ข้อเสนอแนะต่อคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค: อาเซียน


การดำเนินงานด้านการคุ้มครองผู้บริโภคเพื่อรองรับความร่วมมือในกรอบอาเซียน

ผู้เขียนได้เข้าร่วมประชุมคณะอนุกรรมการส่งเสริมและพัฒนาการดำเนินงานด้านการคุ้มครองผู้บริโภคเพื่อรองรับความร่วมมือในกรอบอาเซียน ในคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ในการประชุมครั้งที่ ๑/๒๕๕๔ เมื่อวันพฤหัสบดีที่ ๒๘ กรกฎาคม ๒๕๕๔ ณ สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค  ในการนี้ ผู้เขียนได้เสนอแนะและขอให้สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคติดตามผลการดำเนินการในอดีตที่ผ่านมาเพื่อเป็นการดำเนินการคู่ขนานในระหว่างการเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับความร่วมมือในกรอบอาเซียน แต่เนื่องจากสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคไม่ได้จดบันทึกไว้ในรายงานการประชุมฯ ตามความประสงค์ของผู้เขียนที่ได้เสนอในการประชุมฯ ผู้เขียนจึงขอสรุปไว้เป็นบันทึกช่วยจำไว้ ดังนี้

๑. ระบบการแจ้งและแลกเปลี่ยนข้อมูลเกี่ยวกับการเรียกคืนสินค้าที่ไม่ปลอดภัย

 - แนวความคิดเกี่ยวกับการจัดตั้งและพัฒนาศูนย์ข้อมูลผู้บริโภคแห่งประเทศไทยที่สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคเคยดำเนินการเพื่อจะจัดตั้งขึ้นตั้งแต่ประมาณปี พ.ศ.๒๕๔๐ เป็นสิ่งจำเป็นต่อการจัดตั้งศูนย์ทดสอบผลิตภัณฑ์ (Product Testing Center) หรือพัฒนาศูนย์เฝ้าระวังและพิสูจน์สินค้าที่ไม่ปลอดภัย ตามแนวทางที่รัฐบาลญี่ปุ่นได้เคยให้ความร่วมมือทางวิชาการแก่สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ซึ่งผู้เขียนเป็นผู้เสนอโครงการต่อรัฐบาลญี่ปุ่นในช่วง พ.ศ.๒๕๔๓-๒๕๔๖  และจะต้องให้เกิดผลเป็นรูปธรรมและมีประสิทธิภาพอย่างยั่งยืน  ทั้งนี้ นอกจากเพื่อนำข้อมูลมาวิเคราะห์สำหรับเสนอผู้บริหารและคณะรัฐมนตรีเพื่อประกอบการพิจารณากำหนดนโยบายด้านกิจการผู้บริโภคแล้ว ยังเป็นเครื่องมือที่จะนำมาวิเคราะห์ สังเคราะห์ และกำหนดเป็นมาตรการเชิงป้องกันแก่ผู้บริโภคในลักษณะของการแจ้งเตือนและการแลกเปลี่ยนข้อมูลเกี่ยวกับสินค้าที่ไม่ปลอดภัยได้ทั้งในมิติภายในและระหว่างประเทศ และการพัฒนากฎหมายด้วยในที่สุด  ดังนั้น ในปัจจุบันนี้ ได้พัฒนาไปได้เพียงใด ก็ขอให้แจ้ง เผยแพร่ หรือประชาสัมพันธ์ให้แก่องค์กรสมาชิกภายในและต่างประเทศในภูมิภาคเอเชียนี้ไปเท่าที่มีอยู่ก่อน เพื่อจะได้แสดงให้เห็นว่าประเทศไทยได้มีความก้าวหน้าในระดับใด

๒. กำหนดมาตรการเกี่ยวกับการทำธุรกรรมทางการค้าผ่านสื่ออีเล็กทรอนิกส์ (E-commerce)

 - เห็นควรให้สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคในฐานะหน่วยธุรการของคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคพิจารณาทบทวนมติคณะอนุกรรมการฝ่ายกฎหมายในคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคเกี่ยวกับเรื่องที่ค้างการพิจารณาเรื่องมาตรการเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภคด้านพาณิชย์อีเล็กทรอนิกส์เมื่อหลายปีที่ผ่านมาไปพร้อมกัน ในสมัยที่ผู้เขียนทำหน้าที่เลขานุการในคณะอนุกรรมการฝ่ายกฎหมาย 

๓.กำหนดแผนการพัฒนากฎหมายเพื่อปรับปรุงอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ.๒๕๒๒

- ในระยะยาวและการดำเนินการคู่ขนาน เห็นควรพิจารณาปรับปรุงอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ตามพระราชบัญญัติคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ.๒๕๒๑ โดยให้คณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคมีอำนาจหน้าที่โดยมีสาระสำคัญ เช่น จัดทำแผนแม่บทการบริหารงานคุ้มครองผู้บริโภคแห่งชาติ และแผนแม่บทเทคโนโลยีสารสนเทศงานคุ้มครองผู้บริโภคเสนอต่อคณะรัฐมนตรี เป็นสำคัญ  ทั้งนี้ เนื่องจากนับแต่คณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคที่ผ่านมาตั้งแต่อดีต ยังไม่ปรากฏวิสัยทัศน์ของคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคในการคุ้มครองผู้บริโภค และให้แยกวิสัยทัศน์คณะกรรมการฯ ออกจากวิสัยทัศน์ของสำนักงานฯ ให้ชัดเจน



ความเห็น (4)

บทความของท่านเป็นประโยชน์กับการศึกษาในระดับ ป.โท มากค่ะขออนุญาตนำไปอ้างอิงในการทำวิจัยด้วยค่ะ ขอบพระคุณอย่างสูงค่ะ

ขอบคุณครับ อาจมีเรื่องอื่นที่อาจะมีประโยชน์อยู่บ้าง ให้ดูที่สารบัญได้ครับ ยินดีครับ หากจะได้นำไปใช้ประโยชน์บ้างครับ

ขอบคุณครับ อาจมีเรื่องอื่นที่อาจะมีประโยชน์อยู่บ้าง ให้ดูที่สารบัญได้ครับ ยินดีครับ หากจะได้นำไปใช้ประโยชน์บ้างครับ

พยายาม serve ข้อมมูลเอกสารเดิมในอดีตให้ สคบ.ในฐานะปัจจุบันอนุกรรมการของ คคบ.ในเรื่องนี้ เคยชี้แจงในที่ประชุมก็ไม่บันทึกไว้ให้ แต่กลับบอกไม่มีเวลาที่จะอ่าน เอาไว้ทีหลัง การทำงานนั้น ควรทบทวนวรรณกรรมหรืองานในอดีตที่ได้เคยทำมาว่า สคบ.เคยมีความเห็นในเรื่องนี้อย่างไร และเจ้าหน้าที่เคยให้ความเห็นในเรื่องนี้ไว้อย่างไร เข้าใจว่าเอกสารที่เคยเสนอ สคบ.ในอดีตนั้นคงหายไปแล้วเนื่องจาก สคบ.ไม่ได้ให้ความสำคัญอะไรนอกจากทราบเพียงอย่างเดียว จึงไม่ได้เตรียมความพร้อมเรื่องอาเซียน จนเพิ่งตั้งคณะอนุกรรมการขั้นมา ก็เลยอยากจะเสนอเอกสารให้ฝ่ายเลขานุการไว้เป็นข้อมูล กลับได้รับแจ้งว่าไม่มีเวลาที่จะอ่าน สวัสดีประเทศไทย วัฒนธรรมองค์กร สคบ.ไม่เคยเปลี่ยนแปลงเลยจริง ๆ

อ่านเอกสารเชื่อมโยงได้ที่ http://www.gotoknow.org/blogs/posts/166414 http://www.gotoknow.org/blogs/posts/364955

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท