ชิลล์ ชิลล์ ที่วังน้ำเขียวกับเครือข่ายไร้ตัวตน DMKM


เมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ คนทำงานในเครือข่ายการจัดการความรู้ดูแลผู้ป่วยเบาหวานหรือที่เรียกสั้นๆว่า DMKM ได้ไปพบปะ ปรึกษาหารือ เป็นการประชุมอย่างไม่เป็นทางการนัก ท่ามกลางธรรมชาติอันสดชื่น ณ วังน้ำเขียว นครราชสีมา แม้ไม่เป็นทางการแต่มีการเตรียมการอย่างดีว่าจะมีใครไปกันได้บ้าง จะไปพูดคุยวางแผนกันเรื่องอะไร และจะเติมพลังใจ พลังกายกันอย่างไร

 

หลักๆเป็นการทบทวนตนเองถึงการทำงานของเครือข่าย ซึ่งปี ๒๕๕๕ นี้ก็เข้าปีที่เจ็ดแห่งการทำงาน นับว่าเป็นเวลาไม่น้อยที่คนทำงานได้พบเห็น แบ่งปัน เก็บเกี่ยวประสบการณ์การทำงานในการดูแลรักษาผู้ป่วยเบาหวาน พินิจจากภายในว่าเรามองเห็นตนเองอย่างไรและมาช่วยกันคิดว่าต่อไปเราจะก้าวย่าง จะทำอะไรกันเพื่อประโยชน์ของผู้ป่วยเบาหวานและหาทางสกัดไม่ให้มีจำนวนผู้ป่วยเบาหวานเพิ่มขึ้น

เบาหวานและความดันโลหิตสูง เป็นโรคคู่รักกัน เธอ-ฉันเคียงกันมา นับวันประเทศไทยและทั่วโลกมีผู้ป่วยด้วยโรคเบาหวานมากขึ้นๆอย่างน่าตกใจ

 

ผู้เขียนไม่ใช่หมอ ไม่ใช่พยาบาล แต่มาในทางสายการจัดการความรู้ เช่นเดียวกับ คุณธวัช หมัดเต๊ะ นักจัดการความรู้ตัวจริงแห่ง สถาบันการจัดการความรู้เพื่อสังคม (สคส.) ที่พากันมาทั้งครอบครัว

งานนี้ ผศ.ดร.วัลลา ตันตโยทัย ผู้เป็นจุดรวมใจและ ศูนย์กลางพลังงานของเครือข่ายฯ (แม้ตอนนี้ไปเป็นคณบดีสำนักวิชาพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ อาจารย์ก็ยังทำงานเบาหวานอย่างเข้มแข็ง) สนับสนุนให้ผู้เข้าร่วมประชุมทุกคนพาครอบครัวมาด้วยได้ จัดที่พักให้อย่างดี

 

ดร.วัลลาขอให้ผู้เข้าร่วมประชุมนี้เขียนบันทึกลงบล็อกคนละ ๑ เรื่อง ดังนั้นบทสะท้อนความรู้สึก ประสบการณ์ ความคาดหวังและ แผนงานอนาคตคงมีคนทำงานตัวจริงเขียนกันแล้ว

สำหรับผู้เขียนจึงขอเล่าในส่วนที่ตนเองจะมีประโยชน์ต่อการทำงานของเครือข่ายฯ นั่นคือ การสังเคราะห์ น้องๆหรือแนวๆการถอดบทเรียนว่า ทำไม เครือข่ายการจัดการความรู้ดูแลผู้ป่วยเบาหวาน จึงคงยังเป็นเครือข่ายที่มีพลัง คนที่อยู่ในเครือข่ายซึ่งมาจากหลากหลายที่สามารถร่วมงานกันได้อย่างที่เรียกว่า “คนสำราญ งานสำเร็จ” และได้เกิดภาคีพันธมิตรให้งานนั้นไปได้กว้างไกลและสะดวกราบรื่นยิ่งขึ้น

 

บทพิสูจน์ไม่ใช่อยู่แค่การจัดคนทำงานให้มาพบกันในงาน มหกรรมการจัดการความรู้การดูแลผู้ป่วยเบาหวาน ระดับประเทศ ซึ่งจัดมาแล้ว ๔ ครั้งในรอบเจ็ดปีที่ผ่านมา และในปีที่ผ่านมาได้ขยายไปจัดในระดับภูมิภาค ๓ ครั้ง ที่ ภาคเหนือ ภาคอีสาน และ ภาคใต้ ได้รับการตอบรับอย่างดียิ่งจากทีมดูแลผู้ป่วยเบาหวานทั่วประเทศ แต่ต้องค้นให้ลึกว่าอะไรที่อยู่ภายใต้สิ่งที่มองเห็น เป็นพลังขับเคลื่อนคนทำงานให้ทำงานอย่างทุ่มเท เสียสละ

เครือข่ายการจัดการความรู้ดูแลผู้ป่วยเบาหวาน เป็นเครือข่ายที่ไม่ได้จัดตั้ง จดทะเบียนเป็นทางการ แม้แต่ผู้เข้ามาทำงานด้วยกันก็ไม่ได้เป็นระบบสมาชิก มากันด้วยใจ และความสัมพันธ์ที่แนบแน่นอันเกิดจากการทำงานที่มุ่งสู่ปลายทางเดียวกัน แม้จะต่างคนต่างมา นั่นคือการใช้การจัดการความรู้เป็นเครื่องมือในการทำงาน ให้ทำงานร่วมกันอย่างมีความสุข มีความสำเร็จเป็นการดูแลผู้ป่วยเบาหวานให้ผู้ป่วยอยู่ดีมีสุขแม้เป็นเบาหวาน

Theme ของมหกรรมฯในปี๒๕๕๓-๒๕๕๔ คือ  “ Sharing Knowledge, Energizing Teams, Improving Service Quality” เยี่ยมมากใช่ไหมคะ

 

ดร.วัลลา ชอบคำว่า “เครือข่ายไร้ตัวตน” มากบอกว่าได้มาจาก “ครูปาด”แห่งโรงเรียนเพลินพัฒนา ที่สะท้อนออกมาเมื่อได้ฟังถึงการทำงานของเครือข่ายฯ  ซึ่งคำนี้แสดงถึงเครือข่ายฯนี้ได้ดีที่สุด

ดังนั้นโจทย์ของผู้เขียนจึงมีจุดสำคัญอยู่ที่ การสร้างเครือข่าย ตั้งแต่เริ่มต้นจนถึงทุกวันนี้ ไร้ตัวตนแล้วเป็นเครือข่ายได้ไหม? เป็นได้อย่างไร? ผู้เขียนชอบแนวอิสระ ไร้ตัวตนอยู่แล้วจึงเต็มใจรับงานนี้

การบ้านนี้ดูน่าสนุกที่จะค้นหาคำตอบโดยวิเคราะห์ สังเคราะห์จากสิ่งที่เกิดขึ้นในบริบทจริงของคนทำงานและใช้หลักวิชาการ การจัดการความรู้ นำมาเขียน ถ่ายทอด เรียบเรียงให้เป็นเรื่องราวที่เข้าใจได้ไม่ยาก

 

ขอแย้มๆว่าได้วางแนวทางการทำงาน รวมไปถึงมองแนวคิดทฤษฎีด้านการจัดการความรู้ที่จะใช้ขึ้นรูปการวิเคราะห์ไว้แล้ว

ขอบพระคุณ ดร.วัลลา และ ผู้ที่ผู้เขียนได้มีโอกาสพบทุกท่านที่ให้การต้อนรับ ดูแลให้รู้สึกอบอุ่น เบิกบาน ทุกครั้งที่พบกัน และที่สำคัญมีความไว้วางใจ ให้เกียรติที่จะทำงานอันจะเป็นประโยชน์อีกทางแก่เครือข่ายฯ และต่อสังคมโดยรวมอีกด้วย

 

หมายเลขบันทึก: 478431เขียนเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 16:26 น. ()แก้ไขเมื่อ 2 มิถุนายน 2012 20:40 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (8)

พี่นุชเป็นตากล้องจึงไม่ได้เห็นพี่นุชท่ามกลางธรรมชาติเลย

ดอกไม้สีเหลือง ดอกอะไรเอ่ย ขึ้นมาจากสนามหญ้าได้หรือคะ

สวัสดีค่ะ

ขยั่นจังค่ะ

รักษาสุขภาพด้วยนะคะ....^_______^

เห็นภาพอาจารย์วัลลาในบุคลิกสบายๆ แล้วท่านดูใจดีมากเลยคะ

..

เป็นนิมิตหมายที่ดี ในการบริหารจัดการโรคเรื้อรัง อันแสนซับซ้อน

มีสหวิชาชีพ ไม่เพียงบุคลากรสาธารณสุข ได้สุดยอดนักจัดการความรู้ มาช่วยด้วย

ก่อนฝันดีค่ะพี่นุช สุดสวาทบาดใจ

ครั้งก่อน เคยเมนท์แล้ว หายไป ระบบแฮงค์เลย

มาอีกรอบ ดอกไม้วิวสวยงามมากๆ ฝันดีค่ะ

สละสลวย น่าอ่าน เพลินไปเลยค่ะ

ขอบคุณค่ะ หวังว่าคงมีการต่อยอดงานด้านนี้ออกไปอีกนะคะ..ภาพสวยงามมากค่ะ

  • พี่นุชเจ้า..

เมื่อไหร่พี่นุชจะมีหนังสือเล่มใหม่ออกมานะ  ที่เขียนเกี่ยวกับผู้ป่วยเบาหวาน (หรือเปล่า)   รออ่านค่ะ  ^^

 

 

สวัสดีค่ะน้องหมอเล็ก-ภูสุพา, คุณแจ๋ว, คุณหมอป., น้องปูจ๋า,คุณมด-วิริยะหนอ,พี่ใหญ่-นงนาทและคุณต้อม-เนปาลี

กำลังตั้งหลักรวบรวมสติค่ะ วันที่ ๑๕ มีนาคมนี้คาดว่าจะได้เรียนปรึกษาอาจารย์วัลลาในรายละเอียดอีกครั้งแล้วจะรีบลงมือ

หนังสือเล่มนี้จะเน้นกระบวนการทำงานอย่างคนสำราญ งานสำเร็จ เกิดเครือข่ายขยายออกไป เชื่อมโยงความรู้และเป็นพลังใจแก่กันค่ะ ไม่ได้เน้นที่ข้อมูลทางการแพทย์ในการรักษาผู้ป่วยเบาหวานโโยตรงแต่ก็ต้องมีข้อมูลเอ่ยถึงบ้างตามกรณีที่ยกมาเขียน

ก็หวังว่าหนังสือเล่มนี้จะเกิดประโยชน์ได้บ้างค่ะ ตั้งใจทำงานทุกชิ้นที่มีผู้ให้เกียรติไว้วางใจเราค่ะ

ขอบคุณทุกท่านที่มาเป็นกำลังใจนะคะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท