลังคาปรำพิธี

ผู้เฒ่าผู้แก่กำลังช่วยกันเตรียมสิ่งของสำหรับใช้ในพิธี

ญาติๆ ช่วยกันทำอาหารเลี้ยงแขกที่มาร่วมงาน

แผนกขับ สี ตี เป่า มากันครบชุด

เริ่มเล่นตอน 1 ทุ่มตรง

ช่วงนี้คือตอนเวลา ตี 2

ดึกๆ เข้า ผู้ชมก็เปลี่ยนจากนั่งดูเป็นการหลับดูแทน  คิคิคิ

มีการพักยกเป็นช่วงๆ

เครื่องเซ่นไหว้ในพิธี

ร่างทรงกำลังทำสมาธิเชิญวิญญาณมาเข้าสิงร่าง

นี่ก็เช่นกัน

ร่างทรงผูกแขนใก้กับน้าที่เพิ่งหายป่วย

เล่นตั้งแต่ 1 ทุ่มตรง....ตอนนี้ 7 โมงเช้าแล้ว ก็ยังไม่เลิก

ต้องเล่นไปเรื่อยๆ จนกว่าผีฟ้าจะพออกพอใจถึงจะเลิกเล่นได้

พิธีกรรมเสร็จสิ้นตอน 9 โมงเช้า

รวมแล้วครั้งนี้ใช้เวลาเล่นทั้งหมด 14 ชั่วโมงพอดี





เพลง   "ศรัทธาฤาเหตุผล"

ขับร้องโดย  "สุภัทรา   โกษาราษฎร์"

(เพลงประกอบภาพยนตร์  เรื่อง  "15 ค่ำ เดือน 11")




หมายเลขบันทึก: 484538เขียนเมื่อ 7 เมษายน 2012 21:06 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 16:50 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (16)

อ่านบันทึกนี้แล้วคิดถึงตอนอยู่ ม.๔ แม่ป่วยหนัก ก็มีการนำผีฟ้ามารำ เช่นนี้แล่ะครับ ตอนนั้นก็ไม่เชื่ออะไรมากหรอกแต่ก็ยอมตามญาติๆ ทำยังไงก็ได้เพื่อให้แม่หาย... เพลงประกอบหนังเรื่อง ๑๕ ค่ำ เป็นหนังที่ผมชื่นชอบเรื่องหนึ่งที่สร้างได้ดีมากครับ ดนตรีประกอบเศร้าๆ ขอบคุณบันทึกดีๆ ครับ

  • หวัดดีจ้ะ
  • ครั้งหนึ่งสมัยยังเป็นนักเรียนอยู่
  • คุณมะเดื่อเคยไปดูพิธี " ผีมด" คล้าย ๆ แบบนี้แหละจ้ะ

ชอบบรรยากาศอย่างนี้จังค่ะ ทำให้นึกถึงสมัยไปพักบ้านป้าคนนึงที่ร้อยเอ็ด

สวัสดีครับ คุณ พ.แจ่มจำรัส

 

* พิธีกรรมนี้เป็นความเชื่อแบบดั้งเดิมของอีสานใต้นะครับ เป็นการเยียวยาและให้กำลังใจของผู้ป่วย....ไม่เชื่อ แต่ก็ไม่ควรลบหลู่นะครับ

 

** ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11.....เป็นหนังไทยที่ผมชอบมากที่สุดเลยนะครับ

สวัสดีครับ คุณมะเดื่อ

 

พิธี "เลงมะมวด" จะเล่นกันทางแถบอีสานใต้นะครับ ถ้าหาก "ผีมด" ที่คุณมะเดื่อเคยได้ดูในสมัยเด็กอยู่ในแถบนี้ แสดงว่าเป็นพิธีกรรมเดียวกันนะครับ

สวัสดีครับ คุณ Poo

 

-พิธีกรรมนี้ หากได้ดูตอนเขาเล่นจริงๆ จะรู้สึกว่าขลังและน่ากลัวมากเลยนะครับ ขนาดผมโตแล้ว แต่พอได้เห็นตอนผีฟ้าเข้าสิงร่างทรง โอ....ขนลุกเลยละครับ

-พิธีกรรมนี้จัดขึ้นเพื่อช่วยเยียวยาจิตใจของคนป่วยนะครับ เป็นการแก้บนหรือให้กำลังใจไปในตัวด้วย

 

ภาพที่กำลังจางหายในเมืองใหญ่

 

เฮ็ดในสิ่งที่เชื่อ  เชื่อในสิ่งที่เฮ็ด

บางทีวิทยาศาสตร์ ก็ไม่สามารถอธิบายเหตุและผลของหลายๆ สิ่งที่เราทำได้ 

เพราะเราทำด้วยใจและความเชื่อ

เพิ่งเคยเห็น น่าสนใจมากเลยครับ สบายดีไหมครับ

สวัสดีครับ เอื้อยกระติก~natachoei ที่ ~natadee

 

* พิธี "เลงมะมวด" เป็นพิธีกรรมที่จัดขึ้นสำหรับ "แก้บน" หรือ "เซ่นไหว้" ให้กับดวงวิญญาณต่างๆ นะครับ ทำเพื่อให้ผู้ป่วยมีกำลังใจขึ้น และเป็นการทำตามคติความเชื่อของท้องถิ่นด้วย....ทำแล้ว ผู้ป่วยก็สบายใจ ญาติเองก็สบายใจไปด้วย เหมือนกับไม่มีอะไรติดค้างอยู่ในใจอีกต่อไป

** ตอนนี้พิธีกรรมนี้ยังคงมีให้เห็นอยู่นะครับ แต่ในอนาคตนั้นน่าเป็นห่วงพอสมควร เพราะคนรุ่นใหม่ไม่ค่อยพากันให้ความสนใจในเรื่องนี้แล้ว มองว่าเป็นเรื่องงมงาย ซึ่งถ้าหากไม่มีคนสืบทอด ในอนาคตอันใกล้นี้ก็คงจะไม่มีให้ได้เห็นอีกเลย

*** ศรัทธา....บางครั้งก็งดงามกว่าเหตุผลนะครับ

สวัสดีครับ อาจารย์ขจิต ฝอยทอง

 

-พิธีกรรมนี้ มีอยู่เฉพาะที่อีสานใต้(ศรีสะเกษ สุรินทร์ บุรีรัมย์ อุบลฯ) เท่านั้นนะครับ เป็นพิธีกรรมของพี่น้องชาวไทยเชื้อสายกัมพูชาโดยเฉพาะ

-ผมสบายดีนะครับ....ขอบคุณมากๆ เลยครับ ที่กรุณาแวะเข้ามาเยี่ยมและทักทาย

เกี่ยวกับเรื่องนี้ ผมเคยเจอกับตัวเองมาครั้งแรกในชีวิต เมื่อ สามปีก่อน ตอนนั้นผมมีอาการป่วยคล้ายๆ อาการน้ำในหูไม่เท่ากันคือเวลาลุก หรือเพ่งหันมองอะไร โลกทั้งโลก จะหมุนคว้าง ทรมานมากครับ รักษาอยู่นานก็ไม่หาย ก็เลยให้คุณแม่ ไปให้ร่างทรงที่บ้านดู ปรากฎว่าเป็นเทวบุตร เทวดา ที่คุณแม่เคยสัญญาเอาไว้ว่าจะรับและสร้างเรือนต้อนรับเขา แต่ผ่านมาหลายปีคุณแม่ก็ไม่เชื่อ จึงได้มากดทับผมทุกครั้งที่นอน เพราะว่าผมเป็นลูกชายที่คุณแม่รักมาก ก็เลยมาทรมานผม เพื่อให้คุณแม่จัดพิธี เลงมะมวด ไม่น่าเชื่อก็ต้องเชื่อ เพราะตั้งแต่ผ่านพิธีนั้นมา อาการที่เกิดขึ้นกับผม หายเป็นปลิดทิ้ง อย่างอัศจรรย์ตั้งแต่วันนั้นเลยครับ... ของแบบนี้ไม่เชื่ออย่าลบหลู่ เพราะของบางอย่าง วิทยาศาสตร์ ก็อธิบายไม่ได้ครับ แต่สำหรับผม ผมเชื่อครับ...

- เป็นวัฒนธรรม (Culture) อย่างหนึ่งใช่ไหมค่ะ?

- หรือ...เป็นความเชื่อ(Belief) .... หรือ เป็นเรื่องของศรัทธา (Faith)

 



สวัสดีครับ คุณพี่ Peter p

 

* ขอบคุณมากๆ เลยครับ ที่กรุณาแวะเข้ามาเยี่ยมและช่วยเล่าประสบการณ์ให้ได้ทราบ ซึ่งช่วยเพิ่มเติมให้บันทึกเรื่องนี้มีความน่าสนใจมากยิ่งขึ้น

** ผมยังไม่เคยประสบกับตัวเอง....แต่ก็ไม่เคยคิดลบหลู่เลยนะครับ ตรงกันข้าม....ผมกลับมองเห็นความงามหลายๆ อย่างที่ซุกซ่อนอยู่ในพิธีกรรมนี้ ทั้งเรื่องความรัก ศรัทธา  ความสามัคคี และความกตัญญูกตเวที เป็นต้น

สวัสดีครับ คุณ Somsri

 

* พิธีกรรมนี้ เป็นทั้ง 3 อย่างนะครับ ทั้งวัฒนธรรม ความเชื่อ และศรัทธา ซึ่งมีมาอย่างยาวนาน

** พิธีกรรมนี้ จะไม่เล่นทั่วไปนะครับ จะเล่นสำหรับการแก้บน หรือเซ่นไหว้ ให้กับคนที่กำลังเจ็บป่วยเพื่อให้เขาหายดีเท่านั้นเอง

ดีใจที่ได้มาอ่านบันทึกนี้ค่ะ เป็นภาพสะท้อนของสังคมที่มีความสัมพันธ์กันในทุกมิติระหว่างผู้คนในชุมชน ธรรมชาติและสิ่งเหนือธรรมชาติ  ผู้คนที่ยังมีความสัมพันธ์ในมิติเหล่านี้อยู่จิตใจมักไม่แห้งแล้งนะคะ

สวัสดีครับ คุณยุวนุช

 

-ที่ศรีสะเกษบ้านเกิดของผมยังมีวัฒนธรรมและประเพณีอีกหลายอย่างนะครับ ที่น่าสนใจ เช่น การแซนโดนตา(การเซ่นไหว่บรรพบุรุษ) ประเพณีการป้อนข้าวพระจันทร์(ปังออกเปรี๊ยะแค) เป็นต้น ซึ่งชาวบ้านในท้องถิ่นยังรักษาและสืบทอดสิ่งดีๆ เหล่านี้เอาไว้อย่างเหนียวแน่น

-ตราบใดผู้คนยังมีความศรัทธาและผูกพันกับสิ่งเหนือธรรมชาติอยู่ ตราบนั้นวัฒนธรรมหรือประเพณีดั้งเดิมของท้องที่นั้นๆ ก็จะยังคงดำรงอยู่ต่อไปได้นะครับ

-ขอบคุณมากๆ เลยครับ ที่กรุณาแวะเข้ามาเยี่ยมและให้กำลัง

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท