จิตตปัญญาเวชศึกษา 187: First thing, first อะไรก่อน อะไรหลัง


อะไรก่อน อะไรหลัง

ในการเรียนแพทย์ วิชาที่น่าตื่นเต้นคือการดูแลภาวะฉุกเฉิน เพราะเรามักจะมีเวลาน้อย หากทำอะไรผิดพลาด ผลเสียมักจะรุนแรง ถึงพิการ หรือถึงชีวิต ดังนั้นกระบวนการหลายๆประเภทมักจะออกแบบให้เน้นที่ เร็ว+ไม่พลาด ขั้นตอนที่จะทำก็ต้องมีประสิทธิภาพ ถูกจังหวะจะโคนเป็นอย่างดี

อย่างคนไข้อุบัติเหตุมา เราก็จะมีสูตร ABC คือ airway (สำรวจทางเดินหายใจ) breathing (สำรวจการหายใจ) และ circulation (ระบบไหลเวียนโลหิต) เพราะสามประการนี้จะทำให้คนไข้แย่ลงเร็วที่สุด และหากแก้ไขได้โดยพลันก็จะได้ผลดีที่สุดเช่นกัน หมอก็จะรีบเปิดปาก ฟังเสียงปอดคนไข้ ดูการหายใจ เพราะหายใจไม่ออก ไม่ได้ มีเวลาแค่ไม่กี่นาทีสมองก็จะเริ่มมีเซลล์ตายไปอย่างถาวร เกิดความพิการขึ้น ส่วนระบบไหลเวียนโลหิตนั้น ก็ประเภทมีเลือดออก ข้างใน ข้างนอก ก็พอมีเวลามากกว่าการหายใจไม่ได้อยู่พอสมควร แต่ก็ไม่ควรช้ามาก

ในภาวะฉุกเฉิน แพทย์จะต้องใช้องค์ความรู้และทักษะที่ติดตัว ไม่มีเวลาวิ่งไปเปิดตำรา เอาง่ายๆ ขนาดสั่งยา เราก็พอมีเวลาหาตำรามายืนยันขนาดยา การใช้ ฯลฯ แต่ถ้าคนไข้ต้องการท่อช่วยหายใจเพราะหายใจไม่ออก เราต้องทำเดี๋ยวนั้นทันที ถ้าเราไม่เข้าใจเรื่องนี้ มัวแต่ไปละเลียดดูแลกระดูกแข้งหัก นิ้วเดาะ รอ X-ray คนไข้ก็ตายก่อนพอดี บุคลากรทางการแพทย์จึงให้ความสำคัญเรื่องการ set priority หรือการจัดลำดับความสำคัญมากๆเป็นนิสัย

มีคุณสมบัติอีกประการที่ผมคิดว่าต้องอยู่ในเนื้อในตัวเช่นกัน แต่คนมักจะคิดว่าไม่เกี่ยวกับภาวะฉุกเฉิน นั่นคือ ความรู้ ทักษะ และเจตคติด้านจริยธรรม จรรยาบรรณ สาเหตุเพราะว่าในตอนที่ "ต้องใช้" นั้น เราก็มักจะไม่มีเวลากลับไปเปิดตำราเหมือนกัน เรื่องนี้มักจะจำเป็นตอนใช้ด้านการสื่อสาร ซึ่งคงไม่มีใครขอหยุดพูดเพื่อไปเปิดตำราหรือถามครูอาจารย์ ของมันมีอยู่ในตัว (หรือเหลืออยู่เท่าไร) ก็ต้องเอาออกมาใช้เดี๋ยวนั้น ตอนนั้นแค่นั้นเอง)

แล้วถ้าไม่ฉุกเฉินล่ะ เรายังต้องจัดลำดับความสำคัญหรือไม่?

คำตอบคือ ก็ยังต้องจัดอยู่ดี สาเหตุเพราะว่าเรามีทรัพยากรจำกัด ทั้งคน ทั้งของ และทั้งมีเวลาที่ไม่ได้เหลือเฟืออะไรมากนัก ถ้าเราไม่จัดลำดับความสำคัญ ทรัพยากรมันจะหมดไปเรื่อยๆอยู่ตลอดเวลา ไปๆมาๆสิ่งสำคัญๆไม่ได้ตระเตรียมไว้แต่แรก พอจะใช้ไม่มีใช้ มัวแต่ไปทำเรื่องที่ไม่สลักสำคัญ ก็เสียหายได้เยอะเหมือนกัน อีกทั้งด้านเวลายิ่งต้องใคร่ครวญให้ดี เพราะเวลาผ่านไป มันไม่ได้ผ่านเฉยๆ แต่หากเปลี่ยนบริบทต่างๆตามไปด้วย เผลออีกที มันอาจจะสายเกินไปที่จะทำเรื่องบางเรื่อง ของบางอย่างต้องใช้เวลา "ตระเตรียม" เป็นเวลานาน เช่น "การศึกษา" เราอยากจะได้นักวิทยาศาสตร์สักคน มันใช้เวลาเตรียม 20-30 ปี เราอยากจะได้แพทย์สักคน ดูตามเนื้อผ้าอย่างน้อยก็หกปี ดูตามที่ใช้จริงๆ เราต้องเตรียมเด็กคนนี้มาตลอดทั้งชีวิต เขาถึงจะเป็นแพทย์ที่ดีสำหรับสังคม

ไม่เพียงแต่เท่านั้น ลำดับก่อนหลังยังมีข้อบ่งชี้ มีนัยสำคัญอื่นๆอีกเยอะ เช่น การทำอาหารบางประเภท จะใส่ผัก เนื้อ เครื่องปรุงก่อนหลัง ก็มีผลต่อ final product หรือผลลัพธ์สุดท้ายได้อย่างมากมาย ใส่ผิด ใส่ถูก ของที่ใส่มันมีความเร็วในการสุก ในการพอดิบพอดีไม่เท่าเทียมกัน ก็ไม่ใช่อะไรที่จะใส่มั่วๆลงไปขอเพียงแค่รู้ว่าใส่อะไรบ้างแค่นั้น ไม่พอ

ในชีวิตจริง ลำดับความสำคัญก็มีแทรกอยู่ทั่วไป จริงๆแล้วพวกเราเคยพูดคำว่า "ไม่มีเวลา" กันทั้งนั้น คำๆนี้เป็นนัยสัมพัทธ์ ไม่ได้เป็นความหมายแบบสัมบูรณ์ เพราะเวลาเราพูดไม่มีเวลา คนเราทุกคนมีเวลาเท่ากัน แต่เราหมายถึงว่า "ณ เวลานั้น เรามีเรื่องอื่นสำคัญกว่าจะทำ เรื่องที่พูดถึงนี้ สำคัญไม่เท่า เราขอผลัดเอาไว้ทำทีหลัง"

ชีวิตเราอะไรสำคัญ/ไม่สำคัญแค่ไหน รู้ง่ายนิดเดียว อะไรที่เรา "มีเวลาทำ" ตอนนี้ แสดงว่าสำคัญ ส่วนไอ้ที่เราผลัดวันประกันพรุ่ง ต่อให้ปากเราบอกว่าสำคัญๆ แต่จริงๆเราไม่ได้ให้ความสำคัญกับมันหรอก จากการกระทำของเรามันฟ้องออกมาเอง

ขนาดจัดการชีวิตปัจเจกบุคคลยังต้องมีลำดับความสำคัญ จัดการระบบบริหารครอบครัว สังคม หมู่บ้าน จังหวัด ประเทศ ยิ่งต้องมีความรู้เพียงพอ จึงจะ deploy กลยุทธ์ ยุทธศาสตร์ได้ถูกจังหวะจะโคน ไม่เสียท่า เพราะเสียท่าระดับนี้ มันเสียประเทศ เสียเอกราชได้เลยทีเดียว

เพราะการบริหารในระดับนี้ มันเป็นเรื่องความจำเป็นของคนทั้งประเทศ จำนวนหลายสิบล้านคน การ "ฟัง"ของผู้บริหาร ไม่ได้ฟังเสียงคนไม่กี่สิบคน แต่หูจะต้องได้ยินจากสิบๆล้านคนว่าเขาต้องการอะไร เดือดร้อนอะไร ในระดับความต้องการของ Maslow อาทิ พื้นฐานความเป็นอยู่ อาหาร ที่อยู่อาศัย เพียงพอ หรือเป็นยังไง เลื่อนชั้นขึ้นมาเรื่อยๆ เช่น ความปลอดภัยของชีวิต ครอบครัว ขึ้นมาเป็น stability ของอาชีพ เศรษฐานะ การงาน ก่อนจะไปถึงขั้น self actualization หรือ self transcendence สำหรับคนที่ยกระดับ need มาสูงถึงขั้น top pyramid ซึ่งจะมีจำนวนน้อยกว่าระดับพื้นฐานเบื้องล่าง

เพราะฉะนั้น ประเทศที่ยังดูแลความเป็นอยู่ อาหารการกิน ที่อยู่อาศัยไม่ได้เลย ก็อย่าพึ่งไปเน้นเรื่องศิลปกรรมขั้นสูง เรื่อง high technology เรื่องของสุรุ่ยสุร่าย ประเทศที่ยังดูแลแรงงาน อาชีพให้มั่นคงไม่ได้ จะหวังเจริญปุบปับมีนวตกรรมแซงซ้าย แซงขวา ก็คงจะเหนื่อยเป็นพิเศษ

และที่สำคัญที่สุด อย่าเอา agenda สำหรับคนไม่กี่คนมาชูธงเป็นเรื่องสำคัญที่สุด มันอำมหิตโหดเหี้ยมนัก เวลาที่ยังมีคนอดอาหาร เด็กไม่ได้เรียนหนังสือมากมาย ในยามที่ประเทศถูกปัญหา corruption กัดกินจนเข่าทรุด ปัญหาเรื่อง values จะสอนจริยธรรมยังหาตัวอย่างจริงยากเย็น แต่เราดันไปใช้เวลาส่วนใหญ่อยากจะติฉินนินทา วิจารณ์ for the sake of liberation เสรีภาพสุดโต่งทั้งๆที่คน 90% อยู่ได้ไม่ได้เรียกร้องอะไร นี่เรียกว่าไม่รู้จักกาละเทศะ ชีวิตไม่มีการจัด priority สับสนเรื่องอะไรด่วน อะไรไม่ด่วน เป็นอาการของเด็กที่ถูก spoil มานาน

นักศึกษาแพทย์ที่รักเอย พี่หวังว่าน้องคงจะ set priority เป็น เพราะอีกหน่อยน้องก็ต้องมาเป็นคนดูแลพี่ยามแก่ ดูแลลูกของพี่ยามที่เขาโตขึ้นมา พี่ฝากไว้แค่นี้แหละ

หมายเลขบันทึก: 477185เขียนเมื่อ 2 กุมภาพันธ์ 2012 11:47 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 มิถุนายน 2012 22:13 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท