วิถีชีวิต วัฒนธรรม และสุขภาพชาวม้ง....เรียนรู้จาก อสม.ฉัตรชัย และชาวม้งน้ำตวง


“ม้ง” Hmong เป็นชนชาติพันธุ์หนึ่งในจังหวัดน่าน ตามประวัติศาสตร์ชาวม้งชาวม้งอพยพมาจากทางตอนใต้ของจีนถอยร่นมาประเทศลาวและเข้ามาทางตอนเหนือของประเทศไทย รวมทั้งจังหวัดน่านด้วย เป็นชนชาติที่รักสงบมีวิถีชีวิตที่เรียบง่าย ชอบอยู่ตามที่สูง ตามดอยต่างๆ มีวัฒนธรรมประเพณีที่เป็นเอกลักษณ์ของตนเอง ทั้งการแต่งกาย ภาษา วัฒนธรรม และการดำรงชีวิต

 

ชาวม้งบ้านน้ำตวง จากประวัตินั้น เมื่อปีพ.ศ. 2509-2510 ตั้งรกรากอยู่ที่บ้านปางกบ ตำบลบ่อเกลือเหนือ อำเภอปัว จังหวัดน่าน ในปีพ.ศ. 2511 ได้เข้าเป็นสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ร่วมต่อต้านกับรัฐบาลไทย ในปีพ.ศ. 2526 ได้เข้ามอบตัวเป็นผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย (ผรท.) โดยทางราชการจัดให้อยู่ที่บ้านกิ่วน้ำ (พื้นที่ที่ 4 ตำบลหนองแดงเดิม ) แต่เนื่องจากที่ตั้งเดิมขาดแคลนพื้นที่ทำกิน และจำนวนราษฎรเพิ่มขึ้น จึงได้ทำการอพยพครอบครัวมาอยู่ที่บ้านน้ำตวง ในพื้นที่หมู่ที่ 9 ตำบลน้ำพาง อำเภอแม่จริม จังหวัดน่าน ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระบรมราชินีนาถได้เสด็จเยี่ยมราษฎรและมีโครงการในพระราชดำริช่วยเหลือพัฒนาความเป็นอยู่ของราษฎรในพื้นที่ ทางโครงการพัฒนาเพื่อความมั่นคงพื้นที่ลุ่มน้ำน่านพื้นที่ที่ 4 อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ได้เข้ามาทำการช่วยเหลือในการจัดสร้างบ้านพัก และจัดสรรที่ทำกิน ครอบครัวละ 10 ไร่

ในปีพ.ศ.2535 ได้มีการสร้างถนนและความเจริญต่างๆ เข้ามาในหมู่บ้าน บ้านน้ำตวงได้รับอนุมัติจัดตั้งเป็นหมู่บ้านที่ถูกต้องตามกฎหมาย เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2536 ปัจจุบันมีผู้ใหญ่บ้าน ชื่อนายธวัชชัย วัฒนาตระกูลวงศ์  ภาษาที่ใช้ในหมู่บ้านภาษาม้ง การติดต่อราชการใช้ภาษาไทย ชาวบ้านน้ำตวงมีความสัมพันธ์กันในเครือญาติ การสร้างบ้านเรือนจะอยู่ร่วมกันเป็นกลุ่ม ซึ่งในครัวเรือนหนึ่งมักจะมีอยู่ 2-3 ครอบครัว การอยู่รวมกันจะทำให้รู้สึกอบอุ่นและมีความผูกพันกัน ประชากรทั้งหมด 1,456 คน จำนวน 185 หลังคาเรือน

........................................................

 

ด้วยความที่เป็นหมู่บ้านห่างไกล การพึ่งพาตนเองของชาวบ้านจึงเป็นสิ่งสำคัญ ชาวม้งที่นี่จึงได้สั่งสมสืบทอดภูมิปัญญาการจัดการตนเองจากรุ่นสู่รุ่น มีการเรียนรู้จากภูมิปัญญาท้องถิ่นจากผู้อาวุโสในหมู่บ้านเพื่อสืบทอดวัฒนธรรมของชุมชนเกี่ยวกับพิธีกรรมต่างๆ เช่น การเล่นดนตรีประจำเผ่า การรักษาโรคด้วยสมุนไพร การปักผ้า การจักสาน การทำเครื่องมือล่าสัตว์  การทำเครื่องเงิน การตีมีด การสอนหรือการพูดคุยกันเป็นกลุ่มเวลาทำงาน หรือตอนกลางคืน เป็นการถ่ายทอดความรู้ที่ไม่ได้จัดเวลาสถานที่ เป็นการศึกษาจากผู้รู้หรือภูมิปัญญาท้องถิ่นที่ไม่มีในตำราเรียน    แต่ศึกษาได้จากวิถีชีวิตการดำเนินชีวิตของคนในชุมชนรวมทั้งการจัดการสุขภาพของตนเองด้วย ทั้งด้านสมุนไพร หมอพื้นบ้าน หมอฝังเข็ม อาหารการกิน และการดำรงชีวิตที่ล้วนแล้วเกี่ยวโยงกับการวิถีสุขภาพของชาวม้งทั้งสิ้น

 

 

อสม.ฉัตรชัย พงศ์พรไพศาล ปัจจุบันอายุ 32 ปี จบการศึกษาระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) สาขาช่างไฟฟ้ากำลัง จากวิทยาลัยสารพัดช่างน่าน ได้สมัครเข้าเป็นอสม. ตั้งแต่ปี 2545 โดยมีแรงบันดาลใจ เนื่องจากบุตรชายคนแรกป่วยด้วยโรคผิวหนังบริเวณฝ่าเท้า รับการรักษาจากโรงพยาบาลแม่จริมอาการไม่ดีขึ้น และได้รับพระมหากรุณาธิคุณเป็นคนไข้ในพระราชานุเคราะห์องค์สมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ โดยรับการรักษาที่โรงพยาบาลมหาราช จังหวัดเชียงใหม่  อาการยังไม่หายขาด และต้องเดินทางบ่อย ใช้เวลานาน เนื่องจากตอนนั้นบ้านน้ำตวงการคมนาคมยังไม่สะดวกเหมือนปัจจุบัน เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้อสม.ฉัตรชัย มีแนวคิดศึกษาการใช้สมุนไพรควบคู่กับยาแพทย์แผนปัจจุบัน  โดยขอรับคำปรึกษาจากหมอสมุนไพรพื้นบ้านเพื่อจะได้นำยาสมุนไพรมาใช้ในการรักษาบุตร ยาสมุนไพรที่ใช้รักษาบุตร

จากเหตุการณ์ดังกล่าว ทำให้ข้าพเจ้าซึ่งเป็นคนรุ่นหลังมีแนวคิดที่อยากจะสืบทอดเรื่องภูมิปัญญาการใช้สมุนไพรของชาวเขาเผ่าม้ง เพื่อไม่ให้สูญหายไปกับกาลเวลา และรุ่นลูกหลานจะได้สืบทอดภูมิปัญญาการใช้สมุนไพรกันได้ทั่วหน้า ดังนั้นจึงขอรับคำปรึกษาจากผู้เฒ่าผู้แก่ในบ้านน้ำตวง เพื่อรวบรวมจำนวนผู้รู้เรื่องสมุนไพรในหมู่บ้านบ้านน้ำตวงที่เราเรียกว่า “หมอสมุนไพรพื้นบ้าน” ขึ้น จำนวน 26  คน และได้ร่วมกันศึกษาเรื่องสมุนไพรพื้นบ้านชาวม้ง สำรวจ และค้นพบ การใช้ประโยชน์จากสมุนไพรพื้นบ้านได้ 128 ชนิด และรวบรวมรายชื่อสมุนไพร รวมทั้งกระบวนการรักษา สรรพคุณของสมุนไพรแต่ละชนิด มาจัดทำเป็นรูปเล่ม เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกันในเรื่องสมุนไพรของชาวม้ง ส่งเสริมให้ใช้สมุนไพรในการดูแลส่งเสริมสุขภาพของตนเอง รวมทั้งการส่งเสริมการใช้แพทย์พื้นบ้านในการดูแลสุขภาพของประชาชน โดยการประสานงานกับรพ.สต.

 

ผลการดำเนินงาน และผลสำเร็จที่เกิดขึ้น

  • ชุมชนบ้านน้ำตวงมีความรู้เกี่ยวกับสมุนไพร สามารถปลูกและหายาสมุนไพรมารักษาตนเอง     และครอบครัวได้อย่างถูกต้องและปลอดภัย ทำให้ลดค่าใช้จ่ายในการเดินทางและค่ารักษาพยาบาล
  • ชุมชนบ้านน้ำตวงมีการปลูกกระชายดำ กระชายหอม ขิง เพื่อสร้างรายได้ให้กับครอบครัว
  • สมาชิกที่ผ่านการอบรมความรู้เรื่องยาสมุนไพรทั้ง 28 คน สามารถนำความรู้ที่ได้รับ นำไปปฏิบัติและเผยแพร่กับชุมชน เพื่อให้รู้จักยาสมุนไพร และมีการสืบทอดภูมิปัญญาทุกครัวเรือน
  • กลุ่มผู้ปลูก อนุรักษ์และผลิตภัณฑ์พืชสมุนไพรพื้นบ้าน บ้านน้ำตวง (กระชายดำ หม่อน ขิง ซันซิ   ฯลฯ ) มีกองทุนหมุนเวียน 19,000 บาท
  • กลุ่มผู้ปลูก อนุรักษ์และผลิตภัณฑ์พืชสมุนไพรพื้นบ้าน บ้านน้ำตวง (กระชายดำ หม่อน ขิงซันซิ ฯลฯ)  สามารถเก็บข้อมูลเกี่ยวกับยาสมุนไพรที่สำคัญ ทั้ง 128 ชนิด พร้อมภาพถ่าย และรวบรวมวิธีรักษา  สรรพคุณ ไว้เป็นรูปเล่ม และนำไปเผยแพร่ถ่ายทอดไปยังลูกหลาน
  • กลุ่มผู้ปลูก อนุรักษ์และผลิตภัณฑ์พืชสมุนไพรพื้นบ้าน บ้านน้ำตวง (กระชายดำ หม่อน ขิง ซันซิ ฯลฯ)  มีการแปรรูปสมุนไพร เพื่อเป็นรายได้เสริมให้กับครอบครัว
  • ได้รับรางวัลประกวดสินค้า OTOP ระดับ 5 ดาว ที่ทำจากสมุนไพร ในระดับของอำเภอแม่จริม

...............................................................

ผลของรวมกลุ่มการศึกษาสมุนไพรและส่งเสริมการใช้สมุนไพรอย่างจริงจังในชุมชนมาอย่างต่อเนื่อง ทำให้ อสม.ฉัตรชัย ได้รับการยอมรับจากคนในชุมชน และเป็นกำลังหลักคนหนึ่งในระบบสุขภาพของชุมชนบ้านน้ำตวง และส่งผลให้เขาได้รับรางวัลอสม.ดีเด่นสาขาการแพทย์แผนไทยและภูมิปัญญาท้องถิ่นระดับภาคเหนือ เป็นตัวแทนของภาคเหนือเข้าประกวดอสม.ดีเด่นระดับชาติต่อไป

.............................................................

สีสันงานวันตรวจเยี่ยมจากคณะกรรมการประกวดอสม.ดีเด่นระดับชาติสาขาการแพทย์แผนไทยและภูมิปัญญาท้องถิ่น นำโดยรองอธิบดีกรมการแพทย์แผนไทย และคณะ รวม ๕ คน ในการออกมาตรวจเยี่ยมผลการดำเนินงานของอสม.ฉัตรชัย และชาวบ้านน้ำตวง เมื่อวันที่ ๒๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๕ งานนี้คึกคักอย่างกับงานปีใหม่ของชาวม้ง ชาวบ้านต่างแต่งชุดประจำเผ่า และจัดกิจกรรมไว้รองรับแขกอย่างตื่นตาตื่นใจ

..................................................................

อสม.ฉัตรชัย กล่าวขอบคุณทุกภาคส่วนที่มีส่วนช่วยสนับสนุนในการทำงานที่ผ่านมา โดยเฉพาะกลุ่มหมอพื้นบ้าน และที่สำคัญคือครอบครัวของเขาที่เป็นกำลังใจในการทำงาน ไม่ว่าผลการประกวดอสม.ดีเด่นระดับชาติจะเป็นอย่างไร แต่วันนี้ชาวม้งบ้านน้ำตวงได้แสดงให้เห็นพลังของความร่วมมือในการที่จะดูแลรักษาวิถีวัฒนธรรมความเป็นอยู่และสุขภาพของตนเองให้ผู้มาเยือนได้อย่างประทับใจยิ่งนัก


หมายเลขบันทึก: 480178เขียนเมื่อ 27 กุมภาพันธ์ 2012 15:41 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 15:55 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (10)

วันนั้นได้ร่วมงานด้วย ขอเป็นกำลังใจให้ อสม.ฉัตรชัย และพี่น้องชาวน้ำตวง เห็นภาพแล้วสมุนไพรอยู่ในหัวใจวิถีชีวิตของพี่น้อง เป็นกระบวนการถ่ายทอดภูมิปัญญาโดยการคัดสรรสิ่งดีๆปรับเปลี่ยนไปตามกาลเวลา เพื่อดำรงชีวิตของชนเผ่าม้งตั้งแต่ปฏิสนธิอยู่ในครรภ์จนลืมตาดูโลก ด้วย ภูมิปัญญาและสมุนไพร อสม.ฉัตรชัย ทำหน้าที่ได้ดีเยี่ยม นับว่าเป็นประโยชน์กับชีวิตมนุษย์อย่างเราๆ ขอให้ อสม.ฉัตรชัยและชาวบ้านน้ำตวงสืบสานสิ่งดีๆอย่างนี้ ต่อไป

                                              @@@คนชายขอบ

มาชื่นชมครับ งดงามจังเลย เป็นกำลังใจคนน้ำตวงครับ

ขอบคุณทุกท่านทุกหน่วยที่เป็นกำลังใจให้อสม.ฉัตรชัยและประชาชนบ้านน้ำตวง ในการอนุรักษ์รักษาภูมิปัญญาท้องถิ่นให้คงอยู่ต่อไปและเป็นที่รู้จักของทุกคน

^ ^ พี่น้่องบ้านน้ำตวง น่ารักมากครับ น่าชื่นชมในความสามัคคี และเป็นกำลังใจให้ทั้ง ฉัตรชัย และเจ้าหน้าที่ รพ.สตงบ้านน้ำตวงทุกคน ที่ช่วยสานฝันให้ อสม.แม่จริม จ.น่าน ด้วยนะครับ สู้ๆ เส้นชัยอยู่ใกล้แค่เอื้อมถึง \0/

ขอชื่นชมและเป็นกำลังใจให้กับทางเจ้าหน้าที่ รพ.สต.บ้านน้ำตวง และ อสม.ฉัตรชัย นะครับ กับความสำเร็จในครั้งนี้

เจริญพร ได้ชมแล้วประทับใจมาก ลักษณะของชนเผ่า ม้ง อีกชนเผ่าที่เก่าแก่ของไทย ในประเทศนี้ยังมีหลายชนเผ่า ควรอนุรักษ์ วัฒนธรรม จารีดอันดีไว้เน้อ สาธุ......

สะอาด สุคนธ์เทวัญ

ขอบคุณที่ช่วยส่งเสริมวัฒนธรรมม้งไว้ 

มงคลชัย วื่อปรัชญากุล

ไม่เพียงแต่คนน้ำตวงนะคับที่อืนก็มีเช่นกาน น่ารักมากคับ

พี่น้องทุกคนในหมู่บ้านน้ำตวง มีสันติสุขดี ขอความรักของพระเจ้าเทลงมาเหนือบ้านน้ำตวงทุกพื้นที่ ข้าวปลาสมบูรณ์ สุขภาพดีตลอดไป  (ลูกหลานน้ำตวง Npis xyooj)

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท