จุดประสงค์ทางการศึกษาฉบับปรับปรุงตอนที่ 3 ขยายความเรื่องความรู้ทางอภิปัญญา


จุดประสงค์ทางการศึกษาฉบับปรับปรุงตอนที่ 3 ขยายความเรื่องความรู้ทางอภิปัญญา

ท่านผู้อ่านที่รัก

                ในขณะที่หลักสูตรที่เราใช้อยู่เป็นหลักสูตรปีพุทธศักราช 2551 ซึ่งเป็นหลักสูตรที่อิงมาตรฐาน หลักสูตรฉบับนี้มีความชัดเจนขึ้นเพราะกำหนดกริยาไว้ให้เราในฐานะครูผู้สอนไว้อย่างชัดเจนแต่ประเด็นปัญหาอยู่ที่เราที่เป็นครูผู้สอนสามารถกำหนดจุดประสงค์ทางการเรียนไว้ชัดเจนหรือไม่ ในวันนี้ผมจะได้นำเสนอจุดประสงค์ทางการศึกษาฉบับปรุงของ Krathwohl และคณะมาให้ท่านผู้อ่านทุกท่านได้พิจารณากันครับ

                ในบันทึกคราวที่แล้วผมไดนำเสนอจุดประสงค์ทางการศึกษาฉบับเก่ามาเทียบจุดประสงค์การศึกษาฉบับปรังปรุงแล้วนะครับ มิติด้านความรู้ข้ออื่นคงไม่มีปัญหาแต่ข้อ 4 ความรู้ในทางอภิปัญญา ผมคิดว่าคงมีปัญหาสำหรับผู้อ่านทุกท่านครับ วันนี้ผมจะมาขยายความเรื่องความรู้เกี่ยวกับอภิปัญญากันครับ

                ความรู้เกี่ยวกับอภิปัญญาเกี่ยวข้องกับความรู้เกี่ยวกับการตระหนักรู้ในตนเองรวมทั้งมีความรู้เกี่ยวกับยุทธวิธีการเรียนรู้ของตนเองด้วย ความรู้อภิปัญญานี้มี 3 ลักษณะ ดังนี้

                1. ความรู้เกี่ยวกับยุทธวิธีการเรียนรู้ของตน ความรู้นี้เกี่ยวข้องกับยุทธวิธีต่างๆหลากหลายที่นักเรียนใช้ในการจำวิชา, สกัดความหมายจากตัวบท, หรือฟังเนื้อหาในชั้นเรียนและอ่านหนังสือต่างๆด้วยความตั้งใจ อย่างไรก็ตามถึงแม้ว่ายุทธวิธีการเรียนรู้จะมีมากมายขนาดไหนก็ตาม เราสามารถสรุปได้เป็นกลุ่มได้ 3 กลุ่ม ดังนี้

                                1.1 การทบทวนตอกย้ำซ้ำซาก คือการตอกย้ำคำพูดต่างๆ นิยาม วิธีการฯลฯ ที่ได้เรียนมาแล้วซ้ำๆกับตนเองบ่อยๆ

                                1.2 การทำให้ประณีต คือการเรียนในสิ่งที่ซับซ้อนขึ้น โดยการใช้เทคนิคการจำแบบต่างๆ เช่น การใช้คำพ้องเสียง จำคำพ้องรูป การจำเป็นเพลง สรุปความ การสร้างข้อความใหม่โดยที่มีความหมายเดิม (paraphrasing) สามารถใจความสำคัญและรายละเอียดสนับสนุนจากตัวบท

                                1.3 การทำเป็นโครงสร้าง คือการจัดระเบียบความคิดที่เราได้จากการตอกย้ำซ้ำซากและการทำให้ประณีตโดยใช้จดหรือทำแผนผังความคิด เป็นต้น

                2. ความรู้เกี่ยวกับภาระงานรวมทั้งเงื่อนไขและบริบทของงานเหล่านั้น ความรู้นี้เกี่ยวข้องความรู้ที่เกี่ยวกับงานว่างานนั้นง่ายหรือยากขนาดไหน และต้องการยุทธวิธีการจำอะไร การทำภาระงานนั้นมีเงื่อนไขหรือไม่ และมีสภาพแวดล้อมในงานนั้นอย่างไร ยกตัวอย่างเช่นภาระงานที่ต้องให้เราบ่งชี้ย่อมง่ายกว่าภาระงานที่ให้เราจำข้อความขนาดยาว เมื่อเราพบว่าภาระงานบ่งชี้ง่ายกว่าภาระงานจำ เราต้องรู้ว่าต้องใช้ยุทธวิธีการเรียนรู้อะไร และต้องปฏิบัติอย่างไรจะจำงานนั้นสำเร็จ นอกจากนี้ในบางครั้งเราจะต้องตั้งคำถามว่า เมื่อเราที่เราควรใช้ยุทธวิธีนั้นและทำไมจึงต้องใช้ยุทธวิธีนั้นด้วย

                3. ความรู้ในตนเอง ความรู้ในตนเองเกี่ยวข้องกับความรู้ในจุดแข็งและจุดอ่อนของตัวเอง เช่นรู้ว่าเรามีความสามารถในการสอบแบบปรนัยมากกว่าอัตนัย เราเรียนเลขเก่งมากกว่าภาษาอังกฤษ เป็นต้น การรู้เรื่องจุดแข็งและจุดอ่อนของเราเองมีความสำคัญอยู่หลายประการหนึ่งในนั้นก็คือ เราสามารถที่จะปิดหรือเติมเต็มจุดอ่อนของเราได้และสามารถทำให้จุดแข็งของเราแข็งแข็งขึ้นได้นั่นเอง

หนังสืออ้างอิง

Paul R. Pintrich. The Role of Metcognitive Knowledge in Learning, Teaching, and Assessing. (ออนไลน์) www.unco.edu/cetl/sir/stating.../Krathwohl.pdf วันที่เข้าถึงได้ 4 เมษายน 2555.

หมายเลขบันทึก: 484360เขียนเมื่อ 5 เมษายน 2012 21:08 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 มกราคม 2014 20:38 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท