ภาพจิตกรรมฝาผนังภายในพระอุโบสถวัดโพธินิมิตร


พระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ จ้างช่างเขียนฝาผนังคือพระอาจารย์แดง วัดหงษ์รัตนาราม

ภาพจิตกรรมฝาผนังภายในพระอุโบสถวัดโพธินิมิตร

          จิตกรรมฝาผนังภายในพระอุโบสถวัดโพธินิมิตร  เป็นจิตกรรมในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งครั้งที่พระองค์เสด็จพระราชดำเนิน ถวายผ้าพระกฐินที่วัด เมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๒  พระองค์ทรงเห็นว่าพระอุโบสถเสร็จเรียบร้อยแล้ว  แต่ภายในยังไม่ได้มีลวดลายใดๆ  จึงพระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์  จ้างช่างเขียนฝาผนังคือพระอาจารย์แดง วัดหงษ์รัตนาราม  ซึ่งเป็นช่างเขียนที่มีชื่อเสียงในสมัยนั้น

          ซึ่งในช่วงเวลาดังกล่าว  เป็นระยะเวลาหัวเลี้ยวหัวต่อของศิลปะไทยแบบประเพณี  และศิลปะสมัยใหม่ที่เริ่มก่อตัวพัฒนา มาตั้งแต่สมัยสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  ซึ่งแสดงออกถึงอิทธิพลจาสังคมตะวันตกอย่างชัดเจน  เป็นจิตรกรรมที่มีลักษณะแบบอุดมคติ (Idealistic Art)เป็นการเขียนแบบเหมือนจริง (Realism)เช่น ผลงานของขรัว อินโข่ง เป็นต้น 

       เริ่มมีการใช้หลักการสร้างภาพให้เกิดความรู้สึกเป็น ๓ มิติ (Three Dimentions)ด้วยการใช้แสงเงาแก้ปัญหาบนพื้นระนาบ ๒ มิติ ซึ่งเป็นที่นิยมแพร่หลายอย่างกว้างขวางในสมัยนั้น ส่วนประเพณียังคงปฏิบัติสืบทอดต่อกันมา  มีลักษณะและรูปแบบที่แสดงความรู้สึกส่วนตนของจิตรกรและเรื่องที่นำมาสร้างสรรค์เหมาะสมกับความนิยมตามสมัย

                     ลักษณะการจัดองค์ประกอบภาพจิตรกรรมฝาผนังภายในพระอุโบสถวัดโพธินิมิตรนี้  จะมีลักษระคล้ายกับแบบอย่างอุดมคติ  คือเป็นรูปแบบ รูปทรง ของคนและสัตว์ ต้นไม้และอาคารบ้านเรือน  กล่าวคือ  จากขอบล่างของหน้าต่าง ที่สูงจากพื้นประมาณ ๘๐ ซม.สูงไปจนจดขอบหน้าต่างบน   เขียนภาพพระราชพิธีจองเปรียง  การลอยกระทง  การบวชนาค  การทำบุญตักบาตร  การฟังโอวาทปาฏิโมกข์  วัดสุทัศนเทพวราราม  วัดโพธินิมิตร  วัดราชบพิตรสถิตมหาสีมาราม  เป็นต้น  ส่วนที่เหนือขอบหน้าต่างบน  จนจดเพดานเขียนภาพพระเจ้าอโศกมหาราชทรงตอนกิ่งพระศรีมหาโพธิ และการนำกิ่งพระศรีมหาโพธินั้นจากเมืองปาฏลีบุตร ในอินเดียสู่เมืองอนุราธปุระเมืองลังกา

          การเขียนภาพจิตรกรรมที่วัดโพธินิมิตรนี้ประกอบด้วน ภาพเล่าถึงเหตุการณ์ต่าง ๆ เป็นภาพเรียงติดต่อกันไป โดยไม่มีเส้นแบ่งแยกออกเป็นส่วนเป็นตอน แต่จะใช้ฉากธรรมชาติ ได้แก่ กลุ่มต้นไม้ แนวก้อนหิน โขดหิน กำแพงเมือง ซึ่งเป็นส่วนประกอบของภาพนั้น แบ่งกลุ่มภาพออกเป็นตอน ๆ แต่ภาพจะมีความสัมพันธ์กัน โดยตลอดไม่ขาดจากกัน ซึ่งขนาดของกลุ่มภาพจะมีขนาดเล็กใหญ่คละกันไปโดยมากมักจะใช้สถาปัตยกรรมเป็นเกณฑ์ ในการแบ่งภาพในแต่ละกลุ่ม

            การสร้างภาพจิตรกรรม จิตรกร ได้ใช้หลักการเขียนแบบทัศนียวิทยา (Perspective) กล่าวคือ เป็นระบบการเขียนภาพแบบ ๓ มิติ (Three deminsions) ระบบนี้ให้ผลทางสายตาทำให้เห็นภาพเหมือนจริง สามารถลำดับความใกล้ไกลของภาพได้ด้วยขนาดขนาดใหญ่จะอยู่ใกล้ขนาดเล็กจะอยู่ไหลออกไป จนกระทั่งกลายเป็นจุดสุดสายตาอยู่ที่เส้นขอบฟ้าหรือเรียกอีกอย่างว่า เส้นระดับตา   ลักษณะของภาพพยายามจะเขียนให้มีลักษณะเหมือนจริง กล่าวคือ การเขียนภาพบุคคลอากัปกิริยาต่าง ๆ   ภาพสถาปัตยกรรมบ้านเรือน ปราสาทพระราชวัง หรือแม้ภาพธรรมชาติ ต้นไม้ ทะเล จะมีระลอกคลื่นเหมือนกับคลื่นจริง ๆ 

โดย  คนบ้านเดียวกัน

 ปรับปรุงและเรียบเรียงจาก

หน้งสือที่ระลึกงานถวายผ้าพระกฐินพระราชทาน

กระทรวงศึกษาธิการ  พุทธศักราช  ๒๕๔๐

หมายเลขบันทึก: 48424เขียนเมื่อ 5 กันยายน 2006 15:03 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 17:32 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท