เรื่องของคุณณัฐพงศ์


วิทยานิพนธ์ของคุณณัฐพงศ์ วงศ์ทองจันทร์  มีความโดดเด่นตรงที่มีความเป็นท้องถิ่นสูงมาก และมีการบูรณาการในการจัดการเรียนรู้ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง  วิทยานิพนธ์นี้ชื่อ  ‘การพัฒนาหลักสูตรท้องถิ่นรายวิชาลุ่มน้ำจางของเรา ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 โรงเรียนแม่ทะพัฒนศึกษา  อำเภอแม่ทะ จังหวัดลำปาง’  มุ่งพัฒนาการศึกษาตามหลักของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง  ได้นำการพัฒนาอย่างยั่งยืนตามภูมิสังคมในท้องถิ่นเข้ามาบูรณาการสถานการณ์ในการเรียนรู้หลายรูปแบบที่แตกต่างกัน ประกอบกับคุณณัฐพงศ์เคยทำโครงการนักสืบสายน้ำมาก่อนวิทยานิพนธ์นี้จึงเป็นการต่อยอดจากประสบการณ์นั้นด้วย  หลักสูตรที่เป็นตัวแปรเหตุของวิจัยนี้สร้างขึ้นโดยการมีส่วนร่วมของสถานศึกษาและคนในชุมชน จัดให้แก่ผู้เรียนได้เรียนรู้สิ่งแวดล้อมในชุมชนทั้งระบบ  เพื่อให้เกิดความรู้ ความเข้าใจ  ทักษะและ เจตคติ เกี่ยวกับความสัมพันธ์ของชุมชนและสิ่งแวดล้อม ปัญหาสิ่งแวดล้อม และเพื่อสร้างความตระหนักและค่านิยมในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมของชุมชน

  หลักสูตรนี้มีจุดเด่นอยู่ที่การพัฒนาอย่างมีสวนร่วมทั้งวงจรทีเดียว  เริ่มตั้งแต่คุณณัฐพงศ์ได้สอบถามความคิดเห็นของชุมชนและจัดเวทีเสวนาเพื่อวิพากษ์หลักสูตรและเปิดโอกาสให้ทุกฝ่ายได้ร่วมกันพัฒนาหลักสูตรอย่างมีส่วนร่วม กล่าวคือร่วมกำหนดเป้าหมายหลักสูตร ร่วมจัดการเรียนรู้ ร่วมเป็นแหล่งเรียนรู้ในท้องถิ่น และร่วมประเมินผล  ผลการมีส่วนร่วมทำให้หลักสูตรนี้มีเนื้อหาสาระสัมพันธ์กับสิ่งมีชีวิตและสิ่งแวดล้อมบริเวณพื้นที่ของแม่น้ำจางตอนใต้  และพื้นที่ป่าฝั่งซ้ายของแม่น้ำจางในบริเวณ  3  ตำบล  ได้แก่ตำบลบ้านบอม  ตำบลบ้านกิ่ว  และตำบลสันดอนแก้ว อำเภอแม่ทะ  จังหวัดลำปาง พื้นที่ดังกล่าวอยู่ใกล้กับโรงเรียนที่คุณณัฐพงศ์สอนอยู่  การมีส่วนร่วมดังกล่าวได้เป็นกระบวนการที่ทำให้เกิดการเรียนรู้อย่างต่อเนื่องและยั่งยืนตลอดจนเกิดการประสานสัมพันธ์ที่ดีต่อกันในพื้นที่  ระหว่างคนที่เรียนมา(ความรู้มือสอง)กับคนที่มีประสบการณ์(ความรู้มือหนึ่ง)  ระหว่างชุมชนกันโรงเรียน ระหว่างคนต่างรุ่น  เป็นการจัดกิจกรรมการเรียนรู้เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ เพื่อให้มีความรู้ความเข้าใจมีเจตคติทีดี เห็นคุณค่าและความสำคัญของสิ่งแวดล้อมในท้องถิ่นของตนและตระหนักถึงภาระหน้าที่ที่จะต้องร่วมมือกับทุกฝ่ายในการอนุรักษ์และฟื้นฟูสภาพแวดล้อมของท้องถิ่นให้มีความสมบูรณ์อย่างยั่งยืนต่อไป  ดิฉันคิดว่าวิทยานิพนธ์นี้น่าจะเป็นทางหนึ่งในการนำการพัฒนาสังคมอย่างยั่งยืนด้วยระบบการศึกษา

  จากประสบการณ์นี้คุณณัฐพงศ์เห็นว่าถ้าผู้บริหารจะต้องเข้าใจและให้การสนับสนุนการจัดทำหลักสูตรและการใช้หลักสูตรจึงดำเนินการได้จริง  จากประสบการณ์ในการวิจัยนี้ทำให้คุณณัฐพงศ์ได้คัดเลือกเข้าโครงการครูสอนดี และได้เสนอความคิดข้างต้นต่อทีม สสค.อีกด้วย

 ขอบคุณที่เข้ามาอ่าน....

หมายเลขบันทึก: 481525เขียนเมื่อ 10 มีนาคม 2012 10:27 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มิถุนายน 2012 16:25 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท