เรื่องน่ารู้ เพื่อสุขภาพ สุขภาพช่องปากผู้สูงวัย


 

ในเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ชมรมผู้สูงอายุด้านการส่งเสริมสุขภาพช่องปาก เมื่อวันที่ 11 มกราคม 2555 ที่ริชมอนด์ อาจารย์หมอมนู วาทิสุนทร อาจารย์ ทพญ.ดร.มัทนา เกษตระทัต และคุณหมอวรางคนา เวชวิธี ได้มาร่วมกันพูดคุยให้ผู้สูงอายุ และผู้เข้าประชุมได้ฟังกันในเรื่องของ "เรื่องน่ารู้ เพื่อสุขภาพ สุขภาพช่องปากผู้สูงวัย" ... มีเนื้อหาอะไรดีดี น่าจดจำ และนำไปทำตามค่ะ

ปัจจุบันประเทศไทยไม่ใช่สังคมก้าวสู่สังคมสูงอายุ แต่จะเป็นสังคมสูงอายุไปแล้ว อนาคต ถ้าเจอคนเดินมา 4 คน ก็จะเป็นผู้สูงอายุไป 1 คนแล้ว และจะทำอย่างไรที่จะดูแลสุขภาพร่างกายให้แข็งแรง และสามารถช่วยเหลือตัวเองได้ในระยะยาว

อาจารย์หมอมนู เล่าให้ฟังว่า

เป็นโอกาสดีที่จะบอกว่า สุขภาพทั่วไป เกี่ยวข้องกับเรื่องช่องปาก

ส่วนที่ 1 ผู้สูงอายุที่มากันในวันนี้ ดูแข็งแรงดีทุกคน เพราะว่า สามารถการแสดงบนเวทีได้ ... คนที่ออกมาแสดงได้ แสดงว่าแข็งแรงดี และอันที่ 2 สุขภาพช่องปากต้องดี ฟันก็ดีด้วย หากท่านฟันไม่ดี ท่านคงไม่กล้าแสดง ไม่กล้ายิ้มไหม เพราะฉะนั้น คนที่แสดงได้ แสดงว่าฟันดี สุขภาพช่องปากดีนี่คือประโยชน์

ส่วนที่ 2 คนที่มีอายุมากขึ้นชอบร้องเพลง คาราโอเกะ ถ้าไม่มีฟัน ก็จะร้องเพลงไม่เพราะ ไม่มีเสียงสะท้อนในช่องปาก ท่านไม่มีฟัน ก็ไม่กล้าที่จะไปพูดคุยกันในชมรมผู้สูงอายุ เพราะถ้าพูดออกมาเขาเมินหน้าหนีเพราะกลิ่นปาก ไปชมรมผู้สูงอายุเขามีการรับประทานอาหารกัน มีอาหารที่ชอบๆอร่อยๆ ท่านก็ไม่อยากไป เพราะทานไม่ได้เพราะไม่มีฟัน ก็เกิดปัญหาโภชนาการเพราะกินอาหารที่เหลวๆ เกิดปัญหาโภชนาการ และเกิดปัญหาการเข้าสังคม

เมื่อ 30 ปีก่อน เขาพูดถึงเรื่องเด็ก ปัญหาเรื่องเด็กมีมาก เขาบอกว่า "เด็กไม่ใช่ผู้ใหญ่ซึ่งอายุน้อย เพราะเด็กมีการพัฒนาการและเจริญเติบโต" พอมาปีนี้ ก็พูดกันถึงเรื่องผู้สูงอายุ "คนสูงอายุไม่ใช่ผู้ใหญ่ที่อายุมาก เพราะมีความเสื่อมถอยของร่างกาย" ที่เรียกว่าขบวนการชราภาพ ซึ่งทางพระบอกว่าเป็นเรื่องธรรมชาติเป็นเรื่องธรรมดา แต่ถ้าเราปล่อยให้เป็นเรื่องธรรมชาติธรรมดา ร่างกายของเราก็จะอายุไม่ยืน

คนไทยอายุเฉลี่ยที่ สูงอายุ 80 ปี ผู้หญิง 79 ปี ผู้ชาย 83 ปี ช่วงอายุ 60-85 ปี ผู้หญิงจะอายุยืนกว่าผู้ชาย แต่พออายุ 90 ปีขึ้นไป ปรากฏว่าผู้ชายอายุยืนกว่าผู้หญิง

ขบวนการชราภาพของผู้สูงอายุ ตรงข้ามกับเด็กที่มีการเจริญเติบโต ที่เห็นชัด คือ

  • ความแข็งแรงของกล้ามเนื้อลดลง ส่วนใหญ่ร่างกายของเราแข็งแรงที่สุด ดีทีสุดที่วัยเบญจเพส คือ อายุ 25 ปี หลังจากนั้นเริ่มเสื่อมลง เสื่อมช้าเสื่อมเร็วก็แล้วแต่ เมื่อก่อนนี้เราเดินทางไกลได้ หลังๆ ไปไกลๆไม่ได้ นี่คือความเสื่อม แต่ถ้าเราปล่อยให้เป็นไปตามธรรมชาติ ตอนนี้สิ่งแวดล้อมรอบตัวเราไม่ได้เป็นธรรมชาติเลย ถูกมนุษย์ปรุงแต่งขึ้นมา แม้แต่เหตุการณ์น้ำท่วมที่ผ่านมา ก็ไม่ได้เป็นตามธรรมชาติ เพราะฉะนั้นถ้าจะปล่อยให้ร่างกายเป็นไปตามธรรมชาติไม่ได้ ก็ต้องมีการฝึกฝน มีการออกกำลังกายในทุกส่วนของร่างกาย
  • เรื่องสายตา คนอายุมากสายตายาว สายตามองไกลเห็นมองใกล้ไม่เห็น  สายตายาวแก้ไขได้โดยการใส่แว่น
  • เรื่อง ต้อกระจก การเป็นต้อกระจก หากยังไม่สุกประสาทตายังไม่เสีย สามารถแก้ไขได้โดยการเปลี่ยนเลนส์แก้วตา โดยรัฐบาลมีโครงการแก้ไขต้อกระจกเปลี่ยนเลนส์แก้วตาให้ฟรี
  • อายุมากขึ้นเลนส์ที่รับแสงของตาจะรับแสงได้น้อยลง ห้องนี้เขาจึงทำดาวไลท์ หาอะไรมาคลอบให้แสงจ้าน้อยลง เพราะผู้สูงอายุสู้แสงจ้าไม่ไหว
  • การรับแสงต่อสี พออายุมากขึ้น การรับรู้สีก็น้อยลงเริ่มจากสีเหลืองก่อน มองไม่ค่อยชัด น้ำเงินตามมา สีเขียวมองไม่ค่อยเห็น เรียกว่ามีตาบอดสีจากความสูงอายุ เพราะฉะนั้นเมือผู้สูงอายุมาเห็นลวดลายสีเยอะ จะอ่านไม่ออก ป้ายต่างๆ ที่สาธารณะ หรือตามบันไดหรือทางเดินอย่าเล่นสีมาก ผู้สูอายุมองไม่เห็นว่าเป็นขั้นบันได เป็นธรณีประตู จะสะดุดหกล้มกระดูกหักได้
  • เรื่องหู คนอายุมากหูตึง เพราะกระดูกค้อน ทั่ง โกลน ผนังที่เป็นกลองเกิดการยืดหยุ่นน้อยลง ได้ยินเสียงน้อยลง เฉพาะเสียงสูงเท่านั้น เสียงต่ำท่านจะได้ยินเหมือนเดิม ฉะนั้นท่านอย่าเข้าใจผิด ว่าได้ยินแล้วทำแกล้งว่าไม่ได้ยิน
  • เรื่องทิศทางของเสียง ผู้สูงอายุจับไม่ได้ว่า เสียงอยู่ในห้องนี้ จับทิศทางไม่ได้ว่ามาทางไหน

การจะชะลอความชราอีกอย่างหนึ่ง คือ เรื่องของอาหาร เพราะฉะนั้นการที่จะทานอาหารให้อร่อยและอาหารที่มีประโยชน์เราจะดูแลกันอย่างไรดี

อาจารย์มัทนา

ผู้สูงอายุมีขบวนการชราภาพของร่างกายทั่วไป ในช่องปากก็มีขบวนการชราภาพเหมือนกัน แต่ไม่น่ากลัวมาก ข้อดีของขบวนการชราภาพในช่องปาก คือ

  • ฟันคนเรามีเส้นประสาทอยู่ข้างใน อยู่ในโพรง เรียกว่าคลองรากฟัน พอสูงอายุมากขึ้นคลองรากฟันจะตีบลง เส้นประสาทก็ตีบลง ฉะนั้นที่เสียวฟันง่ายๆ จะกายเป็นเสียวฟันยากกว่าคนที่เป็นหนุ่มเป็นสาว
  • ผู้สูงอายุจะมีเหงือกร่น จะเห็นผู้สูงอายุมีฟันยาวขึ้น จริงๆ แล้วฟันไม่ได้ยาวขึ้น ฟันเท่าเดิม แต่เหงือกจะร่นลงมา ให้สังเกตที่ร่นลงมาเป็นการร่นแบบกระชับ และสีก็สวยเป็นสีชมพู นั่นไม่ไร เป็นขบวนการชราภาพ แต่ถ้าเหงือกร่นแล้วเหงือกเป็นสีแดง เหมือนกับเนื้อเยื้อที่อักเสบ นี่ไม่ใช่ขบวนการชราภาพแล้ว จะเป็นโรคเหงือกอักเสบ หรือโรครำมะนาด
  • อีกอย่างหนึ่งที่ต้องระวัง คือ เยื่อบุกระพุ้งแก้ม ลิ้น เยื่อบุตรงพื้นปาก จะบางลง พอบางลงถ้าโดนกระแทกก็จะชอกช้ำได้ง่าย พอสูงอายุโดนอะไรหน่อยมันจะบาง ที่เคยกินเผ็ดได้มากจะติดกินเผ็ด พออายุมากๆ เนื้อเยื่อจะบางลงก็จะทนกินเผ็ดไม่ได้ขนาดนั้น เช่น การใช้น้ำยาบ้วนปากก็เหมือนกัน ถ้าใช้น้ำยาบ้วนปากควรใช้ชนิดที่ไม่มีแอลกอฮอล์ แอลกอฮอล์ในน้ำยาบ้วนปากจะกัดทำให้รู้สึกแสบได้ง่าย ลิ้นปุ่มรับรส ที่เคยรับรสได้ดีกินอะไรนิดเดียวก็รู้รสแล้ว จะเริ่มซีด เริ่มฝ่อ เคยกินหวานนิดหนึ่งพอ ก็จะไม่รู้สึกพอแล้วจะต้องกินหวานขึ้น จะต้องเติมน้ำตาลมากขึ้น กินเค็มเคยเท่านี้ก็ไม่ได้แล้ว ต้องเติมน้ำปลาเพิ่มมากขึ้นถึงจะรู้สึกรสชาติอร่อย ก็ต้องระวังโรคในช่องปาก และโรคทางร่างกายจริงๆ แล้ว ปัจจัยเสี่ยงเหมือนๆ กัน คือ น้ำตาล ต้องงดอาหารต้องกินดีๆ เป็นการดูแลขั้นดี
  • ถ้าจะให้ช่องปากดีร่างกายดีจะต้องกินให้ดีมากๆ กินอาหารประเภทที่มีกากใยเยอะๆ ช่วยขัดฟันได้ด้วย น้ำลายมีประโยชน์ช่วยป้องกันฟันผุ ช่วยหล่อลื่นป้องกันการกระแทกของเยื่อบุช่องปาก กินต้องดีอาหารมีกากใย หวานมาก เค็มมาก เรารู้แล้วว่าขบวนการชราภาพทำให้เป็นอย่างนี้ เป็นเรื่องปกติธรรมชาติ ต้องหักห้ามใจอย่าไปเติมน้ำตาล หรือเติมน้ำปลามาก ทำให้ช่องปากและร่างกายทั่วไปดีด้วย
  • ปัจจัยเสี่ยงในช่องปากอื่นๆ มีเรื่องอาหาร ที่เป็นกรด หรือหวาน ที่มีกากใยน้อยเป็นสิ่งที่ไม่ดี อีกอย่างคือยาสูบ แอลกอฮอล์ และความเครียด นั่นก็คือ อาหารต้องดี ไม่สูบยา ไม่กินเหล้า ควบคุมความเครียดตนเองให้ได้ ถ้าทำได้และบวกกับการควบคุมคราบจุลินทรีย์ ก็คือ เชื้อโรค ก็จะทำให้ร่างกายมีสุขภาพที่ดี ทั้งช่องปาก และดีทั้งร่างกายทั่วไปด้วย
  • เรื่องภูมิคุ้มกันร่างกาย และโรครำมะนาด เกี่ยวข้องอย่างมากกับระบบภูมิคุ้มกันร่างกาย ถ้าคุมความเครียดไม่ได้ ระบบภูมิคุ้มกันไม่ดี โรครำมะนาดก็รักษายาก

ครบหลักการดูแลสุขภาพทีเดียว ก็คือ เรื่องอาหาร พฤติกรรมการบริโภค และเรื่องการทำความสะอาด เรื่องปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคในช่องปาก ได้แก่ บุหรี่ และที่สำคัญก็คือความเครียด ความเครียดสัมพันธ์กับทุกเรื่อง ผู้สูงอายุจึงต้องมีปฏิบัติตัวที่ถูกต้อง

เรื่องของร่างกายมีเรื่องอะไรที่จะต้องระวังบ้าง ผู้สูงอายุจะดูแลตนเองอย่างไรให้เหมาะกับสภาพปัจจุบัน

อาจารย์หมอมนู

มีเรื่องของ 3 อ ได้แก่ อาหาร ออกกำลังกาย อารมณ์ ท่านต้องทดสอบตัวเอง

อาหาร ... ทดสอบตัวเอง ว่า อ้วนหรือผอม ที่การวัดรอบเอว ผู้ชาย 90 เซนติเมตร หรือ 36 นิ้ว ผู้หญิง 80 เซนติเมตร หรือ 32 นิ้ว ถามว่า วัดรอบพุง วัดไปทำไม เพื่อป้องกันโรคอ้วนลงพุง เพราะว่า ถ้าผู้ชายเกิน 90 เซนติเมตร ผู้หญิงเกิน 80 เซนติเมตร จะมีโอกาสเสี่ยงเป็นโรคอ้วนลงพุง หรือเรียกว่า Metabolic Syndrome

  • ใครที่เป็นเบาหวานและพุงใหญ่ จะเป็นเบาหวานประเภทที่ 2 เกิดขึ้นในผู้ใหญ่ กลุ่มนี้จะดื้อต่อ Insulin หมายความว่า เมื่อท่านเริ่มทานยาเบาหวาน ถ้าไม่ได้ผลต้องฉีดอินซูริน ก็จะใช้ Insulin ไม่ได้ผล ทำให้เกิดโรคแทรกซ้อนในเบาหวานได้
  • และ หากผู้สูงอายุเป็นโรคความดันโลหิตสูง ตอนนี้ค่าปกติ 130/85 mmHg ถ้าสูงจะมีโอกาสที่เป็น Stroke หรือ หลอดเลือดสมองแตก ตีบตันมาก
  • และเรื่อง ไขมันในเลือด ค่าไตรกลีเซอไรด์ (triglyceride) ปกติไม่เกิน 150 มิลลิกรัม ไขมันตัวดีเรียก HDL ไขมันตัวร้าย เรียก LDL ผู้ชายที่มี HDL มีมากยิ่งดี ผู้ชายต้องมีมากกว่า 40 มิลลิกรัมขึ้นไป ถึงจะดี ผู้หญิงต้องมีมากกว่า 50 มิลลิกรัมขึ้นไป HDL (ไขมันตัวดี) ได้มาจาก 1) อาหาร ที่ทำจากพืชผักสีเขียว พวกปลาเล็กปลาน้อย และ 2) ที่สำคัญร่างกายสามารถสร้างขึ้นเองได้ จากการออกกำลังกาย
  • ถ้าหากรอบเอวท่านเกิน และดี 2 ข้อใน 4 ข้อ คือน้ำตาลเกิน ความดันเกิน ไตรกลีเซอร์ไรด์เกิน  และค่าไขมัน HDL น้อยกว่า 40 ในผู้ชาย และน้อยกว่า 50 ในผู้หญิง เกิดโอกาสเสี่ยงอ้วนลงพุงมีมาก กลุ่มนี้จะดื้อต่อยา มีโรคแทรกซ้อนเกิดขึ้นมากมาย รวมทั้งมีโอกาสเป็นหลอดเลือดอุดตันและอ้วนลงพุง
    ก็ขอฝากไว้ ทั้งเรื่อง อาหาร การออกกำลังกาย และ เรื่อง อารมณ์ อารมณ์ดีจะหลั่งเอ็นดอร์ฟีน (endorphin) มาก การออกกำกายมาก ก็จะหลั่งเอ็นดอร์ฟีน (endorphin) มากด้วย ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่ดี

ถ้าเราดูแลร่างกายดีๆ อาหาร ออกกำลังกาย อารมณ์ ก็ส่งผลถึงช่องปากด้วย

กรณีที่ผู้สูงอายุมีโรคทางร่างกายแล้ว จะมีการดูแลในเรื่องของสุขภาพช่องปากกันอย่างไร

อาจารย์หมอมัทนา

มีผู้สูงอายุบางคนที่กินยาเป็นกำ ก็มีผลข้างเคียงทำให้น้ำลายน้อยบ้าง ทำให้ฟันผุง่ายขึ้น ทำให้มีผลข้างเคียงตามมา สิ่งที่อยากฝากไว้คือ

  • เวลาไปหาหมอฟัน ถ้ามียาความดันที่ต้องทานทุกวันก่อนไปหาหมอ ก่อนหมอจะทำอะไรที่ต้องใช้ยาชา จะเพิ่มความดัน หมอจะวัดความดันเสมอเพื่อความแน่ใจ หมอถามว่ากินยามาหรือยัง ให้บอกตามตรง ทานยาอะไรบ้าง ถ้าคิดว่าบอกหมอไม่หมดให้พกยาใส่ถุงมา แล้วให้หมอดู หมอจะดูว่ายาไหนมีความเสี่ยงต่อการรักษา
  • มีงานวิจัยใหม่ๆ บอกว่า ถ้าเป็นรำมะนาดหรือเหงือกอักเสบที่กินถึงกระดูก ทำให้ฟันโยก คนไข้ที่เป็นรำมะนาดจะไม่สามารถคุมน้ำตาลได้ดีเท่ากับคนที่ไม่เป็น ถึงแม้จะปรับแล้วก็ตาม จุดนี้สำคัญมาก จะบอกได้ว่า สุขภาพช่องปากและสุขภาพร่างกายเกี่ยวกันทั้ง 2 ด้าน
  • เรื่อง การมีเลือดออก ถ้ามียาที่สลายลิ่มเลือด หรือยาของคนไข้เส้นเลือดสมองตีบ ยาที่ทำให้เลือดไม่แข็งตัวเป็นก้อน ให้บอกหมอ และอย่ากลัว สมัยใหม่หมอจะพยายามไม่ให้หยุดยา ถ้ามีประวัติว่ามีเคยมีการอุดตันของเส้นเลือด ถ้าถอนฟันหมอจะมียาใส่ให้ในหลุมที่เอาฟันออกไปแล้ว และจะเย็บแผลซึ่งทำให้หยุดเลือดได้โดยไม่ต้องหยุดยา

ได้อีกข้อหนึ่ง คือ นอกจากจะดูแลตนเองแล้ว เพราะว่า อาจจะมีความเสี่ยงมากกว่ากลุ่มอื่น ก็ต้องแวะไปให้ทันตแพทย์ตรวจฟันปีละครั้ง

ขอฝากจากอาจารย์ทั้งสองท่านค่ะ ในเรื่อง การดูแลร่างกาย หากว่าเราอยู่ในสังคม เราสามารถจะช่วยเหลือผู้อื่น เราช่วยดูแลอะไรได้บ้าง

อาจารย์หมอมนู

จากสถานการณ์อุทกภัยน้ำท่วมที่ผ่านมา พบว่าสิ่งที่เกิดขึ้นกับผู้สูงอายุมี 3 ประการ คือ

1) ผู้สูงอายุที่เจ็บป่วยด้วยโรคเรื้อรัง เป็นอัมพาตอัมพฤกษ์ นอนให้สายยาง ให้อาหารทางสายยาง ให้ออกซิเจนอยู่ตามบ้าน มีจำนวนมากกว่าที่เราคาดคิดไว้

2) ผู้สูงอายุส่วนใหญ่ไม่ยอมออกจากบ้านไปอยู่ศูนย์อพยพ หรือศูนย์พักพิง เพราะห่วงบ้าน และความไม่คุ้นเคยในบ้านที่อยู่อาศัย สิ่งแวดล้อม ความไม่คุ้นเคย ทำให้เกิดโอกาสหกล้ม เกิดอุบัติเหตุได้ง่าย เช่น ห้องน้ำห้องส้วมที่เราเห็นบ้านเขา เราว่าอันตราย แต่ผู้สูงอายุบอกว่าปกติไม่เป็นอะไร ก็เพราะว่าคุ้นเคยอยู่แล้ว แต่ถ้าเราไปอยู่ที่ใหม่ ห้องน้ำสะอาดสะดวกสบายแต่ผู้สูงอายุไม่คุ้นเคย อาจจะสะดุดหกล้มได้

3) คนไทยมีจิตอาสา เป็นอาสาสมัคร เป็นจำนวนมาก เพราะฉะนั้นต่อไป คำว่าจิตอาสา คือ เป็นจิตอาสา และปฏิบัติจริง ให้เป็นอาสาสมัคร จะอยู่ในหัวใจหรือในจิตใจของคนไทยทุกคน ผู้สูงอายุที่แข็งแรงดีมาจนวันนี้ ถ้าไม่ไปดูแลคนที่ไม่แข็งแรงคนที่เจ็บป่วย คนเป็นอัมพาตอัมพฤกษ์ คนที่สมองเสื่อมช่วยเหลือตนเองไม่ได้ แล้ววันหนึ่ง ท่านต้องเจ็บต้องป่วย บางคนอาจเป็นอัมพาต อัมพฤกษ์ สมองเสื่อม ถ้าท่านไม่อาสาสมัครไปดูแลเขาวันนี้ วันหน้าท่านอาจเจ็บป่วยช่วยเหลือตนเองไม่ได้ แล้วใครจะมาดูแลท่าน

อาจารย์หมอมัทนา

การที่เรามีชมรมผู้สูงอายุ มีระบบ อสม. เราสวมหัวโขนหลายใบ เป็นคุณตาคุณยาย เป็นปู่ย่าอยู่ที่บ้านด้วย สิ่งนี้ เป็นสิ่งที่เราอวดฝรั่งได้เลย มีคนมาดูงานระบบประเทศเรา เพราะว่า ประเทศไทยเรามีจุดแข็งมาก ขอให้ภูมิใจตนเอง ท่านเป็นแกนนำจริงๆ ขอให้อย่าท้อ และทำงานอย่างมีความสุข

วัฒนธรรมของประเทศไทยมีจุดแข็งมากมาย เป็นสังคมที่หาไม่ได้ในโลกนี้ เป็นสังคมแห่งการเกื้อกูล และมีจิตอาสามาก ... ทุกท่านที่มาในวันนี้ ท่านได้พ้นภาระหน้าที่การงาน ท่านอาจมีภาระทางด้านสังคม โดยที่ ท่านสามารถดูแลให้ตัวท่านแข็งแรง และท่านก็สามารถช่วยเหลือสังคม ช่วยเหลือเพื่อนๆ ได้ ไปพร้อมๆ กัน

 

หมายเลขบันทึก: 476472เขียนเมื่อ 27 มกราคม 2012 10:33 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 มิถุนายน 2012 00:14 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท