เมื่อนักศึกษาไทยไปเป็นอาสาสมัครที่อินเดีย



                เมื่อโยนคำถามว่าเราพร้อมจะก้าวสู่ประชาคมอาเซียนลงในหมู่นักศึกษาคณะสังคมสงเคราะห์เราก็มีความคิดและแผนงานมากมายหนึ่งในนั้นคือการดูงานแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับนักศึกษาสังคมสงเคราะห์ในต่างแดน เราจะไปมาเลเซียไปกันเอง จะฝึกใช้ภาษาอังกฤษและภาษาท่าทางอันเป็นสากล แบกเป้ไปกัน ไม่พึ่งทัวร์ มีพลพรรคสมัครทำหน้าที่ต่างๆกันไป 14 คน ทุกอย่างเรียบร้อยด้วยงบประมาณไม่ถึงหมื่นบาท เดินทางกันเดือนตุลาคม 2554 แต่พอน้ำทะลักเข้ากรุงเทพและปริมณฑล เรากลายเป็นอาสาสมัครตามศูนย์พักพิงผู้ประสบภัย    ผ่านไป  2 เดือนนักศึกษากลุ่มนี้มาแนวใหม่จะไปอินเดียไปเป็นอาสาสมัครที่องค์กรแม่ชีเทเรซา เมืองกัลกาตา อินเดีย.....แม่เจ้า...... อาจารย์ยังไม่เคยไปอินเดียเลยแล้วจะตามติดคุณนักศึกษาวัยรุ่นอีก 13 คนไป คุยกันด้วยความคิดเห็นและข้อตกลงสาระพัด  ในที่สุด การเรียนรู้ที่นักศึกษาเป็นศูนย์กลางก็เกิดขึ้น 11-19 กุมภาพันธ์ 2555 เราไปอินเดีย ........เมื่อกลับมาอ่านผลงานของหนึ่งในผู้เดินทางที่ส่งมาเป็นการบ้านตามข้อตกลงแล้วขออนุญาตเผยแพร่ค่ะ

            

                            จดหมายถึง คุณอินเดีย 

           อินเดีย อินเดีย อินเดีย ห๊ะ !!! อินเดียเนี่ยนะ ไปทำไมสกปรก ไปแล้วจะกินอะไร ไม่กลัวกลิ่นเครื่องเทศหรอ กลิ่นตัวแขกไม่ใช่เรื่องเล่นนะ ลองไปดมแถวๆพาหุรัดดูก่อนสิ ระวังโดนแขกโกงล่ะ ขอทานก็เยอะด้วย  อย่าไปขึ้นรถเมล์นะ แขกจะลวนลาม อ่อ เรื่องขี้ข้างๆถนนอีก และอีกมากมายหลากประโยค  หลายทัศนคติ ที่รุมเร้าเข้ามาจากคนรอบข้างบ้าง จากประสบการณ์ของคนที่ยังไม่เคยไปแต่ก็ตีตราไปซะแล้วว่าอินเดียเป็นแบบนั้น แบบนี้บ้าง จากประสบการณ์ของคนที่เคยไปมาแล้วบ้าง และที่สำคัญข้อมูลจากเหล่าหนังสือและโลกออนไลน์ที่ให้ข้อมูล ข้อควรปฏิบัติ  ข้อควรระวังไว้อย่างมากมาย ซึ่งก็มีทั้งในด้านดีและไปดี ปนๆกันไป ยิ่งเมื่อใกล้ถึงวันที่จะเดินทางมากขึ้นเท่าไหร่  ข้อมูลต่างๆเหล่านี้เริ่มหลั่งไหลเข้ามามากขึ้นเรื่อยๆ ฉันแอบนึกในใจ ว่ามันจะขนาดนั้นเลยหรอ? แต่สิ่งที่ฉันเคยอ่านหนังสือที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยวอินเดียมากหลายเล่มและแต่ละเล่มนั้นก็แทบจะพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า  “อินเดีย ถ้าไปแล้วไม่รักแบบสุดหัวใจ ก็คงจะเกลียดแบบสุดหัวใจไปเลย”   บอกตามตรงว่าอินเดียถือเป็นประเทศในฝันของฉันอันดับหนึ่งที่ใฝ่ฝันไว้ตั้งแต่เด็กแต่เล็กแล้ว  เท่าที่จำความได้ก็เริ่มรู้สึกอยากไปอินเดีย อยากไปสัมผัสความหลากหลายทางวัฒนธรรม อยากไปสัมผัสกลิ่นคุณแขก  อยากไปเดินตามรอยและได้ใช้ชีวิตช้า ๆ ตามท่านปราชญ์อย่างท่านรพินทรนาถ ฐากูร (Rabindranath Tagore)  ตามรอยท่านมหาตมะ คานธี (Mahatma Gandhi) ผู้ต่อสู้เพื่อเอกราชของอินเดียด้วยวิธีอหิงสา หรือที่คนอินเดียยกย่องให้ท่านเป็นบิดาแห่งชาติ( Father of the Nation)  นายกคนแรกอย่างท่านยาวาหะราล เนห์รู (Jawaharlal Nehru)  และดร.อัมเบดการ์  (Dr. Ambedkar) รวมถึงนักคิด นักเขียน นักปราชญ์ นักต่อสู้เพื่ออิสรภาพ ระดับโลกอีกมากมายที่เกิดที่นี่  “อินเดีย”  

             ถึงเสียงวิพาก วิจารณ์คุณจะมากมายขนาดไหน แต่ฉันก็ยืนยันที่จะเดินหน้าต่อไป อยากจะไปเหยียบแผ่นดินของคุณสักครั้ง อยากรู้ว่าคุณมีวิถีชีวิตอยู่กันอย่างไร แตกต่างจากคุณแขกแถวๆพาหุรัด แถวสุขุมวิท แถวนานา รึป่าว และฉันจะไปเพื่อหาคำตอบมาเติมเต็มในช่องว่างที่ว่า เมื่อฉันได้รู้จักกับคุณแล้ว ฉันจะหลงรักคุณแบบหัวปักหัวปำ หรือจะเกลียดคุณเข้าไส้กันนะ คุณอินเดีย... 

 

            วันเดินทางเริ่มขึ้นแล้ว วันนี้เป็นวันที่ 11 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2555 การเริ่มต้นครั้งใหม่ การผจญภัยครั้งใหม่ในต่างแดนของฉันอีกครั้ง  เด็กหญิงตัวเล็กๆจากเมืองยิ้มสวย อย่างประเทศไทย กำลังจะเหินฟ้าไปหาคุณแล้วนะ ฉันล่ะตื่นเต้นมากมายที่จะได้ไปยืนมองท้องฟ้าในมุมเดียวกับที่คุณอยู่  ได้ส่งยิ้มให้กับดวงดาราน้อยๆในองศาที่ใกล้ๆกันกับคุณ  เมื่อฉันแอบพักสายตาขึ้นไปบนท้องฟ้าในยามค่ำคืน ดวงดาวที่เคียงคู่กับพระจันทร์ที่บ้านคุณจะสว่าง สดใสและงามงดเหมือนกับที่บ้านของฉันไหม?  แต่ที่สำคัญ ฉันไม่ได้มาคนเดียวนะคะ ฉันมีเพื่อนๆ วัยกำลังสดใสน่ารัก กับอาจารย์คนสวยที่หลงใหลในการเดินทางมาด้วย  พวกเรามากันทั้งหมด 14 คนคะ  คงไม่มากและไม่น้อยไปใช่ไหมสำหรับคุณ พวกเราอยากจะรู้จักคุณให้มากขึ้น  มากกว่าที่เคยรู้  มากกว่าที่เคยได้ยิน และมากกว่าที่เคยได้เห็นจากหนังสือท่องเที่ยว หรือรายการโทรทัศน์ต่างๆ  ฉันเชื่อแน่ว่าเพื่อนๆ รวมถึงอาจารย์คนสวยนั้นก็คงตื่นเต้นไปไม่แพ้กันกว่าฉันแน่นอน!!  แล้วคุณล่ะคะ  คุณอินเดีย คุณตื่นเต้นรึป่าว คุณจะต้อนรับการมาเยือนคุณครั้งแรกของพวกเราอย่างไร ?  คุณจะเตรียมเซอร์ไพส์อะไรไว้ให้กับพวกเราบ้างนะ...

            เครื่องบินเริ่มลดระดับต่ำลงแล้ว ฉันสะดุ้งขึ้นจากการหลับใหล ภาพของคุณเริ่มชัดในสายตาของฉันมากขึ้น สัญณาณประกาศรัดเข็มขัดแสดงขึ้นแล้ว พร้อมกับเสียงพนักงานต้อนรับคนสวยที่ประกาศปาว ๆ ว่า  “ขณะนี้กัปตันกำลังนำพวกเราลงสู่ท่าอากาศยานนานาชาติโกลกัตตา”  ล้อเครื่องบินแตะพื้นแล้ว เมื่อเครื่องจอดสนิท พวกเราทยอยเดินลงจากเครื่อง เพื่อต่อรถเข้าไปตัวอาคารสนามบิน ฉันไม่ลืมที่จะสูดหายใจเฮือกแรกเมื่อมาถึงที่นี่เข้าไปอย่างเต็มปอด อากาศที่นี่ไม่ร้อนเกินไป เพราะกำลังอยู่ในช่วงฤดูหนาวของคุณ พวกเรามาถึงแล้วนะคะ  “นมัสเตคะ” คุณอินเดีย ... 

            พวกเราผ่านการตรวจคนเข้าเมืองอย่างฉลุย ไม่มีปัญหาอะไรให้หนักใจ  พวกเราจึงทยอยกันออกจากสนามบินได้อย่างหน้าชื่น ตาบาน เพื่อที่จะเดินทางไปยังที่พัก Balaji Inn   เมื่อออกมาภาพที่ฉันจำได้คือการโดนคุณอินเดียทั้งหลาย มีหนวดบ้าง ไม่มีหนวดบ้าง มารุมเร้าพวกเราเพื่อเชื้อเชิญให้ไปขึ้นรถแท็กซี่ของพวกเขา ด้วยราคาที่ไม่โกงมาก โกงแค่นิดเดียวพอ  ใหม่ๆ ฉันเชื่อว่าพวกเราอาจจะยังไร้เดียงสากันอยู่ ประกอบกับอยากจะไปให้ถึงพักเร็วๆ เพื่อดำเนินการ Check in ที่โรงแรมจะได้ไม่มีปัญหาอะไรวุ่นวาย  พวกเราจึงไม่ได้ต่อรองราคาอะไรกันมากมาย หรือเรียกได้ว่า “ถึงคุณแขกหลอก ก็จะเต็มใจให้หลอกล่ะ ตอนนี้”  พวกเราจึงตัดสินใจให้คุณหลอก ด้วยราคาที่ไม่ต้องคิดมาก นั้นคือ เหมารวม 4 คัน คันละ 790 รูปี ราคารวมทั้งหมด เท่ากับ 3,160 รูปี แต่พวกเราก็มีต่อรองกันนิดหน่อย  คุณแขกแกก็เลยเห็นใจ โกงแค่พอให้แกอยู่ได้พอ เลยปัดเศษให้พวกเรา เหลือ 3,000 รูปี ประนึงว่า เก็บไว้ให้เพื่อนๆ แขกที่อื่นได้โกงพวกเรากันบ้าง ถ้าขืนแกโกงพวกเราอยู่เจ้าเดียว แกคงจะเห็นแก่ตัวเกินไป ไม่รักเพื่อนร่วมชาติคนอื่น พวกคุณเนี่ย น่ารักกันจริงๆเลยนะคะ คุณแขก 

            เมื่อราคาเป็นที่ตกลงและพอใจกันทั้งสองฝ่าย พวกเราจึงแยกย้ายขนสัมภาระกันขึ้นรถแท็กซี่คันขาว หรูหรา สง่างาม อย่างไม่รีรอ ระหว่างรถวิ่งข้างทางสิ่งแรกที่ฉันและเพื่อนๆร่วมรถคันเดียวกันสัมผัสได้ก็คือ เสียงแตรที่บรรเลง ประสานเสียงกันได้อย่างไม่มีเหน็ดเหนื่อย แม้ว่ารถจะติด รถจะวิ่ง คุณแขกทั้งหลายก็พร้อมใจกันที่จะร่วมบรรเลงกล่อมพวกเราตลอดระยะการเดินทาง ดังบ้าง เบาบ้าง ปนๆ กันไป ฉันเชื่อแล้วว่าการขึ้นรถที่อินเดียนั้น จะต้องมี 3 Good ด้วยกัน นั่นคือ “Good break ,Good horn and Good Luck”  จริงไหมคะ คุณแขก?

            ในที่สุดพวกเราก็เดินทางมาถึงด้วยความทุลักทุเล หลังจากที่รถสีขาว คันหรูพาพวกเราหลงกันไป หลงกันมาอยู่นานสองนาน  เมื่อขนสัมภาระลงเรียบร้อยแล้ว พวกเราก็ไม่รีรอที่จะรีบๆขนของขึ้นไปเก็บ เพื่อที่จะได้มีเวลาเหลือในช่วงเย็นได้ไปเยี่ยมชมเมืองตามประสากันไป  แต่มันไม่ง่ายอย่างใจคิด ถ้ามาอินเดียแล้วไม่มีเรื่องต้องให้แก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า หรือไม่มีความผิดพลาดนั้น แสดงว่าคุณมาไม่ถึงอินเดียแล้วล่ะ “ช้าก่อนแหม่ม ยังขึ้นห้องพักไม่ได้...” พวกเราสอบถามกันไป กันมา ได้ความมาว่า คุณอโกด้ายัง ไม่ได้โอนเงินค่าห้องที่พวกเราจองมาให้ ทำให้พวกเรากลายเป็นคนเร่ร่อนในบัดดล   หากจะเปลี่ยนสถานะจากเร่ร่อนได้ก็ต่อเมื่อตัดสินใจจ่ายเงินแล้วก็จะเปิดห้องให้  ฉันเชื่อว่าทุกคนคิดหนัก ผิดหวัง กลัว เหนื่อย หิวข้าว และตัดสินใจกันแทบจะไม่ถูก พูดกันไม่ค่อยจะออก  นี่แค่วันแรกนะเนี่ย ยังไม่ทันจะพ้นวันเลยด้วยซ้ำไป  พวกเราได้แต่มองหน้ากันไป มองหน้ากันมา  ในที่สุดก็สรุปมติได้ว่า จะจองห้องพักที่นี่ 1 คืน และจะแยกย้ายไปหาโรงแรมเอาใหม่ข้างหน้า

            พวกเราแบ่งหน้าที่กันไปโดยมีทีมไปสำรวจโรงแรมหรือ หาที่พักสำหรับคืนต่อไป โดยมีสมาชิกในทีมด้วยกัน 4 คน คือ อาจารย์โสภา คนสวยผู้หลงใหลในการเดินทาง,  เต้ สาวหน้าใสสไตล์ผู้ดีอังกฤษ  ,อักรอม หนุ่มใต้แต่คล้ายญี่ปุ่น  และฉัน เด็กหญิงภาคกลางตัวเล็กๆที่ดั้นด้นมาให้แขกหลอกถึงอินเดีย  เมื่อได้สมาชิกครบแล้ว พวกเราจึงเริ่มจากการนั่งแท็กซี่ไปยังSt. Monica House เพื่อจะไปลองดูว่ายังมีที่พักว่าง ให้พวกเราอยู่บ้างไหม สรุปก็คือ “ เต็มครับ”  เพราะว่าพวกเราไม่ได้จองเอาไว้ล่วงหน้า เฮ้อ คุณอโกด้านะ แค่มาอินเดียพวกเราก็ตื่นเต้นพออยู่แล้ว คุณอโกด้ายังมีบิ๊กเซอร์ไพส์ (Big Surprise)ให้พวกเราอีก หลังจากที่นี่ไม่ได้ พวกเราก็คงต้องหาต่อไป ในที่สุด ก็หลวมตัวเข้าไปที่โรงแรมแห่งหนึ่ง Circular Hotel เหมือนโชคเข้าข้าง พวกเราได้ที่พักที่นี่ แถมยังได้ส่วนลดอีก20 เปอร์เซ็นต์ในฐานะที่จะไปเป็นอาสาสมัครที่แม่ชีเทเรซซ่า

  

        การไปเป็นอาสาสมัครที่แม่ชีเทเรซซ่าในครั้งนี้ถือเป็นครั้งแรกสำหรับฉัน ทั้งต่างบ้าน ต่างเมือง ต่างวัฒนธรรม  ต่างภาษา ต่างศาสนา แต่มีจิตที่เป็นอาสาสมัครเหมือนกัน ผู้คนมากมายจึงหลั่งไหลมารวมตัวกันที่นี่ตั้งแต่เข้าตรู่ เริ่มจากการไปโบสถ์ตั้งแต่ประมาณ ตีห้าครึ่ง เมื่อเข้าไปภายในห้องก็พบว่ามีแต่คนต่างชาติ ต่างศาสนา ต่างวัฒนธรรมมากหน้า หลายตา ซึ่งไม่คุ้นเลยสักคน แต่ดูเหมือนว่าผู้คนที่หลั่งไหลเข้ามาที่แห่งนี้มากไปด้วยศรัทธา ซึ่งใช้เวลาทำพิธี คล้ายๆกับการทำวัตรเช้าเมื่อเทียบกับศาสนาพุทธของเรา มีการสวดมนต์ซึ่งคล้ายๆจะเป็นการร้องเพลง การกล่าวท่องประโยคต่างๆ จบท้ายด้วยการป้อนขนมมงคลให้แก่ผู้ที่เข้ามาร่วมพิธีและจบท้ายด้วยการพูดของบาทหลวง ทุกอย่างเป็นเต็มไปด้วยภาษาอังกฤษทั้งสิ้น  เมื่อตอนที่บาทหลวงนั้นเทศน์ ฉันก็พอจะฟังรู้เรื่องบ้าง ไม่รู้เรื่องบ้าง แต่พอที่จะจับใจความได้ว่าเป็นเรื่องเล่า และการให้อภัยซึ่งกันและกัน  ใจความประมาณว่า “หากใครทำอะไรให้เราไม่พอใจ เราก็แค่ให้อภัยเค้า หรือหากเราทำอะไรผิดพลาดไปก็ควรที่จะกล่าวคำขอโทษ ไม่มีใครที่ไม่เคยทำผิดพลาด แต่ถ้าหากความผิดพลาดนั้นเรารู้ตัวแล้ว ก็ยังไม่สายที่จะแก้ไข ขอโทษและปรับปรุงพฤติกรรมเสียใหม่”  เมื่อบาทหลวงกล่าวจบก็มีการสวดที่มีทำนองคล้ายๆกับการร้องเพลง ฉันฟังแล้วก็รู้สึกเพลินๆดี   จากนั้นเมื่อเสร็จสิ้นพิธี ผู้คนก็ต่างหลั่งไหล เคลื่อนย้ายไปยังอีกห้องหนึ่งอย่างไม่รอช้า เรียกได้ว่าฉันขอเรียกห้องนี้ว่า เป็น “ห้องอาหาร” ซึ่งอาสาสมัครทุกคนจะต้องมารับประทานอาการเช้า ประกอบไปด้วย ขนมปัง กล้วย และโอวัลติน หรือกาแฟ ที่ห้องอาหารนี้เหล่าอาสาสมัครจะได้ใช้เวลาสักเล็กน้อย ก่อนเริ่มไปเป็นอาสาสมัครในการพูดคุยพบปะเพื่อนๆนานาชาติ การได้ทำความรู้จัดเพื่อนใหม่ หรือการต่อยอดความสัมพันธ์จากเดิมในครั้งก่อนๆกันที่นี่ห้องแห่งนี้ เมื่อผ่านไปสักระยะ ทุกคนก็จะต้องอ่านบทภาษาอังกฤษบทหนึ่ง เดาว่าน่าจะคล้ายๆกับคำปฏิญาณตน ความเชื่อและความรักศรัทธาต่อพระเจ้า เมื่อกล่าวจบก็จะร้องเพลงร่วมกัน เนื้อเพลง คือ “We have our hope in Jesus ,That all thing will be well in the lord” เมื่อจบสิ้นเสียงเพลงแห่งความศรัทธาจากนั้นผู้คนก็เริ่มแยกย้ายกันออกทางประตูไปยังสถานที่ต่างๆ มีทั้งวัด สถานสงเคราะห์ ก่อนไปพวกเราได้แบ่งกลุ่มกันออก เป็นอย่างละครึ่ง (กลุ่ม ละ7 คน) ส่วนฝั่งฉันมีฝรั่งผู้หญิงวัยเพียง 19 ปี จากประเทศเล็กใกล้ๆกันกับสเปน 3 คน ชื่อ คีตา,มิตาและโซเฟีย  เมื่อได้สมาชิกกลุ่มแล้ว จากนั้นแม่ชีก็เขียนแผนที่ให้พวกเรา โดยต้องไปขึ้นรถเมล์ที่ไป Santi Dan จากนั้นเดินผ่านตลาดก็จะเจอรถตุ๊กๆอินเดีย หรือที่คุ้นเคยก็คือ รถริกชอร์ นั่นเอง  ลงจากรถริกชอร์แล้วเดินต่อเข้าไปอีกหน่อยก็จะถึงที่ Santi Dan เมื่อไปถึงฉันและเพื่อนๆ ได้รับการต้อนรับอย่างอบอุ่นทั้งจากเด็กเล็ก เด็กโตอินเดียมากมาย ที่แวะเข้ามาทักทายเพื่อนใหม่อย่างพวกเรา ด้วยคำพูดที่น่ารัก น่าชัง ว่า “Hi ,Hello” ซึ่งส่งผ่านมาด้วยรอยยิ้มและยื่นมือน้อยๆมาทักทายตามประสา  ประหนึ่งว่า เหล่าพี่ๆใจดีได้มาเยี่ยมเยียนแล้วเมื่อเดินผ่านกลุ่มเด็กๆมาแล้ว ฉันและเพื่อนๆก็เดินเข้ามาลึกขึ้น ลึกขึ้นเรื่อยๆ ที่นี่ฝุ่นค่อนข้างเยอะ แต่บรรยากาศสงบ เรียบง่าย มีตึกอาคารสีขาวเพียงไม่กี่หลัง ฉันขอสารภาพตามตรงว่าจนถึงตอนนี้ฉันยังไม่แน่ใจเลยว่าที่ Santi Dan นั้น เป็นสถานสงเคราะห์ หรืออะไร…?

        

              ก่อนที่จะเข้าไปพวกเราก็จะต้องแสดงบัตรผ่านที่แสดงให้รู้ว่าพวกเราได้ลงทะเบียนที่ Mother Teresa house แล้ว ในบัตรผ่านนั้นก็จะแสดงข้อมูลของพวกเราเหล่าอาสาสมัคร ซึ่งประกอบไปด้วย ชื่อ นามสกุลเป็นภาษาอังกฤษ  จำนวนวันที่จะมาเป็นอาสาสมัคร ตั้งวันที่เท่าไหร่ถึงวันที่เท่าไหร่ สถานที่ ที่มาเป็นอาสาสมัคร  จากนั้นก็จะมีแม่ชีที่เป็นนักบวชออกมาพูดถึงผู้ป่วยที่เราจะต้องเจอว่ามีใครบ้างแบบคร่าวๆสั้นๆ  จับใจความได้ว่า “ ข้างในจะเป็นผู้ป่วยหญิงและเด็กหญิงที่มีความผิดปกติทางสมอง สติปัญญาที่ไม่สมประกอบ บางคนอาจมีอาการหรือพฤติกรรมก้าวร้าว รุนแรง จิตไม่ปกติ มีอาการหูแหว่ว ฯลฯ  ขอให้พวกคุณทุกคนอดทน คุณอาจจะโดนตบ ตี หรือคำพูด กิริยา อาการที่แสดงออกในทางไม่ดี จากพวกเขาบ้าง  ขอให้คุณอย่าโกรธและทำความเข้าใจว่า ทั้งหมดนั่นเป็นเพียงอาการของโรค  ขอให้พวกคุณพยายามเข้าไปพูดคุย กอดพวกเขา จัดกิจกรรมนันทนาการเล็กๆน้อยให้กับพวกเขา บำบัดและฝึกในสิ่งที่เขาบกพร่อง และขอบคุณที่พวกคุณมาในวันนี้”   จากนั้นแม่ชีก็ให้พวกเรานำกระเป๋าสัมภาระต่างๆเก็บไว้ในล็อคเกอร์ให้หมด ซึ่งข้างในก็จะมีกฎห้ามถ่ายรูป อัดเสียง หรืออัดวีดีโอต่างๆอย่างเคร่งครัด   

         เมื่อเข้าไปภายในตัวอาคาร ฉันและเพื่อนๆ (ปุ๊ก หน่อย พลอย อร ฝนริน ไปรท์) ตกใจมาก พวกเราตั้งตัวกันไม่ทันรวมถึงฉันด้วย ซึ่งแตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัดกับคีตา มิตาและโซเฟียที่มาด้วยกันเป็นครั้งแรกกับพวกเรา ทั้งสามคนทำตัวเหมือนสถานการณ์ปกติ ไม่มีอะไรเกิดขึ้น อ้าแขนรับอ้อมกอดผู้ป่วยทุกคนได้อย่างอุ่น เป็นมิตรและเป็นกันเอง  ผู้ป่วยเกือบทุกคนจะมายืนรอพวกเราที่หน้าประตูทางเข้า เมื่อพวกเราก้าวขาเข้ามา ก็พบว่า ผู้ป่วยจะวิ่งเข้ามากอด เข้ามาหอม พวกเราด้วยความตื่นเต้น ฉันสัมผัสได้ว่าพวกเขามีความสุขกับการมาของพวกเรา ฉันยังจำภาพวันนั้นได้อย่างขึ้นใจว่ามีผู้ป่วยชุดกระโปรงสีฟ้าหนึ่งในนั้นตะโกนแทรกขึ้นมาด้วยนำเสียงที่ตื่นเต้น ท่ามกลางผู้ป่วยอีกหลายๆคนที่ออกมาต้อนรับพวกเรา ว่า “I miss you. I miss you ,Thank you.  You come, Thank you. You come , don’t go don’t go” ในสถานการณ์ตอนนั้นฉันรู้สึกกลัวไปหมด ได้แต่จับมือกับเพื่อนแน่น พรางพูดตอบกลับไปด้วยน้ำเสียงอันแผ่วเบาว่า....... I miss you too ,I miss you too !! พร้อมกับส่งยิ้มแบบงงๆให้กับผู้ป่วยที่ทะลักเข้ามาต้อนรับพวกเราอย่างอบอุ่นตั้งแต่พวกเรายังยืนงงกันอยู่ด้านหน้าของประตูทางเข้า 

           จากนั้นพวกเราก็ถูกจับแยกให้ไปทำงานคนละส่วนกัน โดย อร พลอย ฝนรินและไปร์ทได้ไปทำอีกส่วนหนึ่งเป็นส่วนของงานซักผ้า ตากผ้าของผู้ป่วย ส่วนที่เหลือก็จะมีฉัน ปุ๊ก หน่อย คีตา มิตาและโซเฟียที่เพิ่งรู้จักกัน อีก 3 คน ฉันได้แต่แอบคิดในใจว่า “แล้วฉันจะผ่านวันนี้ไปได้อย่างไร?”  “ทำไมเวลาแต่ละวินาทีมันช่างยาวนานเหลือเกิน ?”   ทุกคนที่นี่สำหรับฉันทำไมช่างดูน่ากลัวไปหมด บรรยากาศที่นี่อึดอัดเหลือเกิน อยากรู้จังว่าคีตา,มิตา แล้วก็โซฟียจะรู้สึกเหมือนฉันบ้างไหม? หรือว่าฉันตื่นตระหนกไปเองคนเดียว!!

           เมื่อเข้ามาทุกคนนั้นเหมือนจะรู้งานและรู้หน้าที่กันหมด ทั้งๆ ที่ทุกคนเป็นครั้งแรกเหมือนกันกับพวกเรานี่น่า  คีตา มิตาและโซเฟียต่างแยกย้ายกัน ไปทำความรู้จัก เข้าไปพูดคุย เข้าไปบีบนวด ไปเต้นกับผู้ป่วย ได้อย่างคุ้นเคย  แตกต่างกับฉัน ปุ๊ก และหน่อยที่ยืนรวมกัน แม้จะอยู่ในที่กลางแจ้ง แต่ในเวลานั้นก็เปรียบเหมือนกับพวกเราหลบอยู่ในมุมอับๆ ข้างๆ ซอกตึกร้างที่ไม่มีใครเห็นว่ามีสิ่งมีชีวิตแอบซ่อนอยู่ที่นี่  พวกเรา 3 คนยังคงยืนจับมือกันแน่น  ทำได้แค่เพียงมองตากันไปมา  แต่ตอนนี้ก็รู้ใจกันว่า ทุกคนอยากกลับ อยากไปให้พ้นๆจากที่แห่งนี้ไวๆ ทุกอย่างดูน่ากลัวและอึดอัดมากขึ้นเรื่อยๆ  แต่สักพักฉันก็เริ่มเรียนรู้ว่า ไม่ได้นะเราจะต้องแยกกัน เราจะต้องไม่กลัวสิ เราต้องเข้มแข็ง พวกคีตา มิตา กับโซเฟียยังทำได้เลย  “เอาละ ... ไปลุย!!” ฉันเริ่มคลายมือที่จับกันแน่นออกจากปุ๊กและหน่อย  พยายามจะถอยตัวออกมาเพื่อจะไปลองดูสักตั้งนึง “เราต้องเข้มแข็งนะ เราต้องไม่กลัว ” ฉันพูดทิ้งท้ายพร้อมกับค่อยๆถอยห่างออกมาจากปุ๊ก และหน่อย ด้วยสายตาที่ยังอาลัยอาวรณ์ และใจที่ยังคงกลัวสุดๆ แต่ก็ต้องพยายามแสดงว่าเข้มแข็ง และคิดว่าเมื่อปรับตัวได้ ทุกอย่างก็คงจะค่อยๆดีขึ้นเอง และก็จริงๆ เมื่อผ่านไปสักพัก ทุกอย่างก็เริ่มดีขึ้น ฉันพยายามเข้าไปหาผู้ป่วยที่ดูจะไม่ค่อยตอบโต้ เริ่มสัมผัสมือเขา พูดสวัสดี  ยิ้มให้ รำไทยให้ดูบ้าง นวดให้ ทำทุกอย่างแบบ “ใจดีสู้เสือ”   ในขณะเดียวกัน ฉันก็ยังไม่ละทิ้งสายตาจากปุ๊กและหน่อย  เผื่อว่าถ้ามีอะไรเกิดขึ้น  ปุ๊กและหน่อยจะเป็นเป้าหมายแรกที่ฉันจะวิ่งเข้าไปหา  แต่ไม่นานฉันก็เริ่มสังเกตได้ว่าทุกๆคนค่อยๆปรับตัวได้   ปุ๊กและหน่อยก็เริ่มดีขึ้น ฉันเองก็ดีขึ้นบ้าง พยายามจะทำให้ดีที่สุด ไม่นานก็ได้เวลาพาทุกคนไปกินข้าวกินยา ฉันมีหน้าที่เข็นรถเข็นบ้าง ป้อนข้าวบ้าง ป้อนน้ำบ้าง ทุกกิจกรรมที่ฉันทำยังคงเป็นไปอย่างกล้าๆ กลัวๆ และพยายามอยู่ใกล้กับปุ๊กและหน่อยตลอด  พวกเราจะพยายามพาผู้ป่วยที่เราดูแลมานั่งด้วยกัน โดยที่ไม่ได้นัดหมายกันมาก่อน แต่เพราะนั่นหมายถึง พวกเราจะได้อยู่ใกล้กันให้ได้อุ่นใจด้วย

             หลังจากที่ผู้ป่วยกินข้าว กินยาในมื้อเช้าเรียบร้อยแล้ว ทุกคนก็เริ่มทยอยออกไปยังสนามหญ้า บางคนเดินออกไปคนเดียวบ้าง บางคนไปกันอาสาสมัคร บางคนนั่งรถเข็นออกไป ส่วนอีกหลายๆคนคลานด้วยสองเท้าออกไป ที่สนามหญ้าซึ่งอยู่ไม่ไกลมากนัก ที่สนามหญ้าก็จะมีเก้าอี้วางเรียงๆ กันไว้เป็นวงกลม เมื่อไปถึงแล้วบางคนก็ยืนบ้าง บางคนนั่งกับพื้นหญ้า บางคนนั่งเด็ดหญ้า ถอนต้นหญ้าใส่กำมือไว้แน่น บางคนนั่งกลางแดดอย่างเต็มใจ ก้มหน้าก้มตา ไม่ยอมพูดกับใคร บางคนเข้ากลุ่มออกกำลังกาย  บางคนก็นอนกลิ้งไปมาพร้อมกับหัวเราะเสียงดัง  หลายคนเต้นรำ ร้องเพลง ในที่ขณะอีกหลายคนก็นั่งร้องไห้  กิจกรรมต่างๆที่จัดให้ก็จะเป็นไปในลักษณะที่พัฒนาศักยภาพของผู้ป่วย อาทิเช่น ฉันเองได้ดูแลผู้ป่วยหญิงคนหนึ่งมีอาการเกร็งที่มือ ไม่สามารถกำเข้า และคลายออกได้ ฉันก็ต้องพยายามกำมือเข้า คลายมือออกอย่างช้าๆ ทำตามกันไป ทำด้วยกันบ้าง ผลัดกันทำบ้าง ฉันเข้าใจแล้ว นี่ไงความหมายของการที่พยายามช่วยเหลือเขา ให้เขานั้นสามารถที่จะช่วยเหลือตัวเองได้ ที่ฉันพรากเพียร ร่ำเรียนมาเพิ่งจะเข้าใจความรู้สึกดีๆ ก็วันนี้เอง ฉันรู้สึกภูมิใจและแอบลุ้นทุกครั้งที่เขาพยายามคลายมือออก และในหลายๆครั้งเขาก็ทำได้สำเร็จ

            รางวัลของการคลายมืออกได้สำเร็จที่ฉันมอบให้คือ การพาเขาเต้นรำกลางสนามหญ้า ด้วยกัน 2 คน  เต้นในท่าที่ทุกคนไม่รู้จัก  เต้นอย่างอิสระและไร้เสียงดนตรี  มีแค่เพียงเสียงให้ทำนองดนตรีของฉันเบาๆ ควบคู่ไปกับรอยยิ้มและเสียงหัวเราะของเขา ตอนนี้เรากำมือเต้นรำด้วยกันแน่  ฉันไม่ใช่คนเดิมแล้ว ความกลัว ความอึดอัด ความประมาทเริ่มไม่หลงเหลือแล้วในตอนนี้ ฉันไม่อายและไม่ได้สนใจแล้วว่าอาสาสมัครคนอื่นๆจะมองอย่างไร ที่เรา 2 คนนั้นลุกขึ้นมาเต้นรำกลางแดดไปพร้อมๆกัน  ฉันรู้สึกว่านี่คือรางวัลที่เขาได้มอบให้ฉันเช่นกัน  เขาช่วยให้ฉันไม่กลัว ช่วยให้ฉันกล้าขึ้น ช่วยให้ความอึดอัดนั้นหายไป ..

         เมื่อเราเต้นรำกันจบ ฉันก็พาเขานั่งลง เพื่อพักเหนื่อย พยายามฝึกให้เขาได้คลายและกำมืออีกครั้ง และพยายามให้เขาคลายมือออกในระยะเวลาที่นานขึ้น ฉันเริ่มทาเล็บสีสวยให้เขา ในระหว่างที่เขาคลายมือ และดูเหมือนว่า เขาก็คงจะชอบการได้สีเล็บใหม่นี้อยู่ไม่น้อย   เมื่อทาเล็บเสร็จ เราก็ล่ำลากัน เพื่อเปิดโอกาสให้อาสาสมัครคนอื่นได้มีโอกาสเข้ามาทำกิจกรรมบ้าง และเพื่อเปิดโอกาสให้เขาได้รับในสิ่งใหม่ๆ ที่ฉันไม่ได้ทำให้   เมื่อฉันลุกขึ้น ฉันจึงมองหากิจกรรมที่ตนเองพอจะทำได้  นั่นไง!! ในที่สุดฉันก็เจอ  .. กลุ่มที่ล้อมวงกันออกกำลังกาย โดย มีผู้นำเป็นเหมือนอาสาสมัครท้องถิ่นที่พาผู้ป่วย และคนชราทั้งหลายมาออกกำลังกาย ยืดเส้นสายร่วมกัน และในกลุ่มนี้เอง ก็ทำให้ฉันได้รู้จักคุณยายผู้น่ารักคนหนึ่ง ฉันขอเรียกว่า “คุณยายอนุบาล” เนื่องจากคุณยายมีลักษณะ ท่าทางเหมือนเด็กอนุบาลมากๆ  คุณยายทำตามทุกอย่างที่ฉันทำให้ดู พร้อมกับนับเลขตามไปพร้อมๆกัน เท่าทีฉันสังเกตและสัมผัสกับคุณยายอนุบาลคนนี้ คุณยายไม่ได้มีปัญหาอะไร คุณยายไม่ได้มีแผลตามผิวหนัง คุณยายสามารถเดินเหินได้อย่างปกติ คุณยายพูดรู้เรื่องและฟังเข้าใจ สามารถสื่อสารได้  ฉันจึงคาดเดาเองเองว่า คุณยายอาจจะถูกลูกหลานทอดทิ้งจึงต้องเข้ามาอยู่ที่ Santi Dan แห่งนี้ และถ้าเป็นอย่างที่ฉันคิดจริงๆ นั่นก็หมายถึง ที่ Santi Dan แห่งนี้ มีทั้งเด็ก ผู้ใหญ่ วัยรุ่น คนชรา ที่รวมกัน จากแหล่งต่างๆ ทั้งสติไม่สมประกอบ คนชราที่ถูกทอดทิ้ง ผู้ป่วยติดเชื้อ ผู้ป่วยโรคทางผิวหนัง ผู้ป่วยโรคซึมเศร้า มาอยู่รวมกันปะปนกันมากมาย  อาจจะเป็นเพราะสถานที่มีจำกัด อาสาสมัครมีน้อย โชคชะตา ฟ้าจึงลิขิตให้ทุกคนมาอยู่รวมกัน ณ ที่แห่งนี้  คุณยายอนุบาลคงจะต้องได้เห็นภาพ เห็นพฤติกรรมต่างๆ เหมือนที่ฉันเห็น นั่นคือ บางคนกรีดร้อง บางคนร้องไห้  บางคนหัวเราะ บางคนซึมเศร้า อีกหลายๆคนพูดคนเดียว ฯลฯ อยู่ทุกวัน แบบนี้คุณยายอนุบาลจะมีโอกาสที่จะเสียสุขภาพจิตไหมนะ ?  ฉันมัวแต่คิดไปไกล ในที่สุดก็ถึงเวลาอาหารกลางวัน  ในช่วงเวลานี้ฉัน ปุ๊ก และหน่อย เริ่มชินกับงานและภาระหน้าที่ของการเป็นอาสาสมัครบ้างแล้ว ดูเหมือนว่าทุกคนจะเริ่มคล่องแคล่วขึ้นบ้าง เริ่มหยิบถาดอาหารมาให้ผู้ป่วย เสริฟน้ำ ขนม เข็นรถผู้ป่วยที่เดินไม่ได้มานั่ง และจับอาวุธ นั้นก็คือ “ช้อน”  เพื่อเตรียมป้อนข้าวให้สำหรับผู้ป่วยที่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ ทุกอย่างเริ่มผ่านพ้นไปได้ด้วยดี

         เมื่อรับประทานอาหารกลางวันเสร็จก็ได้เวลาที่จะต้องส่งผู้ป่วยแต่ละคนเข้าห้องนอน เมื่อฉันเข้าไปเห็นห้องนอน ฉันสังเกตได้ว่า ห้องค่อนข้างอับไปบ้าง อาจเป็นเพราะมีเนื้อที่จำกัด และที่นี่ก็ฝุ่นค่อนข้างเยอะ  ผู้ป่วยก็เยอะที่ต้องนอนรวมกัน เมื่อส่งผู้ป่วยแต่ละคนเข้าห้องนอน ฉันสัมผัสได้ถึงความเหงา ที่เข้ามาเยือนอย่างไม่รู้ตัว อยู่ๆทำไมรู้สึกเหงาอย่างนี้นะ?  ฉันเหงาแทนทุกคนเลย  ทุกคนคงอยากจะกลับไปอยู่ในโลกภายนอกที่มีแต่อิสระเหมือนกัน คงไม่อยากที่จะถูกบังคับให้ทำอะไรเป็นเวลา อยู่ในสถานที่แคบๆ ต้องทำอะไรที่ซ้ำๆจำเจทุกๆวัน หรือต้องนอนหายใจรดกันในห้องสี่เหลี่ยมๆ ต้องเห็นภาพอาการป่วยของเพื่อนๆ ร่วมห้อง ต้องเห็นภาพเพื่อนที่จะจากไปในวันไหนก็ไม่รู้  แล้วคุณยายอนุบาลล่ะ คุณยายจะรู้สึกอย่างไรบ้าง หรือว่าคุณยายอยู่ที่นี่จนชินแล้วคะ หรือว่าเป็นหนูเองที่ยังไม่ชิน ใช่ไหมคะ คุณยาย?   เวลาผ่านไปครึ่งวันแล้ว ทุกคนเริ่มทยอยเข้าพักผ่อนตามแต่ละโซนของตัวเองหมดแล้ว  พวกเราถูกบอกให้ไปล้างมือ และนี่คงจะเป็นสัญญาณโดยที่ไม่ต้องเอ่ยออกมาเป็นคำพูดก็ได้ ว่า  “ใกล้จะได้กลับแล้ว !!”  ฉันสังเกตได้ว่าทุกคนมาที่นี่ด้วยจิตใจที่เป็นอาสาจริงๆ ที่นี่ไม่มีค่าตอบแทนใดๆ จะมีก็แต่ขนมปังกับน้ำชาแบบอินเดีย ตอนพักเบรก และเสียงเพลงที่อาสาสมัครทุกคนร้องขอบคุณในตอนเช้าทุกเช้าให้สำหรับคนที่จะเป็นอาสาสมัครในวันสุดท้ายเท่านั้น

           ฉันเชื่อว่าในทุกๆ การเดินทาง ทำให้คนเราเติบโต ได้เห็นโลกในมุมที่ต่างออกไป ได้เห็นวิถีชีวิตของผู้คน การได้พบเจอและทำความรู้จักกับเพื่อนใหม่ จากต่างชาติ ต่างภาษา ต่างวัฒนธรรม ต่างรูปแบบการดำเนินชีวิต ต่างวิธีคิดและอุดมการณ์ ที่ทำให้เรารู้จักกันได้ ผ่าน “การเดินทาง”  ทั้งทางใกล้ และทางไกล  ฉันเชื่อเสมอว่ามีเพื่อนใหม่รอเราอยู่ระหว่างทางเสมอ การเดินทางจะไม่หนักเกินไป หากคุณรู้จักพัก และแวะข้างทางเพื่อที่จะทักทายและทำความรู้จักเพื่อนใหม่ที่คุณได้จาก “การเดินทาง”   ประสบการณ์น้อยใหญ่ สิ่งต่างๆมากมายที่มีทั้งความต่างและความเหมือน ผสมกลมกลืนกันได้อย่างลงตัว  การรู้จัก “ปรับตัว” ให้ได้เป็นเนื้อผ้าผืนเดียวกันกับคนที่นี่  แต่ทว่ามีลวดลายหรือเอกลักษณ์บนเนื้อผ้านั้นที่แตกต่างกันออกไป  ฉันถือว่าเป็นสิ่งสำคัญ   การได้ทดลองใช้ชีวิตแบบคนที่นี่จริงๆสักตั้ง!!   ขอบคุณ...การได้นั่งรถออโต้ริกชอร์ที่คันเล็กนิดเดียวแต่สามารถยัดเยียดพวกเราให้เข้าไปรักกันกลมเกลียวได้ถึง ประมาณ 9 คน การได้ลองโหนรถเมล์ตรงประตูทางขึ้นตามต้นฉบับคนอินเดีย ในรถเมล์สายที่เบียดเสียดกันมากๆ  การได้เห็นผู้คนอาบน้ำกันข้างทางอย่างเปิดเผย  การนุ่งห่มชุดประจำชาติของทั้งผู้หญิงและผู้ชายยังสามารถพบเห็นได้ที่นี่อย่างง่ายดาย  แม้ว่าในยุคนี้ประเทศอื่นๆจะสวมกางเกงยีนส์ขาสั้น เสื้อทันสมัยตามแฟชั่นก็ตาม  การได้เห็นทั้งหนุ่มน้อย หนุ่มใหญ่ฉีกซองหมากสำเร็จรูปแล้วยืนเคี้ยวหมากกันอย่างหน้าตาเฉย  การได้เห็นผู้คนที่ไม่ปล่อยทิ้งเวลาไปเปล่าๆโดยการนั่งแบบมือ หรือเดินตามตื้อเพื่อขอเงินนักท่องเที่ยวเหมือนที่ฉันเคยได้ยินมา แต่ทุกคนที่นี่มีอาชีพ ผู้เฒ่า ผู้แก่หลายคนแทนที่จะพักผ่อนอยู่บ้าน แต่กลับมีกิจการเป็นคนตนเอง ใช้แรงกายในการปั่นริกชอร์ ลากริกชอร์บนถนนหนทางที่มีแต่ความหลากหลายและวุ่นวาย  การได้เห็นความหลากหลายของการจราจรที่มีทั้งรถยนต์ส่วนบุคคล รถออโต้ริกชอร์  รถริกชอร์ลาก  รถริกชอร์ปั่น รถจักยานส่วนบุคคล( ที่มีลักษณะของล้อใหญ่มาก เพื่อความคล่องแคล่วในการเลี้ยว) รถซาเล้งเก็บของเก่า รถมอเตอร์ไซค์ รถแท็กซี่สาธารณะทั้งสีขาว และสีเหลือง และรถราง(Tram) อยู่รวมกันบนถนนสายเดียว  ฉันเชื่อว่าเสียงบีบแตรรถไม่เคยห่างหายไปจากที่นี่ ทุกคนที่นี่ใช้ชีวิตได้อย่างปกติ ประหยัด และเข้าถึงธรรมชาติด้วยการกินอาหารด้วยมืออย่างอเร็ดอร่อย การใช้ถุงกระดาษหนังสือพิมพ์ห่อขนม ถาดขนมหลายชิ้นที่ฉันเห็นพวกคุณทำขึ้นมาจากใบไม้แห้ง รวมถึงการมาเป็นอาสาสมัครที่นี่และการได้มาเยื่ยมเยียนคุณ  แม้จะเป็นครั้งแรกของฉัน แต่จะไม่เป็นครั้งสุดท้ายแน่นอน ฉันสัญญา... ตอนนี้ฉันได้คำตอบในใจของฉันแล้วด้วยว่า “ไม่มีเหตุผลอะไรเลยที่จะทำให้ฉันเกลียดคุณคะ คุณอินเดีย”  

                                       แล้วพบกันใหม่  

                                   ธนวรรณ  ศิริวิริยพูน

คำสำคัญ (Tags): #อาสาสมัคร
หมายเลขบันทึก: 481529เขียนเมื่อ 10 มีนาคม 2012 11:04 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 มิถุนายน 2012 22:17 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

สำหรับผู้สนใจเป็นอาสาสมัครขององค์กรแม่ชีเทเรซ่าหรือ Mother House ที่กัลกาต้า ติดต่อได้ที่

ที่อยู่ 54 AJC Bose RD, Kolkata

โทร 03322172277 โทรติดแต่ไม่มีคนรับค่ะ พอไปถึงได้รู้ว่างานที่สำนักงานใหญ่ยุ่งมากๆแทบไม่มีเวลาตอบคำถามใคร

งานอาสาให้ไปลงทะเบียนที่ Children Home ตอนบ่าย 3 ของวันพุธ แต่ถ้าไม่อยากรอให้ถึงวันพุธก็ไปที่สำนักงานตามที่อยู่ข้างต้นตอนเช้าก่อน7.00น.ให้เข้าไปสมัครแบบเร่งด่วนที่ในสุดของตัวอาคารเป็นห้องนัดพบอาสาสมัครเหล่าอาสามารวมตัวกันที่นี่ทานอาหารเช้าง่ายๆที่หน่วยงานเตรียมไว้ให้พุดคุยกันและบางคนก็ร่ำลาเมื่อครบกำหนดและบางคนเตรียมไปทำงานในที่ต่างๆซึ่งอาจเดินไปหรือนั่งรถไปตามที่ได้รับมอบหมายหากไม่ได้ลงทะเบียนล่วงหน้าต้องรอให้เหล่าอาสาที่เก่าหรือคนที่ลงทะเบียนไปกันก่อน เราก็รอให้แม่ชีท่านที่มอบหมายงานว่างท่านก็จะเขียนใบมอบงานให้เราไปตามที่เหล่านั้น อ้อ....เอาสำเนา passport และตัวจริงไปด้วยค่ะ

ถ้าเราจะเป็นอาสาหลายวันหรือหลายเดือนให้ลงทะเบียนล่วงหน้าดีกว่าค่ะเพราะจะมีคนมาอธิบายให้อาสาเรื่องการทำงานและข้อควรปฏิบัติต่างๆ

กัลกาตาเป็นเมืองน่ารักผู้คนเป็นมิตรและอยากรู้จักคนต่างแดน ถามเจ้าหน้าที่ตอนที่เราไปอยู่หอพักของที่โบสถ์คริสต์ตรงข้ามบ้านแม่ชีเขาบอกว่าถ้าเราอยู่ข้างนอกไม่เกิน 4 ทุ่มก็ปลอดภัยแต่ถ้าดึกๆจะมีคนจรจัดมานอนตามริมถนนเยอะอาจดูไม่ปลอดภัย

ที่พักแบบเกสเฮ้าส์ราคาคืนละ 300 รูปีมีเตียงนอนรวมกัน 4-5 เตียงแบ่งเป็นหญิงและชายฝ่ายละห้องและใช้โถงเป็นที่ทานอาหารเช้าร่วมกัน ห้องน้ำอยู่ในห้องนอนค่ะ สะอาดทีเดียว พักแบบนี้จึงได้เพื่อนใหม่สองคน เป็นวัยรุ่นอเมริกัน และ สว.จากแคนนาดา ต่างคนต่างมาเป็นอาสาสมัครเช่นกัน นักศึกษาได้ฝึกภาษากับเพื่อนร่วมห้องกันสนุกทีเดียว

ถ้าเป็นโรงแรมก็ราคาประมาณ 2000 กว่ารูปีต่อคืน

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท