student center ที่หลงทางกำลังทำลายชาติไทยอย่างมหันต์


ขอแสดงข้อคิดเห็นเรื่องนศ. ตกออกเป็นจำนวนมาก

นี่คือจดหมายที่ผมเพิ่งเขียนถึงท่านผู้มีอำนาจ..ผมว่าถ้าไม่เลิกระบบนี้ให้ทันกาล ประเทศเราฉิบหายแน่ ..ผมเขียนจดหมายไปหารัฐบาลแล้ว ก็ยังนิ่งเฉยอยู่  (ไม่มีการตอบว่า ได้รับแล้วเสียด้วย ทั้งที่เป็นเรื่องคอขาดบาดตาย ที่ผมมีหลักฐานให้เห็นจะจะ)

 

เรื่อง ขอแสดงข้อคิดเห็นเรื่องนศ. ตกออกเป็นจำนวนมาก

 

เรียน ..................

(สำเนาเรียน .......................)

 

อ.ดร..... ได้สำรวจข้อมูลนศ. วิศวกรรมเครื่องกล ที่ตกออก ในแต่ละปีการศึกษา  แล้วเอามาให้กระผมดู ทำให้กระผมเกิดแนวคิดว่า มีสิ่งผิดปกติสำคัญเกิดขึ้นในวงการศึกษาไทยที่ไปเกี่ยวโยงกับการเรียนแบบนักเรียนเป็นศูนย์กลางอย่างมีนัยสำคัญ

 

ข้อมูล (ปีรหัส/%ตกออก) เป็นดังนี้  (ปี46/ตก11.6%)  (47/13.3)  (48/22.4)  (49/27.6)  (50/23.7)  (51/28.2)  (52/22.2)

 

ซึ่งเห็นได้ชัดว่า มีการกระโดดในการตกออกจากประมาณ 10%  เป็น 20-30% ที่รุ่นปี 48 เป็นต้นไป ซึ่งหากนับถอยหลังย้อนไปจะเห็นว่านศ.รุ่นนี้เข้าเรียนชั้น ม 4 เมื่อปีพศ. 45 ซึ่งน่าจะตรงกับปีที่ รร.มัธยม ถูกบังคับใช้นโยบาย "student center" พอดี  เพื่อรองรับพรบ.การศึกษา 2542 โดยมีการสอนแบบใช้ใบงาน ให้นร. ไปศึกษาหาความรู้กันเอง ซึ่งนอกจากจะทำให้ได้ความรู้ไม่เข้มข้นแล้ว ครูอาจารย์ยังไม่ใกล้ชิดกันนร.อีกด้วย  กระผมเชื่อว่าการสอนแบบนี้ส่งผลให้นร. มีความรู้อ่อนทั่วประเทศ และยังส่งผลต่อพฤติกรรมอีกด้วย จนส่งผลต่อการตกออกในอุดมศึกษา

 

 

กระผมได้คุยกับเพื่อนคณาจารย์จากม.ขอนแก่น ก็ทราบว่านศ.วิศวะตกออกมากประมาณ 20-30% เช่นกัน

 

จากการคุยกันของคณาจารย์ในสาขาวิชามีความเห็นตรงกันว่า  นศ. รุ่นรหัส 48 เป็นต้นมามีฐานความรู้อ่อนกว่ารุ่นก่อนๆมาก อย่างเห็นได้ชัด

 

กระผมจึงนำเรียนข้อมูลมาเพื่อท่าน........โปรดพิจารณาใช้ประโยชน์ในการประชุมร่วมกับ ......  เพื่อชี้แจงให้กระทรวงศึกษาทราบถึงปัญหาอันใหญ่หลวงของชาตินี้ด้วยต่อไป

 

ด้วยความเคารพ

ทวิช จิตรสมบูรณ์

หมายเลขบันทึก: 479293เขียนเมื่อ 20 กุมภาพันธ์ 2012 08:57 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 14:35 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (10)

ขอตั้งข้อสังเกต ครับ..ข้อมูล เด็กตกออก ที่เพิ่มขึ้น..อาจมีสาเหตุมาจาก จำนวนเด็กเรียนท่ีเพิ่มขึ้น จากการจัดการศึกษาแบบบังคับและการส่งเสริมการศึกษาต่อ..ครับ..เพราะ เด็กที่มีความไม่พร้อม เข้าสู่ระบบมหาลัยมากขึ้น แล อจาจะมาจาก การรับนักศึกษามากขึ้น โดยยอมลดทอนคุณภาพ ของ นศ.แรกเข้า..จำนวนเด็กที่มีคุณภาพ ในแต่ละช่วงอายุ อาจคงที่อยู่ตลอด..ซึ่งตรงนี้อาจแสดงได้ว่า คุณภาพของการจัดการศึกษา ไม่พัฒนาขึ้น แม้จะใช้หลักสูตรไหนๆ..ขอให้ความเห็นเกี่ยวกับ การเรียนของ นศ.วิศวะ เนื่องจากมีลูกสาว อยากเป็นวิศวกรและปัจจุบันจบ ป.เอก สาขาแมคคาโทนิคส์จากญี่ปุ่นโดยผมแนะนำให้แกเรียน สาขาอิเล็คโทนิคส์ ปวช.จาก ว.เทคนิค (ทั้งที่แกสามารถจะเรียนในต่อ รร.ม.ปลาย ที่มีชื่อได้)..นศ.วิศวะ ควร มีเจตคติต่อการเรียนในภาคปฏิบัติมากและจำต้องมีพื้นฐานทางการฝึกปฏิบัติเช่นเดียวกับ นศ.เยอรมัน และ ญี่ปุ่น ที่ต้องผ่านการเรียนเฉพาะทางมากกว่า ม.ปลาย สายสามัญ..ซึ่งถูกทำลายเจตคติด้วยวิธีการสอนแบบเน้นทฤษฎี..ดังนั้น นศ.ส่วนใหญ่จะออกกลางคันมากเพราะไม่ตรงกับทักษะ ความสามารถและขาดความอดทน เว้นแต่บางมหาลัยที่มีกระบวนการพิเศษในการหล่อหลอมใหม่..ครับ..

ดังนั้น..ผมคิดว่า ไม่ว่าจะเป็น student center หรือ teacher center..พวกเราหลงทางกันมาตลอด..ครับ..1.ไม่สนับสนุนให้อาชีพครูเป็นอาชีพที่สำคัญตั้งแต่เมื่อ50ปีก่อน..2.การมุ่งเน้นความรู้ทฤษฎี มากกว่าการปฏิบัติ มากกว่าคุณธรรม..3.การมุ่งเน้นปริมาณมากกว่าคุณภาพ..4.การขาด ระบบตรวจสอบ ถ่วงดุล ลงโทษ ที่มีอิสระและทรงพลัง..และ 5.การปล่อยปละละเลยขาดความรับผิดชอบของผู้คน..และ..6..7..8..9..10...........ของคนไทย ทุกคน..เวรกรรม ครับ เวรกรรม..

ท่านลุงรักชาติพูดมาผมเห็นด้วยหลายประการครับ ผมนิยมความสมดุลตามช่วงชั้นเสียมากกว่า คือเด็กๆ ต้องพัฒนาแบบมือสัมผัสให้มาก เพราะสมองเขายังพัฒนาน้อย แล้วลดสัดส่วนลงเรื่อยๆ จนแก่ๆมากๆแล้ว สะสมประสบการณ์ไว้มาก ก็ให้สมองนำ เพื่อโยงไปหาเด็กๆ อีกรอบ

ว่าแต่ว่าถ้าลูกสาวสนใจงานสอน ป.โท เอก แมคคาทรอนิกส์ ก็ติดต่อผมได้นะครับ ที่ม.ผมมีหลักสูตรนี้อยู่ นศ.ส่วนใหญ่ มาจากภาคเอกชน นักปฏิบัติทั้งนั้นเลยครับ

ชื่นชมที่ใช้ข้อมูล ตรวจสอบแนวทางการศึกษาคะ

เห็นด้วยว่า student center ที่ให้นร. ไปศึกษาหาความรู้กันเอง ซึ่งนอกจากจะทำให้ได้ความรู้ไม่เข้มข้นแล้ว ครูอาจารย์ยังไม่ใกล้ชิดกันนร.อีกด้วย

...

หากจะให้นักเรียนหาความรู้เอง ครูยิ่งน่าจะใกล้ชิด ในการเป็นโค้ช ช่วยนักเรียนตั้งเป้าหมาย ติดตาม

แบบให้นักศึกษา ไปค้นคว้าแล้วมาเสนอเป็น power point ให้อาจารย์ดูไปหลับไปนั้นคงไม่เหมาะ

ทุกวันนี้ ใบงานมั่ง ทอล์ค แอน ไวท์บอร์ดบ้าง บางทีก็โม้ ให้เด็กฟัง

..ขอขอบคุณครับสำหรับคำแนะนำในการทำงานของลูกสาว..ความจริง ผมมีความต้องการอยากให้ลูกเป็นครูมาก ครับ..มิใช่เพราะว่า เป็นอาชีพที่มีเกียรติ..แต่เพราะ ปู่ ย่า พ่อ แม่ ป้า อา เค้าเป็น ครู..เค้าจึงมี สายเลือดครู อยู่มาก..ยิ่งถ้าได้ทำงานในมหาวิทยาลัยที่มีครูบาอาจารย์แท้ๆ เช่น ที่ มทส. ยิ่งจะเป็นการช่วยหล่อหลอมเค้าได้อย่างดี ครับ..แต่ผมไม่กล้าบอกกับลูก..ครับ..แต่ถ้าเค้าอยากเป็นครูขึ้นมาจริงๆ ผมก็คงต้อง ขอคำแนะนำจากท่านอาจารย์ แน่ครับ..

..ทีนี้ สำหรับความคิดเห็นเกี่ยวกับครู การพัฒนาครู(ที่น่าห่วงส่วนใหญ่ คือ ครูประจำการ)..ผมว่าที่ทำอยู่นี้ ก็เข้าอีหรอบเดิมเพราะเรายังติดหล่มความคิดตามแบบตะวันตก คือใช้การจูงใจโดยเอาเงินเป็นตัวล่อ..สุดท้ายก็ยิ่งเป็นการทำร้ายการศึกษาเข้าไปอีก..ผมว่า ไม่ว่าจะเป็นการสอนโดยยึดหลักการ วิธีการไหนๆนั้นก็แล้วแต่ครูครับ( อันนี้ควรมีหลากหลายรูปแบบด้วยซ้ำ ไม่ว่าจะเป็น student center, teacher center, content or knowledge center,basic skill or performance center..spiritual center..creative thinking center..imagining center..thai center.....etc...+ ไวท์บอร์ด +ใบงาน +แบบฝึกหัด+การบ้าน +โครงงาน+พอร์ทโฟลิโอ+การจัดแสดงผลงาน และ+++++...)..แต่..ขอให้ ครู ตั้งใจ ทุ่มเท ใช้ความคิด ความรู้ ความสามารถ และใคร่ครวญถึงประโยชน์ของศิษย์และประโยชน์ของสังคม อย่างจริงใจ จริงจัง ให้สมกับคำว่า ครู..เท่านั้น..ครับ..

เห็นด้วยกันลุงรักชาติฯครับ ว่าควรต้องมีการสอนหลากหลายรูปแบบให้ถูกโฉลกกับนิสัยเด็ก เชน่ เด็กอ่อน กับเด็กแข็ง ควรสอนต่างกัน แต่การสอนแบบรวมหมู่มันคงยากครับ ทรัพยากรมนุษย์ไม่พอ ก็เอาประมาณทางสายกลางๆ แหละครับ ผมว่า

ผมยังสงสัยว่าเป็น "student-centered" หรือ "student center" ครับ ตอนแรกที่ผมได้ยินคำนี้ผมคิดว่าเขาเขียนผิด แต่ผ่านไปสักพักก็เห็นคนใช้คำนี้ (student center) กันทั้งนั้น ผมก็คิดว่าคงจะเป็นศัพท์เฉพาะทางศึกษาศาสตร์อะไรสักอย่างก็ไม่ได้สนใจเพิ่มเติมมากนัก แต่ลึกๆ ก็ยังรู้สึกว่าถ้า "student-centered" เพื่อหมายถึงการเรียนการสอนโดยให้ความสำคัญกับผู้เรียนเป็นสำคัญนั้นต้องเป็นสิ่งที่ดีแน่นอน แต่ "student center" ที่เป็น technical term ที่ผมไม่รู้ความหมายนี้แล้วมาทราบรูปแบบการเรียนการสอนอย่างที่อาจารย์เขียนแล้วยิ่งรู้สึกว่าน่าเป็นห่วงคุณภาพการศึกษาของบ้านเราจริงๆ ครับ

ท่าน ดร.ธวัชชัย ที่เคารพ ครับ..คำนี้ เป็นการเขียนแบบไทยๆโดยใช้ตัวอักษรภาษาอังกฤษเท่านั้นแหละครับ..แต่ให้เข้าใจกัน(ในหมู่คนไทย)ว่า เป็นการสอนที่ให้ความสำคัญที่ ตัวผู้เรียน เป็น ผู้ได้เรียนรู้..คงหมายว่า ให้ครูจัดกิจกรรมและให้นักเรียนปฏิบัติกิจกรรม โดยมีครูคอยช่วยเหลือ..ซึ่งก็ถูกครับ ว่า ควรเป็น "student-centered"..แต่อีทีนี้มัน จำยาก เขียนยาก..แหะ ๆ..เพราะถ้า เป็น"student center" ก็คงหมายถึง ศูนย์ของนักศึกษา.. สถานที่ที่นศ.จะมาทำกิจกรรมกันโดยเฉพาะ..ไม่เกี่ยวกะครู..อันนี้ตามความเข้าใจของผู้ไม่ค่อยประสีประสาในศัพท์ภาษาอังกฤษ นะครับ..และไอ้รูปแบบวิธีการสอนที่ยกมา ก็ ใช่ว่าจะใช้ได้ทุกกาล ทุกโอกาส และกะทุกคน..เพราะคงไม่ใช่ ธรรม ที่พระพุทธเจ้าทรงแสดง..วิธีการมันเป็นแค่องค์ประกอบให้เลือกใช้ระหว่างทาง..ไม่ใช่ปลายทาง..จึงคงมี นับพัน หมื่นวิธี แล้วแต่ ครูแท้ ท่านใด จะนำมาใช้ให้เหมาะสม..สำหรับ ครูเทียม(ไม่เกี่ยวกะท่านที่เก่งเรื่องหางเครื่อง)..ท่านมักชอบและรีบหยิบมาโชว์ตามนโยบายก่อนเสมอ..ทั้งที่เข้าใจมั่งไม่เข้าใจมั่ง..แล้วก็เลิกใช้เมื่อเปลี่ยนตัว รมต./อธิบดี..(ซึ่งผู้เป็นใหญ่พวกนี้ ก็คง นามสกุล เดียวกะ ครูเทียม นั้นแหละ..หุ หุ)..

ขอบคุณคุณลุงรักชาติราชบุรีที่กรุณาอธิบายครับ ตอนนี้ผมเห็นภาพชัดขึ้นแล้วครับ ผมคิดว่าการใช้เครื่องไม้เครื่องมือหรือกระบวนวิธีการใดที่ไม่ได้ศึกษาให้ถ่องแท้นั้นไม่ว่าในสาขาอาชีพด้านไหนก็อันตราย แต่สาขาที่จะอันตรายได้มากที่สุดก็คือการศึกษากับการสาธารณสุข เพราะเกี่ยวพันกับชีวิตคนอื่น แต่กลายเป็นว่าในบ้านเราดูเหมือนสองสาขานี้เป็นสาขาที่ชอบลองของใหม่มากกว่าสาขาอื่นๆ ไปเสียอีกครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท