"เขียนบทกวีเพื่ออาทร เขียนบทกลอนเพื่อปลดปล่อย"


ท่านทราบหรือไม่ว่าบทกวีสามารถนำมาบำบัดสุขภาพที่อยู่นอกเหนือจากการแพทย์ทางเลือก (Alternative Medicine)

วันนี้ผมมีเหตุผลสนับสนุนตัวเองที่ทำไม๊ ทำไมตัวเองจึงชอบเขียน ชอบอ่าน บทกวี บทกลอนหนักหนา โดยเฉพาะที่ตัวเองกำลังอยู่ห้วงแห่งความทุกข์และเดียวดายตั้งแต่ต้นปีกลายที่ผ่านมา

 

"บทกวีบำบัด" เป็นเรื่องที่ "เภสัชกรพงศ์ปกรณ์ พิชิตฉัตรธนา" ได้เขียนเล่าไว้ในนิตยสาร Secret ฉบับที่ ๘๙ เมื่อวันที่ ๑๐ มีนาคม ๒๕๕๕ ที่ผ่านมา

ผมเองก็เคยได้ยินการใช้ดนตรีบำบัด การอ่านหนังสือบำบัด กิจกรรมบำบัด แต่บทกวีบำบัดได้ยินเป็นครั้งแรก อาจจะเนื่องจากว่าไม่ใ่ช่สายวิชาีชีพที่เกี่ยวข้องกันมากนัก หรือเวลาสอนก็ไม่ทราบมาก่อนเช่นกัน

 

 

"เภสัชกรพงศ์ปกรณ์ พิชิตฉัตรธนา" เริ่มเล่าให้ทราบว่า "บทกวีบำบัำด" เป็นแพทย์ทางเลือก

 

ท่านทราบหรือไม่ว่าบทกวีสามารถนำมาบำบัดสุขภาพที่อยู่นอกเหนือจากการแพทย์ทางเลือก (Alternative Medicine)

การแพทย์ทางเลือกเป็นสาขาหนึ่งในการบำบัดสุขภาพที่อยู่นอกเหนือจากการแพทย์แผนปัจจุบัน เดี๋ยวนี้มีผู้นิยมบำบัดด้วยหลักการแพทย์ทางเลือกมากขึ้น เพราะมันตอบสนองความต้องการบางอย่างในจิตใจได้ดีกว่าการแพทย์แผนปัจจุบัน

การแพทย์ทางเลือกแบ่งออกเป็นประเภทต่าง ๆ มากมาย เช่น วารีบำบัด ดนตรีบำบัด สะกดจิตบำบัด หัวเราะบำบัด ศิลปะบำบัด ละครบำบัด บทกวีบำบัด เป็นต้น

บทกวีบำบัด (Poetry Therapy) หรือ การบำบัดด้วยบทกวี คือ การให้ผู้ป่วยได้อ่านหรือเขียนบทกวี เหมาะสำหรับผู้ป่วยที่มีปัญหาสุขภาพจิต เช่น เครียด วิตกกังวล ซึมเศร้า หวาดกลัว เป็นต้น การอ่านและการเขียนบทกวีจะทำให้ผู้ป่วยได้ระบายความรู้สึกที่เก็บกดไว้ในส่วนลึกของจิตใจออกมา ทำให้เกิดการตระหนักรู้ เข้าใจตนเองมากขึ้น และมองเห็นทางออกของปัญหานั้น ๆ

 

และเกริ่นถึงว่า "บทกวีบำบัด" มีประวัติอันยาวนาน มิใช่ เพิ่งเริ่มรู้จักในปัจจุบันเท่านั้น

 

ถึงแม้ว่าการบำบัดด้วยบทกวีจะเพิ่งทำกันเป็นรูปแบบจริงจัง เมื่อไม่นานมานี้ เพราะมันเป็นผลพวงของการพัฒนาศิลปะในยุคใหม่ แต่จริง ๆ แล้วมนุษย์รู้จักบำบัดด้วยบทกวีมาตั้งแต่ยุคดึกดำบรรพ์ เช่น การสวดมนต์ การสรรเสริญสิ่งศักดิ์สิทธิ์ด้วยการร้องรำทำเพลงซึ่งมีอยู่ในชนเผ่าต่าง ๆ มากมาย

มีหลักฐานบันทึกไว้ว่า ในคริสต์ศักราชที่ ๑ แพทย์ชาวกรีกผู้หนึ่งชื่อว่า ซอเรนัส (Soranus) ได้บำบัดผู้ป่วยของเขาด้วยการให้แสดงบทละครและเขียนบทกวี

เบนจามิน รัช (Benjamin Rush, ๑๗๔๖-๑๘๑๓) ซึ่งเป็นบิดาของวงการจิตเวชอเมริกัน แนะนำให้ผู้ป่วยของโรงพยาบาลเพนซิลวาเนีย (Pennsylvania Hospital) อ่านบทกวีและวรรณกรรมในห้องสมุดของโรงพยาบาล โดยบอกว่าเป็นการบำบัดที่ช่วยให้สภาวะจิตใจดีขึ้น และในระหว่างปี ค.ศ.๑๙๖๐-๑๙๗๐ โรงพยาบาลแห่งนี้ได้นำบทกวีที่ผู้ป่วยจิตเวชเขียนขึ้นเองตีพิมพ์ลงในหนังสือพิมพ์ชื่อว่า The Illuminator

ซิกมุนด์ ฟรอยด์ (Sigmund Freud, ๑๘๕๖-๑๙๓๙) นักจิตวิทยาวิเคราะห์คนแรกของโลกเคยกล่าวไว้ว่า "บทกวีช่วยเปิดเผยสิ่งที่ซ่อนอยู่ในจิตใต้สำนึกของคนไข้ได้"

ปี ค.ศ.๑๙๕๐ อีไล เกรอิเฟอร์ (Eli Greifer) ซึ่งเป็นเภสัชกร ทนายความ นักกวี เริ่มกิจกรรมบำบัดด้วยบทกวีในโรงพยาบาลครีดมัวร์สเตท (Creedmoor State Hospital) ที่นิวยอร์กและที่โรงพยาบาลคัมเบอร์แลนด์ (Cumberland Hospital) ในเมืองบรุกลิน (Brooklyn) ในปี ค.ศ.๑๙๕๙

ปี ค.ศ.๑๙๖๙ แจ็ค ลีดี้ (Jack Leedy) จิตแพทย์ชาวอเมริกันได้ก่อตั้งสมาคมบทกวีบำบัดขึ้น (The Association for Poetry Therapy) และตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ผู้คนก็ให้ความสนใจกับการบำบัดด้วยบทกวีมากขึ้น มีการนำบทกวีเข้ามาช่วยในการทำจิตวิทยาบำบัดแบบกลุ่มอย่างแพร่หลาย

 

แต่ตรงนี้ยิ่งอ่านก็ยิ่งเข้าใจในเหตุผลของการใช้ "บทกวีบำบัด" มากขึ้น และคิดถึงสิ่งที่ตัวเองกำลังสัมผัสอยู่

 

 

บทกวีบำบัดปัญหาจิตใจได้อย่างไร

 

ถ้อยคำต่าง ๆ ในบทกวีผ่านการกลั่นกรองมาจากส่วนลึกของจิตใจ ผ่านกระบวนการของความคิด อารมณ์ ความรู้สึก มีทั้งทุกข์ สุข เสียใจ ดีใจ เศร้า เหงา ปีติ อิ่มเอม ซึ่งเป็นสิ่งที่ถ้อยคำในชีวิตประจำวันไม่สามารถทำได้ลึกซึ้งขนาดนี้ บทกวีส่วนใหญ่มีความงดงามในเชิงศิลปะ เพราะมีคำสัมผัสจึงได้ความไพเราะ มีความกระชับ ถ้อยคำไม่มาก ไม่ฟุ่มเฟือย แต่ก่อให้เกิดจินตนาการได้กว้างไกล ดังนั้น การเขียนหรืออ่านบทกวีจะกระตุ้นให้เกิดการระบายความรู้สึกต่าง ๆ ในจิตใจออกมาได้อย่างพรั่งพรู ทำให้ได้ปลดปล่อยสิ่งที่อัดอั้นคั่งค้างอยู่ในใจออกมา ช่วยให้เกิดความผ่อนคลาย สบายใจ

การอ่านบทกวีที่ผู้อื่นเขียน ถ้าเนื้อหาใกล้เคียงกับปัญหาที่เรากำลังเผชิญอยู่ จะทำให้รู้สึกอบอุ่นใจ ว่าอย่างน้อย ๆ ก็ยังมีคนที่เข้าใจปัญหาของเรา หรืออย่างน้อย ๆ เราก็ยังมีเพื่อนร่วมทุกข์ที่มีชะตากรรมแบบเดียวกับเรา ทำให้เราไม่รู้สึกว่าตัวเองโดดเดี่ยวอีกต่อไป

การทำจิตวิทยาบำบัดแบบกลุ่มโดยนำบทกวีเข้ามาช่วยบำบัดจะเกิดผลที่ดีมาก ๆ ไม่ว่าจะเป็นการให้สมาชิกในกลุ่มได้เขียนบทกวีของแต่ละคนหรือช่วยกันคิดช่วยกันเขียน เสร็จแล้วนำบทกวีที่ได้มาอ่านและแสดงความคิดเห็น ความรู้สึกที่มีต่อถ้อยคำต่าง ๆ ในบทกวี การบำบัดจะเกิดขึ้นในทุกขั้นตอน ตั้งแต่การมาเข้ารวมกลุ่ม ทำให้ทุกคนเกิดความรู้สึกอบอุ่นและมีที่ยึดเหนี่ยว

การช่วยกันคิดช่วยกันเขียนทำให้เกิดปฏิสัมพันธ์กัน การแสดงความคิด ความรู้สึกต่อถ้อยคำของบทกวีทำให้แต่ละคนเข้าใจตัวเองและคนอื่น ๆ มากขึ้น เกิดการมองย้อนเข้าไปในปัญหาของตัวเอง เปรียบเทียบกับปัญหาของผู้อื่น ทำให้เกิดมุมมองใหม่ ๆ เกิดความคิดใหม่ ๆ เกิดความตระหนักรู้ เกิดความเข้าใจ และในที่สุดจะมองเห็นทางออกของปัญหา มีการให้กำลังใจกัน ปลอบใจกัน ก่อให้เกิดพลังบำบัดอย่างมหาศาล

กล่าวกันว่า การเขียนและการอ่านบทกวีจะกระตุ้นให้จิตใจสงบและทำให้จิตใต้สำนึกเปิดออก ถ้อยคำในบทกวีจึงสามารถลงไปแก้ไขปมปัญหาที่อยู่ในจิตใต้สำนึกได้ ตัวอย่างเช่น

อธิษฐาน ความทุกข์ใจ ให้ผ่านพ้น
ฟ้าหลังฝน คงงามงด แสนสดใส
ความหม่นมัว ต้องลับหาย สลายไป
ความสุขใจ จะแทนที่ ในชีวัน
ขอขอบคุณ ความทุกข์ใจ ในครานั้น
ช่วยผลักดัน ให้ไขว่คว้า หาความฝัน
คงสำเร็จ สมใจ ในสักวัน
ความทุกข์นั้น คือของขวัญ อันเลิศเลอ

 

 

เมื่อ ๑ ปีก่อน ผมเปิดสมุดบันทึกเล่มหนึ่ง ชื่อ "อารมณ์พาไป หัวใจพาเดิน" สำหรับการเขียนบทกวี บทกลอนที่จะสามารถจะนำสิ่งที่คิดภายใต้จิตใจออกมาพูดให้ฟังในรูปของบทกลอน เพื่อทำให้ตัวเองรู้สึกดีขึ้นในสิ่งที่ตัวเองเป็นหรือรับสถานการณ์บางอย่างอยู่

ผมชอบอ่านหนังสือกวีมานาน แต่กลับไม่เคยคิดที่จะฝึกเขียนเลย เพราะคิดว่า ตัวเองไม่มีความสามารถมากเพียงพอ แค่อ่านก็น่าจะพอแล้ว

แต่พอมาวันหนึ่งการที่ได้เรียนรู้ ฝึกเขียนจากไม่ค่อยจะสัมผัสกัน เรียนรู้ว่ามันสัมผัสกันตรงไหนบ้าง ก็พยายามคิด คิด คิด ฝึก ฝึก ฝึก โดยเลือกเขียนจากเรื่องราวภายในตัวเองก่อน หลัง ๆ เริ่มหาโจทย์จากบันทึกของกัลยาณมิตร แล้วทำความเข้าใจ เพื่อเขียนบทกวีออกมาให้ได้บทหนึ่งบ้าง สองบทบ้าง ตามความสามารถที่พอมีบ้าง

 

แต่ก็พบความสุขใจ ความสบายใจเช่นกัน และเกิดความนับถือตัวเองเล็ก ๆ ว่า ไม่มีอะไรที่เราทำไม่ได้ และยิ่งทำก็ยิ่งสบายใจ

เหมือนเราเขียนรหัสอะไรบางอย่างลงไป คนที่เข้าใจเรา เขาจะสามารถถอดรหัสความคิดออกได้โดยไม่ยากนัก เข้าใจว่า เราหมายถึงอะไร โดยไม่จำเป็นต้องพูดออกมาตรง ๆ เพราะความตรงบางอย่าง ยังมีคนอีกหลายคนที่ยังรับไม่ได้

ถึงบทกวีจะกลายเป็นเรื่องการบำบัดความรู้สึกของตัวเอง แต่ก็ดีที่ว่า ไม่ได้ไปทำให้ใครเขาเดือดร้อน หรือ เบียดเบียนผู้อื่นในหลาย ๆ คนที่เขากำลังทำกันอยู่ในสังคม

"บทกวีบำบัด" ผมเชื่อเสียสนิทใจว่า การเขียนบทกวีเป็นวิธีการหนึ่งที่ผมค้นพบจากตัวเองว่า เขียนแล้วสบายใจ ;)...

 

สนใจเขียนบทกวีด้วยกันไหมครับ ?

 

บุญรักษา ทุกท่านครับ ;)...

 

 

ขอบคุณบทความดี ๆ ...

พงศ์ปกรณ์ พิชิตฉัตรธนา.  "บทกวีบำบัด (๑)", Secret. ๔, ๘๙ (๑๐ มีนาคม ๒๕๕๕) : ๖๘ - ๖๙.

 

หมายเลขบันทึก: 482770เขียนเมื่อ 22 มีนาคม 2012 00:14 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 00:23 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (18)

แวะมาราตรีสวัสดิ์ก่อนค่ะ แล้วยามสายสวัสดิ์จะกลับมาอ่านอีกครั้ง ^__^

นอนหลับฝันดีนะครับ พี่ Ico48 หนูรี  ;)...

สวัสดีค่ะอาจารย์

ส่วนตัวเริ่มสนใจและเขียนบทกวีตอนเรียนอยู่ชั้นม.1ค่ะ เขียนมาเรื่อยๆ ส่งประกวดบ้างที่สถานีวิทยุในจังหวัด ส่งประกวดในวันสุนทรภู่ของโรงเรียน เอารางวัลมาเป็นทุนการศึกษา เขียนเพราะใจรัก รางวัลคือผลพลอยได้ ภูมิใจกับการเขียนบทกวี เขียนไปเขียนมาค่อยๆลื่นไหล เรียนรู้กับผู้รู้ไปเรื่อยๆ ยังต้องเรียนรู้และพัฒนาตนไม่มีที่สิ้นสุด

ทุกครั้งที่จรดปลายปากกาเขียนบทกวี ความรู้สึกดี ความสุขเกิดขึ้นทุกครั้ง

สุข-ทุกข์ กังวล เขียนถ่ายทอดเป็นบทกวี เยียวยาตนเองได้ ไม่มีผิดถูก

เขียนเตือนตนเอง ให้กำลังใจตนเอง ให้กำลังใจผู้อื่น

มาอ่านบทกวีจากอาจารย์ รู้สึกชื่นชมค่ะ ชอบงานทุกชิ้นนะคะ

อ่านบันทึกนี้ได้ความรู้เพิ่มมากขึ้น "บทกวีบำบัด" คิดจะปรับไปใช้กับการทำกลุ่มค่ะ

ขอบคุณมากค่ะอาจารย์

กวี บำบัดจิต ใจ ได้ดีทีเดียวค่ะ อาจารย์เทวดา....

แล้วตอนนี้หายเหงา หายเศร้า หายเดียวดายหรือยังคะท่าน  ^_^

เราต่างให้ความรู้สึกที่ดีผ่านบทกวีซึ่งกันและกัน อย่างที่คุณ ถาวร ได้เล่าให้ฟังนั้น เป็นความรู้สึกเช่นนั้นจริง ๆ นะครับ

รู้สึกยินดียิ่งที่มีเพื่อนร่วมก๊วนนะครับ

ไม่มีผิด ไม่มีถูก

ขอบคุณมากครับ ;)...

ตอนนี้สบายดีแล้วครับ นางฟ้า ชาดา ;)...

หากนางฟ้าอยู่ใกล้ ๆ แบบนี้จะรู้สึกดีมากขึ้นมากมาย

ขอบคุณนะครับ ;)...

แวบมาชม

ยังสบายดีอยู่นะครับผม

"เภสัชกรพงศ์ปกรณ์ พิชิตฉัตรธนา" เริ่มเล่าให้ทราบว่า "บทกวีบำบัำด" 

ครูแวะมาตรวจการบ้านค่ะ 

บทสวดมนต์ เป็นหนึ่งในกวีบำบัด....

เดี๋ยวขอตัวไปสวดมนต์ก่อนนะคะ

ยินดีด้วยนะคะ กวีช้างป่าเวียงพิงค์

เดี๋ยวนี้ กลายเป็น เซียนกลอน แล้ว :)

สวัสดีค่ะอาจารย์

  • อ่านจบ...เข้าใจและเห็นด้วยทันควันว่า..กวี  บำบัดได้จริงๆ
  • เริ่มกลับไปสำรวจตัวเอง  เขียนกวีเศร้า  เราเศร้าหรือเปล่า (กลัวค่ะ)
  • พบว่า  จะเขียนได้เร็ว  ตอนรู้สึกไม่สบายใจ  เมื่อเขียนจบ  เออ...รู้สึกสบายใจขึ้น  ได้เขียนแล้ว  เขียนจบแล้ว  เหมือนได้ปล่อยความไม่สบายใจนั้นออกไปกับอักษร
  • ตอนนี้  อยากร้องไชโยดังๆค่ะ...เพราะเรื่องที่เราทำ   มันไม่ไร้สาระต่อไปอีกแล้ว...
  • ขอบคุณอาจารย์อย่างยิ่งค่ะที่นำเรื่องนี้มาเผยแพร่

เรียน ท่านอาจารย์ umi ;)...

ผมยังสบายดีอยู่ครับ

หาเรื่องเล่า เข้าข้างตัวเองนิดหนึ่งน่ะครับ ;)...

ขอบคุณมากครับ

ขอบคุณก๊าบ คุณครูพี่ หนูรี ;)...

ผมเป็นเด็กที่น่ารักนะครับ

ขออนุโมทนา ภาวนาบุญด้วยครับ คุณ KRUDALA ;)...

ขอบคุณมากครับ

หาทางฝึกฝนและฝึกฝันไงครับ คุณ Poo ;)...

แ่ต่ยังพัฒนาตัวเองอีกเยอะมากมายครับ

ขอบคุณมากครับ

ผมเป็นเหมือนคุณ กิ่งไผ่ เลยครับ ;)...

เรื่องที่ไม่สบายใจจะเขียนได้เร็ว เขียนเสร็จก็รู้สึกเบาใจมากขึ้น เหมือนได้ระบายความทุกข์ออกไปบ้าง ...

ข้อมูลสนับสนุนเต็มเปี่ยมเลยใช่ไหมครับ อิ อิ

ขอบคุณเพื่อนร่วมก๊วนคำกลอนครับ ;)...

เข้ามาทีไร ก็สุขใจไปกับบทกลอน (สงสัยชาติเก่าก่อน ลูกหลานสุนทรภู่ แหงๆ อิอิ)

อ.วัต เวลาสอน นศ. พูดเป็นกลอนด้วยปะ 5555555

คุณครู Nopparat Pongsuk ครับ

นี่หากผมสามารถพูดกลอนในชั้นเรียนได้นี่นะ

"เสน่ห์แรง" สุด ๆ เลยครับ 555

ตอนนี้กำลังฝึกอยู่ครับ เพราะชอบนั่งเงียบ ๆ แล้วแต่งน่ะครับ ;)...

ขอบคุณมากครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท