ไอซ์ ... จากองค์ความรู้สู่ข้อเสนอการแก้ไขปัญหา


ไอซ์..องค์ความรู้...สู่การแก้ไขปัญหา

จากองค์ความรู้.....

                   ๑. จากการวิจัยเรื่องสถานการณ์การแพร่ระบาดไอซ์  โดยการประเมินเร่งด่วน (Rapid Assessment) พบว่าผู้เสพไอซ์ปัจจุบัน (ปี ๒๕๕๔) มีประมาณ ๗๐,๐๐๐ คน คิดเป็น ๑๕๖ : ๑๐๐,๐๐๐ ประชากร อายุเฉลี่ย ๒๗ ปี (ต่ำสุด ๑๕ ปี) กว่าร้อยละ ๗๐ ทำงานประจำ มีรายได้แน่นอน และฐานะดี ผู้เสพไอซ์ ๓ ใน ๔ เคยใช้ยาบ้า จากกลุ่มตัวอย่างพบว่าใช้ยาบ้ามาประมาณ ๖ ปี จึงเริ่มใช้ไอซ์   มีเพียงร้อยละ ๓ เท่านั้นที่เสพไอซ์โดยไม่เคยใช้ยาบ้ามาก่อน

                    ๒. สภาพปัญหาของการป้องกันและแก้ไขฯ  พบว่า ยังมีประชาชนและเยาวชน ตลอดจนบุคลากรภาครัฐที่ดำเนินการด้านการป้องกันและปราบปรามปัญหายาเสพติดที่ขาดความรู้เกี่ยวกับไอซ์ เช่น ไม่ทราบว่าไอซ์เป็นสารชนิดเดียวกับที่นำมาผลิตเป็นยาบ้า และมีฤทธิ์และผลร้ายต่อร่างกาย และมีผลต่อสภาวะทางจิตที่รุนแรงกว่า  ในขณะที่กลุ่มผู้เสพ และนักค้า ใช้วิธีการกระจายข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับตัวยาโดยการบอกเล่าปากต่อปาก ถึงผลที่ไอซ์มีต่อร่างกาย (มุมมองด้านบวกในกลุ่มผู้เสพ) เช่น ผลที่มีต่อภาพลักษณ์ (ขาว สวย ไม่โทรม) กระตุ้นร่างกายเพื่อทำงานกลางคืน ทำให้กล้า/ไม่อาย (กลุ่มหญิงบริการ โคโยตี้ และพนักงานบริการในสถานบันเทิง) ผลด้านความบันเทิงและสมรรถภาพทางเพศ (ความพึงพอใจของเพศชาย) ทำให้เกิดการใช้ไอซ์ในกลุ่มเพื่อนและเครือข่ายที่กว้างขวาง

                    แนวทางแก้ไข

                    ข้อเสนอแนวทางขับเคลื่อนงานป้องกันและแก้ไขปัญหา ดังนี้

                   ๑)  การเผยแพร่องค์ความรู้และรณรงค์เพื่อการป้องกันปัญหาไอซ์ในระดับภาพกว้างผ่านสื่อมวลชน และหน่วยงาน/กลไกภาครัฐ เอกชน และเครือข่ายภาคประชาสังคมที่เกี่ยวข้อง โดยบูรณาการการทำงาน มีกรอบ ทิศทาง และแผนปฏิบัติการร่วมกัน เพื่อให้บรรลุเป้าหมายการดำเนินงานแต่ละห้วงเวลาร่วมกัน เช่น การให้ความรู้ของครู D.A.R.E การสอนในวิชาปกติของสถานศึกษา วิชาลูกเสือ/เนตรนารี การให้ความรู้ในชุมชนโดย อสม. การเผยแพร่สปอต/ภาพข่าวเชิงป้องกันฯ ทางรายการโทรทัศน์ นอกเหนือจากข่าว/สารคดีด้านการจับกุม/ปราบปราม  ภายใต้การกำกับการดำเนินงานโดยคณะอนุกรรมการบริหารแผนยุทธศาสตร์ด้านการสร้างภูมิคุ้มกันและป้องกัน  ยาเสพติด รวมทั้ง ประสานการดำเนินงานร่วมกับคณะอนุกรรมการบริหารแผนยุทธศาสตร์ด้านอื่นๆ อย่างไรก็ตาม มีข้อห่วงใยจากผู้เกี่ยวข้องในประเด็นว่าหากมีการนำเสนอปัญหาไอซ์ให้แยกจากปัญหายาเสพติดตัวอื่น อาจชักนำให้กลุ่มเป้าหมายที่เสพยาบ้าอยู่ก่อนแล้วเข้าสู่วงจรผู้เสพไอซ์เพิ่มขึ้น เนื่องจากการเผยแพร่สื่อไปอาจกระตุ้นความต้องการและความรู้สึกอยากลองของเยาวชนทั่วไป และผู้ใช้ยาบ้าเดิม งานวิจัยจึงเสนอให้มีการให้ความรู้เฉพาะกลุ่มผู้เสพไอซ์เท่านั้น ไม่ควรดำเนินการในภาพกว้าง  ทั้งนี้ การให้ความรู้ฯ ควรเน้นโทษภัยที่มีต่อสมอง  โรคสมองติดยา อาการทางจิตที่อาจเกิดขึ้นหากใช้ปริมาณมากหรือใช้ต่อเนื่อง  เพราะมีความเป็นวิทยาศาสตร์ เหมาะสมกับกลุ่มเป้าหมายมากกว่าเพียงขู่ให้กลัวว่าเสพติด ประกอบกับอาการขาดไอซ์ไม่ก่อให้เกิดการลงแดงแบบเฮโรอีนผู้เสพส่วนใหญ่จึงคิดว่าตัวเองไม่ได้ติดยา และหยุดใช้ยาเมื่อใดก็ได้

                   ๒)  การเผยแพร่องค์ความรู้ให้แก่กลุ่มครอบครัว เกี่ยวกับอาการของผู้เสพไอซ์ และช่องทางการเข้าถึงสถานพยาบาลเพื่อรับการบำบัดรักษา  เนื่องจากพบว่าปกติผู้เสพฯ จะไม่เข้ารับการบำบัดด้วยตนเอง แต่เป็นครอบครัวของผู้เสพที่พบว่าผู้เสพเริ่มมีอาการผิดปกติทางจิตต้องพบแพทย์

                   ๓)  การดำเนินการป้องกันและแก้ไขปัญหาไอซ์ในกลุ่มผู้เสพไอซ์  ในลักษณะการให้ความรู้ตามกรอบคิดเรื่องการลดอันตรายจากการใช้ยาเสพติด (harm reduction) โดยผ่านกลไกของกระทรวงสาธารณสุข เช่น โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล และ อสม. หรือเครือข่าย NGO  

                   ๔)  จากข้อมูลวิชาการพบว่าไอซ์จะแพร่ระบาดในเมืองใหญ่ และจังหวัดท่องเที่ยว และมีการเชื่อมโยงกับการใช้บริการสถานบันเทิง ดังนั้น ควรเน้นหนักในการควบคุมการแพร่ระบาดในพื้นที่ท่องเที่ยว และการเข้มงวดในการเข้าใช้บริการสถานบันเทิง 

หมายเลขบันทึก: 478696เขียนเมื่อ 14 กุมภาพันธ์ 2012 16:25 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 21:36 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ขอบพระคุณ คุณครูอ้อย แซ่เฮ และคุณโสภณ เปียสนิทค่ะ ปล. ชอบทะเลหัวหินที่ฝากมามากค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท