ความฝันสีเขียว (Android Edition)


ในปี 2012 นี้เป็นที่แน่นอนแล้วว่าโลกกำลังก้าวเข้าสู่ยุค "Post PC" อย่างเต็มตัว เป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ทีเดียวที่จะกระทบกับสิ่งต่างๆ ในโลกนี้อย่างเป็นลูกโซ่อย่างที่น่าสนใจมากทีเดียว

ที่จริงแล้วใช้คำว่า "Post PC" ก็ไม่ค่อยถูกนัก ผมอยากจะใช้คำว่า MMPC มากกว่าที่ย่อมาจาก "More (and More) Personal Computer" เพื่อหมายความว่าอุปกรณ์คอมพิวเตอร์มันใกล้ชิดและฝังตัวอยู่ใกล้กับเรามากขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่งบางอย่างเริ่มมีสภาพอย่างที่เรียกในศัพท์วิชาการว่า "Ubiquitous Computing" หรือคอมพิวเตอร์ที่ฝังซ่อนอยู่ในสภาพแวดล้อมเราจนเรามองไม่เห็น

ลองมองไปรอบๆ ตัวเราจะพบว่ามีคอมพิวเตอร์อยู่เต็มไปหมดเลยใช่ไหมครับ ไม่ใช่เฉพาะคนรวยแต่คนทุกคนเชียวครับ แต่ในประเทศที่พัฒนาเยอะกว่าเราก็อาจจะถูกห้อมล้อมด้วยคอมพิวเตอร์เยอะกว่าก็ไม่แปลกครับ

ในกระบวนเทคโนโลยีต่างๆ ที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในโลกนี้ที่ผมเห็นว่าเป็นความหวังที่จะเห็นเทคโนโลยีลงมารับใช้เราได้อย่าง "ubiquitous" มากขึ้นคือ Android Operating System ซึ่งก็คือระบบปฎิบัติการที่ใช้ในโทรศัพท์มือถือและเทบเล็ตทั่วๆ ไปนั่นเอง

Android เป็นระบบปฎิบัติการแบบ open source หมายความว่าผู้ผลิตอุปกรณ์รายไหนก็สามารถเอาไปใช้ได้ ด้วยเหตุนี้ Android สร้างปรากฎการณ์ที่ทำให้เกิดความเป็น "หนึ่งเดียว" ในตลาดผู้บริโภคเหมือนสมัยที่เครื่อง PC เครื่องไหนๆ ก็ใช้ DOS ได้

แต่ Android ก็มีปัญหาของตัวเองที่อาจจะไม่ไปถึงความฝันหลายอย่าง อย่างแรกคือผู้ผลิตอุปกรณ์ต่างๆ พยายามสร้างความ "แตกต่าง" ของ Android ของตัวเองเพื่อสร้างจุดขายทางการตลาด อย่างต่อมาคือการเมืองของผู้ผลิต Android เองที่นำโดย Google และบริษัทต่างๆ ที่เอาแน่จริงๆ ไม่ได้เหมือนกัน

หลายคนอาจจะบอกว่า iOS ของ Apple ที่ใช้กับ iPhone และ iPad นั้นดีกว่า Android เยอะเลย

แน่นอนครับ iOS ดีกว่าเยอะมาก แต่ก็เหมือนสมัยยุค DOS ที่ Mac OS (ตอนนั้น) ดีกว่า DOS เยอะมาก ไหนจะ Solaris ของ Sun ที่พยายามสร้างตลาด ที่จริงแล้ว NeXTStep ซึ่งเป็นต้นตอของ iOS (และ Mac OS X ในปัจจุบัน) ก็เกิดขึ้นในช่วงใกล้เคียงกัน

แต่ DOS คือของ "เปิด" ครับ

แม้ DOS ไม่ใช่ open source แต่ความเปิดของ DOS คือ "แผ่นดิสก์แผ่นเดียวก็ใช้ DOS ได้"

และสำหรับโปรแกรมเมอร์ DOS เป็นระบบปฎิบัติการที่ไม่ซับซ้อน และสมัยนั้น Turbo C ในแผ่นดิสก์ 5.25" เดียวกันกับ DOS ก็เพียงพอที่จะเปิด DOS ให้ทะลุทะลวงอย่างสนุกสนานแล้ว

ณ ค่ำคืนพรายสายฝน ในห้องแอร์เย็นฉ่ำที่ศูนย์คอมพิวเตอร์ เครื่อง 80286 รุ่นล่าสุดกับ DOS และ Turbo C ให้ความอบอุ่นกับโปรแกรมเมอร์หนุ่มได้เสมอ

หลายๆ คนที่เกิดทันยุคเดียวกับผมคงจะนึกภาพออก ส่วนคนที่เกิดไม่ทันไว้ผมค่อยเล่าให้ฟังก็แล้วกันครับ

ผมเห็น Android แล้วผมนึกถึง DOS แล้วทำให้ผมจินตนาการถึงอนาคตของโลก "Post PC" อย่างบรรเจิดทีเดียวครับ

ปัจจุบันโทรศัพท์มือถือและเทบเล็ตโดยส่วนใหญ่ที่ไม่ได้มาจาก Apple ใช้ Android ทั้งสิ้น อาจจะมีระบบปฎิบัติการอื่นอยู่บ้าง แต่ก็อยู่ในสภาพกำลังจะหลุดออกจากตลาด ความพยายามของ Nokia/Microsoft ที่จะฟื้นตัวเองด้วย Windows 8 นั้นผมเห็นว่าเลือนลางเต็มที จะทำได้ก็ต่อเมื่อผู้ผลิต Android สะดุดขาตัวเองเท่านั้น

ส่วน Apple นั้นผมคิดว่าเลยจุดสูงสุดของบริษัทมาแล้ว ดูได้จากการประกาศจ่ายปันผลในไม่กี่วันที่ผ่านมา คนอายุรุ่นผมคงจะจำกันได้ในวันที่ Microsoft ประกาศปันผลใช่ไหมครับ การที่บริษัทที่กำลังเติบโตอย่างมากจนมีเงินสดในมือมหาศาลอย่าง Apple (หรือ Microsoft ในอดีต) ประกาศจ่ายเงินปันผลคือการออกมายอมรับว่าบริษัทไม่มีความสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มของเงินก้อนนี้ให้เกินกว่าอัตราดอกเบี้ยแล้วครับ

ดังนั้นในยุคแห่ง paradigm shift จาก "กระดาษ" เป็น "กระดาษอิเลคทรอนิคส์" นี้ Android จะเป็นส่วนสำคัญของการเปลี่ยนแปลงนี้มาก

ถ้าผมเป็นโปรแกรมเมอร์ในยุคนี้ ผมจะทุ่มความพยายามของผมในการเรียนรู้การพัฒนาโปรแกรมบน Android อย่างมาก เรียกว่าเอาให้รู้แจ้งเห็นจริงทั้งนอกทั้งในให้ทะลุปรุโปร่งไปเลย

ไม่ใช่เฉพาะ Native App นะครับ แต่ทุกอย่างทุกรูปแบบทุกการพลิกแพลงที่สามารถทำได้กับ Android ครับ

เทบเล็ตกำลังกลายเป็นอุปกรณ์การศึกษา "ปกติธรรมดา" ของการเรียนในอนาคต และเทบเล็ตเหล่านี้ใช้ Android

อย่าคิดประเด็นเรื่องประเทศไทยครับ อะไรก็ไม่รู้ ผมก็ไม่รู้ พวกเราในฐานะโปรแกรมเมอร์ก็ไม่ควรรู้ เรื่องการเมืองเราไม่ยุ่ง ปล่อยคนที่เขาชอบเรื่องการทะเลาะกันสนุกให้เต็มที่ ไม่เกี่ยวกับเรา เราไม่ได้เรียนรัฐศาสตร์หรือนิติศาสตร์ พวกเราให้มองไปที่ต่างประเทศ มองไปในระดับโลก

การที่ Android อยู่ในระบบการศึกษาได้นี่เป็นเรื่องสำคัญยิ่ง เพราะหมายความว่า Android จะเข้าไปอยู่ในระบบอื่นๆ ของโลกได้โดยง่าย ดังนั้นทักษะของโปรแกรมเมอร์ในการพัฒนาซอฟต์แวร์บน Android จึงสำคัญอย่างมากและจะเป็นทักษะที่จะไม่ตกยุคได้ง่ายๆ

ดังนั้นถ้าเราจะ "เสี่ยงดวง" ในการเรียนรู้เทคโนโลยีอะไรสักอย่าง Android น่าจะเป็นเทคโนโลยีที่น่าลุ้นที่สุดในขณะนี้ครับ

หมายเลขบันทึก: 483527เขียนเมื่อ 28 มีนาคม 2012 12:52 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 มิถุนายน 2012 16:17 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

post PCกับฝันสีเขียวและ Post modernคงจะอยู่บนเส้นตรงเดียวกันนะเจ้าคะ...ยายธี

ของผมรุ่นก่อน DOS ซะอีก

รุ่นผมเป็นนศ.ป.โท ใช้ radioshack trs-80 (ใช้ CPU Z-80 ยังจำได้)

จากนั้น CPM

Comodore 64 , Atari ก็เคยใช้

โห..dyno จริงๆ เลย

พอเป็นป.เอก ใช้ 8088 แล้วมา 8086 (อ้าว 86 มาหลัง 88 ซะอีก สงสัยมันเปลี่ยนจาก 8 bit มาเป็น 16 bit)

จบแล้วถึงได้มี 80286 ใช้ วาว โคตรเท่ ตอนนั้น unix เริ่มออกมาแล้ว

ประวัติศาสตร์คอมพิวเตอร์นี้น่าสนครับ น่ามีการบันทึกเขียนไว้ให้มาก

ใจผมไม่อยากให้ยึดติดแม้แต่ android ครับ แต่อยากให้เรียนรู้เพื้อเฟ้นหาว่าอะไรหนอที่ทำให้ android มัน เต้น ได้

ถ้าเราเรียนกันขุดราก ถอนโคน แทนการใช้ดอกใช้ใบ สักวันคนไทยเราอาจคิดต้น OS อะไรที่เลิศกว่า android ก็เป็นได้นะครับ เช่น ไม่ต้องคลิก ไม่ต้องรูดนิ้ว แต่เพียงแค่ส่งสัญญาณจากสมอง หรืออารมณ์ มันก็ทำงานให้เราได้แล้ว

ถ้าศึกษา Android ก็จะเจอ Linux ที่เป็นฐานของ Android อีกทีครับ แล้วพอเจอ Linux ก็คือได้เรียนรู้ UNIX ซึ่งก็เป็นฐานความรู้ที่มั่นคงมากครับ ผมเชื่อว่าอีกหลายสิบปีจากนี้ ระบบปฎิบัติการในขณะนั้นก็จะยังมีพื้นฐานอยู่บนแนวคิดของ UNIX ครับ

เรื่อง Brain Wave Sensors เดี๋ยวนี้เริ่มมีบริษัทหลายรายทำขายเป็น gadgets และมี API มาให้เขียนโปรแกรมต่อเล่นได้แล้วครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท