ขอบเขตและสมรรถนะทั้ง ๙ การพยาบาลปฏิบัติการขั้นสูง สาขาการพยาบาลผู้สูงอายุ (๑)


สมรรถนะทั้ง ๙ ของ APN สาขาการพยาบาลผู้สูงอายุ

ขอบเขตและสมรรถนะการปฏิบัติการพยาบาลขั้นสูง

สาขาการพยาบาลผู้สูงอายุ

     การปฏิบัติการพยาบาลขั้นสูงสาขาการพยาบาลผู้สูงอายุ หมายถึง การกระทำการพยาบาลโดยตรงในผู้สูงอายุหรือผู้ป่วยสูงอายุที่มีปัญหาซับซ้อนหรือมีปัญหาสุขภาพที่สำคัญในภาวะเจ็บป่วยเรื้อรังและเฉียบพลัน โดยใช้ความชำนาญและทักษะการพยาบาลขั้นสูง ในการจัดการรายกรณีหรือวิธีการอื่นๆ รวมทั้งการจัดการให้มีระบบการดูแลที่มีประสิทธิภาพ ให้เหตุผลและตัดสินใจเชิงจริยธรรม โดยบูรณาการหลักฐานเชิงประจักษ์ ผลการวิจัย ความรู้ ทฤษฎีทางการพยาบาลและทฤษฎีอื่นๆ มุ่งเน้นผลลัพธ์ทั้งระยะสั้นและระยะยาว พัฒนานวัตกรรมและกระบวนการดูแลผู้สูงอายุหรือผู้ป่วยสูงอายุอย่างต่อเนื่อง เป็นที่ปรึกษาให้กัยผู้ร่วมงานในการพัฒนาความรู้และทักษะงานเชิงวิชาชีพ ตลอดจนติดตามประเมินคุณภาพและจัดการผลลัพธ์โดยใช้กระบวนการวิจัยเชิงประเมินผลการดูแลผู้สูงอายุหรือผู้ป่วยสูงอายุ

สมรรถนะที่ ๑ มีความสามารถในการพัฒนา จัดการ และกำกับระบบการดูแลผู้สูงอายุหรือผู้ป่วยสูงอายุ (Care Management)

    การปฏิบัติที่แสดงถึงสมรรถนะ

    ๑. วิเคราะห์สถานการณ์ปัญหาของผู้สูงอายุหรือผู้ป่วยสูงอายุเพื่อพัฒนาระบบการดูแล

    ๒. สร้างทีมการดูแลผู้สูงอายุหรือผู้ป่วยสูงอายุ

    ๓. จัดระบบการดูแลผู้สูงอายุหรือผู้ป่วยสูงอายุในสถานบริการ ชุมชน และสถานดูแลในระยะยาว

    ๔. กำกับและควบคุมคุณภาพการดูแลผู้สูงอายุหรือผู้ป่วยสูงอายุอย่างต่อเนื่อง ทั้งในสถานบริการ ชุมชน และสถานดูแล

    ๕. สร้างระบบส่งต่อผู้ป่วยอย่างมีประสิทธิภาพ

    ๖. ช่วยเหลือผู้สูงอายุหรือผู้ป่วยสูงอายุให้เข้าถึงระบบสุขภาพ พิทักษ์สิทธิประโยชน์ ตลอดจนการป้องกันการทารุณกรรมผู้สูงอายุหรือผู้ป่วยสูงอายุ

    ๗. สร้างฐานข้อมูลเกี่ยวกับผู้สูงอายุหรือผู้ป่วยสูงอายุเพื่อใช้ประโยชน์ในการควบคุมคุณภาพ

สมรรถนะที่ ๒ มีความสามารถในการดูแลผู้สูงอายุหรือผู้ป่วยสูงอายุที่มีปัญหาสุขภาพซับซ้อน (Direct Care)

    การปฏิบัติที่แสดงถึงสมรรถนะ

    ๑. ประเมินภาวะสุขภาพ ให้ความหมาย และตีความการตอบสนองของผู้สูงอายุหรือผู้ป่วยสูงอายุต่อความเจ็บป่วยที่ซับซ้อน ครอบคลุมทั้งสุขภาพกาย จิต สังคม จิตวิญญาณ และความสามรถในการทำหน้าที่ โดยเลือกใช้เครื่องมือประเมินภาวะสุขภาพและเทคโนโลยีที่ได้มาตรฐานและเหมาะสมกับผู้สูงอายุ

    ๒. วินิจฉัยปัญหา และแยกแยะความแตกต่างระหว่างความสูงอายุปกติกับกระบวนการเจ็บป่วยและการเกิดโรค โดยใช้ข้อมูล หลักฐานทางคลินิก ความรู้ทางพยาธิสรีระ ความรู้ทฤษฎีการพยาบาลและทฤษฎีอื่นๆ ตลอดจนประสบการณ์ทางคลินิก

    ๓. ให้การบำบัดทางการพยาบาลในกลุ่มอาการหรือปัญหาทางคลินิกที่ซับซ้อนโดยใช้ความรู้ ทฤษฎี และหลักฐานเชิงประจักษ์ ใช้เหตุผลทางคลินิกและจริยธรรมในการตัดสินเกี่ยวกับการให้การพยาบาลผู้สูงอายุที่มีปัญหาซับซ้อนแบบองค์รวม

    ๔. ประเมิน เฝ้าระวัง จัดการ ประสานงาน และส่งต่อเกี่ยวกับภาวะสุขภาพของผู้สูงหรือผู้ป่วยสูงอายุเพื่อให้ได้รับการดูแลอย่างเหมาะสม

    ๕. จัดการกับปัจจัยเสี่ยงหรือสิ่งแวดล้อมที่อาจทำให้เกิดความเสื่อมถอยของการทำหน้าที่ คุณภาพชีวิต และภาวะทุพพลภาพอย่างมีประสิทธิภาพ

    ๖. คาดการณ์ปัญหาที่ซับซ้อนจากอาการเปลี่ยนแปลงของผู้สูงอายุหรือผู้ป่วยสูงอายุที่มีโรคร่วมหรือมีปัญหาซับซ้อน และวางแผนป้องกัน แกไขได้อย่างถูกต้องและทันเหตุการณ์

    ๗. ใช้เทคโนโลยีทางการแพทย์ในการดูแลผู้สูงอายุหรือผู้ป่วยสูงอายุที่มีปัญหาสุขภาพซับซ้อน

 

จาก...มติที่ประชุมคณะกรรมการการฝึกอบรมและการสอบวัดความรู้ ความชำนาญเฉพาะทางฯ วันที่ ๒o มกราคม ๒๕๕๑

 

                  ลายฟ้า ***

         ๓o  มกราคม  ๒๕๕๕

หมายเลขบันทึก: 476861เขียนเมื่อ 30 มกราคม 2012 15:28 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 19:02 น. ()สัญญาอนุญาต: ไม่สงวนสิทธิ์ใดๆจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท